Line of duty — เลือด(ตำรวจ)ข้น คน(ดู)เดือด

เพื่อนผู้อ่านเข้ามาแนะนำซีรี่ส์จากฝั่งอังกฤษเรื่อง Line of duty เลยลองเปิดเล่นๆใน Netflix

อ่าว ไม่มีซับไทย

ก็เลยว่าจะเทแต่พอดูไปซักพัก โอ้ คุณพระคุณเทเรซ่าเมย์ช่วยด้วย ทำไมซีรี่ย์อังกฤษเรื่องนี้มันเลือดข้นคนเครียดขนาดนี้ครับ ไม่เป็นอันหลับอันนอน จัดไปวันละซีซั่นดีที่เป็นมินิซีรี่ส์มีแค่ 6 ตอน สามซีซั่นแรกนี่ระดับโคตรพีค เรียกได้ว่าการไม่มีซับไทยถือเป็นโศกนาฎกรรมประจำ Netflix

เส้นเรื่องหลักคือการทำงานของหน่วย AC-12 ซึ่งมีหน้าที่ปราบคอรัปชั่นในวงการตำรวจ

คำว่าคอรัปชั่นไม่ใช่แค่โกงกินอย่างเดียว แต่คือการบิดเบี้ยวหลักกฎหมาย, รับเงินสินบนจากคนร้ายแล้วปล่อยข้อมูล, ใช้หลักฐานเท็จเอาผิดผู้ต้องสงสัย ฯลฯ

ตำรวจบางคนบอกว่าไม่เคยโกง(bent)ในความหมายของไม่เคยรับเงินมาเฟีย , ไม่เคยรับเงินใต้โต๊ะ ฯลฯ แต่เขาก็มีความผิดในฐานะปกปิดหลักฐานเพื่อช่วยเหลือคนใกล้ชิด, ไม่ทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา, ไม่บังคับใช้กฎหมายตามข้อบังคับแต่ปรับใช้ตามตัวเองเป็นใหญ่

และนั่นคือ ‘ความผิด’ ที่เจ้าตัวไม่รู้ว่ามันคือคอรัปชั่นรูปแบบหนึ่ง เพราะสุดท้ายมันก็คือการเอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเองหรือคนที่ตัวเองห่วงใย

ดังนั้นสำหรับวิชาชีพที่มีหน้าที่คุ้มครองกฎและปราบปรามคนทำผิดกฎหมาย

การมีอำนาจในมือจึงไม่ใช่ใช้กฎหมายไปเล่นงานคนอื่นตามเกณฑ์ศีลธรรมของตัวเอง ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกปิดคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง

สิ่งที่เขาควรเคารพสูงสุดคือการทำตาม ‘กฎหมาย’

ไม่ว่าคนที่ทำผิดจะเป็นใคร จะเป็นคนดีแค่ไหน หรือทำผิดด้วยเจตนาใด ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายหรือปราบปรามความผิดตามกฎหมายที่ว่าไว้

และนั่นคือความมันส์ในซีรี่ส์เรื่องนี้ที่สะท้อนภาพความเลือด(ตำรวจ)ข้นคน(ดู)เดือด ลากไส้ตำรวจคอรัปชั่น ตามจับหนอนบ่อนไส้ ไอ้พวกหนักแผ่นดินสหราชอาณาจักร!! อ่าว โทษๆครับ เกรี้ยวกราดมากไปนิด

ซึ่งยิ่งดูซีรี่ส์เรื่องนี้ เราก็จะพบว่า หน่วยงานแบบ AC-12 นี้เป็นเรื่องจำเป็นครับ เหมือน Watchmen ที่ตั้งคำถามประมาณว่าใครกันที่จะคอยตรวจสอบการทำงานวิชาชีพที่คอยปราบปรามคนทำผิด

เพราะอย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ย่อมมีความเปราะบาง หลายคนอยากเป็นตำรวจที่ดีแต่ภายใต้เครื่องแบบตำรวจพวกเขาคือ ‘มนุษย์’ ซึ่งสุดท้ายความเปราะบางก็ทำให้เขาทำผิด

  • เปราะบางต่อการทำผิดเพราะความโลภหรือไม่ก็ทำผิดเพราะสงสารเห็นใจ
  • เปราะบางที่จะไม่เคารพกฎกติกา โดยอ้างทำตามเจตนาดีหรืออุดมการณ์ของตัวเอง
  • เปราะบางที่จะหลงในอำนาจและการปกป้องพวกพ้องเดียวกัน ยิ่งถ้าถูกปลูกฝังมาให้เคารพผู้ใหญ่ ไม่ทรยศเพื่อนร่วมงาน จนลืมเลือนว่าสิ่งสูงสุดที่ต้องเคารพคือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่บุคคล

ยิ่งหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานแบบปิดที่ไม่โปร่งใสให้ผู้คนรับรู้

แล้วคนในหน่วยงานมียศสูง มีตำแหน่งสูง ยิ่งเข้าถึงข้อมูลต่างๆง่าย ยิ่งง่ายต่อการคอรัปชั่นกว่าคนทำงานชั้นผู้น้อยด้วยซ้ำ

เช่นเมื่อมีหลักฐานเอาผิดที่คุณอยากปกปิดก็แค่สั่งลูกน้องให้แจ้งมาที่คุณโดยตรงแล้วก็หมกไว้ในลิ้นชัก ลูกน้องก็ไม่กล้าหือกับลูกพี่ที่ยศสูงกว่า ฯลฯ

เพราะจะให้ลูกน้องไปตรวจสอบหัวหน้าก็เสี่ยงกับการโดนเด้งหรือโดนเล่นงานก่อนที่จะได้สืบสวนเสียด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบการทำงานของพวกเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีความกล้าหาญโดยไม่หวั่นไหวหรือยำเกรงต่อหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่ต้องคิดปกป้องเพื่อนร่วมวิชาชีพ

คิดถึงแต่กฎหมายที่พวกเขายึดมั่นหรือจรรยาบรรณวิชาชีพที่มีการกำหนดไว้

และนั่นคือหน่วยงาน AC-12 ในซีรี่ส์

พระเอกของเรื่องเป็นนายตำรวจหนุ่มที่ถูกคัดเลือกมาหลังจากเคยอยู่หน่วยปราบก่อการร้ายที่ทีมของเขาเกิดความผิดพลาด

ความเดิมคือเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยก่อการร้ายในทีมเดียวกันฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ตาย แต่หัวหน้าหน่วยเดิมสั่งให้เขา ‘เขียนรายงานให้สอดคล้องกับคนในทีม’ ในแง่ที่ว่าเจ้าหน้าที่ ‘ไม่ผิด’และทำตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง

ว่าง่ายๆหัวหน้าต้องการปกป้องหน่วยงานกับลูกน้องด้วยการทำเอกสารเท็จ และโน้มน้าวให้พระเอกเห็นว่ามันสุดวิสัย ด้วยเหตุผลประมาณว่า ตำรวจอย่างเราๆต้องเสี่ยงชีวิตมากแค่ไหนแค่คนทำพลาดไปยิงผู้บริสุทธิ์ตายเค้าก็เสียใจมากพอแล้ว จะเขียนรายงานตามจริงให้จนท.เสียขวัญกำลังใจไปเพื่ออะไร

แต่พระเอกยอมรับไม่ได้ ผู้ตายเป็นผู้บริสุทธิ์แถมเขาก็มีลูกเมียที่ควรรู้ความจริงว่าเขาเป็นเหยื่อไม่ใช่คนร้าย พระเอกบอกหัวหน้าว่า “ยอมรับความผิด ขอโทษประชาชน แล้วจับผู้ก่อการร้ายตัวจริงให้ได้ซิครับ”

พูดแบบนี้จบ หัวหน้าบอกเอ็งไม่รับคำสั่ง ลาก่อยยยยย พระเอกโดนเด้ง แล้วหน่วย AC12 ก็คัดเลือกเขาเข้าไป

แต่งานในหน่วยงานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะด้วยลักษณะงานตรวจสอบพวกเดียวกัน ทำให้เพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ชอบขี้หน้าเหมือนว่าถูกจับผิด เล่นงานพวกเดียวกัน หลายคนมีแนวคิดในวิชาชีพทำนองว่าไม่ควรฆ่าน้องฟ้องนายหรือขายเพื่อน

ดังนั้นทุกครั้งที่หน่วยงานนี้ไปเหยียบสน.ตำรวจที่สืบสวนจะโดนตำรวจคนอื่นๆเหยียดหยามตลอดมองว่าหน่วยนี้หวังจะหาชื่อเสียงด้วยการจับผิดคนทำดี

และนั่นคือบททดสอบของหน่วยงานปราบคอรัปชั่นที่ต้องยึดมั่นเฉพาะ ‘ขาวกับดำ’ ท่ามกลางชีวิตของมนุษย์ที่มีสีเทากันแทบทุกคน

งานของหน่วยปราบคอรัปชั่นจึงไม่ใช่การหาข้อแก้ต่างหรืออ้างเหตุผลสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไม่เผลอเห็นใจหรือหมั่นไส้แล้วให้อคติมามีอิทธิพลต่อการสืบสวน

แต่คือการยึดตามหลักวิชาชีพ ยึดหลักฐานขั้นตอนคอยสร้าง ‘ขาวกับดำ’ ในส่วนหลักการให้กระจ่างชัดแก่คนทำงานที่บางครั้งก็อาจทำผิดหรือเผลอหลงไปตามเส้นทางสีเทาโดยไม่ทันรู้ตัว

Line of duty เป็นซีรี่แนวสืบสวนที่ดีมากๆ

เข้มข้นโดยไม่ต้องแอคชั่นตูมตามแต่ความเดือดเครียดมาจากการนั่งในห้องสืบสวน ฟากหนึ่งคือตำรวจผู้ต้องสงสัยกับทนายประจำตัว อีกฟากที่นั่งตรงข้ามคือทีม AC-12 ที่มีเอกสารข้อมูลในมือในการเอาผิดผู้ต้องสงสัย

ขณะดูลุ้นจนเหงื่อตกว่าจะเอาผิดคนร้ายจากการนั่งไต่สวนได้หรือไม่ และตัวร้ายแต่ละตอนก็ฉลาดเป็นกรดพร้อมจะเล่นงานกลับให้ตายคาห้องสอบสวนเลยทีเดียว

นอกจากนี้เอกลักษณ์ของซีรี่คือลักษณะการทำงานของทีมพระเอกไม่ใช่แค่ออกไปสืบสวน แต่นางเอกจะแฝงตัวไปเป็นตำรวจในทีมของผู้ต้องสงสัย เรียกได้ว่าเป็นสายเพื่อล้วงข้อมูลจากวงใน

ตามคอนเซ็ปท์ที่พระเอกนางเอกชอบพูดว่า ‘กดดัน(push)จากภายใน กดดัน(push)จากภายนอก สุดท้ายคนร้ายก็จะต้องเผยความผิดออกมา(crack)’

ทีนี้ก็ต้องลุ้นว่าในฐานะสายภายใน นางเอกจะโดนจับได้หรือเปล่าเพราะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่ออยู่ในวงของคนชั่วที่ถลำลึกเข้าไปในข้อมูลเสี่ยงตาย

แต่เท่านั้นยังไม่พอ ซีรี่ส์ชุดนี้ยังมีความเหมาะเป็นหนังฮ่องกงสูงประเภท Infernal affair หรือ Cold War อะไรทำนองนั้นได้เลยเพราะนอกจาก ‘การแฝงตัวไปเป็นสายของทีมพระเอก’เพื่อสืบจับเป้าหมาย ในทางกลับกันพล็อตหลักของเรื่องยังเปิดเผยว่าในวงการตำรวจนั้นมี ‘ตำรวจชั่วที่เป็นสายให้กับมาเฟีย’ และอยู่มานานจนสร้างเครือข่ายคอรัปชั่นที่เป็นตำรวจด้วยกัน

ความมันส์อีกส่วนหนึ่งนอกจากจับตัวร้ายหลักในเรื่อง คือลุ้นว่าสายตำรวจดีที่ไปอยู่ในกลุ่มคนร้าย หรือ สายที่เป็นตำรวจชั่วที่อยู่ในวงการจะโดนเปิดโปงก่อนกัน

ความสนุกของซีรี่ส์คือบทที่เขียนมาแบบคนดูจะ ‘คิดไม่ถึง เดาไม่ถูก’

ในแต่ละซีซั่นจะมีรูปแบบคล้ายกันคือจะมี 1 คดีหลักกับ 1 ตัวละครหลักที่เป็นเป้าหมายของทีมตัวเอก เช่น ซีซั่นแรกคดีหลักคือข้อสงสัยต่อนายตำรวจเจ้าของรางวัล ‘เจ้าหน้าที่ดีเด่นประจำปี’ ว่ามีความประพฤติผิดแบบเลือกทำเฉพาะคดีที่สร้างชื่อให้ทีมตัวเองเท่านั้น

แต่เมื่อสืบสวนไปในทุกซีซั่นก็จะเหมือนกัน คือจะมีอีกสองคดีที่ผุดขึ้นมาเปรียบได้เป็น ‘คดีรอง’ และ ‘คดีเชื่อม’

เช่นในซีซั่นแรก คดีรองคือคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับแก๊งค์มาเฟีย แล้วระหว่างนั้นก็จะมีอีกคดีขับรถชนคนตายที่เหมือนไม่เกี่ยวกันแต่สุดท้ายคดีขับรถชนคนตายจะเป็นจุดเชื่อมโยงของคดีหลัก(ปราบคอรัปชั่น)และคดีรอง(ฆาตกรรม)เข้าด้วยกัน

เชื่อว่าคอหนังที่ชอบแนวหักมุมหรือเดาตัวคนร้าย(อย่างผม)ต้องชอบมากเพราะรับประกันได้ว่า คุณไม่มีทางเดาได้หมด มีเซอไพรส์ระหว่างทางเป็นพักๆ และซีรี่ส์นี้ก็พร้อมจะ ‘ฆ่า’ตัวละครสำคัญในจังหวะที่เราไม่ทันตั้งตัว

ทีมเขียนบทฉลาดมากในการรู้ทันคนดู เหมือนรู้ว่าคนดูจะเดาไปในทางนี้แล้วล่อให้เรามั่นใจแล้วตลบหลังว่าเราเดาผิด แล้วตอนถัดมาจะกลับมาทำให้เรางงใหม่ว่าเอ๊ะหรือตอนแรกเราเดาถูกวะ

จากทั้งหมด 4 ซีซั่น , ผมชอบ 3 ซีซั่นแรกที่สุด

นักแสดงทุกคนที่เลือกมาเป็นนักแสดงประจำ(ทีมพระเอก)อยู่ในระดับยอดเยี่ยม ส่วนตัวแล้วชอบตัวละครเฮสติ้งที่เป็นหัวหน้ามากๆ และสังเกตว่าตัวละครที่เลือกมาเล่นนายตำรวจยศสูงแต่ละคนเล่นได้ดีเหลือเกินคือเชื่อได้ว่า เก๋าจัด แทบทุกคน

รวมถึงตัวละครที่เป็นเป้าหมายหลักในแต่ละซีซั่นก็เยี่ยมยอด เราเห็นว่าแทบทุกตัวละครในเรื่องล้วนเคยทำผิด ไม่ว่าจะทำผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมาย ฯลฯ กันไปคนละอย่างสองอย่าง

เราสามารถสรุปพฤติกรรมได้ว่าเป็น ‘การกระทำดี-ชั่ว’ แต่ไม่อาจสรุปการเป็น ‘คนดี-ชั่ว’ ไม่อาจเหมารวมว่าคนเคยผิดเรื่องหนึ่งจะชั่วในอีกเรื่องด้วย

เช่น คนคบชู้อาจไม่รู้สึกผิดเรื่องคบชู้แต่อาจจะรับไม่ได้แม้แต่นิดเดียวในเรื่องโกงกิน , คนที่โกหกหลอกลวงในเรื่องส่วนตัว(ผิดศีลธรรม)อาจไม่ยินยอมโกหกเพื่อปกป้องคนทำผิดกฎหมาย (ผิดจริยธรรมวิชาชีพ) , คนที่คอรัปชั่นและฆ่าคนตายอาจยินดีสละชีวิตเพื่อปกป้องคนที่ตัวเองรัก

ซีรี่ส์สร้างตัวละครประเภทนี้ให้เราเห็นความหลากหลายในเพื่อนมนุษย์และไม่ใช้อคติเข้าตัดสินจากการทำงานของหน่วย AC-12 ที่ต้องยึดเอาเฉพาะหลักฐานข้อเท็จจริง

ตัวละครตำรวจหญิงลินด์เซย์ เดนตั้น (รับบทโดย keeley hawes คนเดียวกับรัฐมนตรีสุดแกร่งในซีรี่ส์ Bodyguard ซึ่งก็มาจากคนเขียนบท Line of duty เช่นกัน) คือตัวละครที่ผมชอบที่สุดทั้งในตัวบทและนักแสดง

เธอเล่นดีมากๆครับ และนี่เป็นตัวละครที่สร้างออกมาได้สุดติ่งกระดิ่งแมวทั้งในแง่ความฉลาด , ความร้ายกาจและความน่าเห็นใจ

การเป็นตำรวจหญิงมีฝีมือในสายงานที่ ‘ชายเป็นใหญ่’ เธอมีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพ เธอถูกเอาเปรียบทั้งในเรื่องวิชาชีพและชีวิตส่วนตัว แต่ก็ใช่ว่าเธอจะเป็นคนอ่อนโยนใสซื่อ เธอก็มีความร้ายกาจ เธอสามารถโกหกหน้าตาย เมื่อเธอร้ายเธอก็ร้ายเกินความคนปกติจะคาดคิด

เธอคือตัวละครที่ ‘ต้องเลือก’ เส้นทางที่ยากต่อการตัดสินใจหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งหากเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็คงไม่เป็นอะไร แต่สำหรับเส้นทางสู่นรกจากการทำผิดกฎหมายไปเกี่ยวพันกับความชั่วร้าย

เพียงครั้งเดียวที่เลือกผิดมันก็ยากที่จะไม่มีผลลัพธ์ที่น่าเสียใจตามมา หากไม่ใช่ตัวเองก็ต้องเป็นคนที่ถูกลากไปเกี่ยวพัน เช่น นายตำรวจที่เธอขอให้นั่งรถตามไปด้วยในเหตุการณ์สำคัญตอนต้นเรื่อง

ความสนุกคือการดูว่าเราจะเชื่อเธอในเรื่องไหนได้บ้าง แท้จริงแล้ว moral code ของเธอคืออะไร และหากยึดนิยามตำรวจดี-ตำรวจโกง เราจะสรุปว่าเธอคือตำรวจแบบไหนกันแน่

ตอนล่าสุดที่ฉายใน Netflix คือซีซั่น 4

ซีซั่น 4 ได้ทุนมากขึ้นฉายช่อง BBC ใหญ่ขึ้นเพราะซีรี่ส์มีเรตติ้งสูงมาก มีแธนดี้ นิวตั้นมาเป็น main cast เธอรับบทเป็นหัวหน้าสืบสวนคดีฆาตกรโม่งดำที่จับหญิงสาวไปข่มขืนแล้วฆ่าหั่นศพติดต่อกันสองราย

ความน่าสงสัยในคดีนี้คือหลักฐานบางอย่างขัดกับการพิสูจน์ทางนิติเวช ทำให้หน่วยงาน AC-12 ต้องเข้ามาสืบสวนว่าเป็นการจงใจใส่ความผู้ต้องสงสัยแล้วสร้างหลักฐานเท็จหรือเปล่า

ส่วนตัวแล้วซีซั่นนี้สนุกน้อยกว่า 3 ซีซั่นก่อนตรงที่ผมเคยบอกว่ามันมีฟีลหนังฮ่องกงตรงที่ผมเคยบอกว่ามันมีฟีลหนังฮ่องกง คือหนึ่งคดีหลักสืบสวนไปพร้อมๆกับสืบหาหนอนบ่อนไส้หรือสายของมาเฟียที่อยู่ในวงการตำรวจ มีการเขียนบทค่อนข้าง smooth ในการผสมผสานพล็อตหลายส่วน แล้วตัวละครที่มี conflict แบบ “ฉันจะเป็นคนดี” ทั้งที่อยากกลับใจมันดูมีความเป็นมนุษย์ที่มีมิติเหมือนหลิวเต๋อหัวใน Infernal affair , ทั้งหมดนี้ดีเลิศ

แต่ภาคนี้บทถูกเขียนมาเหมือนซีรี่ส์ฮอลลีวูดมาก ฉากเด็ดๆในซีซั่นก่อนซึ่งเป็นฉากพูดหรือไต่สวนในห้องซึ่งซีซั่นนี้สนุกลดลง

ในส่วนคดีหลักที่สืบหาฆาตกรก็ดูโฉ่งฉ่างฉับๆไม่มี pacing ที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนสามตอนก่อน ในขณะที่การสาวไส้คอรัปชั่นบทเขียนออกมาแบบจับยัดค่อนข้างมากโดยเฉพาะตอนเฉลย แล้วการผสมผสานคดีหลักกับคดีรองก็ไม่เนียนเหมือนภาคก่อน

แต่กระนั้นรวมๆแล้วก็ดีมากอยู่ดี สิบนาทีสุดท้ายของซีซั่น 4 นี่ลุ้นจนฉี่จะราดได้เหมือนเดิม

นี่ก็รอซีซั่น 5 ที่จะฉายปีนี้ คาดหวังว่าจะกลับมาพีคสุดๆเดือดจัดๆลุ้นจนฉี่ราดเหมือน 3 ซีซั่นแรก

ยังจะมีอีกหนึ่งบล็อกเขียนถึง Line of Duty + Infernal affairs ชื่อบล็อก ‘ฉันจะเป็นคนดี’ แต่มีสปอยล์ รออ่านกันได้จ้าแต่แนะนำให้ดูซีรี่ส์หรือหนังก่อนอ่าน

--

--