การเลือกกิจกรรมอบรมด้วยเทคนิค P.E.A.R.S.

วิธีเลือกกิจกรรมประกอบการอบรม การเรียน การสอนให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ

การนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว 3 ชั่วโมงเป็นเรื่องน่าเบื่อสุดๆ ครู อาจารย์ วิทยากรควรหากิจกรรมให้เหมาะสมกับเนื้อหาบทเรียนต่างๆ

แต่ผู้เรียนอาจมีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลายร้อยคน การหากิจกรรมหรือวัสดุการสอนที่เหมาะสมกับจำนวนคนอาจเป็นเรื่องยาก

ผมจึงคิดเทคนิค P.E.A.R.S. เพื่อช่วยตัดสินใจเลือกกิจกรรมครับ มาดูว่า P.E.A.R.S. หมายถึงอะไร

เราจะเลือกกิจกรรมให้นักศึกษาพันกว่าคนได้อย่างไร

P = Portable

กิจกรรมนี้พกพาสะดวกหรือไม่ ถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยเครื่องบิน สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้สะดวกหรือไม่

E = Eliminate

ถ้าบางส่วนของกิจกรรมหายไป เรายังคงใช้กิจกรรมนั้นได้ไหม

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ตัวต่อเลโก้ในการทำกิจกรรม ถึงแม้ว่าตัวต่อบางชิ้นหายไป ก็ไม่มีผล เพราะยังมีตัวต่ออีกเป็นจำนวนมากที่ใช้ได้

A = Affordable

ราคาแพงหรือไม่ เพราะกิจกรรมบางอย่างมีราคาสูง ถ้าต้องซื้อหลายชุดโดยใช้เงินตัวเอง ก็ต้องตัดสินใจว่า คุ้มค่าหรือไม่ครับ

ถ้าเราใช้กิจกรรมนั้นบ่อยๆ การลงทุนก็คุ้มค่า แต่ถ้านานๆ ใช้ครั้งหนึ่ง และต้องซื้อหลายชุด ก็อาจไม่คุ้มครับ

R = Repurpose

เรานำกิจกรรมหรือบางส่วนของกิจกรรมไปปรับเปลี่ยนใช้กับกิจกรรมอื่นได้ไหม

S = Scalable

กิจกรรมนี้ใช้กับคนจำนวนมากหรือไม่ บางกิจกรรมหรือเกมใช้ได้แค่ไม่กี่สิบคน ในขณะที่บางกิจกรรมใช้ได้เป็นพันๆ คน

กระดาษโพสต์-อิทเป็นวัสดุการสอนที่ใช้กับผู้เรียนจำนวนมากได้

ตัวอย่างกิจกรรมที่ตรงหลัก P.E.A.R.S.

วัสดุการสอนที่ตรงหลัก P.E.A.R.S. ทุกข้อ เช่น กระดาษโพสต์-อิท , กระดาษเปล่า , ปากกา , เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ เพราะ

  • หาง่าย หาซื้อได้ทั่วไป
  • ราคาถูก
  • ใช้กับผู้เรียนกี่คนก็ได้
  • หายไปบางส่วนก็ไม่เป็นไร
  • นำไปปรับใช้หรือผสมกับกิจกรรมอื่นๆ ได้ง่ายมาก

ตัวอย่างเช่น กิจกรรมที่มีผู้เรียน 200 คน แต่ละคนใช้โพสต์-อิท 4 ใบ โดยที่โพสต์-อิท 1 ชุดมี 100 ใบ แสดงว่าโพสต์-อิท 1 ชุดใช้ได้ 25 คน

ดังนั้น โพสต์-อิท 10 ชุดก็เหลือเฟือครับ พกพาได้สะดวก ราคากำลังดี

Photo by Jo Szczepanska on Unsplash

หาวัสดุกิจกรรมได้จากร้านสะดวกซื้อ

ผมมีคติประจำตัวว่า ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินและกระเป๋าเดินทางที่เก็บวัสดุการสอนตกหล่นหรือหายไป จะต้องซื้อวัสดุการสอนได้ที่ร้านสะดวกซื้อ

ผมเคยลืมวัสดุการสอนหนึ่งอย่างในการอบรมที่โรงแรม จึงบอกผู้ช่วยสอนให้ไปซื้อที่ร้าน 7–11 ใกล้โรงแรมครับ ดังนั้น ถ้าหาวัสดุทดแทนได้จากร้านสะดวกซิ้อ ก็สะดวกมาก

นิสิตปริญญาเอก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ใช้ไพ่ทำกิจกรรมในวิชาความคิดสร้างสรรค์

ถ้าผู้อ่านมีไอเดียในการเลือกกิจกรรมอบรม เชิญมาแลกเปลี่ยนความเห็นข้างล่างครับ

ยังมีกิจกรรม เกมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก โปรดติดตามบทความแนะนำกิจกรรมหรือสื่อการสอนที่น่าสนใจเร็ว ๆ นี้ครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์