เป็นฟาครั้งแรกใน LEGO® SERIOUS PLAY® workshop

Credit : Pixabay.com

ถ้าผู้อ่านเห็นห้องที่มีตัวต่อเลโก้เต็มไปหมด อาจคิดว่า นี่เป็นห้องแข่งขันต่อเลโก้ หรือห้องเรียนของเด็ก

แต่ห้องนี้คือเวิร์คชอป LEGO® SERIOUS PLAY® ( LSP ) ที่มันสมองชั้นเลิศหรือ Top Talent ของบริษัท 100 กว่าคนมาวางแผนกลยุทธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ครับ

LSP คืออะไร เกี่ยวกับเลโก้อย่างไร

LSP คือกระบวนการที่ใช้ตัวต่อเลโก้มาวางแผนกลยุทธ์ , ประชุม , สร้างวิสัยทัศน์ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งผมได้เรียนหลักสูตรการเป็นฟา ( facilitator ) ของ LSP ในมีนาคม 2561 ครับ

ขณะนี้เวิร์คชอป LSP เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ บทความเรื่อง “ทำไม? วิชาแรกที่นักศึกษา BBA จุฬาฯ ต้องเรียนคือต่อ “LEGO” บอกว่า นิสิต BBA จุฬาฯ ปี 1 ก็ได้เรียนรู้ LEGO® SERIOUS PLAY® แล้วครับ

ตั้งแต่สำเร็จหลักสูตรการเป็นฟา LSP ผมก็ยังไม่มีโอกาสใช้สิ่งที่เรียนรู้เลยครับ

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2561 คุณปุ้ม ณฤดี ชวนผมมาร่วมทีมฟา LSP ให้บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่โรงแรมในพัทยา ผมจึงยินดีมากที่จะได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ผมจึงขอเล่าประสบการณ์ของการเป็นฟา LSP ครั้งแรกของผมครับ

1.เตรียมกำหนดการ

งานนี้มีผู้เข้าอบรมเกือบ 140 คน แบ่งเป็นเวิร์คชอปเช้าและบ่าย จึงต้องใช้ฟาหลายคนมาช่วยดูแล ทีมฟาจึงต้องประชุมเรื่องกำหนดการให้ทุกคนเข้าใจ เพราะเรามีเวลา 3 ชั่วโมงเท่านั้น

ทีมฟาทำไลน์คอลล์ก่อนวันอบรม เพื่ออธิบายกำหนดการ , ซักซ้อมความเข้าใจ และปรับเอกสารกำหนดการของฟา หรือ facilitator’s note ให้เหมาะสมที่สุด

Credit : Poom Narudee

2. ดูสถานที่ให้เรียบร้อย

เนื่องจากมีผู้เข้าอบรมจำนวนมาก จึงแบ่งเป็นโต๊ะที่มีผู้เรียน 10 คนต่อหนึ่งโต๊ะ และมีฟา 1 คนประจำโต๊ะ

เมื่อไปถึงสถานที่อบรมแล้ว พวกเราก็เข้าไปดูห้องอบรม เพื่อบอกเจ้าหน้าที่โรงแรมให้จัดโต๊ะตามที่เราต้องการครับ

สิ่งที่พวกเราขอให้โรงแรมปรับห้อง เช่น

  • จัดโต๊ะกลางห้องเพื่อใส่ตัวเลโก้จำนวนมากเพื่อทำกิจกรรม AT 1 และ AT 2 คือ สร้างโมเดลของตัวเองและโมเดลร่วมของโต๊ะ
  • นำกระดานฟลิปชาร์ตข้างห้อง , กระดาษ ดินสอที่วางบนโต๊ะออกให้หมด เพราะเวิร์คชอป LSP ไม่ต้องเขียนอะไรทั้งสิ้นครับ

ห้องเวิร์คชอปครั้งนี้มี 7 โต๊ะ มีวิทยากรหลัก 1 คน ฟา 7 คน และผู้ช่วย 2 คนครับ

3. อธิบายกติกาให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจ

เมื่อเริ่มเวิร์คชอป วิทยากรหลักจะแจ้งกติกาต่างๆ ให้ผู้เรียนทราบ เช่น งดใช้โทรศัพท์ , ขอให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เป็นต้น

4. เคลียร์โต๊ะให้โล่งอีกครั้ง

ผู้เข้าอบรมอาจวางสิ่งของ โทรศัพท์ หรือสิ่งต่างๆ บนโต๊ะ ฟาจะบอกให้ทุกคนเก็บของใส่กระเป๋าให้หมด โต๊ะควรโล่งที่สุด เพราะกระบวนการ LSP ใช้พื้นที่โต๊ะอย่างมากครับ

5. Skill Building สำคัญจริงๆ

ผู้เข้าอบรมหลายคนแทบไม่เคยต่อเลโก้เลย หลายคนไม่ได้แตะต้องเลโก้มานานมาก

ดังนั้นทุก LSP เวิร์คชอปจะต้องเริ่มต้นด้วย skill building ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าอบรมคุ้นเคยกับกระบวนการ LEGO® SERIOUS PLAY® เพื่อให้การคิดในช่วงต่อๆ ไปเกิดประโยชน์สูงสุด

6. ฟาเน้นที่การฟังและถาม เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเอง

ทักษะสำคัญของฟาที่ต่างจากอาจารย์หรือวิทยากรคือ ต้องฟังมาก เพราะพวกเราไม่ได้สอนเนื้อหาอะไร แต่ดึงประสบการณ์ ความเห็นจากผู้เข้าอบรมเป็นหลัก

บางครั้ง ฟาตั้งคำถามหรือช่วยอธิบายการต่อหรือดึงเลโก้ออก แต่ไม่ต้องสอนหรือพูดมากครับ

ทีมฟาบางส่วนในเวิร์คชอปนี้

อยากเป็นฟา LSP ควรทำอย่างไร

ดูเผินๆ ว่า เป็นฟา LSP ไม่เห็นจะยากเลย แต่ทุกคนที่เป็นฟา LSP ต้องผ่านการอบรมมาก่อน จึงจะเข้าใจขั้นตอนที่ถูกต้องของ LSP ครับ

ตัวอย่างเช่น เวิร์คชอปครั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้ AT 1 และ AT 2 ซึ่ง AT ย่อจากคำว่า Application Technique

ถ้าผู้อ่านอยากทราบว่า เป็นฟา LSP สนุก ตื่นเต้นเร้าใจอย่างไร ขอเชิญอ่านบทความที่ผมเขียนเรื่อง “LEGO® SERIOUS PLAY® : เมื่อตัวต่อเลโก้ไม่ใช่ของเล่นเด็ก

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์