CUVIP : คอร์สพิเศษเพื่อชาวจุฬาฯ

หลักสูตรสุดพิเศษที่นิสิต บุคลากร และศิษย์เก่าจุฬาฯ ไม่ควรพลาด

Credit : Pexels.com

นอกจากวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนตามหลักสูตรแล้ว จุฬาฯ ยังมีคอร์สระยะสั้นพิเศษเรียกว่า CUVIP (Chulalongkorn University Value Integration Program ) ซึ่งเป็นของดีที่ชาวจุฬาฯ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก

CUVIP คืออะไร

CUVIP เป็นหลักสูตรหรือคอร์สระยะสั้นของจุฬาฯ ที่สอนความรู้หรือทักษะต่างๆ เช่น ทำอาหาร ภาษา เทคโนโลยี สันทนาการ งานอดิเรก โดยใช้เวลา 3 หรือ 6 ชั่วโมง

หลักสูตรส่วนใหญ่ใน CUVIP จะเน้นกิจกรรมหรือฝึกปฏิบัติมากกว่าความรู้ทางวิชาการหรือทฤษฎีที่เรียนในห้องเรียน ดังนั้นคอร์ส CUVIP มักสนุกสนานและเป็นกันเองครับ

นอกจากนี้ ชาวจุฬาฯ ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าสมัครเรียน CUVIP ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเรียนจบแล้ว ยังได้รับใบประกาศนียบัตรด้วย

CUVIP เกือบทุกหลักสูตรสอนตอนเย็นวันธรรมดา เช่น 16.30 – 19.30 หรือ 17 – 20 น.

สถานที่เรียน CUVIP คือ อาคารวิทยพัฒนา ใกล้หอพักนิสิต แต่บางครั้งเรียนที่อาคารจามจุรี 10 ซึ่งเป็นตึกใหม่ อยู่ใกล้ๆ กัน

ข้างล่างคือโปสเตอร์หลักสูตร CUVIP ที่จะเปิดสอนในเดือนมกราคม 2562 ครับ จะเห็นว่ามีหลักสูตรหลากหลายมาก

Credit : เพจ CUVIP Project

ผมไปสอน CUVIP ได้อย่างไร

ผมจำได้ว่า เห็นโปสเตอร์หลักสูตร CUVIP ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ประมาณสิบปีก่อน ซึ่งประชาสัมพันธ์หลักสูตรเกี่ยวกับการดูแลฟัน และรับสมัครผู้สอนในโครงการนี้

ผมจึงติดต่อศูนย์การศึกษาทั่วไป และขอเปิดสอนหลักสูตรแรกคือ “เรียนเก่ง ทำงานเก่งด้วย Mind Map”

จากหลักสูตร CUVIP Mind Map นี่เอง ที่ ทำให้ผมเปิดวิชา Innovative Thinking หรือการคิดเชิงนวัตกรรม เป็นวิชาเจนเอด (การศึกษาทั่วไป) ได้ เพราะส่งเมล์หานิสิตทุกคนที่เคยเรียน CUVIP กับผมว่า กำลังเปิดวิชาเจนเอดตัวใหม่

ถ้าผมไม่ได้สอน CUVIP อาจไม่มีใครรู้จักวิชา Innovative Thinking ก็ได้

จากนั้น ผมก็เริ่มเปิดหลักสูตรอื่นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งขณะนี้ ผมเปิดสอนใน CUVIP ทั้งหมด 6 หลักสูตร เรียงตามลำดับการเปิดคือ

  1. เรียนเก่ง ทำงานเก่งด้วย Mind Map
  2. เคล็ดลับจำเก่ง จำแม่น
  3. การนำเสนออย่างทรงพลัง
  4. เว็บไซต์และซอฟต์แวร์ช่วยนำเสนอ
  5. พัฒนาสมองด้วยการโยน juggling
  6. ปลดล็อกพลังความคิดสร้างสรรค์
กิจกรรมใน CUVIP มีหลากหลาย

อุปสรรคใหญ่ของ CUVIP

เนื่องจากผมสอน CUVIP ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงขณะนี้ สิบกว่าปีแล้ว พบว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดของ CUVIP คือ

ชาวจุฬาฯ รู้จักน้อยมาก

ผมถามนิสิตวิชา Innovative Thinking ทุกครั้งว่า มีใครบ้างที่เคยเรียน CUVIP คำตอบคือ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

เคยมีบางปีที่ผมสอน CUVIP ไม่ได้เลย เพราะนิสิตสมัครเรียนน้อยเกินไป

แต่ตอนนี้ สถานการณ์ดีขึ้นมาก เพราะมีนิสิตมาเรียน CUVIP มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับแพร่หลาย

นิสิตบางคนบอกว่า เคยได้ยิน CUVIP แต่ไม่เคยเรียน ดังนั้น ผมจึงเขียนบทความนี้ เพราะอยากให้ชาวจุฬาฯ มาเรียนกันมากขึ้นครับ

สอน CUVIP แล้วได้อะไร ?

อาจารย์จุฬาฯ คงอยากทราบว่า สอน CUVIP แล้วได้อะไรบ้าง

คำตอบคือ ได้ค่าตอบแทนบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ผมสอน CUVIP มาถึงสิบปีนี้คือ การได้รู้จักนิสิตต่างคณะ ได้สอนนิสิตคณะอื่นบ้างนอกจากคณะตัวเอง

มีหลายครั้งที่ผมเดินในจุฬาฯ แล้วมีลูกศิษย์คณะอื่นที่เคยเรียน CUVIP กับผม ไหว้ผมหรือทักทายผม

นอกจากนี้ ผู้เรียน CUVIP เกือบทุกคนตั้งใจเรียนด้วย เพราะสมัครใจมาเรียนตอนเย็นเอง ไม่ได้ถูกบังคับหรืออยู่ในหลักสูตรที่ต้องเรียน ดังนั้น การสอนคนที่อยากเรียนอยู่แล้ว ย่อมมีความสุขมากกว่าสอนคนที่ถูกบังคับให้มาเรียนครับ

ผมเคยชวนนิสิตบางคนที่ตั้งใจเรียน CUVIP กับผม ให้มาเรียนวิชา Innovative Thinking กับผมด้วย เพราะเห็นแววแล้ว อยากได้มาเป็นลูกศิษย์ครับ

ชวนมาเรียน CUVIP

ถ้าผู้อ่านเป็นชาวจุฬาฯ เช่น นิสิตปริญญาตรี โท เอก อาจารย์ บุคลากรหรือศิษย์เก่า ที่สนใจอยากพัฒนาตนเอง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ผมขอชวนมาเรียน CUVIP ครับ หรือสนใจอยากจะเปิดสอนด้วยก็ได้ ติดต่อได้ที่เพจ CUVIP Project หรือเว็บไซต์ www.cuvip.gened.chula.ac.th

แทนที่จะเสียเวลาติดอยู่บนถนนตอนเย็น ลองใช้เวลาตอนเย็นสักวันมาเรียน CUVIP แล้วจะรู้ว่า รู้งี้ น่ามาเรียนตั้งนานแล้ว

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์