เรายังรักสงบเพียงเพราะยังมีอภิสิทธิ์

เหยื่อใน Us อาจจะเป็นคนอเมริกันแต่มันพูดถึงคนได้ทั้งโลกรวมทั้งบ้านเรา

ตัวละครหลักคือชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตสุขสบายในบ้านของตัวเอง โตมากับระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ยามว่างไปตากอากาศ นอนคุยกันเรื่องพักร้อนและล่องเรือ แล้วจู่ๆคนกลุ่มหนึ่งที่รูปร่างหน้าตาเหมือนพวกเขาทุกประการราวกับเป็น doppelgänger ก็โผล่มา

พวกนั้นสวมชุดแดงพกกรรไกรและพูดไม่ได้

พวกนั้นเรียกตัวเองว่า ‘เงา’ มีจำนวนพอๆกับคนบนโลกพากันออกมาจากใต้ดินแล้วไล่ฆ่าคนบนโลกทิ้ง

ในบรรดาเงานับล้าน มีเงาคนหนึ่งเป็นผู้นำและเงานั้นอธิบายแก่เด็กสาวที่รูปร่างหน้าตาเหมือนตัวเองถึงเหตุผลที่ระดมพลขึ้นมากวาดล้างคนบนโลกว่า

“ในขณะที่เด็กสาวกินอาหารที่อุ่นมาร้อนๆแสนเอร็ดอร่อย เงาที่หิวโหยมีเพียงแต่กระต่ายสดและเลือดดิบๆของมัน

ในวันคริสต์มาส เด็กสาวได้รับของเล่นน่ารักน่ากอด เงาได้ของขวัญที่แหลมคมจนบาดมือของเธอ

เมื่อเด็กสาวโตมามีลูกคนที่สอง หมอทำการผ่าหน้าท้องเพื่อช่วยคลอดลูกของเด็กสาวอย่างปลอดภัย แต่เงาต้องทำคลอดผ่าหน้าท้องด้วยตัวเอง

เจ้าเห็นแล้วใช่มั้ยว่าเพราะอะไรเงาถึงเกลียดเด็กสาวมากเหลือเกิน”

📌Us คือเรื่องราวของความไม่เท่าเทียม , การถูกทอดทิ้ง , ความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร , ความไม่รับผิดชอบของภาครัฐ, ภาวะ ignorance ของชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินที่ไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้ถูกกระทำ

และในเชิงจิตวิทยาสังคม Us ยังทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นพวกมันหรือพวกเรา สุดท้ายก็ไม่ได้ต่างกัน

โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญ 3 ข้อนี้

(1) บ้านผีสิงที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างมีป้ายด้านหน้าว่า “ค้นหาตัวเอง”

(2) ประโยคที่ลูกของอเดลพูดตอนต้นเรื่องว่า “ทุกครั้งที่ชี้หน้าคนอื่น สามนิ้วคือชี้กลับมาที่ตัวเอง”

(3) ประโยคที่อเดลชุดแดงบอกว่า “พวกเราก็เป็นคนเหมือนกัน”

========================

== เนื้อหาถัดจากนี้เปิดเผยจุดสำคัญในหนัง ==

========================

“ผมคิดว่าการเติบโตมาในสังคมที่มีอภิสิทธิ์(privilege)โดยไม่เคยมีคนสนใจว่าอภิสิทธิ์เหล่านั้นมาจากไหน ผู้คนเหล่านั้นสมควรได้รับแบบนั้นแล้วหรือไม่

แล้วหากมีประชาชนอีกฝั่งที่เติบโตมาแบบตรงข้ามกัน คือมีชีวิตผ่านความยากลำบากยากเย็นแสนเข็ญ แล้วพวกเขาลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมหรือก่อความรุนแรงหรือกระทั่งก่ออาชญากรรม

มันคือความชั่วร้าย(evil)ในตัวคนพวกนั้นหรือเป็นเพราะสภาวะแวดล้อม(circumstance)ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น”

  • จอร์แดน พีล ผู้กำกับ Us ให้สัมภาษณ์ในรายการพ็อดแคสต์

บทสัมภาษณ์ข้างต้นเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงในกรณีอาชญวิทยาเสมอว่า การก่ออาชญากรรมของคนหนึ่งคนเป็นผลจากระดับศีลธรรมส่วนบุคคล(ดี/ชั่ว)หรือเป็นผลจากสภาพแวดล้อมทำให้เขาเป็นแบบนั้น

แนวคิดการเมืองฝ่ายขวาจัดมักมองว่า ‘ศีลธรรมส่วนบุคคล’ มีผลทำให้คนประพฤติผิดมากกว่า ในขณะที่แนวคิดฝ่ายซ้ายมักเอนเอียงมาทาง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่หล่อหลอมให้คนเปลี่ยนแปลง

แต่เราคงไม่สามารถสรุปเหมารวมแบบนั้นได้ครับ เพราะทั้งสองกรณีก็เกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน

เพียงแต่ถ้าคนจำนวนมากลุกขึ้นมาก่อความรุนแรงขึ้นพร้อมกัน มันจึงไม่น่าใช่เพราะคนศีลธรรมต่ำเป็นพันเป็นหมื่นมารวมตัวกัน

❓มันควรตั้งคำถามแล้วว่า ‘สังคม’ นั้นมีปัญหาอะไรหรือเปล่าที่ทำให้มวลชนลุกฮือ

Us พยายามให้คำตอบนั้นครับ

ถนนที่ถูกทิ้งร้าง

คนที่ถูกทอดทิ้ง

หนังเปิดเรื่องการบรรยายถึงอุโมงค์ร้าง ทางรถไฟที่ถูกปล่อยร้าง ฯลฯ ที่ไม่รู้เป้าประสงค์(purpose)ในการมีอยู่ของมัน

ซึ่งนั่นไม่ต่างจาก ‘เงา’ , พวกเขาคือการทดลองที่ไม่รู้ตัวคนรับผิดชอบ รู้ผิวเผินแค่เป็นผลงานการทดลองที่ล้มเหลวของรัฐบาลเหมือนอุโมงค์ร้างกับทางรถไฟที่ถูกทอดทิ้งแล้วต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ใต้ดิน

โดยแต่ละชีวิตก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าประสงค์ที่ต้องมีชีวิตอยู่คืออยู่ไปเพื่ออะไร เพราะชีวิตของพวกเขาถูกเชื่อมจิตกับคนบนดินทำให้การดำเนินชีวิตก็ไร้ free will เพราะจะกินจะนอนหรือจะทำอะไรไม่สามารถคิดทำเองได้ ล้วนถูกชักใยจากคนข้างบน

ซึ่งถ้าเงาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องรู้เห็นคนบนโลกก็อาจอยู่ไปวันๆได้จนตายแบบไม่เคียดแค้นอะไรเพราะ ‘ความไม่รู้’

แต่เมื่อพวกมันรู้ว่าชีวิตของคนข้างบนดีกว่า เช่น

  • เงาที่สายตาไม่ดีอยู่เป็นเงาก็ไม่มีแว่นให้ใช้อยู่แบบปวดตาไปจนตาย แต่คนบนโลกที่เป็นตัวตรงข้ามกับเงามีแว่นใส่มองเห็นชัดเจน
  • เงาที่จำเป็นต้องคลอดลูกแบบผ่าหน้าท้องก็เจ็บปวดแล้วเสี่ยงตายเพราะไม่มีหมอฝีมือดี คนเดียวกันบนโลกมีเงินก็ใช้บริการโรงพยาบาลเกรดเอ
  • เงาไม่เคยมีโอกาสเลือกอาหารดีๆมีแต่กระต่ายสดเป็นอาหาร แต่คนบนโลกเลือกได้ว่ามื้อไหนจะกินอะไรตามกำลังทรัพย์

ฯลฯ

การถูกทอดทิ้งแล้วตกอยู่ในสภาพแบบต่างกันราวฟ้ากับเหวย่อมก่อความคับแค้นใจว่าทำไมชีวิตของเงาต้องเป็นแบบนั้นในเมื่อเราก็ ‘คนเหมือนกัน’ เหมือนที่อเดลชุดแดงพูดไว้

ทอดทิ้งและเพิกเฉย

  • ถ้าถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบชะตากรรมของเงา?
  • เงาควรทวงถามสิทธิในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีกว่านี้จากใคร?

คำตอบคือรัฐบาลที่ทำการทดลอง(ตามเนื้อเรื่องที่กล่าวไว้)

ประเด็นคือเมื่อรัฐบาลนั้นหายหัวไปไม่มีตัวคนรับผิดชอบ สิ่งหลงเหลือให้เงาระบายความเคียดแค้นเกลียดชังก็คือ ‘คนบนดิน’

ทั้งๆที่มันไม่ควรเป็นการปะทะกันระหว่าง ‘เงา’ VS ‘คนบนดิน’

มันควรเป็น ‘เงา’VS รัฐ

เพราะรัฐเป็นต้นเหตุของการเกิดเงา รัฐล้มเหลวในการพัฒนาเงา และสุดท้ายรัฐคือหนทางสำคัญที่จะช่วยเงา

เช่น ถ้ารัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ผ่อนหนักให้เป็นเบา บรรเทาความทุกข์ของชีวิตของชนชั้นเงา พัฒนาโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ลดความทุกข์ร้อน จัดสรรอาหารหรือทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพ ฯลฯ มันก็อาจไม่นำไปสู่ความรุนแรงแบบในหนังที่หากตัดความแฟนตาซีทิ้งไปมันก็คือ สงครามกลางเมืองของประชาชน

เมื่อรัฐทำตัวเนียนหายไม่รับรู้ในความผิดของตัวเองปล่อยโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงเป็นระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

และมันก็ไม่ใช่แค่การเพิกเฉยของรัฐอย่างเดียว

ประชาชนที่รู้เห็นในโครงสร้างสังคมที่มีปัญหาและมีศักยภาพจะช่วยพวกเขาได้ก็เพิกเฉยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือ เงาอเดลที่หนีขึ้นไปข้างบนแล้วขโมยชีวิตของอเดลมาใช้

เมื่อมีโอกาสไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในชนชั้นที่ดีกว่าแทนที่เธอจะคิดถึงครอบครัวกับเพื่อนร่วมชะตากรรมชาวเงา เธออาจไม่ต้องขั้นปลุกระดมอะไรก็ได้ แค่พยายามบอกให้โลกได้รู้ว่ามีพวกของเธอที่อยู่อย่างปากกัดตีนถีบและทรมาน หรือพยายามไปขอให้คนหรือหน่วยงานรัฐลงไปช่วยเหลือหรืออะไรก็ได้ที่แสดงความพยายามซักนิด

แต่เปล่าเลย เธอพอใจกับชีวิตใหม่ที่ได้อภิสิทธิ์มากมายเหนือกว่าชีวิตใต้ดินแล้วก็เสวยสุขต่อไป ทั้งที่รู้เห็นชีวิตของพวกพ้อง

จึงเรียกได้ว่าเงาอเดลนั้นเลวร้ายกว่าเพื่อนร่วมโลกบนดินที่อยู่มาก่อนเพราะเธอรู้ทั้งรู้ว่าใต้ดินมีอะไรแต่เธอไม่ใยดี

เธอจึงกลัวอย่างรุนแรงเมื่อรู้ว่าทีมชุดแดงกำลังบุกขึ้นมา รู้ว่าชีวิตแสนสุขในสวรรค์กำลังจะพังทลาย

เงาก็คือม็อบ

ดังนั้นเมื่อเงาขึ้นมาบนดินพร้อมความเจ็บปวดกับคับแค้นใจที่สะสมมาแรมปี

สำหรับคนบนดินแบบตัวละครใน Us มันเหมือนคุณกำลังนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน, ขับรถพาลูกไปส่งที่โรงเรียน, จะออกไปช็อปปิ้งวันหยุด ฯลฯ แล้วจู่ๆเจอข่าวว่ามีม็อบออกมาชุมนุม คุณหงุดหงิดไม่เข้าใจว่าจะม็อบอะไรนักหนาวะ ไม่ว่าม็อบฝ่ายไหนฉันก็เกลียดทั้งนั้นแหละ มันทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ทำให้ค้าขายไม่คล่อง

ไม่ผิดนะครับที่คุณจะหงุดหงิดม็อบ หรือคนบนดินจะหงุดหงิดเงา

เพราะเราในฐานะคนบนดินไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วทำไมเราต้องมาเดือดร้อนจากม็อบหรือจากเงา

แต่ถ้าคิดแบบนั้นแล้วแสดงออกแบบนั้น(รำคาญ ต่อต้าน ปราศจากความเข้าใจ) ก็ไม่แปลกที่เงาจะยิ่งแค้นใจเพราะเงาหรือม็อบไม่ได้ต้องการสู้กับประชาชนด้วยกัน

เงาหรือม็อบแค่ต้องการ ‘ความเป็นธรรม’

พวกเขาต้องการ ‘โอกาสที่จะมีการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น’

ดังนั้นลองใส่ใจที่มาของม็อบหรือเงาซักนิดก็จะพบว่า คนพวกนั้นไม่ได้ก่อความรุนแรงเพราะความชั่วร้ายในสายเลือด พวกเขาอยู่ในสังคมที่ได้รับการปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรม พวกเขามีชีวิตที่ดิ้นรนคนละเรื่องแบบที่เราเป็น

มันคือปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าจะบอกว่า “พวกเธอก็พยายามเข้าซิ อย่าขี้เกียจ อย่าสุรุ่ยสุร่าย แล้วเดี๋ยวก็จะสบายเอง”

เพราะต่อให้เงาพากเพียร เงารู้จักอดออม เงาก็ไม่มีวันที่จะผุดขึ้นมาทัดเทียมกับคนบนดิน

Us เป็นหนังที่ใช้จินตนาการสร้างภาพให้เราเห็นเป็นรูปธรรมว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกชนหรือศีลธรรมส่วนบุคคล เช่น คนดีกับคนชั่ว หรือ คนขยันกับคนฟุ่มเฟือย

แต่มันคือความรุนแรงที่ต่อเนื่องมาจากรัฐทอดทิ้งและเพิกเฉยคนกลุ่มหนึ่ง , การจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชนที่มีโอกาสเข้าถึงต่างกันราวฟ้ากับเหว , ประชาชนบางส่วนที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขแต่กลับเพิกเฉยแล้วสนับสนุนการกดทับกลุ่มคนที่โดนเอาเปรียบให้หนักยิ่งขึ้น

และระบบหรือกลไกทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เงามีโอกาสยกสถานภาพตัวเองขึ้นมา

เงาก็คือเรา

Us Vs Them

อย่าหลงคิดว่าเราหรือคนบนดินนั้นเป็น ‘คนดีกว่า’ หรือ ‘มีอารยธรรมกว่า’ เงาหรือม็อบแต่ละม็อบที่ลุกฮือ

เราอาจจะแค่มีโอกาสที่ดีกว่า มีโครงสร้างสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้มากกว่า เราจึงไม่ต้องดิ้นรนแบบนั้น ทำให้เพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านั้นเพราะไม่ได้ประสบปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง

เช่น

  • ถ้าเราใช้ชีวิตแบบหิวก็หาของกินง่าย เดินทางก็มีรถไฟฟ้า ไม่สบายก็มีสิทธิการรักษาดีๆ ประปาไฟฟ้ามีพร้อม พอมีวันว่างก็มีกำลังทรัพย์ไปเมืองนอกหรือต่างจังหวัด — เราก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องลุกขึ้นไปก่อม็อบ
  • ถ้าเราถูกรังแกแล้วร้องเรียนตำรวจก็ได้รับความคุ้มครอง ถ้าโดนเอาเปรียบแล้วแจ้งผู้มีอำนาจแล้วได้ความช่วยเหลือ หรือถึงคราวลำบากแต่บังเอิญมีเส้นสายช่วยแก้ปัญหา — เราก็ไม่คิดที่จะต้องใช้ความรุนแรง

ดังนั้นคนแบบเราย่อมไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรพวกเงาชุดแดงที่มาพร้อมกรรไกรถึงบุกมาสร้างความฉิบหายในสังคมที่สงบสุขที่เราอาศัย

ตอนจบของ Us จึงเป็นการตบหน้าคนดูที่เห็นใจชนชั้นกลางเช่นครอบครัวอเดลที่ถูกไล่ฆ่า

เมื่อหนังเฉลยว่า อเดลชุดแดงที่ปลุกระดมพวกพ้องมาทวงคืนชีวิตไม่ใช่เงาแต่กำเนิด

อเดลชุดแดงคือ ‘พวกเรา’ นั่นแหละที่ถูกสับเปลี่ยนไปใช้ชีวิตในสังคมแบบเงาแล้วเปลี่ยนไป

  • จากที่พูดเก่งพูดคล่อง ต้องไปอยู่ในโลกที่ไม่มีใครพูดได้ โตมาเธอก็พูดไม่ถนัดเหมือนตอนเด็กแล้ว
  • จากร่าเริงอ่อนโยน ต้องไปอยู่ในโลกที่ปากกัดตีนถีบ อยู่แบบเจ็บปวดทรมาน ขาดสารอาหารที่เพียงพอ คุณภาพชีวิตต่ำเตี่ยเรี่ยดินแถมยังมองเห็นคนบนดินมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โตมาเธอก็เปลี่ยนเป็นคนรุนแรงเพราะต้องต่อสู้รวมถึงมีความคับแค้นที่ต้องการเอาคืน

สภาวะแวดล้อม(circumstance)ที่เลวร้าย เปลี่ยนแปลงอเดลให้แย่ลง

ในทางกลับกัน

  • เงาอเดลที่เคยพูดไม่ได้เมื่ออยู่ใต้ดิน พอได้ขยับชนชั้นมาใช้ชีวิตบนดินแบบมีบ้านหลังใหญ่ของตัวเอง พ่อแม่พาไปหาจิตแพทย์ช่วยพัฒนาการพูด มีคนรอบตัวห่วงใยและพูดด้วย มีอาหารอร่อยๆของเล่นดีๆ ฯลฯ
  • เธอก็ค่อยๆพัฒนาตัวเองเป็นคนใหม่ที่ไม่ได้เถื่อนไร้อารยะหรือเป็นใบ้เหมือนแต่ก่อน บางอย่างเช่นเรื่องดนตรีอาจจะยังไม่คล่องนักแต่ก็เห็นชัดว่าการโตมากับสิ่งแวดล้อมที่ดีช่วยพัฒนาเธอไปมาก

สภาวะแวดล้อม(circumstance)ที่ดีพร้อม เปลี่ยนแปลงเงาอเดลให้ดีขึ้น

เรา(Us)สามารถเปลี่ยนไปเป็นม็อบที่ลุกขึ้นมาเกรี้ยวกราดแม้จะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อแบบ ‘พวกมัน(them)’

ในทางกลับกัน ‘พวกมัน(them)’ สามารถเปลี่ยนมาเป็นคนรักสงบ ต้องการอยู่แบบไม่มีการเข่นฆ่าแบบพวกเรา(Us)

ไม่ว่าใครก็เปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหนก็ได้

ขึ้นกับว่าเติบโตมาใช้ชีวิตในสังคมแบบใด

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องสันดาน ไม่ใช่เรื่องยีนหรือพันธุกรรมเท่านั้น

แต่ปัจจัยสังคม(Social factor)ก็มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมคน

วันนี้ที่เรามีโอกาสที่ดี มีชีวิตที่ดีพอควร แล้วหลงคิดว่าตัวเองดีกว่าม็อบที่ก่อความวุ่นวาย เพิกเฉยปล่อยให้โครงสร้างสังคมกดทับเอาเปรียบคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์

แล้วหากวันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนข้าง

กลายเป็นเราที่ถูกเอาเปรียบกดทับ

  • ไร้อภิสิทธิ์เหมือนที่เคยมี
  • ไร้ระบบสาธารณูปโภคหรือความมั่งมีแบบแต่ก่อน
  • ไร้ช่องทางในการสื่อสารและเรียกร้องอย่างสงบ
  • ไร้การตอบรับจากผู้มีอำนาจเมื่อเราถูกรังแก
  • ไร้ช่องทางการต่อสู้แบบแฟร์ในกรอบกติกา
  • ไร้การช่วยเหลือเมื่อถูกกดขี่

สุดท้ายกรรไกรนั้นก็อาจอยู่ในมือของพวกเราที่หลงภูมิใจว่าเป็นคนดีที่รักสงบมาตลอด

--

--