บางครั้ง ผู้เชี่ยวชาญที่สุดอาจสอนแย่ที่สุด

ถ้าเราต้องเรียนวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน เราควรเรียนกับใครดีระหว่างนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ได้รางวัลระดับชาติหรือนักศึกษาปริญญาเอกที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ

Credit : Pixabay.com

ดร. อดัม แกรนท์ (Dr. Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ “Give and Take” , “Originals” และนักพูดที่โด่งดังใน TED ได้เขียนบทความเรื่อง “Those Who Can Do, Can’t Teach” เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมสรุปใจความดังนี้ครับ

บทความนี้กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญที่เก่งมากอาจสอนความรู้พื้นฐานแก่มือใหม่แย่กว่าคนที่เพิ่งศึกษาด้านนั้นไม่นาน เพราะคนเก่งจะเคยชินกับความเชี่ยวชาญของตนเองมาก จนนึกไม่ออกแล้วว่า คนที่เพิ่งเรียนเป็นอย่างไร ฝรั่งเรียกว่า curse of knowledge

ดร.แกรนท์เล่าว่า เคยรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนกับโปรเฟสเซอร์ดังๆ ที่ได้รับรางวัลโนเบลหรือพูลิตเซอร์สมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แต่กลับกลายเป็นว่า อาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งหลายเป็นผู้สอนแย่ที่สุด

ดร.แกรนท์จึงแนะนำว่า อย่าเรียนฟิสิกส์พื้นฐานกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เพราะจะเรียนไม่รู้เรื่อง แต่ควรเรียนกับลูกศิษย์ของเขาที่พยายามอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย

Photo by Tra Nguyen on Unsplash

เลือกผู้สอนวิชาพื้นฐานอย่างไร

บทความนี้เสนอว่า ถ้าอยากเรียนเรื่องพื้นฐานหรือเรื่องใหม่ให้เข้าใจ เราควรเลือกเรียนกับผู้สอน โค้ช หรือเมนเทอร์ต่อไปนี้

  • เรียนกับผู้สอนที่เพิ่งศึกษาด้านนั้น อาจเข้าใจมากกว่าเรียนกับคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นมานาน เพราะคนที่เพิ่งศึกษาจะเข้าใจความรู้สึกของมือใหม่ดีกว่า
  • เรียนกับผู้สอนที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักจนเก่งเรื่องนั้น ดีกว่าเรียนกับผู้สอนที่มีพรสวรรค์ด้านนั้นหรือเป็นอัจฉริยะที่ทุกอย่างง่ายไปหมด
  • เรียนกับผู้สอนที่อธิบายให้เข้าใจง่ายและรู้จริงในเรื่องนั้นด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดความรู้พื้นฐาน

ตัวอย่างใกล้ตัวที่ผู้อ่านคุ้นเคยคือ คนที่ไม่เคยขับรถมาก่อน ควรเรียนกับครูหรือโรงเรียนสอนขับรถ อย่าให้คนใกล้ตัวสอนขับรถให้ เพราะครูสอนขับรถที่เก่งจะเข้าใจวิธีการสอนขับรถอย่างถูกวิธีและเป็นขั้นตอน และเข้าใจมือใหม่หัดขับได้ดี

ถึงแม้ว่าคนสนิทของเรา เช่น ญาติ พี่น้อง คู่สมรส ขับรถคล่องก็ตาม แต่อาจไม่สามารถสอนวิธีขับรถครั้งแรกอย่างเป็นขั้นตอน

บางคนขับรถมานาน จนลืมแล้วว่า ความรู้สึกในการเพิ่งขับรถครั้งแรกเป็นอย่างไร หลายคนถึงกับแนะนำว่า อย่าให้คู่สมรสสอนขับรถครั้งแรกเด็ดขาด เพราะจะทะเลาะกัน !

แต่ถ้ามีพื้นฐานการขับรถบ้างแล้ว ไม่ต้องไปเรียนก็ได้ อาจขอให้คนใกล้ตัวช่วยแนะนำให้ จะดีกว่าครับ

อีกตัวอย่างที่นิสิต นักศึกษาคุ้นเคยคือ บางครั้งเรียนกับอาจารย์แล้วไม่เข้าใจ แต่เมื่อเพื่อนอธิบายให้ฟัง กลับเข้าใจมากกว่าอาจารย์สอน เพราะเพื่อนจะเข้าใจความรู้สึกของคนเพิ่งเรียนด้วยกัน หรืออธิบายด้วยภาษาที่คนรุ่นเดียวกันให้เข้าใจได้ดีกว่าอาจารย์ครับ

คุณหมอ Angela Yu ผู้สอนคอร์สการเขียนแอพไอโฟนที่มีคนเรียนมากมายใน Udemy

ตัวอย่างผู้สอนคอร์สดังใน Udemy

ผมสังเกตว่า อาจารย์หลายคนที่สอนคอร์สออนไลน์ใน Udemy ที่มีคนเรียนจำนวนมาก จะไม่ใช่คนที่เรียนด้านนั้นโดยตรง แต่เป็นคนที่พยายามศึกษาด้วยตนเองอย่างหนัก และมาทำคอร์สถ่ายทอดให้คนอื่น

เช่น มีหมอผู้หญิง ชื่อ Angela Yu ทำคอร์สออนไลน์สอนการเขียนแอพในไอโฟนที่อธิบายเข้าใจง่ายมาก เพราะคุณหมอฝึกเขียนแอพด้วยตนเอง และไม่ได้เป็นนักคอมพิวเตอร์โดยตรง จึงเข้าใจความรู้สึกของมือใหม่ที่เพิ่งเขียนโปรแกรมได้ดี

เว็บให้คะแนนการสอนของอาจารย์ในสหรัฐ

มีเว็บไซต์ชื่อ www.ratemyprofessors.com ซึ่งเป็นเว็บให้คะแนนการสอนของอาจารย์ในสหรัฐ นักศึกษาที่เคยเรียนกับอาจารย์คนไหน จะมาให้คะแนนอาจารย์คนนั้น

เว็บไซต์นี้มีการเขียนความเห็นอย่างดุเดือด วิจารณ์การสอนและให้คะแนนอาจารย์แต่ละคนยิ่งกว่ารีวิวหนัง ผู้อ่านที่เคยเรียนที่สหรัฐอเมริกา ลองค้นหาชื่ออาจารย์ตัวเองว่า นักศึกษาคนอื่นให้คะแนนอาจารย์ของเราเท่าไรกันบ้างครับ

บทความของ ดร.แกรนท์ เน้นเฉพาะการเรียนรู้เรื่องใหม่เท่านั้น แต่ถ้าเราต้องการเรียนรู้เนื้อหาชั้นสูง การเรียนรู้เนื้อหาชั้นสูงหรือทักษะขั้นเทพกับผู้เชี่ยวชาญระดับสุดยอดหรือคนเก่งระดับโลก ย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน

แต่ถ้าใครได้พบผู้เชี่ยวชาญตัวจริงและมีทักษะการสอนขั้นเทพให้มือใหม่เข้าใจง่ายแล้วล่ะก็ เป็นโชคดีที่น้อยคนนักจะได้พบครับ อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์