การเมือง/เรื่องหมาๆ

เหตุการณ์ใน Isle of Dogs เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในอนาคต

เคนจิ โคบายาชิ นายกเทศมนตรีแห่งเมืองเมกะซะกิ ประกาศเนรเทศสุนัขทั้งหมดไปอยู่บนเกาะร้างห่างไกลโดยอ้างเหตุผลว่าสุนัขแพร่เชื้อไข้หวัดสุนัขที่ติดต่อถึงคนแล้วยังไม่มีหนทางรักษา

แม้เหตุผลที่เขาอ้างเนรเทศสุนัขดูดีมีความชอบธรรม แต่ตอนต้นเรื่องมีการเกริ่นให้คนดูรู้ก่อนแล้วว่าอดีตที่ผ่านมานั้นต้นตระกูลโคบายาชิมีความหลังฝังใจขัดแย้งกับสุนัข

คือหลายสิบปีก่อน ตระกูลโคบายาชินั้นเป็นตระกูลคนรักแมว และเคยส่งกองกำลังกำจัดสุนัขเร่ร่อนที่มีเสรีภาพในการหาที่อยู่ของตัวเอง จนมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งทนไม่ได้ที่เห็นสุนัขจรจัดถูกเข่นฆ่า เขาออกมาต่อสู้เพื่อสุนัขและสังหารคนของตระกูลโคบายาชิ จนเกิดเป็นความแค้นฝังใจตระกูลโคบายาชินับแต่นั้น

ดังนั้นเมื่อสบโอกาสที่โรคไข้หวัดสุนัขกำลังแพร่ระบาด

เคนจิ โคบายาชิที่สืบสานความรักแมวและเกลียดสุนัข(สังเกตได้ว่าเน็กไทของคนสนิทนายกฯก็ยังเป็นรูปแมว , รอยสักบนหลังนายกฯก็เป็นรูปแมว)จึงสานต่อเจตนารมย์ของบรรพบุรุษโดยใช้อำนาจของการเป็นนายกเทศมนตรีหาเรื่องกำจัดสุนัขทิ้งโดยอ้างความปลอดภัยของประชาชน

แต่ลึกๆแล้วมันคือการอ้างประชาชนเพื่อทำตามอคติและประโยชน์ส่วนตัว

สุนัขตัวแรกที่ป่วยแล้วถูกส่งไปบนเกาะร้างชื่อ Spots

แล้วจากนั้นสุนัขตัวแล้วตัวเล่าไม่ว่าจะสุนัขจรจัดหรือมีเจ้าของก็ทยอยถูกส่งไปอยู่บนเกาะแห่งนั้นกลายเป็นประชากรชายขอบ พวกมันถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณและถูกทดลองจนพิการ บ้างก็มีปัญหาสุขภาพจิต

ไม่มีใครสนใจสุนัขเหล่านั้นเพราะเมื่อประชาชนฝังใจไปแล้วว่า ‘สุนัขอันตราย’ ความกลัวของพวกเขาก็อยู่เหนือความเมตตาสงสารหรือเห็นใจ พวกเขามอบอำนาจให้รัฐทำอะไรกับสุนัขก็ได้ขอเพียงหาทางคิดค้นยารักษาได้สำเร็จ

แผนร้ายของท่านนายกฯ เคนจิ โคบายาชิ น่าจะประสบความสำเร็จด้วยดีครับ เพราะประชาชนล้วนมอบอำนาจให้ท่านจัดการสุนัขตามชอบใจ แต่อุปสรรคที่โผล่ขึ้นมาอย่างไม่ทันคิดคือ อะตาริ

เด็กหนุ่มชื่ออะตาริเป็นหลานของนายกฯ ตัดสินใจขโมยเครื่องบินเพื่อไปยังเกาะสุนัขตามหา Spots เพราะ Spots คือสุนัขข้างกายที่ดูแลเขามาตั้งแต่เล็กที่เขาป่วย

เมื่อไปถึงเกาะ

การตามหา Spots ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอะตาริไม่สามารถพูดจาภาษาสุนัข (ก็แหงหละ)

แถมบนเกาะก็ไม่มีผู้คนให้เขาปรึกษา เขาจึงได้พรรคพวกเป็นสุนัขกลุ่มหนึ่งคอยช่วยเหลือแบบคุยกันไม่รู้เรื่องแต่ก็มีใจช่วยเหลือกัน

ยิ่งอยู่เกาะไปนานๆ อะตาริยิ่งรู้ว่าลุงของเขาก็ยังมีแผนร้ายยิ่งกว่านั้น

เพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีรักษาไข้หวัดสุนัขสำเร็จ ลุงของเขาหรือนายกฯกลับไม่อนุมัติการรักษา ไม่บอกความจริงแก่ประชาชนว่าโรคนี้รักษาได้แล้วพาสุนัขทั้งหลายกลับคืนสู่ครอบครัวมนุษย์

เคนจิ โคบายาชิใช้สื่อในมือโหมสร้างข่าวลือเรื่องโรคร้ายจากสุนัข เมื่อรู้ว่าอะตาริไปติดเกาะก็ฉวยโอกาสบิดเบือนความจริงว่าสุนัขนั้นชั่วร้ายเป็นเหตุให้หลานตัวเองตาย แถลงข่าวใหญ่โตเพื่อให้ประชาชนยิ่งกลัวสุนัข

จากนั้นก็ใช้ ‘ความกลัวสุนัข’ ที่เขาสร้างขึ้นมาปลุกกระแสประชาชนให้เลือกเขาเป็นนายกเทศมนตรีในสมัยถัดไป โดยอ้างว่าหากเลือกเขาเป็นนายกเทศมนตรีอีกสมัย เขาจะออกนโยบายกำจัดสุนัขให้ตายหมดสิ้น

โดยประชาชนในเมืองก็ไม่มีโอกาสรู้ความจริงเพราะเคนจิ โคบายาชิควบคุมสื่อทั้งหมดไว้ในมือ

ทำให้เวลาประชาชนอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์ก็จะยังคงเข้าใจว่าไข้หวัดสุนัขนั้นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพากันสนับสนุนเคนจิ โคบายาชิให้เป็นผู้นำกำจัดสุนัขให้หมดไปจากเมือง

ดังนั้นแม้รูปลักษณ์ภายนอกของ Isle of Dogs จะเหมือนเป็นงานสต๊อปโมชั่นขายน้องหมาอารมณ์สดใส สามารถดูในระดับตื้นๆเป็นหนังในแนวมิตรภาพและความสัมพันธ์ของคนกับน้องหมา

แต่ Isle of Dogs ยังสามารถมองในความเป็นหนังการเมือง เรื่องการต่อสู้ระหว่างประชากรสุนัข VS. เคนจิ โคบาบาชิ

ซึ่งสามารถแทนภาพของกลุ่มประชากรชายขอบที่ต้องต่อสู้กับผู้นำที่ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อกำจัดศัตรูหรือฝั่งตรงข้าม(สุนัข) แล้วใช้อำนาจเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พรรคพวกส่วนตัวที่มีจิตพิศวาส(แมว)

แผนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของนายกฯโคบายาชิคือ

(1) สร้างกระแสความกลัวในหมู่ประชาชนขึ้นมา

(2) ปั่นกระแสให้แรงขึ้นเรื่อยๆเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกำจัดศัตรูโดยอ้างได้ว่าเป็นความต้องการจากประชาชน

(3) คุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ

ทำให้ประชาชนที่กลัวถูกปิดหูปิดตา ไม่รู้ว่าวัคซีนคิดค้นสำเร็จแล้ว ไม่รู้ว่าหมาพร้อมจะกลับมาสู่ครอบครัว

ดังนั้นเมื่อนายกฯให้คำมั่นว่าจะกำจัดภัยอันตรายให้หมดไปแลกกับการเลือกเขาเป็นนายกฯสมัยหน้า ประชาชนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลก็ย่อมไม่รู้ว่า ‘ความกลัว’ ของตัวเองนั้นไม่ใช่มาจากภัยอันตรายจริง(ไข้หวัดสุนัข)หากแต่เป็นสิ่งที่นายกฯปั่นขึ้นมา

ความกลัวของประชาชนจึงเป็นเครื่องมือหนุนอำนาจทางการเมืองให้กับนักการเมืองที่มั่นคง โดยเฉพาะในสังคมที่สื่อไม่ทำหน้าที่สื่อและประชาชนขาดเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล

เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของเวส แอนเดอร์สันอย่าง The Grand Budapest Hotel , The Royal Tenenbaums ฯลฯ ผมคิดว่า Isle of Dogs เป็นหนังที่น่าจะเข้าถึงคนดูส่วนใหญ่ได้มากกว่างานที่ผ่านมาของเขา

เพราะแม้งานเก่าๆของเขาจะมีลายเซ็นที่เป็นเสน่ห์ชัดเจน เช่น ความนิยมการจับภาพแบบสมมาตร , สีสันในหนังที่จัดจ้านเกินโลกจริง ฯลฯ

แต่ลีลาตลกหน้าตายของตัวละครหรือการเล่าเรื่องที่มีจังหวะเฉพาะตัวของเขาก็ไม่ใช่จังหวะความสนุกสำหรับมวลชนกระแสหลักที่ยังไม่คุ้นเคย ‘ทาง’ ของผู้กำกับคนนี้

แต่พอเป็นแอนิเมชั่นแบบนี้ คนดูทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนคลับของเวสน่าจะสนุกได้ง่ายกว่าแล้วเข้าใจในจังหวะการเล่นมุกได้ดีกว่าหนังของเขาที่ใช้คนแสดง (ซึ่งผมคิดว่ามันดูง่ายกว่า Fantastic mr. fox ด้วย)

และผู้ชมวัยเด็กที่แม้ไม่คิดลึกถึงเรื่องการเมืองในหนังก็ยังสามารถเกาะเส้นเรื่องของการผจญภัยตามหา Spots และสนุกไปกับการเล่าเรื่องได้จนจบไม่ต่างจากดูแอนิเมชั่นดีๆเรื่องอื่น

ส่วนตัวที่ชอบมากอีกจุดหนึ่งคือการใส่ ‘ญี่ปุ่น’ ทั้งวัฒนธรรมและการพูดภาษาญี่ปุ่นที่เข้ามาผสมได้อย่างกลมกลืนแบบไม่ฉาบฉวยแล้วก็ไม่ปร่าแปร่ง สมกับการเป็นหนังที่สร้างจากแรงบันดาลใจของผู้กำกับเวส แอนเดอร์สันที่สนใจหนังญี่ปุ่นแบบในยุคปี 50–60 ร่วมกับงานศิลปะภาพวาดญี่ปุ่นตามที่เขาให้สัมภาษณ์ไว้

--

--