การนำเสนออย่างอุลตร้าแมน

การนำเสนอที่ใช้เวลาสองนาทีครึ่ง เหมือนอุลตร้าแมนที่ต้องปราบสัตว์ประหลาดบนโลกให้เสร็จภายในสามนาที

นิสิตจุฬาฯ ที่ได้รางวัล “prop ยอดเยี่ยม” ในอุลตร้า พรีเซนเทชัน

อุลตร้า พรีเซนเทชัน

การนำเสนอแบบสั้นกระชับได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ผมเคยเข้าร่วมการนำเสนอแบบสั้น กระชับเรียกว่า อิกไนท์ (Ignite)

อิกไนท์ คือการนำเสนอที่มีสไลด์ 20 หน้า และสไลด์ทุกหน้าเลื่อนโดยอัตโนมัติทุกๆ 15 วินาที ดังนั้นผู้นำเสนอทุกคนจะมีเวลาการนำเสนอเท่ากันคือ 300 วินาที หรือ 5 นาที

เนื่องจากผมเคยนำเสนอแบบอิกไนท์มาก่อนและเห็นว่ามีประโยชน์ในการฝึกทักษะการนำเสนอมาก จึงต้องการให้ลูกศิษย์ฝึกนำเสนอแบบอิกไนท์

แต่ห้องเรียนของผมมีนิสิต 40 กว่าคน ถ้าให้นิสิตทุกคนนำเสนอแบบอิกไนท์ที่ใช้เวลา 5 นาที ก็จะนานเกินไป

ผมจึงดัดแปลงรูปแบบของอิกไนท์ให้เหลือครึ่งหนึ่งคือ เตรียมสไลด์ 10 หน้า และสไลด์เลื่อนอัตโนมัติทุก 15 วินาที

ดังนั้นนิสิตแต่ละคนนำเสนอ 2 นาที 30 วินาที และตั้งชื่อการนำเสนอรูปแบบนี้ว่า อุลตร้า พรีเซนเทชัน (Ultra Presentation) โดยได้แรงบันดาลใจจากหนังโทรทัศน์ชุดดังคือ อุลตร้าแมนครับ

อุลตร้าแมนอยู่บนโลกมนุษย์ได้ไม่กี่นาทีเท่านั้น เขาต้องรีบปราบสัตว์ประหลาดให้เสร็จก่อนที่พลังงานของตัวเองจะหมดไป เนื่องจากการนำเสนอรูปแบบนี้ใช้เวลาสั้นๆ คล้ายกับการต่อสู้ของอุลตร้าแมน ผมจึงตั้งชื่อว่า อุลตร้า พรีเซนเทชันครับ

นิสิตจุฬาฯ ในวิชาการคิดเชิงนวัตกรรมต้องนำเสนออุลตร้า พรีเซนเทชันทุกคน

การนำเสนอที่ท้าทายที่สุด

เมื่อผมอธิบายรูปแบบของอุลตร้า พรีเซนเทชันให้นิสิตทราบ ทุกคนก็มีสีหน้ากังวลทันที เพราะไม่เคยมีใครนำเสนอในรูปแบบที่บังคับจำนวนหน้าสไลด์และเวลามาก่อน

นิสิตหลายคนสารภาพกับผมในภายหลังว่า พวกเขาเรียนมหาวิทยาลัยสี่ปี แต่ไม่เคยนำเสนอคนเดียวด้วยซ้ำ เมื่อมีงานกลุ่มและต้องนำเสนอผลงาน ก็จะให้เพื่อนคนอื่นในกลุ่มนำเสนอแทน

แต่ในวิชาที่ผมสอนคือ “การคิดเชิงนวัตกรรม” นิสิตทุกคนต้องนำเสนอคนเดียวในรูปแบบเข้มงวดที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยพบ !

นอกจากกำหนดจำนวนสไลด์และเวลาแล้ว ผมยังกำหนดว่า ทุกคนต้องนำสิ่งของ ( prop ) หรือเครื่องแต่งกาย 1 อย่างมาแสดงในการนำเสนอด้วย เหมือนตัวเอกในเรื่องอุลตร้าแมนที่ใช้อุปกรณ์แปลงกาย

สิ่งของประกอบการนำเสนอมีหลากหลาย เคยมีนิสิตนำแมวจริงๆ ในกรงมานำเสนอด้วย
นิสิตแต่งตัวให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่นำเสนอ

v

แม้แต่ออเจ้าก็ยังมาอุลตร้า พรีเซนเทชัน

สิ่งที่ผู้นำเสนอได้จากอุลตร้า พรีเซนเทชัน

อุลตร้า พรีเซนเทชันฝึกทักษะสำคัญหลายอย่างครับ เช่น ผู้นำเสนอต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมพูดมาก่อน เพราะการพูดสไลด์แต่ละหน้าให้ทันภายใน 15 วินาทีเป็นเรื่องท้าทายมาก ถ้าไม่ซ้อมมาก่อน จะทำไม่ได้เลย

ผมยังต้องการเปลี่ยนรูปแบบการทำสไลด์แบบเดิมที่มีตัวอักษรหรือข้อความเต็มไปหมด แต่การนำเสนอแบบนี้จะเน้นที่การเล่าเรื่องและใช้ภาพประกอบในสไลด์

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องจะเหมาะสมกับการนำเสนอภายในสองนาทีครึ่ง ดังนั้นหัวข้อที่เหมาะสมจึงไม่ใช่เรื่องวิชาการ แต่เป็นประสบการณ์ ความประทับใจ หรือเกร็ดความรู้ที่ผู้นำเสนอต้องการเล่าให้ผู้อื่น

หัวข้อที่นิสิตเคยมานำเสนอ เช่น Work and Travel , ความรัก , การเรียน , การท่องเที่ยว , เทคโนโลยี , การตลาด และอื่นๆ อีกมากมาย

นิสิตนำเสนอเรื่องอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจและอยากเล่าให้เพื่อนฟัง

สิ่งที่ผู้นำเสนอจะได้เรียนรู้มากที่สุดจากอุลตร้า พรีเซนเทชันคือ การเอาชนะความกลัวในการนำเสนอนั่นเอง ผู้นำเสนอมือใหม่หรือแม้แต่ผู้ที่มีประสบการณ์แล้วมักมีความกลัว ความตื่นเต้น ความประหม่าก่อนพูดเกือบทุกคน

แต่ถ้าเราเอาชนะความกลัวได้ กล้าขึ้นไปพูด เราก็จะมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น

นิสิตหลายคนบอกผมว่า หลังจากที่ผ่านอุลตร้า พรีเซนเทชันแล้ว พวกเขามั่นใจในการนำเสนอขึ้นมาก เพราะผ่านการนำเสนอที่โหดสุดแล้ว

มีนิสิตจุฬาฯ หลายร้อยคนที่ผ่านอุลตร้า พรีเซนเทชันแล้ว ผมจึงขอชวนผู้อ่านที่กลัวการนำเสนอหรือไม่ค่อยกล้านำเสนอ ลองเอาชนะความกลัวของการนำเสนอหรือการพูดในที่สาธารณะด้วยการฝึกฝนบ่อยๆ

ท่านจะพบว่าการนำเสนอไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นทักษะที่ทุกคนพัฒนาให้เก่งขึ้นได้ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์