ฝุ่น(2) — ตื่นรู้ตื่นตัว(aware)แต่ไม่ตื่นกลัว(panic)

‘เครียด’ = ภาวะใจไม่สงบ เช่น คิดมาก, วิตกกังวล, กลัว, เศร้า, วีนเหวี่ยงง่าย ฯลฯ

ฝุ่นเหมือนน้ำท่วมใหญ่ครับคือเป็นภัยคุกคามคนหมู่มากที่ทำให้เครียด

แต่ฝุ่นสามารถกระตุ้น ‘เครียด’ได้มากกว่าโดยไม่เกี่ยวกับว่า pm2.5 ทะลุไปสมองแต่เพราะว่า

(1) การมองเห็น (visibility) — น้ำท่วมเราไม่ได้มองเห็นตลอดเวลาครับ พอเข้าห้องเรียนหรือเข้าออฟฟิสที่ไม่เห็นน้ำก็ลืมคิดถึง แต่ฝุ่นจะอยู่ตรงไหนมองทีไรก็เห็น เห็นทีไรก็เครียด

(2) เทคโนโลยีทำให้เราสัมผัสภัยได้ตลอดเวลา อย่างน้ำท่วมเปิดทีวีรู้ว่าท่วมไกลหน่อยก็ค่อยเบาใจ แต่พอเปิดแอพเช็คฝุ่นเจอค่า AQI สูงๆสีแดงปรี๊ด ชิบหาย มันอยู่ตรงหน้า ยิ่งเปิดทุกสิบนาทียิ่งเครียด

(3) การทำนาย(predictability) — อย่างน้ำท่วมพอเห็นภาพได้ว่าสุดท้ายมันก็จะแห้งนั่นแหละเพียงแต่ไม่รู้นานแค่ไหน แต่ฝุ่นยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะซักกี่วัน

(4) มาตรการรับมือ — น้ำท่วมยังพอรู้วิธีป้องกัน แต่ปีหน้ายังไม่เห็นอนาคตว่าฝุ่นจะหายได้อย่างไร

เท่านั้นยังไม่พอ ความเครียดยังถูกทับถมให้มากขึ้นจากวิธีสื่อสารและจัดการ

  • ประชาชนผจญเครียดมายาวนาน คือ ถ้าเครียดสองสามวันแล้วมีมาตรการจากรัฐก็เบาใจ แต่นี่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ๆ พ่อแม่คิดไม่ตกว่าจะพาลูกไปโรงเรียนหรือไม่ ไม่รู้จะทำอย่างไร ฯลฯ กว่าจะมีมาตรการรับมือชัดเจนจากรัฐก็เมื่อ 30 มกราคม
  • ถ้าได้ฟังวิธีจัดการดีๆก็สบายใจ แต่พออ่านข่าวฉีดกากน้ำตาลผ่านโดรน ระดับฮอร์โมนเครียด(คอติซอล)ก็พุ่งขึ้นมาอีกรอบ ความรู้เรื่องกากน้ำตาลของเราก็ไม่มีก็คิดต่อไปไกลเช่นไม่รู้ว่ารถเราจะเหนียวขึ้นมั้ย
  • ถ้าได้รู้ว่ามีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาทำงานก็คงเบาใจ แต่พอได้ยินคำว่า “ทำไปก่อน ดีกว่าไม่ทำ” ก็ชักไม่มั่นใจ เห็นใบพิธีการพ่นน้ำก็คิดว่าให้คนทำงานกลุ่มนั้นไปทำอย่างอื่นก่อนดีกว่ามั้ย
  • ถ้าผู้นำสร้างความมั่นใจก็เบาใจ แต่พอผู้นำหงุดหงิดโยนไปให้ประชาชนมีสำเนียงประชดทำนองว่า “เอาแบบนี้เลยจะดีมั้ย”แทนที่จะออกมาตรการอะไรที่ว่าดีก็ทำไปเลย ก็ยิ่งกังวลใจว่าเชื่อผู้นำแล้วชาติจะพ้นภัย(ฝุ่นหรือเปล่า
  • อ่านเจอความเห็นทำนองว่า ‘ปัญหาจากพวกคุณ ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา’ ได้แต่คิดในใจว่ารู้ว่าจริงแต่ตอนนี้ก็กูไม่ได้เผา ควันรถกูไม่ได้ดำ แล้วจะให้เริ่มต้นยังไง

ทั้งหมดนั้นคือความเครียดที่มาทับถมใจครับ

❤️เราจึงต้องดูแลสุขภาพใจเป็นพิเศษ❤️

คือแค่ฝุ่นก็ทำให้หายใจลำบาก แพ้อากาศมากขึ้น ชีวิตติดขัด มันกระทบคุณภาพชีวิตและสุขภาพกายมากพอแล้ว และมันเกินกำลังที่เราจะจัดการได้เพราะขึ้นกับหลายภาคส่วน

❤️ เราควรดูแลใจให้ดีเพราะการดูแลใจไม่ต้องพึ่งพารัฐแต่กำหนดได้ด้วยตัวเอง❤️

เพราะด้วยปัจจัยภัยฝุ่นข้างต้นมันสามารถทำให้เราเสียสุขภาพจิต หงุดหงิด งุ่นง่านพาลไปกระทบการงานหรือการเรียนได้ ไม่ใช่แค่จากฝุ่นแต่จาก ‘เครียด’

และเมื่อประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นรัฐ การดิ้นรนแก้ปัญหากันเองเสี่ยงต่อภาวะตื่นกลัวหรือตื่นตระหนกได้ง่ายๆ

อย่าลืมชะตากรรมของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายใน The Mist ที่หลายคนไม่ได้ตายเพราะปีศาจจากหมอก แต่ตายเพราะความเครียดที่กดดันจากคนด้วยกัน

ภาวะภัยฝุ่นที่สำคัญจึงควรตื่นตัวแต่ไม่ตื่นกลัว

ซึ่งเราทำได้เองโดยไม่ต้องหวังพึ่งรัฐหรือใคร เริ่มตั้งแต่

(1) ตระหนักรู้ (awareness) — รู้ว่าฝุ่นนั้นอันตรายและรู้ป้องกัน ‘แบบพอดี’

มันไม่ได้ทำให้เราตายในสามวัน มันไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งแน่ๆทุกคน มันไม่ได้ทำให้เด็กทุกคนถุงลมแตก แต่มันก็ไม่ได้ปลอดภัย มันเพิ่มความเสี่ยงป่วย มันกระตุ้นคนเป็นภูมิแพ้และมันเป็นการสะสมแบบตายผ่อนส่งได้

พอรู้แค่นี้ก็จะอยู่ร่วมกับมันได้เหมือนคนภาคเหนือที่เจอมาหลายปีหรือคนในประเทศอื่นๆที่อยู่ร่วมกับมัน คือไม่ได้พอใจกับฝุ่นแต่ไม่ประสาทกิน

(2) เตรียมความพร้อม เช่น หาหน้ากากได้ ใช้ , ซื้อหน้ากากได้ ซื้อ, มีกำลังทรัพย์ซื้อเครื่องฟอกแบบที่ป้องกันได้แล้วหาได้ ซื้อ

(3) ดูแลตัวเอง เช่น ใส่หน้ากากในจุดเสี่ยง , สามารถหลีกเลี่ยงจุดมลพิษได้ เลี่ยง

(4) ไม่สร้างปัญหาเพิ่ม เช่น เลี่ยงเผาอะไรก็ตามที่ไม่จำเป็นช่วงนี้ได้ เลี่ยง , ถ้ารถตัวเองขยับทีควันดำฟุ้งไปทั้งอำเภอ เอาไปเข้าอู่

(5) จดจำ จำว่าปีนี้เป็นแบบนี้แล้วปีหน้ายังจะมีอีก เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับปีหน้าอย่างไร ปีนี้ซื้อหน้ากากหรือเครื่องฟอกไม่ทันก็รอฝุ่นซาแล้วค่อยซื้อเตรียมปีหน้า ไม่ใช่ว่าตายใจรอฝุ่นมาใหม่ค่อยเตรียม

Photo by rawpixel on Unsplash

และสำหรับคนยุคเทคโนโลยี สิ่งที่ควรเตรียมเป็นพิเศษครับคือ

(a) บริหารจัดการ (organized) ข้อมูล

การอ่านเยอะ รู้เยอะ ไม่ได้ดีเสมอไปนะครับ , รู้ผิดทำให้เสียเวลาทำให้แก้ปัญหาผิดทาง รู้มากเกินจำเป็นก็เครียด

เรื่องฝุ่นมลพิษเป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้เฉพาะด้านควรเลือกเสพข้อมูลจากสื่อวิชาการที่น่าเชื่อถือ

สื่อไทยไม่ค่อยช่วยบริหารข้อมูลให้เรา เช่น เห็นใครดังๆแล้วน่าจะดราม่าง่ายก็เอามาโพสต์คำแนะนำ โพสต์คำบ่น ซึ่งนั่งอ่านมากๆก็จะพาลหงุดหงิดว่าทำไมไม่ทำตามแอดมินเพจคนนั้นบอก ทำไมไม่ทำแบบนักร้องดังแนะนำ

โดยลืมไปว่าไม่ว่าจะนักแสดงออสการ์ , แม่ค้าข้าวแกง , นักธุรกิจร้อยล้าน , แรงงานต่างด้าว , นักเขียนรางวัลโนเบล ฯลฯ นั้นเหมือนกันคือ ‘ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์’ เรื่องจัดการฝุ่นกับมลพิษ

ทุกคนมีสิทธิบ่น มีสิทธิแสดงความเห็น ,

แต่ในฐานะคนเสพข้อมูล เราควรคัดกรองข้อมูลที่นำไปใช้ได้จริงเพราะนี่คือภาวะวิกฤติต่อสุขภาพ ไม่ใช่การเสพบทวิจารณ์ละครหนังที่อยากฟังความเห็นใครก็ได้ว่าตรงจริตเราหรือเปล่า

เสพข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อเราจริง มีหลักวิชาการสนับสนุน จะช่วยลดความเครียดได้จริง

Photo by Markus Spiske on Unsplash

และสุดท้ายสำหรับคนยุคเทคโนโลยี

(b) พึงระวังสิ่งที่เรียกว่า illusion of control

คือคุณคิดว่าคุณทำแบบนั้นแล้วจะดีมีประโยชน์แต่จริงๆไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของคุณที่จะทำให้ดีขึ้น

illusion of control ในเรื่องฝุ่น เช่น เปิดแอพเช็คฝุ่นทุก 5 นาทีรู้ว่าตอนนี้ดีตอนนี้แย่

แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรครับเพราะคุณก็ต้องอยู่จุดนั้นจนเลิกงาน ถ้าคุณเตรียมพร้อมป้องกันแล้ว มันก็พอแล้ว เช็ควันละรอบสองรอบก็พอ เพราะสถานการณ์ฝุ่นเกินการควบคุมของคุณคนเดียว

แต่ถ้าคุณจะเช็คแอพเพื่อวางแผนจุดที่จะไปว่าไปดีมั้ย จะเช็คเพื่อดุว่าเครื่องกรองใช้ได้มั้ย อันนั้นโอเค

==

illusion of control ในเรื่องฝุ่น เช่น การอ่านวนไปวนมา เสพเพจที่โพสต์รูปน่ากลัวๆ เลือดกำเดาบ้าง ผื่นบ้าง ฯลฯ นั่งดูวนไปวนมา

คือรู้ครั้งเดียวก็จบแล้วว่า ‘ฝุ่นกระตุ้นป่วยได้’

แต่การเห็นเลือดกำเดาเยอะๆไม่ได้ช่วยให้เลือดกำเดาคุณไม่ไหล ไม่ช่วยคุณระงับผื่น

แถมยิ่งดูอาจยิ่งกระตุ้นอาการแพ้จาก ‘ความเครียด’

ดังนั้นลดการเสพสื่อพร้อมกับต้องป้องกันตัวด้วย เพราะสิ่งที่จะป้องกันการป่วยได้จริงคือการดูแลตัวเอง

แล้ว(หวังว่า)เราจะรอดไปด้วยกัน แบบสุขภาพกายคงทรุดลงบ้างแต่สุขภาพใจต้องไม่พัง

ด้วยการตื่นรู้ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นกลัวหรือตื่นตระหนก

Be Aware not Panic

--

--