สิ่งที่ไม่ควรทำ 5 ข้อในการนำเสนอ

อย่านำเสนอแบบดาร์ท เวเดอร์ แต่นำเสนอแบบโยดา

Source : Pexels

ผู้นำเสนอมือใหม่ อาจารย์ใหม่ วิทยากรน้องใหม่มักพบปัญหาต่างๆ ในการนำเสนอ แต่ปัญหาหลายอย่างเกิดจากผู้พูดเอง

ผมขอเล่าความผิดพลาดต่างๆ ที่ผมเคยทำและเกิดบ่อยกับมือใหม่ แบ่งเป็น 5 ข้อดังนี้ครับ

Source : Pexels

1. เนื้อหาไม่แม่น

ถ้ามีใครชวนผู้อ่านให้นำเสนอหรือสอนเรื่องที่ไม่ถนัด ไม่รู้เรื่องมาก่อนภายในสัปดาห์นี้ ผู้อ่านจะไปไหม ผมไม่ไปแน่ๆ ครับ

หลายคนพลาดที่ไปบรรยายหรือนำเสนอในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้จริง เช่น อ่านหนังสือไปเล่า ขาดประสบการณ์เรื่องนั้น จำเขามาพูด

ผู้ฟังบางคนที่รู้มากกว่าเรา อาจหัวเราะเยาะ หรือลองภูมิ ถามเรื่องง่ายๆ แต่เราตอบไม่ได้ ก็หน้าแตกและขาดความน่าเชื่อถือทันที

เคยมีผู้เชิญผมไปสอนเรื่อง การคิดบวกหรือ Positive Thinking หลายครั้ง แต่ผมปฏิเสธ เพราะไม่เชี่ยวชาญ และแนะนำให้หาผู้สอนที่รู้เรื่องนี้จริงครับ

แต่ถ้าต้องการให้ผมไปสอนเรื่อง การคิดลบหรือ Negative Thinking แล้วล่ะก็ ยินดีไปสอนให้ครับ เพราะเชี่ยวชาญกว่า !

Source : Pexels

2. ไปสาย

หลายปีก่อน ผมเคยไปบรรยายนอกสถานที่สายครั้งหนึ่ง ไปถึงเกือบ 9.30 น. ทั้งๆ ที่เริ่ม 9 น. หลังจากนั้น ผมตั้งใจว่า จะไม่ยอมไปสายอีกเด็ดขาด

ผมสอนลูกศิษย์ทุกคนว่า อย่าไว้ใจการจราจรในกรุงเทพฯ และให้ท่องมนตรานี้เสมอ

ไปเร็วหนึ่งชั่วโมง ดีกว่าไปสายหนึ่งนาที

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไปนำเสนอต่างจังหวัดที่ต้องขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ควรไปล่วงหน้า 1 วันครับ เพราะต้องเผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เครื่องบินไม่ใช่รถทัวร์ที่จะออกทุกชั่วโมงนะครับ

Source : Pexels

3. พูดหรือสอนเกินเวลา

สิ่งที่ผู้ฟังเบื่อที่สุดคือ การสอนหรือพูดเกินเวลามาก เช่น เลิกสอนเกินเวลามาก หรือ งานนำเสนอที่มีผู้พูดหลายคนและผู้จัดงานขอให้ทุกคนพูด 15 นาที แต่บางคนพูดครึ่งชั่วโมง ทำให้กำหนดการต่างๆ รวนไปหมด

ยุคนี้มีการนำเสนอหลายรูปแบบที่เข้มงวดเรื่องเวลามาก เช่น TED , Ignite , 3 Minute Thesis. , Ultra Presentation ซึ่งผมจะเขียนให้อ่านต่อไปครับ

ลูกศิษย์คนหนึ่งไปนำเสนอที่ต่างประเทศ เธอบอกว่า ทุกคนต้องนำเสนอให้จบภายใน 5 นาที เมื่อครบ 5 นาทีแล้ว กรรมการปิดไฟเวที ปิดไมโครโฟนทันทีครับ ใครยังพูดไม่จบ ต้องลงเวที

ดังนั้น การเตรียมตัวฝึกพูดให้จบภายในเวลาที่กำหนด จึงสำคัญมาก

ไม่มีการนำเสนอที่ให้เวลาน้อยเกินไป มีแต่ผู้พูดที่เตรียมตัวน้อยเกินไป

Source : Pexels

4. หวังพึ่งน้ำบ่อหน้า

ผู้นำเสนอหลายคนไม่ได้เตรียมอุปกรณ์เช่น โน๊ตบุ๊ค ลำโพง หรือของสำคัญที่ต้องใช้

ถึงแม้ว่าหลายแห่งเตรียมโน้ตบุ๊คให้วิทยากร แต่ผมจะใช้เครื่องตัวเองทุกครั้งครับ และใช้เครื่องที่ผู้อื่นเตรียมให้เป็นเครื่องสำรอง

ถ้าผู้นำเสนอใช้งานอุปกรณ์ของคนอื่น จะไม่ชิน ไม่สะดวก ผมพบว่าโรงแรมหลายแห่งมีปัญหาเรื่องเสียงลำโพงมาก ผมจึงมีลำโพงบลูทูธเล็กๆ ของตนเอง

ห้องเรียนหลายแห่งมีปากกาเขียนไวท์บอร์ดแห้งหรือสีจางมาก ดังนั้น เราควรเตรียมปากกาของตนเองครับ

นิสิตจุฬาฯ กำลังนำเสนอให้เพื่อนๆ ฟัง

5. ไม่ปรับเนื้อหาให้เข้ากับผู้ฟัง

บางคนทำสไลด์ครั้งเดียว คิดว่า จะใช้สไลด์นั้นตลอดชีวิต

ถ้าเราไม่เตรียมเนื้อหาให้เหมาะกับผู้ฟัง ผู้ฟังจะงงและสับสน ดังนั้น การพูดเนื้อหาให้เข้าใจง่ายจึงสำคัญมาก

ผู้นำเสนอบางคนใช้ศัพท์เฉพาะด้านมากเกินไป ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายและเล่นมือถือแทน

ผมเคยฟังการนำเสนอ 20 เรื่อง แต่ฟัง 18 คนไม่รู้เรื่องเลยครับ เพราะเกือบทุกคนใช้ศัพท์ทางวิศวกรรมสาขาต่างๆ

ผมเป็นอาจารย์วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ยังฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วคนในวงการอื่นจะฟังรู้เรื่องหรือครับ

ยังมีปัญหาอื่นๆ จากผู้นำเสนออีกมาก เขียนเป็นหนังสือได้ทั้งเล่มครับ

แต่ปัญหาในบทความนี้มีสาเหตุเหมือนกันคือ “เตรียมตัวน้อยเกินไป”

สิ่งสำคัญคือ ผมหวังว่า ผู้อ่านจะไม่ทำความผิดพลาดเหมือนผมหรือคนอื่นในบทความนี้ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์