3 ตัวตนที่ซ่อนในจิตใจที่จะพาเราผ่านวิกฤติทุกอย่างไปได้
ชีวิตเราล้วนผ่านวิกฤติมาแล้วมากมายกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่าได้มีตัวเราหลายเวอร์ชันที่สลับสับเปลี่ยนกันมาจัดการกับวิกฤติต่างๆ ของชีวิต และตอนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่สั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตของเรามากที่สุด การรับมือกับโรคระบาดในแง่ของการระมัดระวังป้องกันและรักษาเยียวยาที่ไม่แน่นอน ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ตรงกันและไม่อาจจำแนกถูกผิดได้อย่างชัดเจน ทำให้เราต่างก็อยู่ในความวิตก หวาดกลัว และตื่นตระหนกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
จึงกล่าวได้ว่า เราต้องรับมือกับโรคระบาดสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือ โรคระบาดจริงๆ กับโรคระบาดของอารมณ์
เมื่อปัจจัยภายนอกไม่อาจทำให้จิตใจของเรามั่นคงขึ้นได้ ก็คงหนีไม่พ้นการเยียวยาทางใจ ที่มักจะเป็นที่พึ่งพิงที่ดีที่สุดเมื่อหมดหนทางจะสู้เสมอ
จากแนวคิดของนักจิตวิทยา Peter Levine ที่กล่าวถึงตัวตนของมนุษย์ที่แบ่งออกเป็น 3 ตัวตน จากผลกระทบทางร่างกายและระบบประสาทที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์อันเลวร้าย ได้แก่ ตัวตนที่อ่อนแอเปราะบาง ตัวตนที่ต่อสู้ดิ้นรน และตัวตนที่มีวุฒิภาวะ
ตัวตนที่ 1 ตัวตนที่เปราะบาง (overwhelmed-self)
ตัวตนที่คล้ายเด็กน้อย อ่อนแอ เปราะบาง และปราศจากการป้องกันตัว
ตัวตนที่ 2 ตัวตนที่ต่อสู้ดิ้นรน (survival-self)
ตัวตนนี้ของเราจะโผล่มาเมื่อเรากำลังเผชิญกับความหวาดกลัว หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นภัยอันตราย ซึ่งจะทำให้ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาดังต่อไปนี้
- มองสถานการณ์ได้จำกัด หรือแคบลงจากความเป็นจริง
- หุนหันพลันแล่น
- ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ อย่างว่องไว
- ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้
- การหาหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อ ความกลัว และความต้องการทางจิตใจของตัวเอง (confirmation bias)
เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์นั้นผ่านไปแล้ว หรือยังไงก็ไม่ผ่านไปง่ายๆ อยากให้เริ่มรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในตัวตนใด จากนั้นให้ค่อยๆ หาทางออกมาจากมัน เพราะหากตัวตนนี้เข้ามามีชีวิตอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อร่างกาย และระบบประสาทของเราในระยะยาวอย่างที่ตอนนี้คนเกือบทั้งโลกกำลังท้าทายกับมันอยู่
วิธีการก็คือเราจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาวะทางอารมณ์เพื่อเปิดทางให้ตัวตนที่ 3 เข้ามาจัดการ แต่เดิมที่เราปฏิบัติโดยอัตโนมัติ คือ การวิ่งหนีออกจากสถานการณ์ หรือสภาวะอารมณ์นั้นทันทีเหมือนสับสวิตช์ ครั้งนี้เราจะกัดฟันเข้าไปจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อขยายพื้นที่รองรับความเครียดของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคนิคได้แก่
- มีชื่อเรียกสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
- สร้างระยะห่างของตัวเรากับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น ไม่เหมารวมเอาอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาบงการความเป็นตัวเอง
- สงบจิต สงบใจ ด้วยการกำหนดลมหายใจ หรือทำสมาธิ ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลในกระแสเลือดลดลง หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายให้มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ด้วยการกระโดด การวิ่งเร็ว หรือการวิ่งขึ้น-ลงบันได
เมื่อเราสามารถสงบจิตใจของตัวเองได้ และสามารถสะท้อนสิ่งที่กำลังรู้สึกได้อย่างชัดเจน คุณก็จะก้าวเข้าสู่ตัวตนที่ 3 ได้อย่างง่ายดาย
ตัวตนที่ 3 ตัวตนที่มีวุฒิภาวะ (adult-self)
เป็นตัวตนที่ทำหน้าที่คล้ายแม่ที่ดูแลลูกน้อย เมื่อตัวตนนี้กำลังทำงาน เราจะสามารถถอยกลับมามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นมันด้วยทัศนคติที่กว้างขวางได้มากกว่าที่เคยเป็น ทำให้เราแยกแยะความจริง กับสิ่งที่จิตใจเรารับรู้ในเวลานั้นได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จิตใจเรารับรู้มักจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริง อันเนื่องมาจากการเกิดความโน้มเอียงทางจิตใจที่ต้องการหลักฐานมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเชื่อ (confirmation bias)
ตัวตนนี้จะเข้ามาเยียวยาทั้้งตัวตนที่ 1 ที่อ่อนแอและเปราะบาง และตัวตนที่ 2 ที่ตึงเครียดเสียเหลือเกิน เพื่อทำให้จิตใจของเรามั่นคง และเข้มแข็งพร้อมจะรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิต
สิ่งที่ช่วยรักษาตัวตนที่เข้มแข็งนี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ
คือการบอกกับมันว่า
- ความรู้สึกที่เราพบเจอในช่วงเวลาที่ยากเย็นเข็ญใจเหล่านั้น มันเกิดขึ้นจริง และเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่มีความรู้สึกแบบนั้น
- ต่อให้มันจะเป็นความรู้สึกดี หรือไม่ดี ที่เกิดขึ้นในใจเรา มันก็จะอยู่กับเราไม่นาน
- ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะความเข้มแข็งของตัวเราจะเยียวยาทุกอย่างได้
- อะไรที่นอกเหนือความสามารถที่เราจะจัดการแล้ว ก็ปล่อยวางเถอะ
การที่จะสามารถเยียวยาจิตใจของตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิมได้ เราจึงควรเข้าใจว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับตัวตนแบบใดอยู่ เมื่อเราสามารถแยกแยะความจริง ความรู้สึก พฤติกรรม และสถานการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจของเราได้ ไม่ว่าจะเจอความท้าทาย หรือโรคระบาดใหญ่หลวงแค่ไหน…เราก็จะผ่านมันมาได้ด้วยความเข้มแข็งของเราเอง ^^ v
ขอบคุณบทความต้นฉบับจาก Harvard Business Review เรื่อง Coping with Fatigue, Fear, and Panic During a Crisis ผู้เขียน Tony Schwartz และ Emily Pines วันที่เผยแพร่ March 23, 2020