การนำเสนอวิทยานิพนธ์ใน 3 นาที

การแข่งขันนำเสนอทางวิชาการเพื่อให้คนทั่วไปฟังรู้เรื่อง โดยใช้ทักษะด้านการสื่อสารอย่างแท้จริง

Photo by Kane Reinholdtsen on Unsplash

ถ้ามีการแข่งขันที่กำหนดว่า …

  • นำเสนอหัวข้องานวิจัย ไม่เกิน 3 นาที
  • ใช้สไลด์หน้าเดียวเท่านั้น ห้ามใช้ภาพเคลื่อนไหว
  • ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปฟังรู้เรื่อง
  • ห้ามใช้สิ่งของประกอบการนำเสนอ (prop) ใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้อ่านจะร่วมการแข่งขันนี้ไหมครับ ?

ข้อกำหนดข้างบนคือ เงื่อนไขของการแข่งขันเรียกว่า 3 Minute Thesis หรือ 3MT

ความเป็นมาของ 3MT

มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียได้ริเริ่มการแข่งขันนำเสนอวิทยานิพนธ์ภายใน 3 นาทีหรือ 3MT ในปีพ.ศ. 2551 เพื่อให้นักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอก ฝึกนำเสนอผลงานวิชาการ โดยใช้ข้อกำหนดต่างๆ ตามข้างบน

จากนั้น 3MT แพร่หลายมากขึ้น มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 350 แห่ง ประมาณ 20 ประเทศทั่วโลกจัดการแข่งขันนี้

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน 3MT ติดทั่วคณะวิศว จุฬาฯ

3MT ครั้งแรกในประเทศไทย

ผมร่วมงานแข่งขัน 3MT ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับดีแทคจัดรอบ Preliminary Final ที่ DTAC House จามจุรี สแควร์ในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้แข่งขันเป็นนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกจากคณะต่างๆ ในจุฬาฯ 20 คน ซึ่งเป็นการนำเสนอด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด

การแข่งขันครั้งนี้มีคอมเมนเตเตอร์ 3 ท่านซึ่งเป็นอาจารย์และแขกรับเชิญมาให้ความเห็นหลังจากที่แต่ละคนนำเสนอเสร็จ และมีกรรมการ 3 คนรวมทั้งผมเป็นผู้ให้คะแนน

จุดประสงค์ของรอบนี้คือ การคัดเลือกผู้แข่งขัน 20 คนเหลือเพียง 10 คนเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ

เนื่องจากแต่ละคนมีเวลานำเสนอไม่เกิน 3 นาที ดังนั้น ผมได้ฟังการนำเสนองานวิจัย 20 เรื่องโดยใช้เวลาแค่ชั่วโมงกว่า ผู้นำเสนอทุกคนพูดได้ทันภายใน 3 นาที

บางคนใช้เวลาเกือบครบคือ 2 นาที 59 วินาที เหลือเพียงหนึ่งวินาทีเท่านั้น ทำให้กรรมการเอาใจช่วยเต็มที่ เพราะเกรงว่าจะเกินเวลาและผิดกติกา

ผู้ผ่านเข้ารอบ 3MT ที่มาขอคำแนะนำจากผม มีทั้งปริญญาโท ปริญญาเอก

ปัญหาหลักใน 3MT

ปัญหาสำคัญที่สุดในการนำเสนอ 3MT คือ

ฟังไม่รู้เรื่อง

เพราะผู้นำเสนอทุกคนใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะด้านเยอะมาก ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง

รอบคัดเลือกมีผู้แข่งขัน 20 คน มาจากสายวิทย์เกือบทุกคน ผมฟัง 18 คนไม่รู้เรื่องเลย

ขนาดผมเป็นอาจารย์วิศวฯ แท้ๆ ยังฟังนิสิตวิศวฯ นำเสนอไม่รู้เรื่องเลย แล้วคนทั่วไปที่ไม่ใช่วิศว จะฟังรู้เรื่องหรือครับ

อีกปัญหาคือ สไลด์มีตัวอักษรหรือรายละเอียดมากเกินไป ทำให้อ่านยาก ตัวอักษรเล็กเกินไป ดูลำบาก

หลังจากที่คัดเลือกผู้นำเสนอได้ 10 คนแล้ว ก็มีนิสิตหลายคนมาพบผมเพื่อขอคำแนะนำเรื่องการปรับเนื้อหาและปรับสไลด์ให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น

ดังนั้น ผู้นำเสนอ 3MT ต้องปรับเนื้อหายากๆ ให้ผู้อื่นฟังเข้าใจง่าย และใช้สไลด์ที่ดูเข้าใจง่าย ใส่เฉพาะข้อมูลที่จำเป็น

การแข่งขันรอบคัดเลือกที่ DTAC House จามจุรี สแควร์
ผู้ชนะเลิศ 3MT คนแรกของประเทศไทย

3MT ครั้งที่สอง

การแข่งขัน 3MT ครั้งที่สองของไทยเพิ่งเสร็จในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2561 แต่ผมไม่ได้ร่วมฟังครั้งนี้ เพราะสอนในวันเดียวกันพอดี

ผู้อ่านดูรายละเอียดการแข่งขันได้ที่เว็บ 3mt.eng.chula.ac.th

ชวนมาแข่ง 3MT

ผมชื่นชมทุกคนที่แข่งขัน 3MT ครับ เพราะทุกคนต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของหลายคน แต่ทุกคนทำได้ดี และผมเชื่อว่า 3MT เป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ถ้าผู้อ่านเป็นอาจารย์หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย อาจลองจัดงาน 3MT ในสถาบันของตนเองก็ได้ครับ จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างยิ่ง ข้อมูลการจัดงาน 3MT ดูได้ที่เว็บไซต์ threeminutethesis.org

ขอแนะนำให้นิสิต นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกที่มีหัวข้อวิจัยแล้ว หาโอกาสมาร่วมการแข่งขัน 3MT ครับ

ใครจะไปรู้ คุณอาจเป็นผู้ชนะ ได้เงินรางวัลหลายหมื่นบาท และเป็นตัวแทนประเทศ ไปแข่งขันระดับนานาชาติครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การนำเสนออย่างทรงพลัง

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์