เป็น keynote speaker ครั้งแรกที่ร้อยเอ็ด

การเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดและเป็น keynote speaker งานประชุมวิชาการเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 25 และ 26 กรกฎาคม 2561 ผมไปจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นครั้งแรก เพื่อเป็น keynote speaker เรื่อง “Innovative Thinking” ในงานประชุม The 2nd National and International Conference on Education and Technology ICET II : Critical Innovation ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จึงขอเล่าความประทับใจในการเดินทางและงานประชุมครั้งนี้ครับ

วันแรกในร้อยเอ็ด : เที่ยว

ผมเดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ออกจากกรุงเทพประมาณ 11 น. ก็ถึงสนามบินร้อยเอ็ดประมาณเที่ยงครับ มีรองอธิการบดี อาจารย์ ดร.การุณ พงศ์ศาสตร์ และอาจารย์ชาญณรงค์ วิเศษสัตย์มารับผมและอาจารย์จูนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็น commentator ในงานประชุมนี้ที่สนามบินร้อยเอ็ด

ที่พักของพวกเราคือ โรงแรมราชภัฏกรีนวิว อยู่ในมหาวิทยาลัย ใกล้ตึกที่จัดงานประชุม

ไปพระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล

หลังจากที่ทานอาหารเที่ยงที่โรงแรมแล้ว ผู้จัดงานพาอาจารย์จูนและผมไปที่พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล ซึ่งงดงามมาก

มองจากข้างนอก นึกว่าขนาดเล็ก แต่เมื่อเดินเข้าไป จะเห็นความอลังการมากครับ ใครที่ไปร้อยเอ็ด ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ เป็นสถานที่สำคัญของร้อยเอ็ด

พวกเราเดินขึ้นไปถึงยอดบนของพระมหาเจดีย์ ซึ่งสูงหลายชั้น กว่าจะเดินถึงข้างบน ขาแทบสั่น แต่ก็ได้นมัสการพระธาตุและเห็นวิวของร้อยเอ็ดที่สวยมาก

งาน 243 ปีของร้อยเอ็ด

ตอนกลางคืน รองอธิการบดีพาพวกเราไปงานฉลอง 243 ปีร้อยเอ็ดที่บึงพลาญชัย มีประชาชนไปถ่ายรูปมากมาย และแต่งชุดไทยหลายคน

คืนนั้นมีลมพัดเย็นสบาย เหมือนหน้าหนาวครับ

วันที่สองในร้อยเอ็ด : งานประชุมวิชาการ

งานประชุมวิชาการนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนไทย และมีชาวต่างชาติ เช่น เวียดนาม ใส่ชุดประจำชาติมาด้วย

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธีเปิดงาน

สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับพิธีเปิดงาน คือ ทุกคนบนเวทีเทข้าวหอมมะลิจากกระบอกไม้ไผ่ลงในกล่อง เป็นพิธีเปิดที่มีความคิดสร้างสรรค์และเหมาะกับสถานที่จัดงานมากครับ

เบื้องหลังการเตรียมตัวเป็น keynote speaker

ผมเป็น keynote speaker คนที่สาม ซึ่งสองคนแรกเป็นอาจารย์จากต่างประเทศ พูดเรื่องการสอนคณิตศาสตร์และการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ

ส่วนผมบรรยายประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นภาษาไทยเรื่อง “Innovative Thinking” โดยเนื้อหาเน้น 3 หัวข้อคือ การตั้งคำถาม การสังเกต และการจดบันทึก

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ เมื่อผมทราบว่า ต้องพูดครึ่งชั่วโมงในงานประชุมวิชาการ ผมเขียนหัวข้อต่างๆ ที่คิดว่าจะพูดในสมุดบันทึก ตามรูปข้างล่าง

ตอนแรก ผมเลือกหัวข้อ “การสอนวิชาความคิดสร้างสรรค์” เพราะคิดว่าผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ แต่รองอธิการบดีบอกว่า มีประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ เช่น สปอนเซอร์ มาเข้าฟังด้วย

ผมจึงเลือกหัวข้อที่ใครๆ ก็ฟังได้ ไม่จำกัดเฉพาะอาจารย์ คือ Innovative Thinking ซึ่งเป็นหัวข้อกว้างๆ

ช่วงบ่าย ผมชมการนำเสนอโปสเตอร์ต่างๆ มีหลายหัวข้อที่ผมสนใจ เช่น การสอนโดยใช้เทคนิคความคิดสร้างสรรค์แบบต่างๆ ครับ

ผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินสองทุ่ม แต่วันนั้นฝนตกหนัก เครื่องจึงดีเลย์ ออกจากร้อยเอ็ดประมาณ 3 ทุ่มครับ

ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ดเป็นอย่างสูงที่เชิญผมเป็น keynote speaker และต้อนรับอย่างดีครับ เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจอย่างยิ่งครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์