ขอเรียนกับอาจารย์คนนี้เป็นครั้งสุดท้าย

วิธีง่ายๆ ในการลดภาระงานสอนของอาจารย์ที่ไม่ชอบสอน ด้วยการทำให้ชีวิตคนเรียนทนทุกข์ทรมาน

Source : Pexels

ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัย รู้สึกว่า ตัวเองสอนมากเหลือเกิน อยากทุ่มเทให้กับการประกันคุณภาพทางการศึกษา หรือตีพิมพ์เปเปอร์เยอะๆ ไม่อยากเสียเวลาสอนนักศึกษา อยากได้ไอเดียใหม่ๆ ในการสอนให้น้อยลง จนไม่มีนักศึกษาอยากมาเรียนด้วย

นี่คือบทความที่อาจารย์ทุกท่านรอคอยครับ หลังจากที่อาจารย์ใช้เทคนิคเหล่านี้แล้ว รับรองว่า ผู้เรียนจะตะโกนด้วยความเหลืออดว่า “อย่าเจออาจารย์คนนี้อีกเลย!”

1. เข้าสอนสายหรือขาดสอนเป็นประจำ

ถ้าเริ่มสอน 9 โมงเช้า ก็เข้าสอน 10 โมง เพื่อที่ผู้เรียนจะได้รู้ถึงความสำคัญของผู้สอน และเรียนทักษะสำคัญที่สุดคือ “การรอคอย”

แต่ผู้เรียนยุคนี้ก็เจ้าเล่ห์ไม่แพ้กัน เพราะถ้าอาจารย์มาสาย อาจหมดสิทธิ์สอนได้ เช่น สายเกินครึ่งชั่วโมง ก็ไม่มีใครรอแล้ว

ดังนั้นอาจารย์ที่หลักแหลมควรมีเบอร์โทรศัพท์ของนักศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้โทรบอกว่า “รออีกแป๊บนึง กำลังมาครับ”

นอกจากมาสายแล้ว การขาดสอนบ่อยๆ ก็ทำให้นักศึกษามีความสุขมาก เพราะไม่มีใครอยากเรียนอยู่แล้ว แต่อย่าทำให้นักศึกษาได้ใจ ควรนัดสอนเพิ่มเติมนอกเวลาหรือวันเสาร์ อาทิตย์

แต่ถ้าไม่มีเวลาสอนชดเชยจริงๆ ก็บอกว่า “ไปอ่านเอง จะออกข้อสอบในเรื่องที่ไม่ได้สอน”

2. เล่านอกเรื่องเยอะ ๆ คุยโม้มาก ๆ

อาจารย์ยุคนี้ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ดังนั้นอย่าไปสอนมาก บอกให้นักศึกษาอ่านหนังสือเอง ค้นคว้าเอง

อาจารย์ควรเล่าเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเยอะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรคุยโม้โอ้อวดความสามารถของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจ แล้วจะเกิด passion ในการเรียนรู้เอง

ตัวอย่างเช่น คุยให้นักศึกษาฟังว่า เขียนเปเปอร์เป็นร้อยๆ ฉบับแล้ว , ได้ตีพิมพ์ใน journal ดังๆ ของโลก , ไปแจกลายเซ็นในงานสัปดาห์หนังสือ หรือจดสิทธิบัตรมาแล้วมากมาย และเพื่อให้ผู้เรียนจำได้อย่างแม่นยำ ควรพูดซ้ำหลายๆ ครั้ง

ถ้าจะให้เด็ดกว่านั้น ก็นำมาออกสอบด้วย เช่น “จงเขียนชื่องานประชุมวิชาการที่อาจารย์ได้เป็น keynote speaker

ตอนนี้หนัง “บุพเพสันนิวาส” กำลังดัง ก็ควรเล่าละครเรื่องนี้เยอะๆ คุยกับนักศึกษาด้วยสรรพนาม “ออเจ้า” ราวกับว่า กำลังสอนในยุคอยุธยา และสอนเนื้อหาน้อยๆ เพราะไม่เกี่ยวกับบุพเพสันนิวาส

3. สอนเกินเวลามาก

อาจารย์ควรทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มที่ เราควรให้ผู้เรียนมีความรู้เยอะๆ อาจารย์มีความรู้เท่าไร ต้องสอนให้หมด อย่าไปกั๊ก เพราะสอนแค่เทอมเดียว ก็พอแล้ว

ดังนั้น อย่าเลิกสอนตรงเวลาเป็นอันขาด เพราะคนเรียนจะรู้สึกว่า ไม่คุ้มค่าลงทะเบียน เช่น ถ้าเลิกเรียนสี่โมงเย็น ก็ควรสอนถึงห้าโมงเย็น ยอมให้นักศึกษาบ่นว่าหิว ดีกว่าให้นักศึกษาเสียเวลาบนท้องถนน

4. ไม่ต้องเตรียมตัวสอน

อาจารย์ไม่ควรเตรียมสอนใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ควรเข้าห้องเรียนพร้อมกับสมองที่ว่างเปล่า จากนั้นเปิดสไลด์พาวเวอร์พอยต์ แล้วอ่านสไลด์ตามไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการตั้งใจฟัง

ถ้านักศึกษายกมือถาม เพราะไม่เข้าใจ ก็ห้ามว่า “ไม่อนุญาตให้ถามใดๆ ทั้งสิ้นในห้องเรียน เพราะเกรงว่า ข้อสอบจะรั่วไหล” หรือตำหนินักศึกษาว่า ทำไมไม่ตั้งใจฟังตอนที่อาจารย์สอน

5. แต่งตัวซกมกสุดขีด

เดี๋ยวนี้ นิสิต นักศึกษาแต่งตัวตามสบายเวลาไปเรียน เพราะให้เหตุผลว่า การแต่งกายไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้

อาจารย์ยุคใหม่ก็ไม่ควรน้อยหน้า ถ้านักศึกษาใส่รองเท้าแตะมาเรียน อาจารย์ก็สอนเท้าเปล่าเลย บางครั้งก็แต่งตัวซกมกบ้าง สูบบุหรี่ระหว่างสอนในห้องเรียนก็เท่ห์ไม่เบา

ถ้านักศึกษาถามว่า ทำไมอาจารย์แต่งตัวแบบนี้ ก็ยักคิ้วตอบไปเลยว่า “การแต่งกายของอาจารย์ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสอนอันเลอเลิศนี่ครับ”

6. โมโนโทน โมโนเฟซ

เพื่อเตรียมนักศึกษาให้รับมือยุคปัญญาประดิษฐ์ เอไอ หรือหุ่นยนต์ที่กำลังมาในอนาคต อาจารย์ยุคเอไอผงาดควรทำตัวคล้ายหุ่นยนต์ เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ล่วงหน้า เช่น

พูดเสียงราบเรียบ โมโนโทนตลอดเวลา พูดช้าๆ เหมือนหุ่นยนต์ และเพื่อให้ใกล้เคียงหุ่นยนต์มากขึ้น ก็ควรทำหน้านิ่งๆ โมโนเฟซ สีหน้าเมินเฉย ปราศจากความรู้สึก ให้นักศึกษาเดาว่า นี่คือมนุษย์จริงๆ หรือเป็นหุ่นยนต์หน้าตาเหมือนมนุษย์ที่ส่งมาจากโลกอนาคต

Photo by Hanif Mahmad on Unsplash

บทความนี้มาจากจินตนาการอันบรรเจิดของผู้เขียนล้วนๆ ไม่ได้อิงบุคคลจริง เหตุการณ์จริงใด ๆ ทั้งสิ้น

ถ้าข้อความใดตรงบุคคลหรือเหตุการณ์จริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องฟลุ๊คอย่างเหลือเชื่อ

ผู้เขียนยินดีให้ผู้อ่านนำเนื้อหาในบทความนี้ไปปรับใช้กับการสอนของตัวเอง เพื่อลดภาระการสอนของตัวเองให้น้อยลง จนกระทั่งไม่มีใครอยากเรียน จะได้เอาเวลาที่มีค่าไปทำมาตรฐานหรือประกันคุณภาพทางการศึกษาให้เต็มที่ครับ!

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์