เหตุผลที่คนฉลาดสามารถเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สนุกหรือไม่สนุก เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล(ส่วนตัวเองแล้ว Captain Marvelสนุกครับ)

แต่ที่น่าสนใจใน Captain Marvel คือกระแสเกลียดหนังด้วยเหตุผลของแฟนหนังกลุ่มหนึ่งพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นว่าบรีมีพฤติกรรม misandry หรือเหยียดเพศชาย(คือมองว่าไปไกลกว่าเฟมินิสต์)โดยเฉพาะชายผิวขาว พาลไปจนถึงเสียงบ่นดิสนี่ย์เรื่องการทำหนังสอดแทรกการเมือง (คลิกเพื่ออ่านลิงค์ต้นทาง)

โดยเจ้าตัวบ่นว่าตั้งแต่ Star wars ยันหนังมาร์เวลแต่ละเรื่องล้วนหยอดส่วนการเมืองจนแทบจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายซ้ายแล้วนะ ฉันหนะอยากดูหนังแล้วขอแค่บันเทิงล้วนๆแบบไม่แตะการเมืองบ้างจะได้ไหม !!!

ซึ่งถ้ามองแบบสอดไส้ตามที่ฝ่ายแอนตี้หนังว่ามา ผมก็เห็นด้วยนะครับว่า Captain Marvel มีการสอดไส้จริงและทำได้น่าสนใจด้วยครับ

เนื้อหาถัดจากนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในหนัง

เริ่มจากตัวเอกของเรา แครอล เดนเวอร์ส

(1) เธอความจำเสื่อมจากแรงระเบิด

(2) เธอเข้าใจว่าตัวเองเป็นชาวครี

(3) มีภาพผุดขึ้นมาในหัวเป็นพักๆที่เธอไม่เข้าใจว่ามาจากไหน

(4) คนรอบข้างบอกว่าอย่าไปสนใจมัน

เธอเชื่อว่าชาว Skrulls เป็นตัวร้ายแน่ๆ

เพราะลองดูตามท้องถนนของเมืองที่เธออยู่ซิครับมีป้ายไฟคอยบอกตามทางเป็นระยะว่าครั้งสุดท้ายที่ชาวครีโดน Skrulls รุกรานผ่านไปกี่วันแล้ว แถมหน้าตาของพวก Skrulls ก็ใช่แหละ บอกว่าร้ายมาแต่ไกล ยิ่งมีความสามารถแปลงกายได้(shapeshifting)นี่ส่อแววคุณสมบัติตัวร้ายชัดๆ

ที่สำคัญการมีพรรคพวกหรือผู้หลักผู้ใหญ่อย่าง Supreme Intelligence คอยย้ำเสมอว่า Skrulls มันโหดร้ายมีแผนจะรุกรานเรา

Skrulls จึงเป็นฝ่ายอธรรมที่เราจำเป็นต้องกำจัดมันให้สิ้นซาก

คนดูก็คงเหมือนกันครับ เรามองว่าชาวครีดีและ Skrulls ชั่วก็เพราะเราติดตามเหตุการณ์ผ่านมุมมองเดียวกับแครอล จนกระทั่งรู้ความจริงแล้วทุกอย่างกลับตาลปัตร

  • พรรคพวกของเราที่เป็นคนดีหรือผู้ใหญ่ที่เรานับถือคือ พวกผู้กดขี่
  • ส่วนตัวร้ายที่ถูกกล่อมมาตลอดชีวิตว่าต้องกำจัดคือ ผู้ลี้ภัยหรือพวกโดนกดขี่

กลายเป็นว่าการทำความดีของแครอลมาตลอดหลายปี มันไม่ใช่ความดีแต่คือการทำร้ายและกดขี่ผู้อื่น สร้างความไม่เป็นธรรมในกาแลกซี่มาโดยตลอด

หนังทำจุดนี้ได้น่าสนใจครับ ,

การที่คนๆหนึ่งซึ่งเก่งกาจฉลาดเฉลียวกลับเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หลงเชื่อว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก หรือไม่สามารถแยกแยะใครกันแน่คือคนร้ายตัวจริงก็มาจากกระบวนการดังต่อไปนี้

(1) ลบความทรงจำ — จริงอยู่ว่าภาวะความจำเสื่อมของแครอลมาจากแรงระเบิด แต่ทุกครั้งที่เธอเริ่มระลึกภาพบางอย่างได้แล้วเธอพยายามจะพูดถึงอดีตก็จะถูกผู้หลักผู้ใหญ่หรือพวกพ้องชาวครีกลบเกลื่อน

ทั้งๆที่ชาวครีเหล่านั้นก็รู้ว่าทุกอย่างที่ผุดขึ้นมาในหัวของแครอลคือเรื่องจริง

แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือไม่ต่างจากพยายามลบความทรงจำเดิมของแครอล คือพยายามทำให้ ‘ความทรงจำนั้นหายไป ให้ประวัติศาสตร์ทั้งหลายเป็นความเท็จ’

เพียงเพราะกลัวว่าเธอจะรู้ความชั่วร้ายของชาวครี

“You are just one victim of the Skrull invasion that has threatened our civilization for centuries. Impostors who silently infiltrate, then take over on planets”

— Supreme Intelligence

(2) ประวัติศาสตร์ที่สร้างใหม่ — ภารกิจทั้งหลายที่แครอลได้รับผ่านการปลูกฝังว่า skrull คือพวกผู้รุกราน เป็นผู้คุกคามอารยธรรมของบ้านเมือง ส่วนครีคือผู้ถูกกระทำ เป็นประวัติศาสตร์ที่แครอลได้ยินมาตลอดไม่ว่าจะจากคำพูดของคนรอบข้าง จากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองแบบ Supreme Intelligence หรือจากสื่อที่เห็นประจำเช่นป้ายไฟที่เห็นในหนัง

ดังนั้นไม่ว่าแครอลจะเก่งแค่ไหน ไม่ว่าแครอลจะฉลาดแค่ไหน แต่การไม่มีความทรงจำเก่าแล้วถูกประวัติศาสตร์ใหม่ฝังหัวทุกวัน และไม่มีโอกาสเข้าถึง ‘ความจริง’

ผ่านไปอีกร้อยปี แครอลก็ย่อมไม่มีทางแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

Your life began the day it nearly ended . We found you with no memory. We made you one of us, so you could live longer, stronger, superior. You were reborn.

— Supreme Intelligence

(3) สร้างหนี้บุญคุณและให้ความเป็นพวกพ้อง — ไม่ว่าจะเป็นการบอกแครอลว่าเธอคงตายไปแล้วหากมิใช่ ‘พวกเรา’เป็นคนเจอเธอ (ทำให้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่ช่วยชีวิตทั้งๆที่เป็นคนทำให้เธอเฉียดตาย)

ไม่ใช่แค่นั้นแต่หนึ่งในพวกเรายังคอยช่วยเหลือให้เธอเหมือนเกิดใหม่ที่ดีกว่าเดิม(ทำให้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณทั้งๆที่ทำไปเพราะหวังผลประโยชน์)

ยังไม่จบแค่นั้นยังคอยสอนให้ควบคุมอารมณ์เพื่อควบคุมพลัง(ซึ่งผิวเผินเหมือนหวังดีหากแท้จริงคือกลัวพลังของเธอและต้องการใช้งานแครอล)

รวมถึงการสร้างสถานะของ Supreme Intelligence ให้สูงส่งชนิดชาวครีทุกคนเคารพศรัทธา ทุกอย่างที่พูดมาคือความจริงเสมอโดยไม่ต้องสงสัย จึงเป็นเรื่องยากที่แครอลจะคิดกระด้างกระเดื่องต่อชาวครีเพราะเธอมีแต่ความรู้สึกดีๆกับเป็นหนี้บุญคุณ

3 ขั้นตอนข้างต้นที่ทำมาตลอดหลายปีนี้ ทำให้แครอลเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

  • มองไม่เห็นว่าใครกันแน่คือผู้ร้ายตัวจริง
  • ไม่เห็นการกดขี่ที่เกิดขึ้นตรงหน้า
  • เพราะการกดขี่ถูกบิดเบือนให้กลายเป็น การปราบอธรรม
  • ผู้กดขี่กลายเป็นฝ่ายธรรมะ / ผู้ถูกกดขี่คืออธรรมที่สร้างความวุ่นวาย
  • ความเป็นฮีโร่ผู้ทรงเกียรติ (Noble warrior hero)ที่เธอเรียกตัวเองอย่างปลื้มใจ แท้จริงคือการเป็นฆาตกรฆ่าผู้ลี้ภัยและครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่คือผู้บริสุทธิ์

ซึ่งเมื่อรู้ความจริงทั้งที่โดนปกปิดความจริง โดนหลอกลวง โดนหลอกใช้งาน แถมพวกนั้นยังฆ่าคนที่เธอเคารพ จึงทำให้แครอลโกรธมากถึงขนาดฝากแค้นว่าจะกลับไปเล่นงาน Supreme Intelligence

เพียงแต่การเลือกภารกิจช่วย Skrulls หาบ้านหลังใหม่มาเป็นภารกิจหลักก่อนก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า เธอคงรู้สึกผิดที่ตลอดหลายปีนี้เธอเป็นทั้งเครื่องมือและเป็นฆาตกรที่ทำลายชีวิตของพวกนั้น

การช่วยเหลือและสานต่องานของดร.เวนดี้ จึงเป็นภารกิจไถ่บาปในใจของแครอล

ถึงตรงนี้ก็คงไม่ใช่ว่าเราจะสรุปได้ง่ายๆนะครับว่า ชาวครีเป็นฝ่ายอธรรมและชาวSkrullsเป็นฝ่ายธรรมะ

เพราะก็อาจมีชาวครีดีๆอีกมากมาย มีชาวครีที่รู้ความจริงก็คงยอมรับไม่ได้ที่ชนชั้นปกครองกดขี่ข่มเหงผู้ลีภัยแล้วฝักใฝ่อำนาจ เฉกเช่น ดร.เวนดี้ที่พยายามหาทางช่วยเหลือชาวครี

ในทางตรงข้ามก็อาจมีชาวSkrullsบางรายที่ชั่วร้ายกระหายเลือดและวางแผนที่จะทำลายล้างเพื่อยึดถิ่นฐานของชาวครีก็เป็นได้

สถานการณ์การเมืองหรือสงครามจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเหมารวมว่าใครดีหรือชั่ว

และโอกาสเลือกข้างผิดไปอยู่ฝ่ายกดขี่แล้วภูมิใจว่าตัวเองเป็นคนดีก็มีอยู่สูงถ้าเราเข้าไม่ถึง ‘ความจริง’ หรือฟังความข้างเดียวมาตลอดแบบที่แครอลเป็น

เพียงแต่ ‘ความเข้าใจ’ และการแยกแยะ ‘ถูก-ผิด’ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

  • ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งแล้วไม่มีความจริงใจที่จะเจรจา
  • ไม่เปิดรับฟังฝ่ายตรงข้าม
  • หรือไม่พยายามจะค้นหาความจริงนอกเหนือจากที่เสพมาทั้งชีวิต

ดังนั้นฉากสำคัญที่สุดในหนังคือฉากที่ Talos เดินเข้าบ้านมาขอเจรจากับแครอลและฟิวรี่แบบเปิดเผยตรงไปตรงมาพร้อมหลักฐานคือบันทึกกล่องดำ แล้วฝั่งของแครอลก็ยินดีรับฟังโดยไม่หัวร้อนปล่อยพลังจนบ้านพัง

เพราะหากฝ่าย skrull ยังใช้ความรุนแรงหรือหลอกลวงแบบเดิมๆจนอีกฝ่ายไม่ไว้ใจ หรือฝั่งแครอลยังใช้อารมณ์เป็นใหญ่จนไม่คิดวิเคราะห์แยกแยะอะไรเลย

แครอลก็คงเป็นฆาตกรและเครื่องจักรสังหารที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวจนตาย

ดังนั้นการรู้ความจริงแม้จะเจ็บปวด แม้จะต้องยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยทำผิด แม้จะต้องยอมรับว่าคนที่เราเคยเชื่อใจคือคนชั่วร้าย

แต่มันก็คือโอกาสของการเกิดใหม่อย่างแท้จริง คือได้รู้ว่าแท้จริงตัวเองเป็นใครและจะไถ่บาปจากอดีตที่เคยผิดพลาดอย่างไร

ทิ้งท้าย (1) : Marvel

ข้อดีของหนังมาร์เวล(และเป็นข้อเสียที่คนเบื่อการเมืองจากที่ยกตัวอย่างตอนต้นบล็อกไม่ชอบ) คือแทบทุกเรื่องแฝงภาคสังคมการเมืองไม่มากก็น้อย เป็นการพัฒนาหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่ได้ฉายดีชั่วแบบสีขาวกับดำง่ายๆเหมือนยุคก่อน

ดังที่เราจะเห็นใน

  • Black panther — ที่ฝ่ายร้ายก็พัฒนามาจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม ฝ่ายดีมีอดีตผู้ปกครองแผ่นดินใจบุญซึ่งปกปิดความผิดของตัวเอง
  • Avengers: Infinity War — ความเจตนาดีแต่ไม่มีความรู้จริงและมองปัญหาแบบ oversimplification ของ Thanos ที่เพราะมีอำนาจจึงสร้างความชิบหายวายป่วงไปทั่วกาแลกซี่
  • Captain America: Civil War — การตั้งคำถามต่อฝ่ายที่อ้างธรรมะแล้วอยู่เหนือกฎหมายโดยไม่ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำ
  • Captain america: the winter soldier — การชั่งน้ำหนักระหว่างความมั่นคงของสังคม กับ เสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ทิ้งท้าย (2) : บรี

ประเด็นบรีเท่าที่สนใจติดตามมา

เหตุการณ์ดังสุดในแง่ของการเป็นกระบอกเสียงของสิทธิสตรีคือบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ปี 2017 ที่เธอเป็นผู้มอบรางวัลให้เคซี่ แอฟเฟล็ค (หลังจากปีก่อนเธอได้รางวัล ปีนี้เธอจึงเป็นผู้มอบรางวัล) หลังเธอยื่นรางวัลให้ก็ยืนนิ่งไม่ปรบมือแถมหน้าบึ้งอีกต่างหากด้วยเหตุผลที่เคซี่เพิ่งถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในกองถ่าย (คลิกเพื่ออ่านเพิ่ม)

ต่อมาที่สร้าง hater มากขึ้นก็จากกระแสสังคมที่เริ่มมีเทรนด์ต้องการให้วงการบันเทิงให้ความสำคัญแบบครอบคลุมและเท่าเทียม (กระจายโอกาสแก่คนผิวสี/เพศหญิง ฯลฯ) ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องดี

แต่ครั้นกระแส ‘diversity push’ ที่เริ่มมากไปเช่นพยายามให้ Ghostbuster เป็นทีมหญิงล้วน , การดัดแปลงหนังบางเรื่องถ้าเป็นคนผิวขาวมาแทนก็จะโดนข้อหา white washed ไปหมด ฯลฯ ก็จะเริ่มมีฝ่ายค้านว่า เอ๊ะ มันจะจงใจยัดเยียดมากไปหรือเปล่า

แล้วบรีก็มาในจังหวะนี้พอดีกับบุคลิกหนักแน่นของเธอ

จากเดิมทีเธอมีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วอย่างในกรณีบนเวทีออสการ์ ต่อมาเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นคนประเภท Social justice warrior(SJW) ซึ่งคือคนที่นิยมแสดงออกเพื่อเรียกร้องความก้าวหน้าในสังคมเช่นเรียกร้องสิทธิสตรี , ความหลากหลายและเท่าเทียม ฯลฯ โดยไม่ได้ใส่ใจหรือลึกซึ้งกับเรื่องนั้นจริงเพียงต้องการใช้ ‘การเรียกร้อง’เพื่อเพิ่มเครดิตให้ตัวเองในวงการ

หรือบทสัมภาษณ์ที่ผ่านมาในการเรียกร้องเรื่องการครอบคลุมและเท่าเทียมก็กระแทกกลุ่มเป้าหมายโดยมีท่าทีไม่แยแสจนเกิดการตั้งประเด็นว่าการเรียกร้องของเธอเข้าข่ายเหยียดเพศชาย (คลิกเพื่ออ่านตัวอย่าง) เช่น

  • เธอจงใจเลือกนักข่าวผู้หญิงผิวสีที่มีอาการทางสมองแบบ cerebral palsy มาสัมภาษณ์เธอ โดยเธอกล่าวว่าที่เธอสังเกตแล้วพบว่าส่วนใหญ่สื่อหรือนักวิจารณ์ส่วนใหญ่คือเพศชายผิวขาว ซึ่งเธออยากให้มีการเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้บ้าง
  • เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าธุรกิจบันเทิงเป็นพื้นที่ของผู้ชายผิวขาวมากเกินไป
  • เธอเคยพูดบนเวทีว่า เธอไม่สนใจอยากรู้คำวิจารณ์หนังเรื่อง [A] Wrinkle in Time จากชายผิวขาว( white man)ว่ามันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เพราะมันไม่ใช่หนังของพวกเขา แต่เธออยากได้ยินความเห็นจากหญิงผิวสี , หญิงสองเชื้อชาติหรือวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในหนังมากกว่า

และไม่ใช่แค่นั้น เมื่อโดนเล่นงานเธอก็พร้อมบวกประมาณว่า “ก็มาซิค้าาาา”

เช่นตอนที่หนังตัวอย่าง Captain Marvel ปล่อยออกมาแล้วเธอโดนตำหนิข้อหาว่า ‘ยิ้มน้อยไป’

เธอตอกกลับด้วยเหตุผลว่าซูเปอร์ฮีโร่เพศชายที่ผ่านมาก็ไม่ได้ยิ้มพร่ำเพรื่อ

แต่ เดี๋ยวก่อน เธอไม่ได้ตอกกลับแค่นั้นครับ

เธอยังโพสต์โปสเตอร์ที่โฟโต้ช็อปใส่รอยยิ้มบนใบหน้าซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลลง IG Story ของเธอด้วยราวกับจะท้าว่า “เอาซี้ ก็มาซิค้าาาา เหล่า Haterrrrr”

--

--