Film 101 : จะไปเที่ยว จะเลือกฟิล์มไปถ่ายยังไงดีน้า ฟิล์มแต่ละตัวแตกต่างกันยังไง?

KrishDP
135.film
Published in
6 min readNov 23, 2018

มาดูกันว่าเราจะเลือกฟิล์มไปถ่ายรูปยังไงดี และฟิล์มที่นิยมกันมีอะไรบ้าง?

สวัสดีครับเพื่อนๆ

วันนี้พวกเราชาว 135.film จะมาแชร์เรื่องเกี่ยวกับฟิล์มแต่ละประเภท ที่มีอยู่บนกล้องฟิล์ม แล้วเราควรจะเลือกใช้ฟิล์มตัวไหน ISOคืออะไร มีผลยังไงหว่าา มาเริ่มกันเลย!

เอาล่ะ! ก่อนที่เราจะมาดูว่าควรเลือกฟิล์มยังไง มาดูชนิดของฟิล์มแต่ละแบบก่อนนะครับ ว่ามีอะไรบ้าง

มาว่ากันเรื่องของขนาดฟิล์ม หากแบ่งตามขนาดของฟิล์ม จริงๆจะมีหลายขนาดมากกก ตัวที่ใช้กันทั่วไป ณ ปัจจุบันหลักๆจะมี 3 ขนาด

1.Small format

Film ขนาด Small Format (135)

หรือที่เรียกกันว่าฟิล์ม 135 คือฟิล์มขนาด 35mm ที่ส่วนใหญ่ใช้กันครับ เวลาถ่ายออกมาได้รูปขนาด 36x24 mm ในรูปแบบ Full Frame ส่วนรูปแบบ Half Frame จะอยู่ที่ 18x24 mm. โดยความยาวมาตรฐาน Full Frame คือ 36 รูป แต่หากเป็น Half Frame จะได้เป็น 2 เท่า คือ 72 รูปเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังฟิล์มมีตัวที่ถ่ายได้ 20รูป และ 24รูปอีกด้วย รวมไปถึงจะมีกล้องบางตัวที่ยังอินดี้อยู่เช่น Hasselblad Xpan ที่สามารถถ่ายได้กว้างกว่ากล้องฟิล์มทั่วไปอยู่ด้วยครับ (รูปตัวอย่างอยู่ด้านล่างเด้อออ)

กล้องฟิล์มที่ใช้ฟิล์ม 135 ครับ (เจ้าตัวนี้เป็นของพวกแอดเอง FM2n กับ FE จ้า)
Hasselblad Xpan Cr.www.fototheque.com
ความแตกต่างของฟิล์ม 135 ที่ถ่ายโดยกล้องทั่วไปกับที่ถ่ายด้วย Hasselblad Xpan ครับ จะเห็นได้ว่าขนาดต่างกันครึ่งๆเลยทีเดียวเชียว Cr.www.watchprosite.com

2.Medium format

Film ขนาด Medium Format(120) Cr.thedarkroom.com

หรือฟิล์ม 120 เป็นฟิล์มลักษณะ Roll Film ที่จะม้วนอยู่กับ Spool โดยสามารถถ่ายรูปได้หลายขนาดตามกล้องฟิล์ม ตั้งแต่ 6x4.5 cm ไปจน 6x24 cm แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 6x6 ซึ่งเท่ากับ 56x56 mm. ถ้าให้เห็นภาพก็คือเวลาถ่ายออกมาแล้วจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบใน Instagram นั่นแหละครับ โดยมีความยาวประมาณ 12 รูป ซึ่งฟิล์มประเภทนี้เนื่องจากพื้นที่ฟิล์มใหญ่กว่า Small format ภาพที่ถ่ายออกมาก็จะมีความคมชัดมากกว่า 35 mm อยู่พอสมควรเลยครับ

ตัวอย่างกล้องฟิล์มที่ใช้ฟิล์ม 120 ครับ PENTAX 6X7 Cr.www.siamklongfilm.com

3.Large format

Film ขนาด Large Format

เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มขนาดใหญ่มากกก อย่างเช่น 4x5 นิ้ว (จะใหญ่ไปไหน)หรือ ใหญ่กว่านั้น ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นทั่วไปเพราะว่าขนาดของมันนี่แหละ คงไม่มีใครพกออกไปไหนมาไหนหรอก ใหญ่เกิ๊นนน ใช้งานค่อนข้างลำบากกว่าประเภทอื่นเพราะตัวกล้องมีขนาดใหญ่เทอะทะ ถ้าจะพบเจอก็จะเป็นตามในสตูดิโอต่างๆครับ

ตัวอย่างกล้องฟิล์มที่ใช้ฟิล์ม Large Format ครับ Intrepid 8×10 Camera — Prototype Cr.http://www.bjp-online.com

หากแบ่งตามประเภทสีของฟิล์ม จะแบ่งได้ 2 ประเภทสี

  1. ฟิล์มขาว-ดำ (Black and White Film) เป็นฟิล์มที่ฉาบด้วยเยื่อไวแสงที่ทำให้ภาพเป็นสีขาวดำ
  2. ฟิล์มสี (Color Film) เป็นฟิล์มที่ฉาบด้วยเยื่อไวแสงที่ทำให้ภาพเป็นสีธรรมชาติเหมือนวัตถุจริงที่ถ่ายซึ่งสีหลัก ที่เกิดขึ้นมีสีน้ำเงิน สีเขียวและสีแดง(หรือ RGB นั่นเอง)ส่วนสีรองคือ สีฟ้า สีม่วงและสีเหลือง (จริงๆมีสีดำด้วยเจ้าตัวนี้คือ CMYK ที่บางคนอาจจะเคยได้ยินนั่นแหละครับ เป็นรูปแบบสีของการพิมพ์สี แต่ละตัวแทนความหมายของสี C>Cyan=ฟ้า, M>Magenta=ม่วง, Y>Yellow=เหลือง และ K>Black=ดำ)

แบ่งตามประเภทกรรมวิธีของฟิล์ม จะมี 2 ประเภท

  1. ฟิล์มเนกาตีฟ (Negative Film) เป็นฟิล์มที่หลังจากผ่านกระบวนการล้างฟิล์มแล้ว จะได้คู่สีที่ตรงกันข้ามกับภาพที่ถ่ายมา จึงเป็นที่มาของคำว่า Negative (แต่ไม่ต้องห่วงนะ ตอนแสกนภาพออกมาทางร้านเค้าจะกลับสีคืนให้อยู่แว้ว) ฟิล์มชนิดนี้มีราคาตั้งแต่ราคาต่ำ ไปจนสูง สามารถหาได้ง่าย เนื่องจากปัจจุบันยังผลิตกันเยอะอยู่ แต่ก็มีบางตัวที่เลิกผลิตไปแล้วเช่นกัน
  2. ฟิล์มโพสิตีฟ (Positive Film หรือ Reversal Film) หรือเรียกว่าฟิล์มสไลด์(slide) ตัวนี้จะตรงกันข้ามกับฟิล์ม Negative ก็คือฟิล์มที่ล้างออกมา จะได้สีตรงตามภาพจริงที่ถ่ายมาเลย เป็นฟิล์มที่สมัยก่อนใช้ฉายแสงผ่านฟิล์ม เพื่อแสดงเป็นสไลด์ภาพ ตามชื่อที่เรียกว่าฟิล์มสไลด์ ปัจจุบันเหลือผลิตอยู่น้อยตัวแล้ว และมีราคาค่อนข้างสูง จะใช้น้ำยาล้างคนละตัวกับฟิล์ม Negative (แต่จริงๆแล้วใช้ตัวเดียวกันได้นะ แต่สีก็จะเปลี่ยนไป โดยกรรมวิธีนี้เรียกว่าการล้าง Cross จะให้โทนสีภาพออกมาอีกแบบหนึ่ง) ซึ่งด้วยเหตุที่มันใช้น้ำยาคนละตัวนั่นแหละ จึงไม่ค่อยมีร้านที่จะรับล้างเจ้าฟิล์มตัวนี้เยอะนัก
ซ้าย ฟิล์มสไลด์ ขวา ฟิล์มเนกาทีฟ Cr.thedarkroom.com

นอกจากนี้จะมีฟิล์มอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่าฟิล์มหนัง(ภาพยนตร์)ด้วยครับ

ฟิล์มหนัง คืออะไร?

ฟิล์มหนังก็คือ ฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายหนัง หรือถ่ายภาพยนตร์นั่นแหละ โดยฟิล์มประเภทนี้ จะมีการเคลือบสารคาร์บอนไว้กับตัวเนื้อฟิล์ม เพื่อให้ฟิล์มไหลลื่นขณะถ่ายหนังนั่นแหละ ซึ่งถ้าเราใช้เจ้าฟิล์มนี้มาถ่ายรูปควรจะตั้งค่า ISO ให้ต่ำกว่าตัว ISO ที่ฟิล์มบอกซักหน่อยนะ เช่นถ้า 500T ก็อาจจะตั้ง 400 หรือ 250D ก็อาจจะตั้ง 200 เป็นต้น

การล้างฟิล์มหนังจะต้องเป็นร้านที่รับล้างฟิล์มหนังด้วยนะครับ เพราะทางร้านจะต้องทำการล้างสารคาร์บอนที่เคลือบตัวฟิล์มออกก่อน ถึงจะทำการล้างแบบปกติได้ครับ

ฟิล์มหนังจะมีตัวที่ใช้งานกับแสง 2 ประเภท

ซึ่งแต่ละตัวจะให้การชดเชย White Balance ที่ต่างกัน

  1. Daylight Type ฟิล์มที่ใช้กับแสงแดดหรือแสงธรรมชาติ คือการชดเชยสี Daylight นั่นเอง ทำให้มีอุณหภูมิสีของแสง ภาพจะออกโทนเหลืองหน่อยๆ
  2. Tungsten Type ฟิล์มที่ใช้กับแสงประดิษฐ์ หรือก็คือการชดเชยแสง Tungsten หรือใช้กับแสงที่ไม่ใช่มาจากแสงอาทิตย์นั่นแหละ พวกหลอดไฟอะไรพวกนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ
    - Type A เป็นฟิล์มที่ใช้กับไฟถ่ายรูปที่มีอุณหภูมิสีของแสง 3400 องศาเคลวิน
    - Type B เป็นฟิล์มที่ใช้กับไฟถ่ายรูปที่มีอุณหภูมิสีของแสง 3200 องศาเคลวิน

ถ้าหากสนใจอ่านเรื่องการใช้สีที่เหมาะกับแสงเพิ่มเติมเข้าไปอ่านที่นี่โลด!

click me :D

ดูยังไงว่าเป็น ฟิล์มหนังประเภทไหน?

วิธีดูว่าฟิล์มหนังนั้นเป็นประเภทไหนก็คือให้ดูตรงส่วนท้ายของเลข ISO เช่น

250D = Daylight

500T = Tungsten

Kodak Vision 3 250D ตัวอย่างสี Daylight Cr.https://www.lomography.co.th
Kodak Vision 3 500Tตัวอย่างสี Tungsten Cr.https://www.lomography.co.th
จริงๆ แล้วเจ้าฟิล์มหนังจะอยู่ในม้วนแบบนี้ครับ แต่ผู้จัดจำหน่ายนำมาตัดเป็นชุดๆ แล้วโหลดใส่กลักฟิล์มใหม่ Cr.www.picclickimg.com
Eastman Kodak 250 5222 Cr.กล้องคุณปู่ แก่เก่าเก็บ
Fujifilm Eterna Vivid 250D Cr.กล้องคุณปู่ แก่เก่าเก็บ
Agfa ST8D Black & White Cr.กล้องคุณปู่ แก่เก่าเก็บ

ฟิล์มบูด คืออะไร?

ฟิล์มบูดก็คือฟิล์มที่หมดอายุ (สาเหตุที่เรียกว่าฟิล์มบูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อตอนล้างฟิล์มจะมีกลิ่นเหม็นของตัวเนื้อเคมีออกมาด้วย) โดยฟิล์มพวกนี้คือฟิล์มที่ผลิตออกมานานมากๆแล้ว อาจจะเป็นฟิล์มตัวเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่และเอามาขายกัน ฟิล์มพวกนี้บางทีจะให้สีไม่ตรงกับเอกลักษณ์ของตัวฟิล์ม เนื่องจาก น้ำยาเคลือบฟิล์มเสื่อมสภาพ รวมไปถึงทำให้ความไวแสงลดลง ถ้าต้องการถ่ายฟิล์มหมดอายุ ให้ตั้ง ISO ต่ำกว่าฉลากที่กลักฟิล์มซัก 1–2 stop เช่น ถ้าที่กลักฟิล์มบอก ISO 400 เราอาจจะตั้งสัก 100 หรือ 200 เป็นต้น

สิ่งที่ต้องควรระวังคือ ควรจะบอกกับทางร้านล้างฟิล์มด้วยว่าเป็นฟิล์มบูด หรือทางที่ดีคือโทรไปเช็คกับร้านล้างก่อนเลยว่ารับล้างมั้ย เนื่องจากฟิล์มที่บูดมากๆ อาจจะส่งผลที่ให้อุปกรณ์ของร้านล้างมีปัญหาได้ครับ

ภาพตัวอย่างฟิล์มบูด

ฟิล์มแต่ละรุ่น จะมี ISO แตกต่างกัน

หากถามว่า ISO คืออะไร แล้วเลือกใช้ยังไง?

ISO นั้นย่อมาจาก International Organisation for Standardisation (โคตรยาววว) ซึ่งมันก็คือค่าความไวแสงของฟิล์ม จริงๆเจ้าตัวเนี้ยเมื่อก่อนจะเรียกแตกต่างกัน หากเพื่อนๆบางคนมีกล้องแล้ว อาจจะเคยเห็นทั้ง ASA, DIN ซึ่งจริงๆมีเยอะมากกก แล้วแต่ประเทศเรียกกัน แต่จริงๆแล้วมันคือตัวเดียวกัน(แต่เลขไม่เหมือนกันเด้อ) และเนื่องจากมันมีหลากหลาย เค้าจึงจับรวมมาตั้งเป็นมาตรฐานตัวเดียว (เพื่อให้เข้าใจตรงกันนั่นแหละ) จึงเปลี่ยนมาใช้เป็น ISO นั่นเอง

ISO ที่เราเห็น ส่วนใหญ่ก็จะมีเลขประมาณนี้นะครับ

25>50>100>200>400>800>1600>3200

สังเกตเลขกันมั้ยครับ แต่ตัวจะห่างกัน 1 เท่า ของตัวก่อนหน้า และแต่ละขั้นนี้แหละ ห่างกัน 1 ขั้น เรียกว่า 1 Full stop แต่ส่วนใหญ่ก็จะเรียกกัน stop เฉยๆ เช่นนนน 25 กับ 50 ก็คือห่างกัน 1 stop หรือ 100 กับ 800 นั้นห่างกัน 3 stop นั่นเอง ซึ่งบางทีก็จะมีซอยย่อยด้วยนะ เป็น ISO 64 งี้ก็มี แต่จะไม่ค่อยเจอกันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่พวกที่ ISO แปลก จะเป็นฟิล์มหนังครับ

โดย ISO ส่วนใหญ่นั้นจะพิมพ์อยู่ที่ข้างกล่องฟิล์มเลยครับ

Kodak ColorPlus ISO 200 ถ่ายได้ 24 รูป Cr.www.Jessops.com
Kodak Ektar ISO 100 ถ่ายได้ 36 รูป Cr.www.amazon.com

หรือหากไม่มีกล่องฟิล์มก็จะดูได้ที่ตัวกลักฟิล์มครับ

Kodak Portra ISO 400 ถ่ายได้ 36 รูป

ISO นั้น สำคัญไฉน?

ISO นั้น อย่างที่ผมเคยบอกมันคือค่าความไวแสงใช่มั้ยครับ โดยถ้าหากเลขยิ่งน้อย คือ ความไวแสงต่ำ เลขยิ่งมากความไวแสงจะยิ่งสูง

ISO ยิ่งต่ำ ตัว Grain(เม็ดสีบนฟิล์ม) ของฟิล์มก็จะยิ่งละเอียด บางรูปดูไม่ออกเลยนะว่าเป็นฟิล์มถ่าย ภาพเนียนกริบ

ตรงข้ามก็คือ ISO ยิ่งสูง Grain(เม็ดสีบนฟิล์ม) ก็จะเห็นชัดขึ้นตามตัว ISO ครับ

ตัวนี้ผมถ่ายจาก Kodak Ektar100 ครับ จะสังเกตว่า Grain นี่แทบไม่มีเลย (ตัวนี้เค้าโฆษณาตัวเองว่า The Finest Grainเลยนะเอ้อ)
ส่วนตัวนี้ผมถ่ายจาก Fuji Natura 1600 ครับ Grain หนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยใช่มั้ยครับ

ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือความไวแสง

ความไวแสงต่ำ = ต้องใช้แสงปริมาณมากในการถ่าย

ความไวแสงสูง = ไม่ต้องใช้แสงมากนัก

จะมีผลต่อเมื่อ หากเราใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงต่ำ แล้วเราไปถ่ายในที่แสงน้อยๆ ซึ่งเมื่อแสงกระทบกับเนื้อฟิล์มไม่นานพอ ก็จะทำให้ภาพถ่ายนั้นมืดเกินไป(หรือที่เราเรียกว่า under) หรือกลับกัน หากเราใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงมากเกินไป แสงกระทบกับฟิล์มมากเกินไป ก็จะทำให้ภาพนั้นสว่างเกินจริง(หรือที่เรียกว่า over)นั่นเอง

อาจมีคนบอกว่า ถ้าหากเราใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงต่ำ ก็ลาก Shutter speed ให้นานขึ้นสิ ภาพจะได้รับแสงได้เพียงพอ

คำตอบก็คือใช่ครับ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากเราลาก Shutter speed ที่ 1/60s ลงมานั้นแล้วไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ภาพก็จะมีโอกาสเบลอค่อนข้างสูงครับ ยกเว้นแบบมือนิ่งจริงๆ หรือกลั้นให้ใจถ่ายอะไรแบบนี้ ก็แล้วแต่ความสามารถส่วนบุคคลครับ ฮ่าๆๆ แต่เอาจริงๆคือ เรามาเล่นที่ ISO ฟิล์มดีกว่าครับ

เอาล่ะ ปูพื้นฐานกันมาแล้ววว เรามาดูวิธีเลือกฟิล์มกันดีกว่าครับ

ก่อนอื่นเลย…การเลือก ISO ของฟิล์ม

ให้ดูว่า ISO ของฟิล์มตัวที่เราเลือก เหมาะกับสถานที่และเวลาที่เราจะไปถ่ายรึเปล่าครับ

ทีนี้ผมจะแบ่งเป็น ระยะของ ISO ของผมให้นะครับ ว่าแบบไหนเหมาะกับช่วงเวลาไหน โดยอันนี้คือรูปแบบแสงกลางแจ้งและฟ้าใสนะครับ

50–200 อยู่ในช่วงที่ใช้แสงช่วงเวลาสายๆ สัก 9.00–16.00 ถ้ามองตามสภาพแสงเลยก็ อาจจะแบบ เราไปถ่ายที่ทะเล นึกถึงทะเลที่แดดเปรี้ยงๆ ช่วงกลางวัน แบบอากาศร้อนมากๆ ก็จะเหมาะกับฟิล์ม ISO ที่ช่วงนี้ครับ

400 ระยะเวลาส่วนใหญ่ตัวนี้จะถ่ายได้ทั้งวันครับ คือแบบตั้งแต่เช้ายันเย็นๆค่ำๆ(ถ้ามือนิ่งหน่อยนะ) อาจจะเป็นช่วงกลางวันที่ยังสว่างๆเหมือนกันนี่แหละครับ แต่ก็อาจจะเป็นพื้นที่ ที่ตามป่าเขา ที่แสงไม่หนา มีต้นไม้บัง หรืออาจจะถ่ายในร่ม ที่เป็นแสงจากไฟประดิษฐ์(แสงที่ไม่ใช่จากพระอาทิตย์)

800–3200 จะเป็นฟิล์มประเภทความไวสูงมาก เหมาะแก่การถ่ายในที่แสงน้อย ช่วงเวลาที่ถ่ายก็อาจจะตั้งแต่ตอนเย็น จนถึงช่วงกลางคืนเลยทีเดียว เช่น อาจจะเป็นตลาดนัดกลางคืน หรือตามถนนคนเดินช่วงเย็นเป็นต้นไป

จริงๆแล้ว หากเราต้องการที่จะถ่ายช่วงเย็น แต่มีแต่ฟิล์ม ISO ต่ำๆ ก็สามารถทำได้อยู่นะครับ ขั้นตอนในการทำก็คือ

จำได้มั้ยครับที่ผมเคยกล่าวถึงข้างบนว่า ISO ของฟิล์มแต่ละขั้นห่างกันเท่าไหร่

25>50>100>200>400>800>1600>3200

ตัวนี้นี่แหละ ที่เราจะเอามาใช้ในการตั้งค่าของกล้องครับ

สมมติเรามีฟิล์ม ISO 200 อยู่ใช่มั้ยครับ เราสามารถหลอกวัดแสงของกล้องโดยการตั้งค่า ไว้ที่ 800 ได้ครับ และก็สามารถถ่ายเหมือน ISO 800 ได้ปกติ

ทีนี้ขั้นต่อมา หลังจากถ่ายเสร็จ เวลาล้าง เราต้องบอกให้เขาล้างแบบ Push 2 stop ด้วยนะครับ

Push = เพิ่ม stop เช่น ฟิล์ม 200 แต่ถ่ายที่ 800 เวลาล้างบอก push 2 stop

Pull = ลด stop เช่น ฟิล์ม 800 แต่ถ่ายที่ 400 เวลาล้างบอก pull 1 stop

โดย push, pull stop ที่แนะนำไม่ควรเกิน +2หรือ -2 จากตัวฟิล์มนะครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้นการ push หรือ pull ของฟิล์ม อาจจะทำให้สีของฟิล์มเปลี่ยนไป และคุณภาพไม่ดีเท่าถ่ายตรง ISO ของมันด้วยนะครับ ทางที่ดีคือถ่ายตรงISO เลยไว้ดีที่สุดครับ

ปล. สุดท้ายอยากแนะนำว่าอย่า pull ISO ลงมาเลย เพราะฟิล์ม ISO สูง ราคาก็มักจะสูงกว่า เสียดายตังค์…

ต่อมา..ให้ดูที่ Character ของสีฟิล์ม

แน่นอนล่ะว่า เราทุกคนส่วนใหญ่จะต้องดูที่สีของฟิล์มที่เราชอบใช่มั้ย ว่าเราชอบแบบไหน จึงต้องดูว่าสถานที่ที่เราจะไปคือที่ไหนเช่น

ถ้าหากไปเที่ยวป่าเขา มีสีเขียวเยอะ ก็ควรหยิบตัวที่สามารถถ่ายสีเขียวสวยๆออกมาให้ดูสวย รึเปล่า ชอบแบบเขียวอวบอิ่ม หรือเขียวแห้งๆ ถ้าเขียวอวบอิ่มส่วนใหญ่พวกนี้จะเป็นสาย Fuji เขียวแบบแห้งๆ Retroๆ ก็จะมาทางเจ้า Kodak

หรือ ถ้าหากไปเที่ยวที่มีแสงแดดจัดๆอย่างทะเล ทะเลทราย หรือถ่ายคนอาจจะมาทางสาย Kodak ที่เด่นทางด้านสีเหลือง เหมาะกับถ่ายผิวคน เพราะจะให้ Skin tone ที่ดี

ทางที่ดีก่อนจะไปหารีวิวดูสีของฟิล์มตัวนั้นๆก่อนด้วยนะครับ และดูที่สภาพแสงด้วยว่า เมฆครึ้ม ถ่ายออกมาเป็นยังไง ฟ้าสว่างถ่ายออกมาเป็นยังไง

ทั้งนี้ทั้งนั้น สีเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน เอาตัวเองเป็นหลักดีที่สุดนะครับ ^^

แหล่งที่ดู Character ของสีฟิล์ม เข้าเว็บ https://lomography.co.th ลองดูที่ช่อง Search เลยครับ

ยกตัวอย่างเบื้องต้น

สายเขียวก็ส่วนใหญ่จะมีเจ้า Fuji ตามสีแบรนด์เลยแฮะ ที่จะให้สีเขียวที่อวบอิ่ม เขียวขจีมากๆ

Fuji superia 200(ตัวนี้เลิกผลิตไปแล้วเสียดายมาก T T)จะเหมาะกับถ่ายสีเขียว ให้สีเขียวที่อวบอิ่ม ดูสมบูรณ์จะเหมาะกับพวกป่าเขาครับ
Fujicolor 100 (คนละตัวกับFuji100japanนะครับ) เจ้าตัวนี้เหมาะกับการถ่ายวิวเมือง คอนทราสไม่จัดมาก ให้สีสันของตึกที่ดูเรียบๆดี ฮ่าๆๆ
Fuji Pro 400h เจ้าตัวนี้เป็นอีกตัวที่ให้สีดีมาก แต่ราคาแอบแรงอยู่เหมือนกัน
Fuji Pro400h อีกรูปครับ (สีดีมากจริมๆ 5555)

ส่วนสายเหลืองก็ตามแบรนด์อีกเช่นกัน นั่นก็คือ จากยี่ห้อ Kodak นั่นเอง

Kodak Portra 400 เจ้าตัวนี้จะให้สกินโทนที่สวยงาม เพราะด้วยความที่เค้าชูโรงว่าเป็นฟิล์มที่ใช้ถ่ายคน(แอบเบลอไปนิดนะ ฮ่าๆๆๆ)
Kodak Colorplus 200 เจ้าตัวนี้ก็จะให้ภาพที่ออกอมเหลืองเหมือนกัน Cr.www.lomography.com

และทั้งหมดนั้นทำให้รู้ว่า การที่เราเลือกที่จะไปที่ไหน ถ้าหากเลือกฟิล์มที่สามารถดึงจุดเด่นของสถานที่นั้นๆได้ด้วย ก็จะทำให้มันเป็นภาพที่ออกมาได้สวยกว่าเดิมแน่นอนนน

จบแล้วววว สำหรับบทความในวันนี้เกี่ยวกับชนิดของฟิล์มแต่ละตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นฟิล์มแต่ละตัวแตกต่างกัน ให้โทนสีที่ดีกันคนละจุด ไม่มีฟิล์มตัวไหนหรอก ที่จะกำหนดว่าตัวนี้ดีกว่าทุกๆตัว แต่ละตัวมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง บางที สถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่ฟิล์มคนละตัวอาจจะให้ความรู้สึกไปคนละแบบ อยากให้เพื่อนๆ ลองถ่ายดูกันเยอะๆนะครับ แฮ่

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆในการเลือกฟิล์ม ไม่มากก็น้อยนะครับ

สุดท้ายนี้ผมจะทิ้งรูปตัวอย่างของฟิล์มแต่ละตัวไว้ให้เพื่อนได้ดูกันเล่นๆนะครับ เผื่อเป็นแนวทางในการเลือกฟิล์มในอีก 1 ช่องทางครับ

เพื่อนๆสามารถดูที่ภาพด้านล่าง หรือ เข้าลิงค์ด้านล่างนี้ทางเพจเรารวบรวมไว้ให้บางส่วนแล้วครับ

http://bit.ly/135filmexample

Fuji c200 shot by Nikon s2
Fuji Pro400h shot by Nikon Fm2n + Nikkor 50mm f1.8 ai-s
Lomography 800 shot by Nikon Fm2n + Nikkor 50mm f1.8 ai-s
Kodak Portra 400 shot by Nikon Fe + Nikkor 50mm f1.4 type k
My Heart 200 shot by Pentax Zoom 105Super
Fuji Color 100 shot by Nikon Fm2n + Nikkor 50mm f1.8 ai-s
Fuji X-Tra 400 shot by Nikon Fm2n + Nikkor 50mm f1.8 ai-s
Kodak Ektar 100 shot by Nikon Fm2n + Nikkor 50mm f1.8 ai-s
Agfa Vista 400 shot by Olympus OM-2n + ZUIKO AUTO-S 50mm f1.8 MIJ
Fuji Cine 64D shot by Yashica Electro 35 GL
Fujicolor Industrial 400 shot by Yashica Electro 35 GL
Fuji Premium 400 shot by Olympus OM-2n + ZUIKO AUTO-S 50mm f1.8 MIJ
Fuji Superia 200 shot by Olympus 35DC
HILLVALE Sunny 16 400 shot by Yashica Electro 35 GL
Lomography 400 shot by Yashica Electro 35 GL

และสุดท้ายนี้ฝากเพื่อนๆติดตามเพจ 135.film ของพวกเราไปนานๆนะครับ ^^ ในบทความนี้เราขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

ขอบคุณครับ

--

--

KrishDP
135.film

Traveler / Film Photography Lover / Product Designer at NocNoc