ปัญหาที่คิดไม่ถึงในการนำเสนอ

ปัญหาหลากหลายในการสอน การนำเสนอที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนเขียน

ทุกครั้งที่ผมสอนเรื่องการนำเสนอ ผมจะให้ผู้เรียนเขียนปัญหาเกี่ยวกับการนำเสนอที่ตัวเองเคยพบ 10 ข้อ เช่น ปัญหาที่เกิดกับตัวเอง หรือปัญหาที่เกิดกับคนอื่น

หลังจากผ่านไป 5 นาที มีไม่กี่คนที่เขียนปัญหาได้ครบ 10 ข้อ ส่วนใหญ่เขียนได้ไม่กี่ข้อ

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่เขียนปัญหาด้านการนำเสนอได้น้อยคือ “ประสบการณ์ยังน้อย” ครับ

ถ้ามีประสบการณ์น้อย จะพบปัญหาน้อย ถ้ามีประสบการณ์ด้านการนำเสนอมาก ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาน้อยนะครับ ในทางตรงกันข้าม จะพบปัญหามาก เขียนได้เป็นสิบๆ ข้อ

แต่การที่เราเคยพบปัญหามาก จะช่วยให้เรารับมือปัญหาต่างๆ ในอนาคตได้ดีกว่าผู้ที่ยังไม่เคยพบปัญหาเลย

ผมขอเล่าปัญหาสนุกๆ เกี่ยวกับการสอน การนำเสนอที่เคยเกิดกับตัวเองครับ

Source : Freegreatpicture.com

อแดปเตอร์เสียในป่า

เมื่อต้นปี 2560 ผมต้องไปบรรยายในงานประชุมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ผมใช้โน้ตบุ๊คที่กรุงเทพฯ ตอนเช้า ทุกอย่างยังปกติดี

เมื่อเดินทางถึงที่พักซึ่งมีบรรยากาศคล้ายป่า ผมเสียบปลั๊กโน้ตบุ๊คในห้องพัก แต่หลังจากใช้ไปสักครู่ ผมสังเกตว่า สัญญลักษณ์แบตมีไฟน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เสียบปลั๊ก

เนื่องจากผมเคยพบว่า ปลั๊กในโรงแรมบางแห่งจะเสียหรือไม่มีไฟฟ้า ผมจึงถอดปลั๊ก แล้วไปเสียบปลั๊กตัวอื่นในห้อง แต่ยังเหมือนเดิมคือ แบตน้อยลงเรื่อยๆ

แสดงว่า อแดปเตอร์ของผมเจ๊งแล้วครับ แถมยังไปเสียในป่าที่จังหวัดเชียงราย !

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมรีบขอยืมอแดปเตอร์จากนิสิตที่ไปงานประชุมนี้ เพื่อเสียบปลั๊ก เติมไฟฟ้าให้เต็มแบต และนำเสนอในตอนบ่ายได้อย่างราบรื่น

ไม่ต้องสงสัยว่า สิ่งแรกที่ผมทำหลังจากกลับกรุงเทพฯ คือ ซื้ออแดปเตอร์ใหม่ครับ

ซาวด์แทรคไม่รับเชิญ

ผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อเริ่มบรรยาย ก็มีเสียงดังเป็นระยะๆ เป็นเสียงก่อสร้างตึกข้างๆ นั่นเอง ซึ่งรบกวนสมาธิในการสอนและการฟังของผู้เรียนมาก

เมื่อเวลาผ่านได้สัก 10 นาที อาจารย์ที่ช่วยประสานงานการอบรม ก็รีบไปหาห้องใหม่ และย้ายไปเรียนที่ตึกอื่นทันที ปัญหาก็หายไป

ดังนั้น ถ้ามีเสียงดังหรือเสียงรบกวนมาก การย้ายห้องเรียนเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ

Source : Wikimedia

รีโมตแบตหมด

อุปกรณ์สำคัญที่ผมขาดไม่ได้ในการสอนและการนำเสนอคือ รีโมตเลื่อนสไลด์ เพราะรีโมตทำให้ผมเดินไปหาผู้เรียนในห้องเรียนได้ ไม่เป็นวิญญาณเฝ้าพาวเวอร์พอยต์ ที่ต้องยืนอยู่กับที่ เลื่อนหน้าสไลด์ไปเรื่อยๆ

ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ผมกำลังสอน กดรีโมตแล้ว แต่สไลด์ไม่เลื่อน เลเซอร์พอยเตอร์ไม่ทำงาน แสดงว่า แบตหมดแล้วครับ

โชคดีที่ผู้จัดงานมีรีโมตสำรอง ผมจึงใช้รีโมตสำรองแทนไปก่อน

วิธีป้องกันปัญหานี้คือ เตรียมแบตสำรองไว้ครับ เพราะเราไม่ทราบว่า แบตจะหมดเมื่อไร

บางทีเราเผลอเปิดสวิทช์รีโมตไว้ ก็ทำให้แบตหมดเร็วได้ ดังนั้น ควรเช็คว่า ปิดสวิทช์รีโมตทุกครั้งก่อนเลิกใช้งานครับ

Source : Publicdomainpictures.net

พอร์ตวีจีเอเดี้ยง

โน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ทั้งหมดใช้พอร์ต HDMI แล้ว ไม่มีพอร์ต VGA แต่โปรเจคเตอร์ทั้งหมดในไทยที่ผมพบยังคงใช้พอร์ต VGA อยู่ ดังนั้น ผู้นำเสนอต้องมีหัวเปลี่ยน HDMI to VGA

แต่โน้ตบุ๊คบางรุ่นมีทั้งพอร์ต HDMI และ VGA มาให้ ทำให้สะดวกมากขึ้น เพราะเสียบสาย VGA เข้าได้โดยตรง

แต่ผมเคยพบเหตุการณ์ที่พอร์ต VGA ของโน้ตบุ๊คเสีย โชคดีที่โน้ตบุ๊คเครื่องนั้นมีพอร์ต HDMI ด้วย จึงเปลี่ยนมาเสียบที่พอร์ต HDMI ของโน้ตบุ๊คแทน ทำให้ฉายสไลด์ออกโปรเจคเตอร์ได้ครับ

ถ้าโน้ตบุ๊คมีทั้ง VGA และ HDMI ถ้าพอร์ตใดเสีย ต่อเข้าโปรเจคเตอร์ไม่ได้ ลองเปลี่ยนมาใช้อีกพอร์ตแทนครับ

Source : Pixabay

พาสเวิร์ดอยู่ที่ไหน

ผมเคยไปสอนเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ห้องคอมพิวเตอร์ของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ผู้เรียนทุกคน login เข้าคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้ มีเครื่องเดียวที่เข้าไม่ได้ คือคอมพิวเตอร์ของวิทยากรที่ต้องต่อโปรเจคเตอร์ และเป็นเครื่องที่ผมต้องใช้สอน

หลังจากพยายามเดาพาสเวิร์ดทั้งหมดที่มีในห้องเกือบครึ่งชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดต่อฝ่ายเทคนิคได้ ทำให้ผมไม่สามารถใช้เครื่องคอมของวิทยากรเพื่อสอนได้

ในที่สุด ผมก็ปิ๊งไอเดียคือ ถอดสายโปรเจคเตอร์ที่ต่อกับเครื่องของวิทยากร มาต่อเข้ากับเครื่องคอมของผู้เรียนแทน ทำให้สอนได้ตามปกติครับ

ดังนั้น พาสเวิร์ดจึงสำคัญมาก ผู้ดูแลพาสเวิร์ดในห้องคอมพิวเตอร์ ควรทำป้ายเขียนให้ชัดเจนครับ

ถูกตัดไฟฟ้า

ผมเคยไปสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเคยสอนหลายครั้งแล้ว

แต่ครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษที่ผมคิดไม่ถึง เพราะการไฟฟ้าตัดไฟทั้งโรงเรียนในวันอาทิตย์ ซึ่งทางโรงเรียนไม่ได้แจ้งเลื่อนสอน ยังคงให้ผมสอนตามกำหนดการเดิมในวันอาทิตย์ มีนักเรียนเกือบ 40 คน

วิธีแก้ปัญหาคือ โรงเรียนติดต่อขอให้มีรถปั่นไฟฟ้ามาให้ไฟฟ้าในห้องเรียนครับ ผมยังใช้โปรเจคเตอร์ ลำโพง เปิดแสงไฟได้เหมือนปกติทุกอย่าง

แต่เปิดแอร์ไม่ได้ เพราะกินไฟฟ้าเยอะ จึงต้องเปิดหน้าต่างทั้งหมดเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก โชคดีที่ช่วงนั้นเป็นต้นปี อากาศเย็นสบายครับ ไม่ต้องเปิดแอร์ ก็ยังพอไหว

เช็คอินผิดโรงแรม

ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดที่โรงแรมในจังหวัดอยุธยา ผู้ประสานงานแจ้งชื่อโรงแรมให้ผมทราบ และมีคนขับรถมารับผม เพื่อไปส่งที่โรงแรม

เมื่อผมไปถึงโรงแรมเวลา 7 โมงเช้า ก็เช็คอิน

เจ้าหน้าที่ : อาจารย์คะ ไม่มีชื่ออาจารย์ค่ะ

ผม : มีแน่นอนครับ เพราะอาจารย์ผู้ประสานงานจองห้องพักให้ผมแล้วครับ

เจ้าหน้าที่ก็ใจดีมาก เชื่อผม ผมก็ขึ้นไปเก็บของในห้อง จากนั้นก็ลงมารับประทานอาหารเช้า เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว พนักงานต้อนรับบอกว่า “อาจารย์คะ อาจารย์มาผิดโรงแรมแล้วค่ะ !”

ปรากฏว่า ผู้ประสานงานสับสนซะเอง เพราะย้ายสถานที่อบรมระหว่างโรงแรมสองแห่งที่อยู่ใกล้กันหลายครั้ง ทั้งผมและคนขับรถก็ได้ข้อมูลว่า ต้องมาที่โรงแรมนี้ แต่ผู้ประสานงานย้ายสถานที่อบรมไปที่โรงแรมอีกแห่ง และไม่ได้แจ้งให้พวกเราทราบ

โชคดีมากที่โรงแรมอีกแห่ง เป็นโรงแรมเครือเดียวกัน ขับรถแค่ยูเทิร์นเดียว ก็ถึงแล้ว ไม่อยากนึกเลยว่า ถ้าเป็นคนละจังหวัด จะเกิดอะไรขึ้น !

วินโดวส์อัพเดทเป็นชาติ

ครั้งหนึ่ง ผมไปที่ห้องเรียนประมาณ 8 โมงเช้า ก่อนการสอนประมาณเกือบชั่วโมง ผมเปิดโน้ตบุ๊คที่ใช้วินโดวส์ 10

วินโดวส์ก็ขึ้นข้อความว่า กำลังอัพเดทระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

แต่ครั้งนี้ไม่ปกติ เพราะการอัพเดทใช้เวลานานมาก ใกล้เวลาสอน 9 โมงเช้าแล้ว วินโดวส์ยังอัพเดทไม่เสร็จ ทำให้ผมต้องรีบหาโน้ตบุ๊คเครื่องอื่นมาต่อแทนไปก่อน

วินโดวส์อัพเดทเสร็จเรียบร้อยเกือบ 9.30 น. ใช้เวลาอัพเดทชั่วโมงกว่า

ดังนั้น ควรอัพเดทวินโดวส์ให้เสร็จเรียบร้อยที่บ้านครับ อย่าไปอัพเดทก่อนการสอนหรือการนำเสนอ เพราะอาจใช้เวลามากอย่างที่นึกไม่ถึง

วิธีป้องกันปัญหานี้อีกวิธีคือ เตรียมไฟล์นำเสนอเก็บไว้ในสมาร์ตโฟน เช่น แปลงพาวเวอร์พอยต์เป็น PDF แล้วหาสายต่อสมาร์ตโฟนกับโปรเจคเตอร์ ทำให้เราใช้สมาร์ตโฟนนำเสนอแทนโน้ตบุ๊คได้ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์