แสงกระสือ คือการยอมรับและอยู่ร่วมกัน

ผมประทับใจแสงกระสือในส่วนของ ‘การหาทางอยู่ร่วมกัน’ และ ‘การยอมรับ’ โดยไม่ติดอยู่แค่เรื่องรักหรือเรื่องผี

คือถ้าเราเป็นชาวบ้านที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องกระสือ การเห็นคนถอดหัวออกจากร่างลอยไปมาพร้อมไส้ นั่งเคี้ยวเครื่องในวัวสดๆ แน่นอนครับว่าต้อง ‘กลัว’

เพราะเราไม่ได้มีองค์ความรู้เหมือนหลวงพ่อที่จะรู้ว่า อ๋อ กระสือไม่ได้กระหายเลือดฆ่าคนนะ , อ๋อ กระสืออยู่ได้ด้วยเลือดสดของสัตว์ได้นะ เราเลี้ยงเค้าไม่ให้ออกนอกบ้านได้ และชาวบ้านก็คงไม่รู้หรอกว่ากระสือยังเป็นภาวะคืนกลับเป็นคนปกติได้(reversible)

เรียกได้ว่าสามารถมองกระสือเป็น ‘อาการโรคระบาด’อย่างหนึ่งที่สามารถแสดงอาการเฉพาะกลางคืน แถมกระสือยังได้เปรียบซอมบี้หรือแวมไพร์ตรงมียาที่สามารถควบคุม ‘อาการแสดงออก’ได้

เป็นภาวะที่ไม่อันตรายคุกคามต่อมนุษย์ถ้าเราพยายามหาทางอยู่ร่วมกัน

แต่เพราะความไม่รู้ จึงนำไปสู่ความรุนแรง

ความรู้ จึ จึงเป็นองค์ประกอบแรกที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เมื่อเรามีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น

สังคมที่ขาดองค์ความรู้มักนำไปสู่การเข่นฆ่า

ไม่ว่าจะมองว่ากระสือเป็นตัวแทนของอะไร แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆมากพอ เราจะถูกความกลัวเข้าครอบงำเมื่อพบความแตกต่างที่ผุดขึ้นมาในชีวิตประจำวัน

จึงไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านนะครับที่หาทางกำจัดกระสือในตอนแรก เพราะมันคือสัญชาติญาณเอาตัวรอดของมนุษย์เมื่อเจอความแตกต่างที่คุกคามความรู้สึกปลอดภัย

(เป็นธีมเดียวกับหนังแบบ X-men ที่พยายามย้ำอยู่เสมอว่าเพราะ ‘ความกลัว’ จึงทำให้ mutant เป็นเป้าหมายในการถูกกำจัด)

จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคามคือเมื่อเกิดการตายของสัตว์เลี้ยงที่หาคำตอบไม่ได้ ชาวบ้านย่อมหวาดกลัวกันไปทั่วแล้ว พวกเขาต้องการจำเลยมาลงโทษ

ซึ่งหากมีการตั้งทีมสอบสวนแล้วหาคำตอบ พวกเขาก็จะพบว่า

สายในฐานะกระสือยังไม่เคยฆ่าคนตาย ความผิดของเธอแค่กินสัตว์เป็นอาหาร

แต่โทษของสาย(นางเอก)ถูกอารมณ์หวาดกลัวของชาวบ้านที่ถูกปลุกระดมจาก ‘ทีมล่ากระสือ’ ออกมาจุดความบ้าคลั่งให้ออกไล่ล่า ทำให้ไม่มีใครสนใจว่าจะอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตนี้อย่างไร ’

ซ้ำเติมด้วยการสุมไฟของ ‘ตัวร้ายหลัก’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อความเกลียดชังแบบเหมารวม(stereotyped)

เป็นความเกลียดที่ส่งต่อจากคนรุ่นปู่ย่าตายายเรื่อยมาโดยไม่มีเหตุผล เช่นเขานิยามกระสือทุกตนว่าเป็นพวก ‘ร่าน ชั่วร้าย’ เหมือนกันหมด ทั้งๆที่ด้วยตัวตนของกระสือไม่ได้มีความหมายของความชั่วร้ายเลย

เมื่อทั้งกลัวและรังเกียจ จึงทำให้ชาวบ้านไม่ลังเลใจที่จะเข่นฆ่ากระสือ

เราจึงสามารถมองกระสือได้หลายมิติทั้งในแง่หนังผี หนังรักหรือการสะท้อนภาพสังคมการเมือง

ความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนลุกฮือไปฆ่าคนตายเกิดขึ้นเมื่อพวกเขามีความกลัว มีภัยคุกคามที่พวกเขาไม่มีความรู้มากพอจะแก้ปัญหา

ลองนึกว่าถ้าหลวงพ่อผู้มีองค์ความรู้ ก้าวออกมาเป็นผู้นำชาวบ้าน เข้ามาอธิบายให้ความรู้แล้วมีการไต่สวนอย่างยุติธรรม ก็จะพบว่า สาย-กระสือไม่ได้ฆ่าคน และเราสามารถหาทางอยู่ร่วมกันได้

แต่เมื่อคนสถาปนามาเป็นผู้นำคือแก๊งค์ล่ากระสือที่นอกจากไม่มีองค์ความรู้ยังมีอคติและเก่งปลุกระดมเข้ามาเน้นแต่เรื่อง ‘กำจัด’

ทำให้ชาวบ้านจึงไม่พยายามหาวิธีการอยู่ร่วมกัน จ้องแต่จะกำจัดความแตกต่างออกไปจากชุมชน

Spoiler alerts : ถัดจากนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องเล็กน้อยถึงปานกลาง
.

.

แต่เราก็จะเห็นว่า แม้จะหวาดกลัวก็ยังมีคนคิดหาทางอยู่ร่วมกับกระสือ

ไม่ใช่แค่การที่เจิดหาทางอยู่ร่วมกับสายด้วยการคอยคุ้มกันในวงศัตรู ไม่ใช่แค่น้อยที่จะหาทางรักษาอาการกระสือให้หายขาด

แต่ในฉากไคลแมกซ์ตอนหนังกลางแปลง พ่อแม่หรือเพื่อนก็ยังยืนหยัดข้างเตียงที่มีร่างไร้หัวแม้จะกลัวแต่ก็ต้องการจะรักษาร่างนี้ไว้

แน่นอนครับว่าพวกเขาก็ต้องกลัวนั่นแหละ

แต่เมื่อเรารักมากพอ เราจะหาทางอยู่ร่วมกับสิ่งที่เรากลัว

แต่หากเราปล่อยให้ความกลัวเป็นใหญ่ เราจะหาทางหนีหรือไม่ก็ทำลาย

เมื่อนางเอกเอ่ยถึงความอัปลักษณ์ของคางคกและพูดถึงสัตว์ประหลาดก็มีหัวใจ

คือการบอกใบ้ว่านี่ไม่ใช่หนังผีที่เน้นความสยองขวัญแก่คนดูแต่คือเรื่องของ ‘การยอมรับ’

นึกย้อนไปตอนเห็นคราบเลือดครั้งแรกบนเตียงทำให้สายหลงดีใจว่าเป็นสัญญาณเข้าสู่วัยสาวแต่กลับกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ความเป็นสาวอย่างที่เธอคิด แต่คือสัญญาณของการเป็นสัตว์ประหลาด

ที่ผ่านมาภาวะกระสือเหมือนภาวะที่เจ้าตัวยังไม่สามารถรู้ตัวเต็มร้อยขณะถอดร่าง แต่เมื่อตื่นมาเธอก็คงพอจะเดาอะไรได้จากสภาวะแวดล้อมที่พูดเรื่องกระสือจึงทำให้เธอพยายามป้องกันไม่ให้ร่างออกนอกห้องด้วยการล็อกประตูอย่างดี ปิดกั้นตัวเองจากผู้อื่น

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปกปิดเมื่อคนที่รักบุกเข้ามาเห็น

สายมีทั้งความอายระคนกลัวว่าคนที่แอบชอบจะรังเกียจ

มีทั้งความเจ็บใจที่ตัวเองต้องเปิดเผยส่วนที่พยายามปกปิดมาตลอด

แต่สุดท้ายเมื่อความรักยิ่งใหญ่กว่าความกลัว

เจิดและน้อยก็สามารถยอมรับ ‘ด้านที่น่ารังเกียจหรือน่าขยะแขยง’ ในสายตาของคนทั่วไป และมันคือสิ่งที่เจิดซึ่งกลายสภาพเป็นอัปลักษณ์คาดหวังจากสายเช่นกันในตอนท้าย

เราต่างมีความส่วนตัวที่คาดว่าคนอื่นรู้แล้วอาจรังเกียจแล้วปกปิดไว้

ลึกๆปรารถนาว่าจะมีคนสามารถยอมรับด้านอัปลักษณ์หรือน่ารังเกียจของเรา

และยิ่งคาดหวังจากคนที่เราแอบรักว่า วันหนึ่งหากเขาหรือเธอรับรู้จะยังคงรักและยอมรับเรา

นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผู้คนคาดหวังต่อเนื่องจากความรัก

แสงกระสือเป็นหนังไทยที่ดีจริงๆครับ

ละเมียดดีแล้วก็ smooth ไปจนจบไม่มีซีนไหนที่แบบ ฮื้อ เฮ้อ ไม่มีบทพูดที่รู้สึกผิดธรรมชาติจนเกินไป ในขณะที่หลายฉากเลือกที่จะเล่าแบบไม่พูดมากเช่นตอนที่น้อยรู้ความจริงแล้วไปเผชิญหน้ากับสาย แทนที่จะบรรยายความรู้สึกเช่น “สายขอโทษ อย่าเกลียดสายนะ สายไม่รู้มาก่อน บลาๆๆ” แต่หนังเลือกเซอไพรส์คนดูด้วยความเงียบแล้วใช้ภาษาการแสดงทางกายจบฉากนี้แทนซึ่งได้ผลทางอารมณ์สูง

และทำให้การเลือกจะไม่อธิบายกฎหรือ mechanic การเป็นกระสือ (เริ่มเป็นเมื่อไหร่ ต้องการกินอะไรบ้าง , สัมพันธ์กับช่วงวัยไหน , ระยะเวลาในการติดเชื้อ ฯลฯ) เป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่หนังต้องการเน้น ไม่ใช่หนังซอมบี้หรือสยองขวัญที่พยายามหาคำตอบจากการเป็นผีแต่คือการอยู่ร่วมกัน

ที่ต้องชมคือนางเอกนี่เล่นดีจัดๆ คนอื่นมีล้นมีอะไรบ้าง แต่นางเอกนี่เก็บละเอียดหมด พอเป็นคนนำก็เลยทำให้หนังดีเลย

แล้วที่ต้องชมต่ออีกคือการดีไซน์ผีที่ภาพจำของผมมันตลก แต่ทำออกมาไม่ตลกและทำให้ซีนต่อเนื่องหนังกลางแปลงที่คือ ‘การเปิดเผยตัวตน’ ไปจนการต่อสู้และบทสรุปนี่เด็ดมาก ดนตรีประกอบในหลายตอนและการจัดแสงก็ดีมากด้วย

สุดท้ายต้องชมการผูกเรื่องด้วยครับ

การที่หนังทำให้คนดูซึ้งสะเทือนใจมาจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่หนังปูไว้ตอนต้นด้วย เช่น จริงอยู่ว่าสายเป็นกระสือ แต่ต้นเหตุโศกนาฏกรรมในหมู่บ้านนี้ก็เพราะน้อยเป็นคนนำทีมล่ากระสือมาที่บ้านเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

จึงกลายเป็นว่าเขาคือคนที่แบกความรู้สึกผิดในการพาหายนะมาสู่หญิงที่เขารักและเพื่อนสนิท

หรือการหักมุมในเชิงโรแมนซ์ก็ทำได้น่าประหลาดใจ (ปกติ twist ในหนังผีมักเฉลยเพื่อตอบโจทย์ความเป็นหนังสยองแต่เรื่องนี้คือหักมุมในเชิงหนังรัก) แล้วก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ทำให้เจิดเป็นตัวละครมิติเดียวที่เดาทางได้ง่ายๆ (ประเภทตัวร้ายขี้อิจฉาแล้วกลายเป็นตัวทำลายทุกสิ่ง)

ซีนปิดท้ายคือบทสรุปที่น่าเศร้าเมื่อ

ความฝันของคนหนุ่มสาวที่อยากเป็นหมอ อยากเป็นทหาร อยากเป็นพยาบาล อยากมีอนาคตสดใส อยากออกไปเห็นโลกกว้าง

ความฝันเหล่านั้นต้องถูกทำลายย่อยยับด้วยความหวาดกลัว และการไม่พยายามหาทางอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

ปล. หนังผี 3 เรื่องล่าสุดที่ดูหลังปีใหม่มานี้ล้วนสอบตกในแง่ ‘ความสยอง’ ซึ่งบางเรื่องคือตัวหนังไม่เน้นจุดนี้อยู่แล้วแต่ทั้ง 3 เรื่องคือ ‘หนังผี’ ที่จบแล้วไม่ยอมให้หยุดคิดถึงและทำให้อยากเขียนถึง (แสงกระสือ , Velvet Buzzsaw และ Suspiria)

และสถานีถัดไปคือ Suspiria

--

--