จะมูฟออนยังไง? เมื่องานเรียกร้องความ productive แต่จิตใจกลับหดหู่เกินไป
นับว่าเป็นสกิลเทพอีกอย่างหนึ่งที่น้องใหม่วัยทำงานจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัว
ในเวลาที่อะไรอะไรก็ควบคุมได้ยาก สิ่งที่ได้รับมักไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง จิตใจที่ต้องแบกความหนักหน่วงของชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวไปพร้อมกัน อาจทำให้เราต้องประสบกับภาวะที่พังทลายทางจิตใจ เหมือนวิญญาณแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ข้างใน และจำเป็นต้องใช้เวลาในการเยียวยา แต่ทว่าเราไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ด้วยเงื่อนไขในชีวิตการทำงานหลายอย่าง
Megan Bruneau นักบำบัดทางจิตมีคำแนะนำดีๆ ให้เราได้ลองฝึกฝน เพื่อคงความ productive ในการทำงาน แม้ต้องเจอกับสถานการณ์ที่จิตใจหดหู่หมดกำลังใจ
ก่อนอื่นอยากให้กำลังใจว่า คุณไม่ได้กำลังเผชิญกับสภาวะอารมณ์นี้อยู่คนเดียว เพราะมีคนกว่า 300 ล้านคนบนโลกที่กำลังต่อสู้กับสภาวะพังทลายทางจิตใจนี้อยู่
มันเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งเราจากความ productive ที่มีประสิทธิภาพเหลือเกิน (แม้ว่าหลายคนอาจมองว่ามันเป็นเพียงข้ออ้างของคนอ่อนแอหรือขี้เกียจ) แต่เมื่อไรที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจของเราแล้ว มันก็ได้นำพาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของเราไปแทบหมดสิ้น ไม่ต่างกับแฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ที่ต้องเจอกับผู้คุมวิญญาณซึ่งๆ หน้า และมันก็เข้ามากระทบกับชีวิตเรามากมายอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาธิกับงานใดงานหนึ่งก็เป็นเรื่องยาก ความอยากอาหาร พฤติกรรมการหลับ และการตื่นนอนปั่นป่วนไปหมด รู้สึกตัวได้เลยว่าชีวิตเรามันไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจะอยากกลับไปเหมือนเดิมมากแค่ไหน ก็หาทางกลับไปยากเย็นเหลือเกิน และอีกครั้งที่อยากจะให้กำลังใจว่า..คุณไม่ได้เผชิญกับมันคนเดียวบนโลก คุณมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเยอะมาก และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก แต่อย่างน้อยเราก็อยากให้คุณรู้ว่า เราจะผ่านเรื่องราวต่างๆ นี้ไปด้วยกัน...
1.แงะตัวเองออกจาก comfort zone (เช่น บ้าน) บ้าง
เมื่อไรที่เราเผชิญกับภาวะทางใจลักษณะนี้ การ work from home จะกลายเป็นเรื่องที่จัดการยากมาก เพราะงานจะไม่เสร็จ จากการที่เราไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้นาน
มีเรื่องที่ทำให้เราหลุดบ่อยจนท้อแท้ใจ และแม้ว่าความเศร้าโศก หดหู่ใจ มักจะเข้ามาทำให้เราขาดความมั่นใจในการออกนอกบ้าน ไปพบปะกับคนภายนอก แต่อยากให้เราลองวางความไม่มั่นคงทางใจพวกนั้นทิ้งไว้ที่บ้านก่อน แล้วออกมาร้านกาแฟ ห้องสมุด สวนสาธารณะ หรือ co-working space อย่างน้อยก็หลอกตัวเองว่า..เพื่องาน
2. จูน mindset เรื่องความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง
รู้หรือไม่…ว่าคนที่พบกับภาวะเศร้าโศก หดหู่ในจิตใจมักเป็นคนประเภท perfectionist เพราะ หนึ่ง…ตั้งเป้าหมายไว้สูงลิบลิ่ว และ สอง…กดดันตัวเองอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ทำให้ชาว perfectionist มีสภาพอารมณ์ที่คล้ายๆ กันคือ หงุดหงิดง่าย เมื่อมีอะไรไม่เป็นไปอย่างใจ และวิตกจริต ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปอย่างที่คิดหรือไม่
ฉะนั้น เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจของตัวเอง จึงจะต้องเปลี่ยนแปลง mindset ในความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง เพียงแค่ไม่ตั้งความคาดหวังกับทุกอย่างในชีวิต รวมถึงการลดความคาดหวัง จากเดิมที่มีความต้องการของตัวเองยาวเป็นหางเว่า ก็ขอประนีประนอมตัวเองให้ตัดทอนมันลงไปบ้าง เป็นสกิลสำคัญที่จะพาเราออกจากความไม่ productive ต่างๆได้
Megan แนะนำว่า ถ้าเรา function แค่ 30% ของสภาพปกติที่เราเคยเป็น ก็ให้เราลดสิ่งที่คาดหวังลงเหลือแค่ 30% จากเดิม
สมมติ เราสามารถทำงาน A นี้เสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมง ในสภาพปกติ แต่เมื่อเราอยู่ในสภาพที่จิตใจไม่มั่นคง ให้เราคิดไว้เลยว่า เราใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงแน่ๆ ก็บวกเวลาเพิ่มไปอีก 30% เราเพิ่มเวลาการทำงานให้เป็นไปตามสภาพจริงมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความคาดหวัง(สูง)ที่อาจบั่นทอนจิตใจของเราเข้าไปอีก
3. กำหนด timeline ในการกดดันตัวเอง
จากเดิมที่การกดดันตัวเองเป็น default ในการดำเนินชีวิต เปลี่ยนเป็นการกำหนดเวลาที่แน่นอนในการกดดันตัวเองเพื่อให้โฟกัสกับงาน แต่เมื่อหมดเวลานั้น แล้วงานยังไม่เสร็จ ให้เริ่มขอความช่วยเหลือได้แล้ว จะเพื่อนร่วมงาน น้องๆ intern หรือถ้าต้องจ้างคนมาช่วยทำ ก็ทำเถอะ เพราะการกดดันตัวเองในขณะที่สุขภาพจิตแย่แบบนี้ไม่ productive แน่ๆ
4. ให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกายและจิตใจ
จัดสรรเวลาให้ได้ทำกิจกรรมที่ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของตัวเองจนเป็นกิจวัตร จำเป็นอย่างยิ่งเมี่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เรากำลังเปราะบาง ควรทำกิจกรรมที่ทำให้เราได้เอาตัวเองออกมาจากความรู้สึกแย่ๆ หรือภาวะวิตกกังวลในชีวิต เช่น การปีนเขา ทำงานประดิษฐ์ประดอย หรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูงมากๆ และเมื่อไรที่ตัวเราต้องจัดการกับภาวะทางอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ กิจกรรมเช่น การวาดภาพ อ่านหรือเขียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมทางกายอย่างการออกกำลังกาย และเล่นกีฬา ก็ช่วยให้เราได้พัฒนาอารมณ์ให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นได้
นอกจากกิจกรรมทางกาย และการสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว เวลาที่เรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต มักจะมีแนวโน้มที่จะปลีกตัวออกจากสังคม (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ) แต่แนะนำให้ลองฝืนตัวเองเพื่อให้ได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก หรือคนที่รักเราบ้าง เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพใจเราได้ดี
ขอให้คิดว่า..ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ หรือออกไปพบปะคนที่เรารัก ไม่เพียงแต่เป็นการเยียวยารักษาร่างกายและจิตใจ แต่ยังได้พัฒนา productivity ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
5. หาช่องทางการติดต่อกับนักจิตบำบัดเอาไว้บ้าง
เพราะนักจิตบำบัดไม่ได้มีประโยชน์แค่กับทั้งผู้ป่วยทางจิตใจ แต่ยังสามารถช่วยเหลือคนธรรมดาๆ อย่างเราที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านจิตใจได้ด้วย
6. จดจำคำพูดดีๆ มาปลอบโยนตัวเอง
เพราะ perfectionist มักจะไม่ค่อย productive เรื่องการปลอบโยนตัวเองนัก แต่จะเก่งในการตำหนิตัวเองมากกว่า จากงานวิจัยพบว่าการตำหนิตัวเองทำให้ยิ่งขาดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ฉะนั้น เราควรต้องพยายามเข้าใจตัวเองใหม่ แม้ว่าจะอยากประสบความสำเร็จในชีวิตมากเพียงใด แต่เราก็เป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ทำผิดพลาดได้ และมีข้อบกพร่องที่ไม่อาจเติมให้เต็มตลอดเวลา เพียงเราปฏิบัติกับตัวเองในแบบที่เราอยากปฏิบัติกับเพื่อนรักที่สุดของเรา ไม่กะเกณฑ์ให้เขาเป็นดั่งใจทุกอย่าง เปิดโอกาสให้เขาได้ล้มลุก เรียนรู้จากความผิดพลาด และสนับสนุนให้เขาเติบโตขึ้นอย่างเปี่ยมสุข
7. มองหาของขวัญที่ซ่อนมากับทุกช่วงเวลาของชีวิต
เคยมั้ยที่เราแอบอิจฉา ‘ชีวิตดีๆ’ ของคนอื่น อิจฉาสติปัญญา ชื่อเสียง เงินทอง หรือครอบครัวของเพื่อน จนมองไม่เห็นของขวัญที่ชีวิตได้มอบให้กับเราผ่านช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต เราอาจมองข้ามไปว่า…บาดแผลทางจิตใจของเราหลายๆ ครั้ง ทำให้เราสร้างสรรค์ทางออกของชีวิตในแบบที่ ‘creative’ มากๆ ผลักดันให้เราได้ทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำจนสำเร็จ มันทำให้เรากระหายความสำเร็จ จนไม่อาจงอมืองอเท้ารอโชคชะตาอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก หรือแม้แต่อารมณ์ขันอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อเยียวยาความระทมทุกข์ของตัวเอง และยังเผื่อแผ่ชีวิตชีวาให้กับคนรอบข้าง เมื่อลองพิจารณาดูแล้วเรื่องราวแย่ๆ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ต่างได้มอบของขวัญล้ำค่ามากมายโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยจริงๆ ดังคำกล่าวของ Brené Brown ที่ว่า
“Art has the power to render sorrow beautiful.”
ศิลปะ มันมีพลังบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงความทุกข์ระทม ให้กลับกลายเป็นความงดงามได้
ขอบพระคุณ บทความต้นฉบับ จาก Megan Bruneau เรื่อง A therapist’s guide to staying productive when you’re depressed or heartbroken ที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนชีวิตตัวเองอีกครั้งในปีนี้ …
หวังว่าเราจะได้ทบทวนชีวิตกัันบ่อยขึ้น เพื่อจะได้เก็บเอาของขวัญที่ตกหล่นระหว่างทางได้ทัน ก่อนความหลงลืมจะพามันเลือนหายไปจากเรา
และอย่าลืมมอบความรัก… ที่เราอยากมอบให้กับเพื่อนที่เรารักมากที่สุด ในทุกๆ วันนะ