Film 101 : 3 พื้นฐานแห่งแสง! ถ่ายยังไงให้ได้ภาพที่ต้องการ

KrishDP
135.film
Published in
6 min readNov 30, 2018

--

กว่าจะถ่ายรูปที่ต้องการได้รูปนึงมันทำยังไงหนอ?บทความนี้อาจจะยาวสักนิด แต่รับรองถ้าได้อ่านจนจบแล้วเข้าใจแน่นอน!

สวัสดีครับเพื่อนๆ กลับมาพบกันอีกครั้งแล้วนะครับ เรื่องที่จะพูดถึงในวันนี้ ผมว่าเพื่อนๆหลายๆคน ที่รักในการถ่ายรูป ต้องเคยปวดหัวกับมันมาไม่มากก็น้อย ซึ่งเจ้าสิ่งนั้นก็คือออ….

3 Elements of Exposure!!!

เห้ย ชื่อโคตรเท่ ว่าแต่ว่า…มันคืออะไรฟะ?

3 Elements of Exposure หรือแปลมันตรงๆเลยก็คือ

3องค์ประกอบแห่งการรับแสง!!

น่ะ! ยัง งงล่ะสิ อ่ะงั้นถ้ากล่าวถึงคำว่า ISO(ค่าความไวแสง), F(ค่ารูรับแสง),Shutter Speed(ความเร็วชัตเตอร์) ล่ะยังจะงงอยู่มั้ย บางคนก็อาจจะยังงงอยู่(ฮ่าาา) แต่ก็คิดว่า คนที่ถ่ายรูปมาก่อน ก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแหละเนอะ

ซึ่งเจ้า 3 ตัวนี้นี่แหละ เป็นองค์ประกอบ หรือ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราได้ภาพที่ต้องการออกมา ไม่ว่าจะถ่ายภาพฟิล์ม หรือถ่ายภาพดิจิตอล ทั้งบนกล้องหรือบนมือถือก็ตาม ต้องใช้ 3 องค์ประกอบนี้ทั้งหมด อ่ะ มาถึงตรงนี้และ เรามาดูกันเลยดีกว่า ว่าแต่ละตัวเนี่ยมันคืออะไรบ้าง และหน้าที่ของมันคืออะไร

1. ISO หรือ ค่าความไวแสง

จริงๆแล้ว เจ้า ISO เนี่ย ย่อมาจาก International Organization for Standardization (หรือ International standard organization ) หรือแปลว่า ค่ามาตรฐานสากล

เพื่อนๆอาจจะงงว่า เอ๊ะ! ทำไมใช้คำนี้ล่ะ

ก็เพราะว่าเมื่อก่อนนั้น ค่าความไวแสงได้แบ่งตามชื่อเรียกที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ แถมค่าตัวเลขยังไม่เหมือนกันด้วยนะ มีเยอะแยะไปหมด เช่น

A.S.A. = American Standard Association เป็นค่ามาตรฐานของอเมริกา

DIN = Deutsch Industrial Normen ใช้ในกลุ่มประเทศเยอรมันและกลุ่มประเทศยุโรป

Jis = Japan Industrial Standard เป็นของญี่ปุ่น

SCH = Schiener มีทั้ง Europe Schiener และ German Schiener อีกต่างหาก

B.S. = British Standards Exposure index ใช้ในประเทศอังกฤษ

Weston = ถูกใช้ในอเมริกาสมัยก่อนตัว A.S.A. คิดค้นโดย Edward Faraday Weston และผู้พ่อ Dr.Edward Weston แต่ค่าอัตราจะต่ำกว่า เช่น 800 ASA = 640 Weston เป็นต้น

อ่ะ ยกตัวอย่างพอเท่านี้ก่อน แต่จริงๆมีเยอะกว่านี้อีกกก โดยถ้าเทียบกันเป็นตารางเนี่ย ค่าพวกนี้ จะมีเลขที่ต่างกันออกไปในค่าความไวแสงเดียวกัน ยกตัวอย่างตามตารางด้านล่างนี้เลย

ตารางเปรียบเทียบค่าความไวแสงของแต่ละประเทศ

จากที่เห็น เพื่อนๆจะเห็นว่ามันมีหลากหลายมากกกก มีทั้งตัวเลขเท่ากันและไม่เท่ากันมึนงงไปหมด ทีนี้ เพื่อให้มันเป็นมาตรฐานสากล และป้องกันความึนงงของผู้ถ่ายอย่างเรา ฮ่าๆๆ เค้าจึงรวมทุกตัวมาเป็นตัวเดียว และตั้งชื่อเป็น ISO

โดยเลข ISO ยิ่งน้อยความไวแสงจะยิ่งต่ำ ถ้ายิ่งมากความไวแสงก็ยิ่งสูง

เลข ISO จะมีค่าตั้งแต่ 12–6400 ตามนี้เลย

เพื่อนๆจะสังเกตเห็นว่า ค่าเลขความไวแสง จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละขั้น ซึ่งความห่างแต่ละขั้นนี้แหละ ที่เราเรียกกันว่า 1 Full stop หรือที่ทั่วไปเรียกกันว่า 1 Stop นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น 50 กับ 100 ห่างกัน 1 Stop

หรือ 400 กับ 1600 ห่างกัน 2 Stop

เป็นต้น

แต่ ณ ปัจจุบันนี้ฟิล์มที่ยังมีขายอยู่เท่าที่เห็นจะมี ค่า ISO ต่ำสุดอยู่ที่50 และตัวสูงสุดอยู่ที่ 3200 ครับ นอกนั้นเลิกผลิตไปหมดแล้ว ฮืออออ (รวมไปถึงอาจจะเจอค่า ISO แปลกๆเช่น 64, 250, 500 ก็จะมีนะส่วนใหญ่พวกนี้จะเป็นฟิล์มหนังครับ)

ค่าความไวแสงมีผลยังไง?

ค่าความไวแสงจะมีผลต่อฟิล์มโดยตรงครับ เพราะฟิล์มแต่ละตัวจะมีค่าความไวแสงต่างกัน เหตุผลก็เพราะว่า ฟิล์มบางตัวเหมาะจะถ่ายกลางวันคือเนื้อฟิล์มต้องโดนแสงมากๆจึงจะเกิดภาพขึ้นบนตัวฟิล์ม หรือบางตัวเหมาะจะถ่ายกลางคืนคือฟิล์มโดนแสงแปปเดียวก็เกิดภาพบนตัวฟิล์มแล้ว หากนึกไม่ออกว่าฟิล์มที่โดนแสงหลังถ่ายแล้วเป็นยังไง ดูตามภาพด้านล่างนี้โลด

ภาพที่ถูกบันทึกลงบนตัวฟิล์มหลังจากได้รับการล้างแล้ว Cr.https://thedarkroom.com

ซึ่งแบ่งประเภทความไวแสงของฟิล์มได้ 3 ประเภทหลักๆ

ฟิล์มที่มีความไวแสงต่ำตัวเลขจะน้อยปัจจุบัน ISO จะอยู่ที่ 100 ลงไปเหมาะสำหรับถ่ายภาพช่วงสายๆ ถึงช่วงบ่าย ที่แดดจัดๆ

ฟิล์มที่มีความไวแสงปานกลาง ISO จะอยู่ที่ 200–400 ส่วนใหญ่พวกนี้จะถ่ายได้ทั้งวันครับ ตั้งแต่เช้ายันเย็นๆค่ำๆที่ยังพอมีแสงบ้าง

ฟิล์มที่มีความไวแสงสูง ISO จะอยู่ที่ 800–3200 ครับ พวกนี้เหมาะจะถ่ายที่เวลากลางคืน หรือสถานที่ที่มีแสงน้อย (แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีแสงอยู่บ้างนะครับไม่ใช่มืดตื๋อแบบมองตาเปล่าก็ไม่เห็น) อาจจะเป็นพวกตลาดนัดหรือถนนตอนกลางคืน

ISO ยิ่งต่ำ ตัว Grain(เม็ดสีบนฟิล์ม) ของฟิล์มก็จะยิ่งละเอียด บางรูปดูไม่ออกเลยนะว่าเป็นฟิล์มถ่าย ภาพเนียนกริบ

ตรงข้ามก็คือ ISO ยิ่งสูง Grain(เม็ดสีบนฟิล์ม) ก็จะเห็นชัดขึ้นตามตัว ISO ครับ

ตัวนี้ผมถ่ายจาก Kodak Ektar100 ครับ จะสังเกตว่า Grain นี่แทบไม่มีเลย (ตัวนี้เค้าโฆษณาตัวเองว่า The Finest Grainเลยนะเอ้อ)
ส่วนตัวนี้ผมถ่ายจาก Fuji Natura 1600 ครับ Grain หนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยใช่มั้ยครับ

ซึ่งหากใครสงสัยเรื่องฟิล์มจริงๆจังๆ สามารถกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ของเราได้เลยที่!

click me :D

สรุป

หน้าที่ของ ISO หรือ ค่าความไวแสง คือ

  • บ่งบอกว่าฟิล์มที่เราใช้งานไวแสงแค่ไหน
  • เหมาะกับถ่ายที่ช่วงเวลาไหน เช่น ถ่ายได้แค่ช่วงแดดเยอะ, เมฆเยอะ, ถ่ายกลางวัน, ถ่ายกลางคืน
  • เหมาะกับถ่ายที่สถานที่ใด เช่น กลางแจ้ง, ในร่ม, สถานที่แสงน้อย

2. ค่า F-stop หรือ รูรับแสง(Aperture)

หากจะให้เปรียบเทียบแล้ว รูรับแสงก็เหมือนกับม่านตาของคนเรานั่นแหละครับ บางคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าม่านตาเราขยับขยายยังไง ผมจะยกตัวอย่างเป็นเปลือกตาละกันครับ ในขณะที่เราอยู่กลางแจ้ง แดดจ้าๆ เราจะสามารถลืมตากว้างสุดมั้ยเอ่ย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครที่ไหนทำได้หรอก เพราะมันจะแสบตามากกก และเราทำยังไง? เราก็ต้องหรี่ตาเพื่อให้ภาพมันชัดขึ้นหรือให้มันแสบน้อยลงใช่มั้ยครับ ซึ่งการที่เราหรี่ตานั่นแหละ ทำให้แสงเข้ามากระทบผิวตาของเราน้อยลง หรือทำให้รูรับแสงของตาเราแคบลงและแสงไม่เข้ามามากเกินไปนั่นเอง ก็เหมือนกับการปรับ F ของกล้องให้แคบลงเพื่อให้แสงเข้าน้อยลง ในทางกลับกันช่วงเวลากลางคืน เราทุกคนจะตาแป๋วบ้องแบ๊วกลมโต ฮ่าๆ ซึ่งก็คือหลักการเดียวกัน คือการเปิด F หรือรูรับแสงของกล้องให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้รับภาพให้แสงเข้ามาเยอะขึ้น และเห็นชัดขึ้นในเวลากลางคืนนั่นเองครับ

หากไม่เห็นภาพ เรามีแมวมาประกอบ สังเกตได้ว่าช่วงกลางวัน แมวจะมีม่านตาที่หรี่ลงมา นั่นคือการปรับค่า F ที่แคบลงของแมว

ภาพแมวตอนม่านตาแคบในภาวะที่มีแสงเยอะ Cr.pixabay.com

ส่วนในตอนกลางคืน หรือในที่แสงน้อย แมวจะตาแป๋วกลมโต เพราะเปิดม่านตาให้กว้าง เพื่อให้มองที่ที่แสงน้อยให้ชัดขึ้น

ภาพแมวตอนม่านตาเปิดกว้างในภาวะแสงน้อย Cr.https://pantip.com/topic/32938992

ซึ่งจริงๆแล้วคนก็มีม่านตานะ สามารถขยับขยายได้แบบแมวนี่แหละ แต่ว่าเห็นไม่ชัดเท่าแมว เลยเปรียบเทียบเป็นเปลือกตาดีกว่า แหะๆ

แล้วรูรับแสงของกล้องล่ะจะเป็นยังไง?

ในเลนส์ของกล้องจะมีใบเบลดปรับรูรับแสงอยู่ครับ โดยจะสามารถปรับค่าFได้ที่ตัวเลนส์

ซ้ายสุดคือFกว้าง เรียงมาทางขวาคือ F ที่แคบลง Cr.www.photoworkout.com
วงแหวนปรับค่า F ที่อยู่ด้านข้างเลนส์

ระยะชัดตื้นชัดลึก(Depth of field) คืออะไร?

เป็นคำอธิบายระยะความชัดของวัตถุอื่นๆ ที่อยู่รับจุดโฟกัสครับ

ชัดลึก = ชัดทั้งภาพ ตั้งแต่ระยะหน้าไปจนถึงระยะหลังจะชัดทั้งหมด

ชัดตื้น = มันคือการที่ระยะชัดนั้นแคบลง คือชัดที่ตัวSubject(ตัวแบบ) ที่เหลือเบลอหมด อย่างเช่น หน้าชัดหลังเบลอ(ที่เราหลายๆคนชอบถ่ายกันนั่นแหละ ฮ่าๆๆ), หน้าเบลอหลังชัด และ หน้าเบลอหลังเบลอตรงกลางชัด ทั้งหมดถือเป็นชัดตื้นหมด มันคือระยะชัดที่แคบทำให้ส่วนที่นอกจากระนาบที่โฟกัสมันเบลอหมด เดี๋ยวจะยกตัวอย่างภาพให้ดูตามนี้ครับ

หน้าชัดหลังเบลอ
หน้าเบลอหลังชัด
หน้าเบลอ หลังเบลอ ตรงกลางชัด
เบลอหมดเลย โฟกัสไม่เข้า ฮ่าๆๆๆ (พูดทำไมเนี่ยยย)

ค่า F หรือรูรับแสงนั้น

เลขยิ่งน้อย = รูรับแสงยิ่งกว้าง, เลขยิ่งมาก = รูรับแสงยิ่งแคบ

เช่น F1.4 กับ F4 เนี่ย F1.4 กว้างกว่า

ซึ่งจะส่งผลกับระยะชัดตื้นชัดลึกตามที่บอกไปด้านบนนั่นแหละครับ

โดยหากกล้องโฟกัสที่ตัว Subject ในขณะที่รูรับแสงกว้างๆ โอกาสที่ภาพด้านหลังตัว Subject จะเบลอมากขึ้นตามตัวไปด้วย ตามภาพด้านล่างเลยจ้า

Cr.https://imgur.com/gallery/EcrTuZF

สังเกตจาก ค่า F 1.4 ด้านบน ไปจนถึง F 32 ด้านบน ที่ฉากหลังจะมีความคมชัดที่แตกต่างกัน โดยรูรับแสงยิ่งกว้างฉากหลังยิ่งเบลอ เพราะระยะชัดตื้นที่มีน้อย กลับกันรูรับแสงที่ยิ่งแคบก็จะทำให้เห็นฉากหลังได้ชัดเจนขึ้นเพราะระยะชัดที่มากขึ้น

ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างระยะชัดตื้นด้วยพื้นที่สีแดง ตามรูรับแสงที่กว้างและแคบนะครับ

คือภาพจะชัดแค่ในพื้นที่สีแดงเท่านั้น หากเกินกว่านั้นคือเบลอหมด

ในภาพนี้ปรับ F ที่ 1. 8 ตัวอย่างผลลัพธ์ของการที่เปิดรูรับแสงกว้างไป ทำให้ระยะชัดตื้นมากเกินไป
ส่วนภาพนี้ปรับที่ F4 จะเห็นว่าระยะชัดตื้นที่เพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับหน้าชัดหลังเบลอไม่ได้มีแค่ปัจจัยจากรูรับแสงอย่างเดียวนะครับ เพราะว่าปัจจัยต่อการละลายหลังมีดังนี้

  1. ระยะ focal length ของตัวเลนส์ (เลนส์ยิ่งถ่ายใกล้หลังยิ่งละลาย เพิ่มเติมไว้จะมาเล่าให้ฟังต่อวันหลังนะครับ)
  2. ระยะห่างของ Subject กับฉากหลัง
  3. และข้อที่เรากำลังกล่าวถึงกัน คือ ความกว้างของ F ( F ยิ่งเลขน้อย ระยะชัดยิ่งแคบ)

ทั้งนี้เราจะต้องคำนึงถึงระยะชัดที่เราต้องการด้วย เดี๋ยวนี้เอะอะเปิด F กว้างสุดอย่างเดียว ได้ภาพตาชัดแต่จมูกเบลอ หรือคางละลายไปแล้วก็มี และอีกอย่างที่ต้องคำนึงคือสภาพแสง ณ ขณะนั้นว่าสามารถปรับให้รูรับแสงสามารถกว้างได้ที่ขนาดไหน ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังตัวถัดไปนั่นก็คือ Shutter Speed หรือความเร็วชัตเตอร์ในข้อต่อไปครับ

TIPS : หากต้องการที่จะได้ภาพที่คมชัด แบบเส้นเนียนกริบ ควรจะใช้ค่ารูรับแสงที่แคบเข้าไว้

TIPS : หากถ่ายภาพในลักษณะที่ F กว้างเกินไปในขณะที่ Focus ระยะ Infinity อยู่ จะทำให้เกิดภาพฟุ้งและไม่คมชัด

ภาพที่ปรับ F กว้างมากเกินไป ทำให้ภาพไม่คมชัด

การนับ F Stop

แต่ละตัวข้างบน มีค่าห่างกัน 1 Full stop ซึ่งถ้าเทียบกับตัว ISO ก่อนหน้านี้ที่อยู่ด้านบน จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้ขึ้นทีละ 1 เท่า ทีนี้แต่ละ Stop มันนับความห่างยังไงกันล่ะ มาดูกันเลย

วิธีนับง่ายๆมากครับ

ให้เริ่ม นับจาก2 เลข คือ 1 กับ 1.4

แล้วทีนี้เพิ่มทีละ 2 เท่า ของตัวเดิม

ยกตัวอย่างเช่น

นับแยกกันนะครับ ระหว่าง 1 กับ 1.4 ของใครของมัน

แล้วทีนี้หลังจากนับเสร็จแล้ว ให้นำผลลัพธ์ของทั้ง 2 ตัวมาวางสลับกัน

ทีนี้ก็จะได้เป็นขั้น F Stop ขึ้นมาแล้ววว!!!

หรือ

หากจะให้มันง่ายกว่านั้นก็คือ เอาเลขตัวเดิมของมัน คูณกับ 1.4 นั่นแหละ ปัดเศษนิดหน่อยให้มันลงตัว ก็จะได้ค่าที่เหมือนๆกันออกมาอีกด้วย(แต่ทางที่ดี นับแบบข้างบนจะเข้าใจง่ายกว่านะ เพราะเศษบางตัวก็ปัดไปคนละแบบ)

ทั้งนี้ทั้งนั้นค่า F ไม่ได้ Fixed ค่าเสมอไป บางทีเราอาจจะเห็นค่า F แปลกๆบ้าง เช่น 0.95, F1.7, F2.3 อันนี้อยู่ที่การผลิตของแต่ละตัวครับ

Leica Noctilux-M 50mm f/0.95 ASPH. Lens (Silver)เลนส์ที่มีค่า F กว้างมาก ขนาดที่โฟกัสจมูกตาเบลอ หรือโฟกัสตาจมูกเบลอกันเลยทีเดียว Cr.https://www.bhphotovideo.com

จริงๆแล้วมีสูตรการนับขั้นค่ารูรับแสงอยู่ครับ แต่มันจะทฤษฎีจ๋ามากเกินไป แต่ถ้าใครอยากอ่าน อยู่ที่ท้ายบทความโลด

สรุป

หน้าที่ของ ค่า F หรือ รูรับแสง(Aperture) คือ

  • ควบคุมระยะชัดของจุดโฟกัส
  • ควบคุมแสงที่ผ่านเลนส์เข้ามา

3. Shutter Speed หรือ ความเร็วชัตเตอร์

เอาล่ะ! มาถึงอย่างสุดท้าย ก็คือความเร็วของชัตเตอร์นั่นเอง ถ้ากับคนแล้ว เจ้าตัว Shutter speed ก็เหมือนกับความเร็วของการกระพริบตาของเรานั่นแหละครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าม่านชัตเตอร์ได้เปิดขึ้นมาและปิดอย่างรวดเร็ว ก็เหมือนกับการที่เราลืมตาแล้วหลับตาเลยเห็นภาพได้แปปเดียว กลับกันหากม่านชัตเตอร์เปิดขึ้นมาค้างไว้นานๆ ก็เปรียบเสมือนกับว่า เราลืมตาเอาไว้นานๆแล้วค่อยหลับตา เราก็สามารถเห็นภาพได้นานกว่าอยู่แล้ว

เพื่อนๆอาจจะยังคงสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วการเปิดปิดเร็วมันต่างกับการเปิดปิดช้ายังไง

สมมติเราจะตั้งค่า Shutter Speed ที่ 1 วินาที ทำให้แสงที่เข้ามาโดนเนื้อฟิล์มมีเวลา 1 วินาทีใช่มั้ยครับ

ทีนี้ถ้าเราตั้งค่า Shutter Speed ที่ 2 วินาที ก็จะทำให้แสงเข้ามาโดนเนื้อฟิล์ม เข้ามานานขึ้นเป็น 2 วินาที นั่นเอง แสดงว่ายิ่งเปิดนานๆ ฟิล์มก็ยิ่งโดนแสงมากขึ้น

แต่ทีนี้ฟิล์มที่เราถ่าย มันไม่เหมือนกับตาของคนเรานะครับ เพราะว่าฟิล์มมันจะบันทึกภาพไปเรื่อยๆ ทับไปเรื่อยๆ ตรงไหนที่ถูกบันทึกไปแล้วจะไม่สามารถลบได้

ทำให้ถ้าหากเราเปิดชัตเตอร์ระยะเวลานาน แล้วเราถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวก็จะทำให้ ฟิล์มมันบันทึกการเคลื่อนไหวตลอดนั่นเอง

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ เมื่อถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหว จะทำให้สิ่งที่เคลื่อนไหวเบลอ Cr.https://www.shawacademy.com

กลับกันหากเป็น Shutter Speed ที่ไว ทำให้เนื้อฟิล์ม โดนแสงเฉพาะช่วงเวลาที่เปิดชัตเตอร์นั้น ยิ่งไวภาพที่ถูกบันทึกลงฟิล์มก็จะมีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง

การใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ถึงถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวภาพก็จะไม่เบลอ Photo by Gene Devine on Unsplash

ทีนี้จะเปรียบเทียบให้ดูครับว่า ถ้าใช้สองตัวถ่ายในสถานการณ์เดียวกันจะเป็นยังไง

ภาพด้านซ้ายคือ shutter speed ที่เร็ว ด้านขวาคือ shutter speed ที่ช้า Cr.http://manualmodebasics.weebly.com/shutter-speed.html

ถึงตรงนี้เพื่อนๆคงเห็นภาพแล้วนะครับ ทีนี้เราจะนำตารางความเร็วของตัว Shutter Speed มาให้ดูโดยหน่วยจะเป็นวินาทีนะครับ

ค่าความเร็วของ shutter speed หรือ ความเร็วชัตเตอร์

จากรูปด้านบน ด้านซ้ายคือ ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ เรียงมาด้านขวาคือความเร็วที่ไวขึ้น จะสังเกตได้ว่า ความเร็วจะเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัว(อันนี้เหมือน ISO) แต่จะมีปัดเศษบ้างนิดหน่อย จากที่ผมวงความเร็วชัตเตอร์สีแดงไว้คือ ความเร็วที่เราไม่สามารถที่จะใช้ความเร็วนั้นและถือด้วยมือได้ เนื่องจากความเร็วที่ต่ำเกินไป จะทำให้ภาพเบลอ ต้องใช้ขาตั้งกล้องถ่าย สำหรับเลนส์ระยะ Normal (หรือทางบางคนอาจจะมือนิ่งๆ หรือกลั้นหายใจถ่าย อันนี้ก็อยู่ที่ความสามารถส่วนบุคคลครับ)

เอาล่ะ จบกันไปแล้วสำหรับเรื่องของ Shutter Speed ทีนี้เพื่อนๆคงจะเข้าใจหน้าที่ การทำงานของแต่ละตัวแล้วใช่มั้ยครับ

สรุป

หน้าที่ของ Shutter Speed หรือ ความเร็วชัตเตอร์คือ

  • ควบคุมปริมาณของแสงที่เข้ามากระทบกับฟิล์ม
  • ควบคุมรูปแบบการบันทึกภาพที่หยุดนิ่ง และ เคลื่อนไหวได้

มาถึงหัวข้อสำคัญที่ทุกคนรอคอย ก็คือ

วิธีตั้งค่ากล้องถ่ายยังไงให้ได้ภาพที่ต้องการ

อันดับแรกเราต้องรู้ข้อจำกัดของการถ่ายฟิล์มก่อนนะครับ คือ การตั้งISOนั้นจะใช้แบบเดียวกันไปตลอดทั้งม้วน(คือตรงตามISOฟิล์มที่เราใส่) เราไม่สามารถปรับค่า ISO ได้ในแต่ละรูป ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถปรับได้2อย่างระหว่างถ่ายรูป จะมีเพียงแค่ตัวรูรับแสง(ค่าF) และความเร็วชัตเตอร์(Shutter Speed)เพียงแค่นั้นเอง

ทีนี้ผมจะอธิบายว่าการถ่ายรูปๆนึงเนี่ย ต้องทำยังไงบ้าง มาดูวิธีนำมาประยุกต์ใช้กับวัดแสงของกล้องกันเลย!

สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ รู้ว่าสิ่งที่เราจะถ่ายต้องการระยะชัดลึกชัดตื้นแค่ไหน

  • ถ่าย Subject แบบให้ฉากหลังเบลอ การตั้งค่าตัวนี้ จะปรับการควบคุมแสงที่ Shutter Speed เป็นหลัก เนื่องจากเราต้องการเน้นที่ตัวแบบ เราจึงจะปรับให้ค่า F กว้างเข้าไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรคำนึงถึงระยะชัดของ Subject ด้วย
  • ถ่าย Subject แบบให้ฉากหลังชัด การตั้งค่าตัวนี้ จำเป็นจะต้องใช้ F ที่แคบ จะปรับการควบคุมแสงที่ Shutter Speed เป็นหลัก เนื่องจากเราต้องทำให้ฉากหลังชัดพร้อมกับตัวแบบไปด้วย (กล้องบางตัวจะมีปุ่มเช็คระยะชัดลึกชัดตื้นให้ใช้อยู่ จะทำให้สะดวกขึ้นครับ) เทคนิคนี้คือ ให้เราปรับ F ให้แคบที่สุดเท่าที่จะแคบได้ โดยที่เรายังพอคุม Shutter Speed ไหวอยู่ ไม่ให้ช้าจนเกินไป เพราะอาจทำให้ภาพเบลอได้

ยกตัวอย่างเช่น

เราต้องการภาพที่เน้นตัวแบบ และอยากให้ฉากหลังเบลอ โดยการตั้งค่ากล้องอยู่ที่ ISO 400, F2.0, Shutter Speed 1/125 โดยวัดแสงกล้องแจ้งว่าแสง Over 3 Stop

เราจะสามารถปรับได้ดังต่อไปนี้

ISO400, F2.8, Shutter Speed 1/500

ISO400, F2.0, Shutter Speed 1/1000

เป็นต้น

  • ถ่าย Subject ที่กำลังเคลื่อนไหว การตั้งค่าตัวนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้ Shutter Speed ที่เร็วเป็นหลัก ความเร็วควรจะ 1/500 ขึ้นไปเพื่อให้ถ่ายภาพที่เคลื่อนไหวได้คมชัด และทำการปรับการควบคุมแสงด้วยค่ารูรับแสงแทน

ยกตัวอย่างเช่น

เราต้องการภาพม้าที่กำลังวิ่งอยู่ โดยการตั้งค่ากล้องอยู่ที่ ISO 400, F2.0, Shutter Speed 1/500 โดยวัดแสงกล้องแจ้งว่าแสง Over 2 Stop

เราจะสามารถปรับได้ดังต่อไปนี้

ISO400, F4, Shutter Speed 1/500

ISO400, F2.8, Shutter Speed 1/1000

เป็นต้น

  • ถ่ายไฟรถบนถนนให้เป็นเส้น การตั้งค่าตัวนี้ จะสลับกับเมื่อกี๊ คือจำเป็นที่จะต้องใช้ Shutter Speed ที่ช้ามากๆ หรือใช้ชัตเตอร์ B(ชัตเตอร์ที่เปิดตามเวลาที่เรากดชัตเตอร์ค้างไว้) เนื่องจากถ่ายเวลากลางคืน จึงไม่จำเป็นต้องกลัวว่าแสงจะ Over (ในกรณีที่ถ่ายน้ำตกเป็นเส้นสีขาว จำเป็นต้องใช้ ND Filter เข้ามาช่วยเหลือ เพราะไม่งั้นภาพจะ Over มากเกินไป)
ถ่ายไฟรถให้เป็นเส้น Cr.https://robinwong.blogspot.com
ถ่ายสายน้ำให้เป็นเส้นสีขาวโดยใช้ ND Filter ช่วย Cr.https://robinwong.blogspot.com

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีอีกวิธีนึงเหมือนกันที่เราสามารถโกงค่า ISO ของตัวฟิล์มได้ด้วยนะ

เช่น หากเราต้องการที่จะถ่ายช่วงเย็น แต่มีแต่ฟิล์ม ISO ต่ำๆ ขั้นตอนในการทำก็คือ

จำได้มั้ยครับที่ผมเคยกล่าวถึงข้างบนว่า ISO ของฟิล์มแต่ละขั้นห่างกันเท่าไหร่

25>50>100>200>400>800>1600>3200

ตัวนี้นี่แหละ ที่เราจะเอามาใช้ในการตั้งค่าของกล้องครับ

สมมติเรามีฟิล์ม ISO 200 อยู่ใช่มั้ยครับ เราสามารถหลอกวัดแสงของกล้องโดยการตั้งค่า ไว้ที่ 800 ได้ครับ และก็สามารถถ่ายเหมือน ISO 800 ได้ปกติ

ทีนี้ขั้นต่อมา หลังจากถ่ายเสร็จ เวลาล้าง เราต้องบอกให้เขาล้างแบบ Push 2 stop ด้วยนะครับ

วิธีการ Push นี่แหละที่ทำให้ฟิล์มของเราสว่างขึ้น

ส่วนการ Pull ก็จะตรงกันข้าม คือทำให้ฟิล์มของเรามืดลง

ตัวอย่างการ Push

Push = เพิ่ม stop เช่น ฟิล์ม 200 แต่ถ่ายที่ 800 เวลาล้างบอก push 2 stop

Pull = ลด stop เช่น ฟิล์ม 800 แต่ถ่ายที่ 400 เวลาล้างบอก pull 1 stop

โดย push, pull stop ที่แนะนำไม่ควรเกิน +2หรือ -2 จากตัวฟิล์มนะครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้นการ push หรือ pull ของฟิล์ม อาจจะทำให้สีของฟิล์มเปลี่ยนไป และคุณภาพไม่ดีเท่าถ่ายตรง ISO ของมันด้วยนะครับ ทางที่ดีคือถ่ายตรงISO เลยไว้ดีที่สุดครับ

ปล. สุดท้ายอยากแนะนำว่าอย่า pull ISO ลงมาเลย เพราะฟิล์ม ISO สูง ราคาก็มักจะสูงกว่า เสียดายตังค์…

จบกันไปแล้วครับ สำหรับบทความในวันนี้ เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ อ่านแล้วพอรู้เรื่องขึ้นบ้างมั้ยครับ แหะๆ ยังไงถ้าสงสัย ทักมาสอบถามเพิ่มเติมกับพวกเราที่ Facebook Page 135.film ได้ตลอดนะครับ พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับบทความนี้เป็นเกี่ยวกับการถ่ายรูปในระดับเบื้องต้น ยังไงเดี๋ยวในขั้น Advanced เราจะมาพูดกันในบทความหน้านะครับ

ยังไงวันนี้พวกเราขอลาเพื่อนๆไปก่อน สวัสดีครับ

ปล.ยังมีสูตรการคำนวณค่า F หรือ รูรับแสงอยู่ด้านท้ายบทความนะครับ ท่านไหนที่สนใจลองอ่านดูจ้า

สูตรการคำนวณค่าF หรือ รูรับแสง(Aperture)

การเพิ่มการลดของค่า F stop เราจะนำ sqrt(2) เข้ามาคำนวณครับ(square root) เช่น

ถ้าหากปัจจุบันใช้ F4

ถ้าต้องการจะรับแสงเพิ่ม 1 Stop หรือเพิ่มรูรับแสง ก็เอา 4*(1/sqrt(2))ก็จะได้ 2.8

ถ้าต้องการจะรับแสงน้อยลง 1 Stop หรือลดรูรับแสง ก็เอา 4*sqrt(2) ก็จะได้ที่ 5.6

มาถึงตรงนี้ เพื่อนๆหลายคนงงแน่นอน สแควร์รูทอะไรฟะ แล้วทำไมต้องใช้มันด้วย

สาเหตุที่ต้องใช้ sqrt(2) มาคำนวณ คูณ หาร ก็เพราะว่า

เมื่อวงกลมมีพื้นที่เพิ่มขึ้น/ลดลง 2 เท่า เส้นผ่าศูนย์กลางก็จะมีขนาดเพิ่มขึ้น/ลดลง sqrt(2) เท่าครับ

หากมาเป็นทฤษฎีจ๋าเลยก็

แทนการคำนวณเป็นตัวแปรก่อน

pi*r*r = A (1)

pi*R*R = B (2)

สูตรคือ B = 2*A ก็จะได้

pi*R*R = 2*pi*r*r

R*R = 2*r*r

(R*R)/(r*r) = 2

R/r = sqrt(2)

ถ้ารัศมีเพิ่มขึ้น sqrt(2) เท่า ก็หมายความว่า เส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้น sqrt(2) เท่าเหมือนกัน

--

--

KrishDP
135.film

Traveler / Film Photography Lover / Product Designer at NocNoc