สอนการนำเสนอให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

เมื่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ต้องนำเสนอโครงงานภายใน 7 นาที พวกเขาจะเตรียมตัวอย่างไร

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ช่วงเช้า ผมไปบรรยายเรื่อง “การนำเสนออย่างทรงพลัง” ให้นักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย ประมาณ 30 คนที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ใหญ่โต กว้างขวางมากครับ ผมมาสอนที่นี่เกือบสิบปีแล้ว ตั้งแต่ข้างๆ ตึกยังไม่มีอะไรเลย ผมต้องทานอาหารเช้าจากบ้านมาก่อน เพราะไม่มีร้านอาหารแถวนี้

เดี๋ยวนี้ สบายมากครับ มีร้านอาหารเต็มไปหมด มาทานอาหารเช้าที่นี่ได้เลย

เยาวชนที่มาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ต้องนำเสนอโครงงานวิทย์ของตนเองภายใน 7 นาที จึงขอเล่าให้ฟังว่า ผมสอนเนื้อหาอะไรบ้างครับ

ครึ่งแรก เวลา 9 – 10.30 น.

ผมให้เด็กๆ เขียนปัญหาการนำเสนอที่พบบ่อย , จับคู่เขียนข้อมูลที่ต้องทราบก่อนนำเสนอ

จากนั้น ผมแนะนำเครื่องมือต่างๆ ในการปรับปรุงสไลด์ เช่น การเลือกสีข้อความและพื้นหลัง , การเลือกภาพประกอบ

เมื่อบรรยายหลักการต่างๆ จบแล้ว ผมแบ่งกลุ่มให้นักเรียนนำเสนอแบบปากเปล่าให้เพื่อนฟัง แล้วเพื่อนในกลุ่มให้ข้อเสนอแนะ

ผมบอกนักเรียนว่า ถ้ายังนำเสนอแบบปากเปล่าหรือเล่าให้เพื่อนฟังไม่รู้เรื่อง กรรมการที่เป็นครู อาจารย์ ก็อาจฟังไม่รู้เรื่องเช่นกัน

สไลด์เป็นแค่ส่วนเสริมที่ทำให้การนำเสนอของเราเข้าใจง่ายขึ้นหรือน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพูดของตัวเราเอง

แบ่งกลุ่มนำเสนอแบบสั้นๆ ให้เพื่อนฟัง

ครึ่งหลัง 10.45 – 12.00 : แนะนำสไลด์ทีละคน

เมื่อแนะนำหลักการต่างๆ ในครึ่งแรกและทานอาหารว่างเสร็จแล้ว ผมก็เดินดูสไลด์ของนักเรียนทีละคน และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงสไลด์

หัวข้อโครงงานวิทย์มีหลากหลายมาก เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น ทำให้ผมได้ความรู้บางอย่างจากการถามเนื้อหาในสไลด์

นี่คือปัญหาที่พบบ่อยในสไลด์ของนักเรียนครับ

1. สไลด์มีหน้ามากเกินไป

ผมจำได้ว่า เมื่อก่อน นักเรียนมีเวลานำเสนอ 10 – 15 นาที แต่ปีนี้ ทุกคนมีเวลานำเสนอเพียง 7 นาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก

นักเรียนหลายคนทำสไลด์แบบจัดเต็ม เห็นก็ทราบแล้วว่า ไม่มีทางพูดจบภายใน 7 นาที ผมต้องเตือนว่า สไลด์หน้าไหนที่ไม่จำเป็น ให้ตัดออก เพราะไม่มีเวลาพออย่างแน่นอน

2. ข้อความเต็มหน้าสไลด์

เนื่องจากโครงงานวิทย์ต้องอธิบายอุปกรณ์ สูตร สมการต่างๆ นักเรียนหลายคนจึงใส่ข้อความเต็มทั้งหน้าสไลด์ ทำให้ตัวอักษรเล็กและอ่านยาก

ผมบอกเด็กๆ ว่า “อะไรที่ไม่พูด ไม่ต้องใส่ในสไลด์”

เวลาที่เด็กใส่เนื้อหาเต็มหน้า ผมถามว่า จะพูดเรื่องนี้หรือไม่ หลายคนยอมรับว่า ไม่พูดเรื่องนี้

วิธีแก้ไขอีกแบบคือ ตัดรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สไลด์ดูง่ายขึ้น แล้วพูดออกมา

3. พื้นหลังสไลด์ทำให้อ่านยาก

ปัญหานี้มีสองแบบ คือ

  • สีตัวอักษรกับสีพื้นหลังดูกลมกลืน ทำให้อ่านยาก วิธีแก้คือ ปรับสีให้ตัดกันหรือมีคอนทราส
  • ใส่เทมเพลตหรือลวดลายพื้นหลังต่างๆ โดยไม่จำเป็น ทำให้อ่านยาก ผมบอกเด็กทุกคนให้นำลวดลายออกให้หมด เพื่อให้อ่านสไลด์ง่ายขึ้น

ก่อนจากกัน ผมบอกนักเรียนทุกคนว่า เมื่อปรับสไลด์เสร็จแล้ว ขอให้ซ้อมนำเสนออีกครั้ง โดยจับเวลาพูดเหมือนนำเสนอจริง เพื่อให้แน่ใจว่า พูดภายในเวลาที่กำหนด

ถ้าซ้อมพูดแล้ว ใช้เวลาเกิน ก็ควรตัดบางอย่างออกจากสไลด์ เพื่อให้การนำเสนอของเราราบรื่นที่สุดครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์