เตือนไทยรับมือสังคมสูงวัยใน20ปีแซงหน้าประเทศอื่น

teera saychontara
ธุรกิจ To Day
1 min readAug 17, 2018

ธปท.เตือนไทยรับมือสังคมสูงวัยใน20ปี แซงหน้าประเทศอื่น ห่วงส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงาน จะหายไปจากตลาดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

วันนี้ (16ส.ค.61) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ศึกษาเรื่องของสังคมสูงวัยในประเทศไทยซึ่งพบว่ามีความท้าทายและหนักกว่าปัญหาสังคมสูงวัยในหลายประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

สำหรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย คาดว่า จะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสูงวัยในเวลาเพียง 20 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาตั้งแต่ 18–115 ปี โดยจากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)พบว่าในปี 2563 ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปของโลกมีสัดส่วน 9% ในปี 2593 อยู่ที่ 16% ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 19% และ 27% ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 7% และ 14%

ขณะที่ประเทศเมื่อปรียบเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุกับประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดและในอนาคตจะขึ้นไปใกล้เคียงกับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนไทยอย่างญี่ปุ่น โดยปี 2563 อยู่ที่ 28% และปี 2593 อยู่ที่ 36% ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 16% และ 35% สิงคโปร์อยู่ที่ 15% และ 34% ส่วนไทยอยู่ที่ 13% และ30% โดยจากการศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่าการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จากการบริโภคของภาคครัวเรือนที่มีโอกาสชะลอลง จากอัตราการเติบโตของประชากรลดลง โดยทางยูเอ็นคาดการณ์จำนวนแรงงานไทยจะหายไปจากระบบในอีก 10 ปีข้างหน้า และหากดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีตที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% แต่หากแรงงานออกจากระบบก่อนวัยเกษียณซึ่งมีประมาณปีละ 300,000 คนที่เริ่มออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55–59 ปี และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจหรือจีดีพีรวม 1.5% หรือเติบโตได้เพียง 3.5%

หากจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรของประเทศชะลอลง 5.5% ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวประชากร 12,500 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี

นอกจากนั้นผลการศึกษาสังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทยพบว่า ไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2543 โดยมี ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 14% ในปี 2565 และเป็น 20% ในปี 2578 ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุรุนแรงเหมือนประเทศญี่ปุ่น ผลการศึกษาดังกล่าว ธปท.ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเห็นว่าประเทศไทยควรเน้นแก้ไข 2 ด้าน คือการเพิ่มทักษะของแรงงานไทย และการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งการเพิ่มทักษะเดิมที่แรงงานมีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และการเสริมทักษะใหม่ให้แรงงานวัยกลางคนรองรับ

อ่านข่าวต้นฉบับ

--

--