After Life — ก้าวข้าม Grief แบบ Ricky Gervais

โทนี่ : ฉันเจ็บปวดทุกวัน ทุกครั้งที่ฉันเริ่มมีความสุขซักนิดฉันก็จะเจ็บปวดตามมาเพราะฉันทนไม่ได้ที่รู้ว่าจะไม่สามารถแชร์เรื่องดีๆนั้นกับเธอได้อีก และฉันได้แต่รอวันที่จะได้อยู่กับเธอ

แม็ต : มันไม่สมเหตุสมผลเลยนะ ในเมื่อนายเป็นพวกนิยมเหตุผลแล้วนายก็ไม่เชื่อในชีวิตหลังความตายด้วยซ้ำ

โทนี่ : เออ ฉันรู้ เธอตายแล้วไม่ได้ไปรออยู่ไหนทั้งนั้นแหละ แต่ฉันอยากให้นายเข้าใจแบบนี้นะ ฉันยินดีที่จะตายไปแล้วไม่ได้อยู่ที่ไหนทั้งสิ้นเหมือนกับเธอ ยังดีกว่ามีชีวิตอยู่ซักที่แล้วไม่มีเธอ

After Life เป็นซีรี่ส์ 6 ตอนจบ แต่ละตอนมีความยาวแค่ 25 นาที

เรื่องของโทนี่-นักข่าวหนังสือพิมพ์แจกฟรีประจำท้องถิ่น เขาเป็น Atheist ปากร้าย ช่างประชด , ที่ผ่านมาใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาแค่สองคน ไม่มีลูก มีเพียงหมาหนึ่งตัว เป็นชีวิตคู่ที่เข้ากันได้ดีและภรรยาก็เป็นคนที่มองเห็นด้านดีของโทนี่อย่างที่คนอื่นไม่เห็น

วันหนึ่งภรรยาตายจากมะเร็งทิ้งคลิปสั่งเสียไว้ให้เขาดูวนไปวนมากับหมาตัวเดิม

โทนี่ที่ปกติเป็นคนปากร้ายอยู่แล้วยิ่งกลายเป็นวัตถุระเบิดทางอารมณ์ ใครอยู่ใกล้ล้วนสัมผัสได้ถึงความเศร้า แม้ไม่ได้แสดงออกผ่านการร้องไห้แต่การปากร้ายหนักขึ้นและใช้ชีวิตแบบไม่แคร์อะไรยิ่งขึ้นบอกได้ว่าเขากำลังเจ็บปวด

แม้เขาไปทำจิตบำบัดแต่ก็ดูเหมือนไม่ช่วยอะไรนัก เขาตื่นเช้าทุกวันก็ยังนอนดูคลิปเก่าๆของภรรยา ตื่นขึ้นมาโดยมีความคิดว่าเมื่อไหร่จะตายไปเสียที

เขาอ้างเหตุผลที่จะต้องมีชีวิตต่อก็เพื่อดูแลหมา เขาถูกหยามจากแม่ม่ายที่ไปออกเดตว่าคนอย่างเขาไม่กล้าที่จะฆ่าตัวตายจริงๆหรอก

และนั่นคือชีวิตของโทนี่ในซีรี่ส์ 6 ตอน (ตอนสั้นๆตอนละ 25 นาที) เรื่อง After Life

การก้าวข้ามความเจ็บปวดของคนที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ทุกอย่างจบลงเมื่อหมดลมหายใจ แล้วเขาจะมีชีวิตต่อไปอย่างไรในเมื่อความสุขในชีวิตนั้นสูญหายไปแล้ว

After Life เป็นซีรี่ส์ที่ผมคิดว่าไม่ใหม่เท่าไหร่นะครับสำหรับการก้าวข้าม grief (ภาวะโศกเศร้าหลังสูญเสีย)ของตัวละครที่มีบุคลิกแบบปากร้ายใจดี (นึกภาพคุณลุงอูเว่ในนิยาย A man called Ove หรือบุคลิกแบบพระเอกหนัง As good as it gets) ซึ่งเป็นบุคลิกในแบบที่คนดูมักจะตกหลุมรักในที่สุด

เพียงแต่จุดเด่นของ After Life คือ ‘ความเป็น Ricky Gervais’ ที่เจ้าตัวเหมารวมทั้งแสดงนำ เขียนบทและกำกับ ซีรี่ส์แล้วถอดบุคลิกตัวเองมาเป็นโทนี่แทบทุกกระบิ

Ricky Gervais เป็นคนหลายความสามารถทั้งเป็นนักแสดง , นักเขียนบทและสแตนด์อัพคอมิเดี่ยนที่ฉลาด ตลก , สำหรับผมแล้วเขาเป็น host งานลูกโลกทองคำที่สนุกที่สุดที่เคยดูมา

เพียงแต่มุกของเขาอาจทำให้หลายคนรู้สึกอึดอัดเพราะเขาเชื่อมั่นใน Freedom of speech ที่คิดว่ามุกตลกไม่ใช่สิ่งอันตราย มุกตลกทุกมุกควรที่จะสามารถพูดออกมาได้ มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเลวร้ายไม่ได้มีความเลวร้ายเท่าเรื่องนั้น

ดังนั้นจึงไม่ได้มีขอบเขตของคำว่า ‘ควรหรือไม่ควร’ หรือ ‘กาละเทศะ’ และแทนที่จะสร้างกรอบหรือข้อจำกัดแต่เราควรเพิ่ม tolerance ในสังคมมากกว่า

ไม่ต่ำกว่าหนึ่งครั้งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า การปล่อยมุกแบบไม่ต้องคิดกรองว่ามันจะเหมาะมั้ย จะ offend ใครมั้ยแบบนี้เริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัวแล้วที่เขากับพี่น้องซึ่งเป็นคนตลกเหมือนกันคุยกันว่า หากคิดถึงมุกตลกอะไรก็ตามก็ต้องพูดออกมาเลย

(ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ก่อนดูซีรี่ส์ลองเปิดโชว์ของเขาในช่องเน็ตฟลิกซ์ที่ชื่อ Humanity ซัก 10 นาทีครับจะเข้าใจว่ามุกตลกแบบที่มีทั้งคนชอบและชังเป็นอย่างไร)

นอกจากนี้เขายังประกาศชัดว่าเป็น Atheist ซึ่งก็เหมือนตัวละครโทนี่ผู้ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า ไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย

(คลิปสั้นๆที่สนุกเป็นการดีเบตเรื่อง atheism ของ Ricky Gervais กับ Stephen Colbert พิธีกรผู้นับถือศาสนาคริสต์ https://www.youtube.com/watch?v=P5ZOwNK6n9U )

โทนี่ใน After Life จึงเหมือน Ricky Gervais เวอร์ชั่นซอฟต์ลง

ซึ่งน่าจะทำให้คนดูส่วนใหญ่ยอมรับมุกของเขาได้มากขึ้น หลายๆมุกในซีรี่ส์ก็ถูกนำมาจากในโชว์ที่เขาเคยเล่าบนเวที เช่น การดัดหลังบุรุษไปรษณีย์ที่ชอบแอบอ่านจดหมายที่ส่งมาบ้านของเขา

หลายเรื่องที่คนดูอาจเคยเห็นเขาอธิบายบนเวทีในฐานะแสตนด์อัพคอมิเดี้ยนแล้ว แต่ก็มีการพูดถึงซ้ำอีกในซีรี่ส์ด้วยท่าทีที่ดูประนีประนอมในการเล่ามากกว่า เช่น การอธิบายเรื่อง Atheist ในซีรี่ส์ที่ตอนหนึ่งมีเพื่อนร่วมงานถามโทนี่ว่า

“ถ้าคุณเป็น Atheist แล้วไม่เชื่อในชีวิตหลังความตาย ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าใดๆทั้งนั้น แล้วทำไมไม่ออกไปใช้ชีวิตแบบข่มขืนหรือฆ่าคนตามใจชอบละ”

โทนี่ตอบหน้าตายว่า ใช่ ผมก็ใช้ชีวิตแบบนั้น

คือถ้าเขาอยากฆ่าหรืออยากข่มขืน เขาก็คงทำนั่นแหละแต่เขาไม่ได้ฆ่าใครไม่ได้เกี่ยวกับพระเจ้าหรือกลัวว่าตายแล้วจะตกนรก แต่เขาไม่ฆ่าหรือข่มขืนใครเพราะมันคือสามัญสำนึกที่บอกว่ามันไม่น่าทำและไม่อยากทำ

ซึ่งนั่นน่าจะบอกเราคนดูว่า

ไม่จำเป็นต้องมีนรกสวรรค์ พระเจ้า หรือชีวิตหลังความตาย เพื่อมาเป็นตัวบังคับให้คนไม่ทำชั่วแต่เราสามารถเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้น

จุดเด่นของซีรี่ส์นอกจาก ‘ความเป็น Ricky Gervais’ ก็ต้องชมเจ้าตัวในแง่การแสดงต้องชมที่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่อยู่ในห้วงเจ็บปวดโศกเศร้าได้ดีในแบบของคนที่มีบุคลิกปากร้ายตรงไปตรงมา เป็นอีกด้านที่ไม่เคยเห็นจากตัวเขาบ่อยนัก

ความดีงามอีกอย่างของ After Life คือตัวละครสมทบทุกคนเป็นคนตัวเล็กๆที่มีเสน่ห์มีหัวใจ เช่น ภรรยาของโทนี่ที่แม้จะมีบทสั้นๆในคลิปแต่ทำให้หนังมีความรู้สึกมากมาย , เพื่อนร่วมงานในออฟฟิส , โสเภณีที่อยากให้พระเอกเรียกเธอว่า sex worker มากกว่าโสเภณีและมากกว่าหลอกคนอื่นว่าเป็นแม่บ้นา ฯลฯ

ผมไม่ชอบจุดเปลี่ยนตัวละครในตอนสุดท้ายของซีรี่ส์ที่มันดูง่ายจนไม่น่าเชื่อถือ เป็นจุดอ่อนในงานเขียนบทของตัวริคกี้ที่ยังไม่คมคายเท่ามุกตลกทั้งหลายที่ปล่อยออกมา

รวมถึงการที่รู้แล้วว่าโทนี่ก็คืออีกด้านหนึ่งของ Ricky Gervais และเขาเองเป็นคนเขียนบทเรื่องนี้ การมีฉากที่ตัวละครอื่นชมโทนี่บ่อยๆว่าจิตใจดีอย่างไร มันก็รู้สึกตลกๆเหมือนเห็นเขาชมตัวเองไม่หยุด

แต่ก็ต้องชมว่าเขาใส่ความอ่อนไหวลงไปผสมกับมุกตลกร้ายๆในซีรี่ส์ได้กลมกล่อม รายละเอียดระหว่างทางก็ถือว่าน่าประทับใจในหลายๆซีน เช่น ความสัมพันธ์ของเขากับโสเภณีในเมืองเล็กๆ หรือความสัมพันธ์ของเขากับพ่อ

ตอนหนึ่งที่ดีมากๆและมันสำคัญในส่วนที่เป็นแก่นของการก้าวข้ามความเจ็บปวดจากการสูญเสียคือตอนที่โทนี่ไม่อยากออกเดตกับคนที่เพื่อนนัดไว้ให้ เขายังไม่อยากเริ่มต้นใหม่ ใจเขายังผูกไว้กับภรรยา

เขาปรึกษาเพื่อนชื่อ แอนน์-หญิงม่ายสูงวัยที่ไปนั่งเฝ้าหลุมศพสามีทุกวัน แอนน์เชียร์ให้เขาลองออกเดตกับคนใหม่ๆบ้าง

แอนน์ : ลองคิดดูว่าถ้าไปเดตแล้วทำให้เธอมีความสุข มันคงจะดีใช่มั้ย เราไม่ได้เกิดมาแค่เพื่อตัวเรานะ เราเกิดมาเพื่อคนอื่นด้วย

โทนี่ : ผมไม่เชื่อไอ้เรื่องพระเจ้าอะไรทำนองนั้นหรอกนะ

แอนน์ : ฉันก็ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าเหมือนกันนั่นแหละ

แต่มนุษย์เรามีชีวิตอยู่เพื่อกันและกัน เราต่างต้องช่วยเหลือกันดิ้นรนมีชีวิตจนถึงวันตายแล้วนั่นก็คือจุดสิ้นสุดของชีีวิต ไม่มีประโยชน์ที่เราต้องทนขมขื่นแล้วทำให้คนอื่นไม่มีความสุขไปด้วย

ฉันคิดว่าลึกๆแล้วคุณยังคิดว่าชีวิตยังมีค่าที่ควรจะต้องมีอยู่ต่อไปแต่คุณกำลังเจ็บปวด แต่สิ่งที่คุณสูญเสียไปคือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่จะหยุดความเจ็บปวดนั้น

แม้ซีรี่ส์จะไม่บอกตรงๆ แต่เราก็คงเห็นแล้วสิ่งที่ทำให้โทนี่เจ็บปวดคือการสูญเสียภรรยา

ซึ่งมันไม่ใช่แค่การสูญเสียคนหนึ่งคน

ลึกลงไปก็คือการสูญเสีย ‘ความรัก ความผูกพัน’

สูญเสีย ‘ความสามารถที่จะแบ่งปันทุกข์สุขในใจ’

ดังนั้นการที่เขาเริ่มใส่ใจคนอื่นมากขึ้น ลดทิฐิลงเวลาไปเยี่ยมพ่อยอมรับว่าพ่อป่วยแล้วเออออไปกับอาการสมองเสื่อมบ้าง หรือเริ่มเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิต เช่น ออกไปเลือกซื้อเสื้อใหม่กับรุ่นน้องที่ทำงาน , มีเพื่อนใหม่ที่เขาพร้อมเปิดใจคุยด้วยเช่นแอนน์หรือกล้าที่จะชวนคนที่ชอบไปออกเดต ฯลฯ

นั่นคือการเยียวยาความเจ็บปวดอย่างที่แอนน์ว่าไว้

  • คือการมีความรักที่ไม่จำกัดแค่ในเชิงสามีภรรยาแต่กำเนิดความรักในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  • คือการเติมด้านบวกเช่นการขอบคุณหรือทำดีให้คนที่ดีกับเราเข้าไปในความผูกพัน
  • คือแบ่งปันทุกข์สุขในแต่ละวันกับใครซักคนที่ยินดีจะรับฟังแล้วร่วมรู้สึกไปกับเรา

--

--