ศิลปะของการนำเสนอที่กระชับ

หมดยุคการนำเสนอที่เยิ่นเย้อ ยืดยาดแล้ว มาฝึกการนำเสนอที่สั้น กระชับ ได้ใจความกันดีกว่า

Source : Pixabay.com

งานนำเสนอแห่งหนึ่งมีผู้พูด 30 คน

ผู้อ่านคิดว่า ต้องใช้เวลากี่ชั่วโมงจนกว่าผู้นำเสนอพูดครบทุกคนครับ ?

ถ้าไม่กำหนดเวลาในการพูดให้แน่นอน อาจมีบางคนพูดนานเกินไปจนน่าเบื่อ พูดสั้นเกินไปจนจับใจความไม่ได้ และผู้จัดงานจะคุมเวลาไม่ได้ว่า งานเสร็จเมื่อไร

ปัจจุบันมีการนำเสนอสองรูปแบบที่กำหนดเวลาแน่นอนและแพร่หลายทั่วโลกครับ

Source : PechaKucha.org

เพชะ คูชะ (Pecha Kucha)

เพชะ คูชะ แปลว่า พูดคุยในภาษาญี่ปุ่น เกิดจากสถาปนิกในญี่ปุ่นที่อยากให้มีงานพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน

สโลแกนหรือคำขวัญของเพชะ คูชะคือ ศิลปะของการนำเสนอที่กระชับ (The art of concise presentations)

ดังนั้น ผู้นำเสนอต้องเตรียมสไลด์ 20 หน้าโดยที่แต่ละสไลด์เลื่อนโดยอัตโนมัติทุก 20 วินาที เรียกว่า 20 x 20 ผู้พูดทุกคนจึงมีเวลานำเสนอเท่ากันคือ 400 วินาที หรือ 6 นาที 40 วินาที

เนื้อหาในเพชู คูชะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เช่น การออกแบบ เทคโนโลยี ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์

เพชะ คูชะเป็นงานที่แพร่หลายทั่วโลก และจัดหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จัดในเวลากลางคืน จึงเรียกงานนี้ว่า Pecha Kucha Night

เพชะ คูชะจัดในกรุงเทพหลายครั้งแล้วครับ แต่ผมยังไม่เคยร่วมงานนี้เลย ผู้อ่านติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเพชะ คูชะได้ที่ www.pechakucha.org

Source : ignitetalks.io

อิกไนท์ (Ignite)

เป็นการนำเสนอที่ดัดแปลงมาจากเพชะ คุชะ คือ ผู้นำเสนอต้องทำสไลด์ 20 หน้า โดยสไลด์เลื่อนอัตโนมัติทุก 15 วินาที เรียกว่า 20 x 15

ผู้พูดทุกคนจึงมีเวลานำเสนอคนละ 300 วินาที หรือ 5 นาที

อิกไนท์เป็นงานที่แพร่หลายทั่วโลกเช่นกัน และยากกว่าเพชะ คูชะ เพราะผู้พูดต้องพูดเนื้อหาสไลด์แต่ละหน้าภายใน 15 วินาที ซึ่งน้อยกว่า เพชะ คูชะที่ให้เวลา 20 วินาที

โลโก้งาน Ignite ครั้งแรกของไทยที่ TCDC

การพูดในงาน Ignite ครั้งแรกของไทย

ผมได้ร่วมงานอิกไนท์หลายครั้งแล้วครับ และเป็นผู้พูดในงานอิกไนท์เรียกว่า Igniter ในเดือนมีนาคม 2010 ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC

ผมทราบข่าวการจัดงานนี้ทางทวิตเตอร์ว่า ต้องการอาสาสมัครไปพูด ผมจึงสมัครไป เพราะคิดว่าน่าจะได้ประสบการณ์ในการนำเสนอ เพื่อนำไปสอนลูกศิษย์ต่อได้

Igniter ในงานนี้มีหลายคน เช่น คุณกระทิง พูนผล เจ้าพ่อสตาร์ทอัพของไทย , คุณใหม่ ลัดดาวัลย์ ชูช่วย แชมป์ความจำของไทย , คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ เจ้าของบริษัท Provision และคนดังอีกหลายคน

นี่คือวิดีโอการนำเสนออิกไนท์ของผมเรื่อง “สอนนิสิตให้มีความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเล่าประสบการณ์ในการสอนวิชาความคิดสร้างสรรค์ให้นิสิตจุฬาฯ ครับ

ผมเคยเขียน blog เล่าเรื่องการเป็น Igniter พร้อมภาพประกอบจากงานจำนวนมาก เชิญอ่านได้ที่ เบื้องหลังการเป็น Igniter ของผม

ผมยังไปร่วมฟังงานอิกไนท์อีกหลายครั้ง เช่น สวนลุมพินี หอประชุมจุฬาฯ โรงหนังสกาล่า ช่วงหลังๆ ไม่มีงานอิกไนท์อีกเลยครับ แต่มีงาน TEDx เกิดขึ้นแทน

นิสิตจุฬาฯ ฝึกการนำเสนอที่สั้น กระชับแบบ Ignite

ประโยชน์ของการนำเสนอที่สั้น กระชับ

ข้อดีของการนำเสนอแบบเพชะ คุชะหรืออิกไนท์คือ ถ้าผู้จัดงานทราบจำนวนผู้นำเสนอล่วงหน้า ก็จะควบคุมเวลาของการนำเสนอให้อยู่ในกำหนดการได้

ดังนั้น ถ้าเราจัดงานอิกไนท์ ก็หมายความว่า เราสามารถให้ผู้นำเสนอเล่าเรื่องสนุกๆ ได้ถึง 30 คนโดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ประโยชน์อีกข้อคือ ผู้นำเสนอเองจะได้ประสบการณ์อย่างมากในการนำเสนอ เพราะต้องเตรียมตัว ฝึกซ้อม พูดให้ทันภายในเวลาที่กำหนด ไม่ย้วย ยืด เยิ่นเย้อ

ผมก็เรียนรู้อย่างมากจากการเป็น Igniter จนเกิดไอเดียว่า อยากฝึกลูกศิษย์ตัวเองให้นำเสนอสั้นๆ แบบนี้บ้าง ผมจึงดัดแปลงการนำเสนอแบบอิกไนท์เป็น อุลตร้า พรีเซนเทชัน ซึ่งนิสิตทุกคนต้องนำเสนอภายใน 2 นาทีครึ่ง

ผู้อ่านอาจลองจัดงานนำเสนอคล้ายๆ แบบนี้ ที่กำหนดเวลาในการนำเสนออย่างเข้มงวด แต่ให้อิสระด้านหัวข้อ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในหมู่ผู้พูดและผู้ฟังครับ

นี่คือวิธีฝึกหัดการนำเสนอที่สั้น กระชับอย่างดีที่สุดครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์