เคล็ดลับของเซียนแห่งความไม่เครียด
อยากชวนให้ทุกคนมาเริ่มต้นที่การเข้าใจว่า ความเครียดจริงๆ แล้วมันเกิดจากการตอบสนองของเราต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต แม้ว่าเรามักจะโทษความเครียด ว่ามาจากคนรอบตัว ลูกค้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือเดทไลน์การส่งงาน นั่นหมายความว่า จริงๆ แล้วเราสามารถเป็นคนที่แบกแรงกดดันในชีวิตหนักๆ ได้ดี ในขณะที่เราแทบไม่มีความเครียดเลย
แต่ในหัวของเราสงสัยมาตลอดว่า.. เราจะสามารถจริงจังกับงาน แคร์เพื่อนร่วมงาน และครอบครัว โดยไม่รู้สึกหวั่นวิตกกันมันได้จริงๆ น่ะหรอ…
มาเข้าใจเรื่องแรกกันก่อนว่า ‘ความกดดัน’ กับ ‘ความเครียด’ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
แต่ความกดดันสามารถนำพาเราไปสู่ความเครียดได้ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การย้อนคิดเรื่องอดีตและอนาคต(Rumination) บวกกับการมีอารมณ์เชิงลบเกิิดขึ้นขณะคิดนั้นด้วย เอ้า..แล้วมันไม่ดีตรงไหน การที่เราได้ทบทวนอดีต เพื่อวางแผน และคาดการณ์อนาคต เป็นสิ่งที่เราควรทำไม่ใช่หรือ
ก็เพราะมันมีเส้นบางมากๆ ระหว่างการย้อนคิด(Rumination) และการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) ฉะนั้น การลากตัวเองกลับไปทบทวนอดีต เพ้อฝันหรือสร้างแผนการณ์ในอนาคต อาจเป็นตัวการของความเครียดที่เกิดขึ้นที่สร้างหายนะทางสุขภาพจิต ลุกลามไปยังการใช้ชีวิตของเรา
เรามีคำแนะนำ 4 ขั้นตอนในการทำลายนิสัยที่นำไปสู่ความเครียด จาก Dr. Derek Roger นักวิจัยที่ทำการศึกษาผู้ที่ผ่านความกดดันในชีวิต ว่าทำไมบางคนในพวกเขาถึงพ่ายแพ้ และทำไมบางคนยังคงมีความมุ่งมานะในชีวิตได้โดยไม่ย่อท้อ
1.จงตื่นรู้ เพื่ออยู่กับปัจจุบัน
เห็นด้วยมั้ยว่า..พวกเราใช้ชีวิตแบบหุ่นยนต์อัตโนมัติขึ้นเรื่อยๆ ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสติรู้ตัวมากเท่าไร ซึ่งมันเป็นต้นเหตุของนิสัยย้อนคิดอดีต และเพ้อฝันอนาคตที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เราสามารถตื่นเพื่ออยู่กับปัจจุบันได้ง่ายๆ เพียงแค่เราตั้งใจจะ ปรบมือ ลุกขึ้นยืน นั่งลง หรือตื่นจากภายในโดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสของร่างกาย คือ การได้ยิน การเห็น การได้กลิ่น รับรู้รสชาติ และการสัมผัส
2. กำหนดว่าตั้งใจจะโฟกัสกับอะไร
เพราะเมื่อไรที่เราเริ่มย้อนคิดอดีต และเพ้อฝันถึงอนาคต เราจะเข้าไปสู่วังวนความคิดที่ไม่ก่อให้เกิดการเร่ิมต้นทำอะไรเลย กิจกรรมที่แนะนำให้ทำคือ วาดวางกลมซ้อน 2 วง โดยที่วงด้านในให้เขียนสิ่งที่เราสามารถควบคุมหรือจัดการมันได้ ส่วนวงที่สองให้เขียนสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา
3. ฝึกฝนการสร้างทัศนคติที่ดีในสิ่งที่เจอ
นิสัยการย้อนคิดที่เรามักทำบ่อยๆ อย่างลืมตัว อาจสร้างหายนะทางใจ และการใช้ชีวิตได้มากกว่าที่คิด ฉะนั้นเรามาลองเทคนิคการสร้างสร้างทัศนคติที่ดีในสิ่งที่ทำกันเถอะ
ขั้นแรก ลองเปรียบเทียบความเครียดในอดีตกับปัจจุบัน
ขั้นที่สอง คุยกับตัวเองแล้วถามตัวเอง ว่า “ถ้าสามปีีผ่านไปมันจะยังคงเป็นปัญหาในชีวิตเรามั้ย” หรือการถามตัวเองว่า “ถ้าสมมติมันจะแย่สุดๆ มันจะออกมาเป็นยังไง” แล้ว “เราจะเอาตัวรอดจากมันมาได้ยังไง”
ขั้นที่สาม เปลี่ยนไปมองมุมอื่นบ้าง (Reframing) เช่น ลองหาสื่งที่เราได้เรียนรู้จากมัน หรือหาประเด็นอะไรน่าขำในนั้น
4. ฝึกทักษะการ ‘ช่างมัน’
ขั้นตอนสุดท้าย เป็นขั้นที่ยากที่สุด คือ การช่างมัน หรือจะเรียกว่าเป็นการปลง หรือปล่อยวางก็ได้ เรามีวิธีที่ช่วยให้การช่างมันทำได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ขั้นแรก : ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมัน
ขั้นสอง : เรียนรู้จากมัน และให้มันเป็นบทเรียนในชีวิต
เพราะกระบวนการย้อนคิดจะสิ้นสุดลง เมื่อเราตกผลึกได้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน
ขั้นสาม : ลงมือเพื่อจัดการกับมัน
เพราะบางทีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การทำให้ตัวเองรู้สึก relax กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นการลงมือที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขมัน ลองถามตัวเองดูสิ ว่าปัญหาที่เราเจอ เราควรจะต้องทำยังไงกับมันดี
ในโลกนี้คงมีเคล็ดลับความไม่เครียดมากมายที่เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง เราเชื่อว่าเมื่อได้ลองทำ สุขภาพจิตของเราจะดีขึ้ิน และความกังวลจะได้รับการเยียวยา เพราะเราอยากให้การใชีชีวิตของเรายังคงเดินหน้าไปอย่างมีความหวังต่อไปได้ใช่มั้ยล่ะคะ
ขอบคุณบทความต้นฉบับจาก Harvard Business Review เรื่อง Pressure Doesn’t Have to Turn into Stress เขียนโดย Nicholas Petrie, ตีพิมพ์วันที่ 16 มีนาคม 2017