[Interactive] มารู้จัก Ambilight ทำจอให้เรืองแสงกัน

สวัสดีครับ บทความนี้เป็นบทความเบาๆ เกี่ยวกับ Interactive โดยการติดแสงให้จอทีวีกันกับสิ่งที่เรียกว่า Ambilight

Ambilight คืออะไร ก็คือมาจากคำว่า Ambient (สภาพแวดล้อม)+ Light (แสง) หรือก็คือแสงที่ปรับไปตามสภาพแวดล้อมของจอภาพ

ในทางเทคนิคคือการติดแสงไว้ที่หลังจอ เพื่อให้จอของเราเปล่งออร่าเหมือนแสงทะลุจอได้

ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่ทำสำเร็จ
ตัวอย่างการแสดงผล Ambilight
ตัวอย่างการแสดงผล Ambilight
ตัวอย่างการแสดงผล Ambilight
ตัวอย่างการแสดงผล Ambilight
ตัวอย่างการแสดงผล Ambilight
ตัวอย่างเบื้องหลังการติด Ambilight

รู้จักประเภทของ Ambilight

จากที่ผมลองศึกษาดู วิธีทำ Ambilight จะทำได้หลายวิธีมาก โดยแบ่งได้ดังนี้

  1. Build-in หรือก็คือติดมากับจอ
  2. แบบดักโดยใช้กล้อง
  3. แบบดักจาก HDMI
  4. แบบส่งค่าจาก USB (วิธีที่ผมใช้)

1. Build-in หรือก็คือติดมากับจอ

วิธีนี้ข้อดีคือไม่ต้องทำอะไรเลยใช้ได้ทันที แต่ทีวีมีน้อยรุ่นมาก ตัวอย่างทีวีที่มีคือ philips ambilight

2. แบบดักโดยใช้กล้อง

หรือก็คือ มีกล้องติดอยู่บนทีวีเพื่อดักสีที่แสดง น่าจะใช้ง่าย ค่าใช้จ่ายราวๆ 60–80$ หรือราวๆ 2–3 พัน บาท ตัวอย่างยี่ห้อ govee ambilight , ambiscreen

3. แบบดักจาก HDMI

วิธีนี้เหมือนจะง่าย แต่ความจริงค่อนข้างยุ่งยาก หรือไม่ก็แพงไปเลย เพราะว่า จะต้องหาตัวที่สามารถทำ HDMI Capture เป็นข้อมูลได ้และ split ข้อมูล HDMI ด้วย โดยมีวิธีข้างล่างคือ
3.1 แบบ DIY ด้วย Raspberry Pi

ตัวอย่าง DIY ด้วย Raspberry Pi จาก บทความ (ที่มา awesomepi.com)

วิธีนี้ จะเห็นว่ามีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ต้องทำการ split สัญญาณก่อน แล้วทำการส่งค่าบันทึกเข้า Raspberry Pi

จากรูปจะเห็นว่าแปลง HDMI เป็น av ก่อน เพราะชุดแปลงและบันทึกมีราคาถูก

แต่ถ้าหาแบบ capture จาก HDMI หรือ split ไปเลย อาจจะมีราคาหลายพัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุ้มค่า และ สามารถใช้ร่วมกับ Raspberry Pi ได้หรือเปล่า วิธีนี้น่าจะใช้เงินราวๆ 3–5 พันบาท

3.2 แบบสำเร็จ
อันนี้จบ มีตั้งแต่แบบถูก (ที่ไม่ค่อยเห็นมีขายแล้ว)ไปจนแพงสุดๆ ใช้งบราวๆ 300$ หรือราวๆ 9 พันขึ้น อย่างยี่ห้อ dreamscreen กับแบบถูก CroLED

ตัวอย่างแบบสำเร็จ dreamscreen 4k
แบบถูก CroLED

4. แบบส่งค่าจาก USB

วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกที่สุด ทำดีๆราวๆ พันต้นๆ หรือไม่ถึงพัน เพราะว่าหัวใจหลักคือ Arduino ที่มีราคาไม่แพง สามารถทำเองได้ไม่ยาก หรือหากไม่อยากทำ ก็สามารถ ซื้อสำเร็จมาประกอบได้

วิธีนี้มีข้อเสียคือ ต้องพึ่งพาระบบปฏิบัติการ เช่น Windows OSX Android TV ในการส่งข้อมูลภาพมาให้

ตัวอย่างแบบ DIY ด้วย Arduino ด้วยตัวเอง
ตัวอย่างแบบซื้อสำเร็จ

มาเริ่มทำ Ambilight

วิธีที่ผมใช้คือ วิธีส่งข้อมูลจาก USB เนื่องจากมีราคาถูก และส่วนใหญ่ผมใช้ Windows เป็นหลัก โดยสามารถทำเองได้ไม่ยาก แค่ใช้ Arduino , หลอด NeoPixel (RGB LED Strip) และ แหล่งจ่ายไฟที่มากพอ

โดยโปรแกรมที่ส่งข้อมูลบน Windows ชื่อว่า AmbiBox โดยข้อจำกัดแรกคือใช้งานได้ไม่เกิน 300 Zone หรือก็คือ 300 หลอด

ตัวอย่าง AmbiBox

ทั้งนี้ด้วยความง่ายผมเลยสั่งแบบสำเร็จ ยี่ห้อ Dream Color มาลองดู จะได้ไม่เสียเวลาเบิร์นโค๊ด สั่ง Arduino และ หม้อแปลง

ตัวอย่างเซ็ตสำเร็จ Dream Color

โดยมีคู่มือการเซ็ตให้พร้อมสามารถเข้าดูได้ที่นี่ คู่มือ

ตัวอย่างคู่มือการใช้งาน

หลอด NeoPixel (RGB LED Strip) คือหลอด LED ที่มีชิฟ (W2812b) ฝังในตัว วิธีใช้งานเพียงต่อขาและส่งข้อมูลแบบ Serial เข้าไปในหลอดก็ใช้งานได้เลย หากนึกภาพง่ายๆคือสามารถ ส่งข้อความตัวอักษรให้หลอด ก็สามารถระบุได้เลยว่าอยากให้หลอดมีสีอะไร

เมื่อก่อนแพงมาก จำได้ว่าสมัยมาแรกๆบน Adafruit เมตรละเป็นพัน (ปัจจุบันก็ยังราคานี้อยู่) แต่เดี่ยวนี้มีสายที่ขายจากจีน ใช้งานได้เหมือนกัน เมตรละร้อยกว่าๆ ซึ่งถูกลงมามาก

ทั้งนี้สายของ NeoPixel มีหลายแบบคือ แบบ 30 หลอดต่อเมตร 60 หลอดต่อเมตร (144 หลอดต่อเมตรก็มี) หากสายมีค่า IP67 IP68 คือจะมีซิลิโคนกันน้ำให้ด้วย

โดยของผมเป็นจอทีวี 75 นิ้ว เลยสั่งแบบ 5 เมตรมา (จริงๆแล้วควรใช้เกินเกิน 5 เมตรมานิดๆ) เพราะผมสั่งแบบ 60 หลอดต่อเมตร มี 5 เมตร ก็ 300 หลอดเต็มข้อจำกัดพอดี

แต่ถ้าผมแนะนำ ควรซื้อแบบ 30 หลอดก็พอแล้ว ง่ายกว่าหลายๆอย่าง ข้อจำกัดน้อยกว่า เดี่ยวจะอธิบายในส่วนต่อไป

ตัวอย่างหลอด NeoPixel (RGB LED Strip)

จากเซ็ตของผมสายยาว 5 เมตรซึ่งยาวมาก เขากลัวไฟส่งไม่ถึง เลยให้ชุดต่อไฟส่วนก้นสายปิดท้ายมาด้วย กลายเป็นว่าไฟเข้า 2 ทาง คือข้างหน้าและข้างหลัง

ตัวอย่างตัวต่อ ก้นสายปิดท้าย

พอได้มาตอนแรกก็ลองทดสอบต่อดูก่อนว่าสามารถใช้งานได้ใหม ซึ่งใช้งานได้ดี สว่างมากจนถ่ายออกมาห้องดูมืดไปเลย

ตัวอย่างทดสอบหลอดไฟ LED

ปัญหาแรกที่กวนใจตอนหลังสุดๆคือ เทป 2 หน้าที่ติดมาให้ตึงเกินไป ซึ่งจะทำให้สายโก่งออกมาและหลุดจากจอโดยง่าย หากซื้อแบบเทปสำเร็จ แนะนำให้เอากรรไกรตัดส่วนนี้ออกให้หมด อันนี้ตอนแรกผมคิดว่าไม่เป็นไรเลยไม่ได้ทำซะงั้น

ตัวอย่างเทปตึงบนสาย LED

หลังจากทดสอบว่าใช้ได้ ก็ลองทำโครงชั่วคราวแบบคร่าวๆ โดยการใช้ เทป 3M มาช่วย จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องคราบกาว

ตัวอย่าเทป 3M ที่ช่วยในการขึ้นโครงชั่วคราว
ตัวอย่างโครงชั่วคราว
ตัวอย่างโครงชั่วคราวเมื่อต่อไฟ

ปัญหาช่วงนี้ค่อนข้างยิบย่อย อย่างทีวีผมข้างบนกับข้างล่างหนาไม่เท่ากัน จึงทำให้ช่วงล่างยาวกว่าใช้หลอดมากกว่า ทางที่ดีบนและล่างควรใช้หลอดเท่าๆกัน

กับเวลาตัดสายและจะต่อเข้าด้วยกัน ให้ดูทิศทางสายด้วย LED จะมีลูกศรชี้บอกทิศ หากต่อผิด หลอดจะร้อน หรืออาจจะไหม้ได้

ตัวอย่างลูกศรทิศทาง LED

กับจังหวะนับหลอด ต้องระวังดีๆ ของผมมีนับถูกนับผิด นับถูกแต่จำผิดก็มี อย่าลืมเขียนโน๊ตให้ชัดๆจะได้ไม่สับสน

ของผมเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเท่าไหร ซ้ายขวาผมได้ 54 บนได้ 97 แต่ล่างได้ 92 และเว้นตรงกลางข้างล่าง รวมหลอดได้ 297 หลอด

หลังจากที่คิดว่าเว้นตรงกลาง ก็ไปทำการบัดกรีสาย connector ขึ้นมา

ตัวอย่างสาย connector

ต่อไปลองต่อโครงจริง เนื่องจากจอผมพึ่งซื้อมาใหม่ ไม่อยากให้มีคราบกาว เลยต้องเพิ่มของพิเศษหน่อย ตรงที่ใช้สติกเกอร์ที่ไม่ทิ้งคราบกาว อย่างเช่น di-noc หรือ ฟิลม์ติดรถยนต์ มารองอีกชั้นหนึ่ง

พอดีผมมีติดห้องอยู่เป็นลาย carbon fiber แต่สติกเกอร์พวกนี้ค่อนข้างแพง ตารางเมตรเป็นพัน แนะนำหาที่ประหยัดๆจะดีกว่า

ตัวอย่างฟิลม์ที่ไม่ทิ้งคราบกาว
ตัวอย่างการติดฟิลม์ไม่ทิ้งคราบกาวรองอีกชั้นหนึ่ง

พอติดโครงจริงค่อนข้างส่วยเรียบร้อยเลย

แต่ก็เจอปัญหาต่อมาคือ Connector ทำไฟตก คือจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสีดรอปเวลาข้าม Connector เป็นไปได้ว่า Connector ขาต่อเล็กเกินไป จากสีม่วงกลายเป็นสีแดง

ตัวอย่างไฟตกเวลาผ่าน connector
ตัวอย่างไฟตกเวลาผ่าน connector

ดังนั้นผมเลยทำการรื้อ connector ออกทั้งหมด และทำการบัดกรีสาย จะดีที่สุด ทางที่ดีควรหาสายเส้นใหญ่ๆด้วยจะดีมากๆ

ตัวอย่างการบัดกรีสายใหม่

พอลองเทสไฟดูดีขึ้นมาก

ตัวอย่างทดสอบไฟ จากการบัดรี
ตัวอย่างทดสอบไฟ จากการบัดรี

จากรูปเนื่องจากผมไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องเทป LED โก่งตั้งแต่แรก และ ทีวีผมมันเป็นลายตารางๆ ไม่ได้มีผิวหลังเรียบ เลยไม่ค่อยอยู่ เลยต้องติดเสริม เพิ่มกันหลุดค่อนข้างเยอะหน่อย

ปัญหาต่อมา เหมือน แอมป์จะไม่พอ ไม่สามารถเปิดสีขาวได้ทั้งหมด หากเปิดขาวทั้งหมดจะไปทางม่วงหรือไม่ก็ส้มไปเลย แต่ถ้าเปิดไม่กี่ดวงก็ยังขาวได้

จากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เขาว่ากินสีละ 20 มิลิแอมป์ แปลว่า 1 หลอดมี 3 สีกิน 60 มิลแอมป์ โดยของผมมี 297 หลอด จะต้องกิน 297 * 0.06 = 17.82 แอมป์ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ

ซึ่งจะหา adapter ระดับ 18 แอมป์เป็นไปได้ยาก เท่าเห็นมีขาย เป็นแบบสวิตชิ่งไปแล้ว ก็ถือว่าเป็น power supply ขนาดย่อมเลย สายไฟที่ผมต่ออาจจะคิดว่าเล็กเกินไป และอาจจะต้องต่อสายเพิ่มในมุมทแยงด้วย

ผมเลยบอกว่าให้ไปใช้ แบบ 30 หลอดต่อเมตรจะง่ายกว่า อย่างน้อยก็กินแอมป์น้อยกว่ากันไปครึ่งนึง เหลือ 9 แอมป์ โดย อแดปเตอร์ที่ผมได้มาเพียง 5 โวลต์ 8 แอมป์ ถ้าใช้กับแบบ 30 หลอดก็ยังดูไม่น่าเกลียดเท่าไหร่

ตัวอย่าง อแดปเตอร์ 8 แอมป์ที่ได้มา
ตัวอย่าง สวิตชิ่ง พาวเวอร์ซัพพลาย

จากที่ทำมา ผมทำผิดตรงที่คิดว่า ตรงกลางล่างสามารถปรับใน ซอฟต์แวร์ได้ แต่ความจริง หากเว้นข้างล่างมันจะเริ่มนับหลอดไม่เหมือนกันเลย

คือหากจะติด LED แบบเว้นตรงกลางข้างล่าง แนะนำให้ต่อไฟเริ่มจากตรงกลางล่างด้วย และบนล่างควรเป็นจำนวนคู่

แต่ของผมได้ต่อแบบไม้เว้นกลางไปแล้ว โดยนับหลอดแรกจากทางขวาสุด และทำการเชื่อม บัดกรี ข้ามส่วนที่เว้นไว้ ซึ่งทำให้จัดการยาก

โดยของผมเลยไม่แก้ แต่ว่าภาพหลอดข้างบนมันจะเหลื่อมไป 5 หลอด ผมก็คิดว่ามันเป็นอะไรไม่มาก

ตัวอย่างการต่อ LED โดยรอบ แบบเว้นและแบบไม่เว้น

ปัญหาต่อมาคือการดีเลย์ของภาพ คือ LED ดีเลย์ค่อนข้างนานประมาณ ครึ่งวินาทีได้ ผมคิดว่าเป็นที่ตัว Screen Capture จากคู่มือให้ปรับเป็น GDI FS Aero แต่ผมปรับมาเป็น Windows 8 แล้วดีขึ้น ไม่รู้ว่าเครื่องอื่นจะเป็นอย่างผมหรือเปล่า

ตัวอย่างการปรับ screen capture ใน ambibox

สรุป

จากที่ได้ลองเล่นดู ค่อนข้างรู้สึกโอเคกับการเล่น Amblight เพื่อเพิ่มอรรถรส เวลาดูหนังการ์ตูนที่มีเอฟเฟกเยอะๆ เช่นการ์ตูนเวทมนตร์ได้เป็นอย่างดี

สำหรับใครที่สนใจอยากมีจอเปล่งสีเป็นของตัวเองก็ลองเล่นดูครับ ขั้นตอนการทำการทำก็ไม่ยากมากนัก ซึ่งมีข้อจำกัดนิดหน่อย

หวังว่าที่ผมเขียนไปจะมีประโยชน์ต่อทุกๆท่านที่สนใจ และถ้าผิดพลาดแต่ประการใด ก็ขออภัย ณ ที่นี่ และจะแก้ไขให้เร็วที่สุดครับ ขอบคุณมากครับ

--

--

Pagon GameDev
บริษัทต่างโลก อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด

Interactive Developer ผู้สนใจการทำเกม และ Interactive XR VR MR AR มากว่า 10 ปี ปัจจุบันเป็น Co-Founder บริษัท ต่างโลก อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด