คลิปปลอม, Fake News และจรรยาบรรณสื่อที่ถดถอย

เจอรี่เป็นนักข่าวสำนักข่าว ACN

เขาเสนอหัวหน้าทีมข่าวให้ทำเรื่อง Operation Genoa ซึ่งเป็นปฏิบัติการณ์ลับที่มีการใช้อาวุธเคมีส่งผลให้มีประชาชนบริสุทธิ์ล้มตาย โดยนักข่าวคนนั้นอ้างว่าได้ข้อมูลมาจากทหารบางคน

หัวหน้าทีมข่าวชั่งน้ำหนักก่อนว่าข่าวนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน เมื่อเจอรี่ยืนยันในพยานหลักฐาน หัวหน้าทีมข่าวก็ยอมให้มีการติดตามเก็บข้อมูลต่อ มีการไปสืบสัมภาษณ์เหล่านายพันที่เกี่ยวข้องในการรบครั้งนั้น

เมื่อเจอรี่กับทีมงานเก็บบทสัมภาษณ์ก็เอามานำเสนอในที่ประชุม หัวหน้าทีมข่าวเรียกผู้บริหารมาร่วมพิจารณาว่าควรจะเผยแพร่ข่าวนี้ออกไปให้ประชาชนรู้หรือไม่

ด้านหนึ่งก็มีคนสนับสนุนเพราะหากเป็นเรื่องจริงก็เพื่อไม่ให้กองทัพใช้อาวุธเคมีโดยประมาทแบบนี้อีก แต่ด้านหนึ่งก็คัดค้านด้วยการบอกว่าต่อให้เป็นเรื่องจริง วีรบุรุษสงครามคราวนั้นก็จะต้องโดนลงโทษ

ทีมบริหารและหัวหน้าทีมข่าวมองว่าถ้าเป็นเรื่องจริงก็ควรนำเสนอ แต่พวกเขาจะไม่นำเสนอจนกว่าข่าวนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากพอ

พวกเขาต้องการตรวจสอบทั้งเนื้อหาและแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

พวกเขาเลยส่งต่อให้นักข่าวในสำนักข่าวเดียวกันอีกคนซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Red Team

Red Team คือนักข่าวอีกกลุ่มหนึ่งที่จะถูกอุบไว้ไม่ให้รู้ว่าอีกทีมทำข่าวอะไรอยู่ ในกรณีที่ข่าวนั้นต้องการความเห็นหลายแง่มุม โดยจะรอจนกว่าทีมที่อยากเสนอข่าวได้ข้อมูลครบจึงนำเสนอให้นักข่าวกลุ่ม Red Team มาตัดสินว่ามันน่าเชื่อถือหรือไม่เพราะการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่รู้อะไรเลยจะมีอคติน้อยลงในการตัดสิน

เมื่อเจอรี่ที่ไปสัมภาษณ์นายพันเผยแพร่คลิปที่นายพันสารภาพยอมรับว่าใช้แก๊สซารินให้คนในทีมงานดู , เมื่อนั้น Red Team ก็เห็นด้วยว่าข่าวนี้มีน้ำหนัก

สำนักข่าว ACN จึงรายงานข่าวออกโทรทัศน์ว่ากองทัพมีการปกปิดความจริงประชาชนจากการใช้อาวุธเคมีในสงครามแล้วประชาชนฝั่งตรงข้ามเสียชีวิต เผยแพร่คลิปของนายพลที่ให้สัมภาษณ์

หลังจากทำข่าวและเผยแพร่คลิปดังกล่าวออกไป

นายพันที่ให้สัมภาษณ์คลิปมาโวยวายกับสำนักข่าวว่าคลิปดังกล่าวถูกตัดต่อ

เมื่อสืบสาวราวเรื่องก็พบว่า เจอรี่เป็นคนตัดต่อคลิปดังกล่าวเพื่อต้องการให้ Operation Genoa เป็นเรื่องจริง เขาเชื่อแบบนั้น เขาคิดว่ากองทัพมีปัญหาเพียงแต่เขายังหาหลักฐานมาไม่ได้เขาเลยใช้วิธีตัดต่อคลิป

หลังจากนั้นสำนักข่าว ACN ถูกฟ้อง , สำนักข่าว ACN ประกาศขอโทษประชาชนและรัฐบาล , เจอรี่ถูกไล่ออก , เรตติ้งของสำนักข่าวทรุดฮวบเพราะขาดความน่าเชื่อถือ

ในขณะที่คนข่าวใน ACN ล้วนโกรธเจอรี่แล้วคนที่ควรขอโทษเพื่อนๆในทีมที่ทำให้สำนักข่าวเสื่อมเสียคือเจอรี่

แต่เจอรี่กลับทำสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดครับ

เขาไม่ขอโทษแถมยังฟ้องร้องสำนักข่าวตัวเองด้วยข้อหาปลดเขาออกจากงานด้วยเหตุผลอันมิชอบ

นี่คือเส้นเรื่องหลักในซีรี่ส์ Newsroom ซีซั่น 2 , ซีรี่ส์ที่ผมชอบมากครับโดยการสร้างของอารอน ซอกิ้น

ทั้ง 3 ซีซั่นเน้นวงจรการทำงานของคนข่าวและเรื่องจรรยาบรรณสื่อ โดยกรณีเจอรี่ในซีซั่น 2 ผมมองว่าคือการจับประเด็นไปที่ Fake News และ Post truth

มันไม่ใช่ปัญหาในประเทศใดประเทศหนึ่ง มันเกิดขึ้นได้ทุกที่

ส่วนตัวแล้วสังเกตว่า เรามักพบ Fake News มากช่วยใกล้เลือกตั้งครับหรือมีชุมนุมทางการเมืองเพราะมันคือกระบวนการที่คล้าย propaganda ที่สามารถใช้ทั้งทำลายคู่ต่อสู้และใช้ดึงมวลชนมาเป็นพวกตัวเองมากขึ้น

Fake News คือข่าวที่สื่อหรือผู้เผยแพร่มีความจงใจที่จะชี้หรือบิดเบือนคนเสพสื่อให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการซึ่งมีหลายรูปแบบเช่น

  • โกหกทั้งเนื้อข่าว ทำคลิปปลอม
  • หรือมีความจริงบางส่วนในเนื้อข่าวแต่ประเด็นรวมๆที่ชี้นำคือการโกหกให้คนเข้าใจผิด
  • หรือเผยแพร่คลิปมีความจริงบางส่วนแต่ถูกตัดทอนบางอย่างในคลิปทิ้งไปให้คนดูเข้าใจผิด

โดยลักษณะข่าว Fake News มักมีความหวือหวาเร้าอารมณ์ประชาชน เช่น เห็นข่าวที่เห็นแล้วสะใจสุดๆหรือโกรธสุดๆ , มีรูปแบบพาดหัวหรือ Click-Bait ที่ชวนให้อ่านต่อ ฯลฯ

จึงเป็นเหตุให้คนเชื่อได้ง่ายๆหรือแชร์ง่ายๆเพราะมันตรงกับอคติหรือความชอบพอในใจของเรา

สิ่งที่เจอรี่ในซีรี่ส์ทำคือ Fake News

และแนวคิดของเจอรี่ที่ไม่สนว่ากำลังนำเสนอข่าวเท็จแค่มองว่ากองทัพนั้นมีความบกพร่องที่ต้องเล่นงานคือกระบวนการ Post truth ที่จริงไม่จริงไม่รู้แต่เน้นความรู้สึกดีหรือเน้นแค่เป้าหมายตามอุดมการณ์ส่วนตัว

เขาเชื่อว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในตอนท้ายเขาจึงเลือกฟ้องกลับโดยไม่มีความสำนึกผิด

เพราะเขาเชื่อมั่นว่าตัวเองทำดี

เจอรี่คือตัวอย่างหนึ่งของสื่อที่มีปัญหาจรรยาบรรณแล้วหลงผิดว่าตัวเองทำดี หลงเข้าใจว่าตัวเองเป้นสื่อน้ำดี

และคือสื่อที่เป็นรากเหง้าของปัญหา Fake News

มีบทความมากมายสอนให้ประชาชนจับไต๋ Fake news ให้โป๊ะแตก เช่น การตรวจสอบแหล่งที่มา ฯลฯ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการที่เราควรกดดัน ‘บทบาทสื่อ’

ในเฟซบุ้ค , เพจที่มีแอดมินเผยแพร่ข่าวสารหรือเวลาชาวบ้านอย่างเราๆส่งข่าวในไลน์ เราไม่ค่อยมีสำนึกของความเป็นสื่อมากนัก (ทั้งๆที่เราทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารเหมือนสำนักข่าว) ก็มักจะอ้างว่าตัวเองไม่ใช่สื่อ ไม่ต้องรับผิดชอบมากมาย การคาดหวังจากสื่อกลุ่มนี้จึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ยิ่งเพจที่สนแต่ยอดไลค์ยอดแชร์ยิ่งไม่แคร์ว่าจะจริงหรือเท็จ แชร์ไปก่อนให้ได้ยอดหรือเกิดดราม่า

พอรู้ว่าข่าวนั้นปลอมก็ค่อยตีชิ่งหายไปหรือไม่ก็ฟลัดข่าวอื่นมากลบเกลื่อนความผิดตัวเอง

ดังนั้นถ้าสื่อแบบ ‘สำนักข่าวอาชีพ’ ล้มเหลวในด้านคุณภาพและจรรยาบรรณ เพิ่มขึ้นอีก

เมื่อนั้นคืออนาคตที่มืดมนในสังคม

เพราะผู้คนจะจมอยู่ในข่าวสาร คิดว่าตัวเองอ่านเยอะแต่แท้จริงแล้วเลอะเทอะแล้วมาทะเลาะกันก็เพราะการเสพข่าวปลอม

ไม่ใช่แค่ซีรี่ส์ Newsroom แต่ในหนังต่างๆที่พยายามสร้างภาพอุดมคติของสื่อมวลชนที่เป็นสำนักข่าวค้ำคอเหมือนเช่น​The Post หรือ Spotlight

เราจะเห็นเหมือนกันหมดคือสำนักข่าวที่ทำงานผ่านทีม ผ่านบรรณาธิการข่าว

  • เมื่อพวกเขาได้ ‘ข่าวเด็ด’ เขาไม่ได้ทำตัวเป็นสื่อหิวยอดไลค์ที่รีบโพสต์เพื่อให้ได้คนเข้ามามีส่วนร่วม
  • ยิ่งข่าวนั้นมีโอกาสกระตุ้นความขัดแย้งในสังคม พวกเขายิ่งตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่ามันน่าเชื่อถือมากพอ
  • พวกเขาไม่ได้มาคิดแทนประชาชนว่าเรื่องไหน ‘ควรรู้หรือไม่ควรรู้’
  • พวกเขาไม่ได้ใช้อุดมการณ์ตัวเองมาบิดเบือนข่าวหรือสร้าง Fake news และถ้าพวกเขาพลั้งพลาดไปตามอุดมการณ์หรืออคติส่วนตัวก็จะต้องมีคนในทีมคอยตรวจสอบคัดค้าน
  • พวกเขาจะทำหน้าที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ , สืบค้นข้อเท็จจริง , ค้นหาแหล่งข่าว ฯลฯ

และแม้จะเป็นข่าวของคนที่ตัวเองเกลียดก็ต้องมีจรรยาบรรณที่เสนออย่างเป็นธรรม

สื่อที่รักษาจรรยาบรรณและมีคุณภาพตามตัวอย่างข้างต้นคือสื่ออุดมคติ ที่จะมีส่วนสร้างสังคมที่มีความเข้าใจและใช้ความรุนแรงต่อกันน้อยลง

เพราะเมื่อทบทวนความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นหรืออาจมีในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่า จรรยาบรรณสื่อที่ถดถอยคือปัจจัยหนึ่งของความวุ่นวายและเกลียดชังในสังคม

ต่อให้เราอ่านข่าวเยอะจริง แต่เราถูกฝังหัวด้วยข่าวผิดๆและบิดเบือน

ดังนั้นเมื่อเกิดความรุนแรงถึงบาดเจ็บล้มตายเพราะความเกลียดชัง

สื่อที่ไร้จรรยาบรรณไม่ว่าจะเป็นสื่อสำนักข่าวหรือเพจใดๆก็นับได้ว่าเป็นจำเลยที่มือเปื้อนเลือดทางอ้อมผ่านการนำเสนอข่าวของตัวเอง

--

--