สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังจากทำงานที่ Thoughtworks มาได้ 1 ปี 6 เดือน

Pom Sutham
2Bearstalk
Published in
3 min readJul 18, 2021

ต้องสารภาพตามตรงว่าใช้เวลาอยู่ประมาณนึงตัดสินใจว่าจะเล่าดีไหม เพราะผมรู้สึกว่า การทำงานที่ Thoughtworks เป็นเหมือนจักรวาลความรู้อันกว้างใหญ่มาก เหมือนเราใช้เวลาเพียงไม่นานก็เอามาเล่าแล้ว ดูจะอาจหาญมากเกินไป แต่อีกใจก็รู้สึกว่าเราอาจจะลืมความทรงจำจากที่ไหนไปแล้วก็ได้หากนานวันไป เป็นที่ที่เราอยากและตั้งใจจะมาทำที่นี่มานานมากๆ และอีกด้วยประการหนึ่งก็คงเป็นนิสัยที่อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ด้วย ผมหวังว่าเนื้อหาต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้ที่เข้ามาอ่านนะครับ

ถ้าวันนี้ใครที่เข้ามาอ่านแล้วยังไม่เคยรู้จักผมมาก่อน ถ้ามีเวลาสัก 11.24 นาที ลองฟัง podcast ที่ผมเคยให้สัมภาษณ์เล่าเรื่องตัวเองไว้ที่นี่ได้ครับ ถ้าไม่ได้อยากรู้จักผมมาก่อนหน้านี้ข้ามไปเลยก็ได้ครับ สาเหตุที่ผมให้ฟังก่อน เพราะหลายครั้งคนมักจะไม่เข้าใจว่าผมมีความคิดอ่านอย่างไร เจออะไรมาบ้าง แล้วคิดต่างๆ นานาไปเองว่าผมเป็นคนยังไง ไม่มีใครอยากให้ first impression กับคนที่เราไม่รู้จักมันแย่เนอะ :)

เนื้อหาประสบการณ์บางส่วนจากการทำงานที่ Thoughtworks ผมได้เคยเล่าไว้ไปบ้าง

ซึ่งบทความนี้ความแตกต่างก็จะเป็นการเรียบเรียงสรุปหัวข้อสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นข้อๆ ไป ผมเชื่อว่ามันยังคงมีอีกหลายข้อมากๆ การทำงานที่ Thoughtworks ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ขอขอบคุณประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับทุกคนเลย ไม่ว่าจะเพื่อนพี่น้องร่วมโปรเจค หรือถ้าคุณกำลังอ่านและคุณเป็นลูกค้า ทุกประสบการณ์คือสิ่งที่ได้เรียนรู้เสมอครับ :)

ขอใส่รูปที่แคปจาก Signature อีเมลแล้วกันนะครับ ชอบมากๆ แต่ได้ใช้แค่แปบเดียว T T

Hiring / Recruit / Interview

ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งาน สมัครงาน หรือการถูกชักชวนให้ร่วมงานกับบริษัทมาก่อน (หากผู้อ่านยังเป็นนักศึกษา ลองอ่านแล้วเตรียมตัวไว้ก็ดี จริงๆ ผมยังมีแนะนำวิธีการสัมภาษณ์งาน ซึ่งยังสามารถมาปรับใช้ได้อยู่หลังจากเขียนมาแล้วประมาณ 2 ปีให้หลัง และผมเชื่อว่ายังมีประโยชน์อยู่นะ)

การได้เข้าทำงานที่ Thoughtworks สำหรับผมแล้วถือเป็นความภาคภูมิใจที่ที่นึงเลย เพราะด้วยกระบวนการและขั้นตอนของการสัมภาษณ์ที่ยากมากสำหรับผม และเป็นที่ที่ยากที่สุดนับตั้งแต่ผมสัมภาษณ์งานที่ไหนๆ มาเลย และก็เต็มไปด้วยความสนุกและอบอุ่นไปด้วยกัน สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเรื่องเล่านี้ได้ลิงค์นี้ครับ

มาลิส Key takeaways เรื่องนี้ดีกว่า เป็นสิ่งที่ผมมองทั้งสองฝั่งเลยนะครับ บริษัทก็ดี คนสัมภาษณ์งานก็ดี หรือคนสมัครงานเองก็ดี

  • ผมคิดว่าการหางานที่เราอยากทำ และได้รู้จักนิสัยของบริษัท หรือ Culture ขององร์กรก่อนได้จะดีมากๆ เลยนะ
  • Recruiter เป็นหน้าด่านบริษัทเลย ผมว่าคนสมัครงานหรือคนที่ได้รับการเชื้อเชิญ จะรู้สึกดี หรือรวมถึงจินตนาการไปถึงว่าถ้าได้เข้าไปทำงานเราจะกำลังจะเจอคนแบบไหนได้เลย
  • โจทย์ที่เข้มข้น แต่ยังคงความเป็น Culture ที่ถูกสอดแทรกไปด้วย มันทำให้สะท้อนให้เห็นได้เหมือนกันว่าชีวิตจริงเรากำลังจะเจอกับเพื่อนร่วมงานแบบไหน ช่วยเหลือกัน ทำงานเป็นทีมยังไง
  • และการที่โจทย์มันเข้มข้น จนมาถึงวันที่ได้เข้าทำงาน มันก็เป็นตัวที่ทำให้กระตุกต่อมความไม่มั่นใจไปได้บางครั้งเหมือนกันว่า “เฮ้ย วันนั้นเรายังผ่านมาได้ มันไม่ง่ายนะเว้ย” ซึ่งผมคิดหลายครั้งมากในวันที่เรารู้สึกกำลัง Feel down เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ยังคิดว่าตัวเองยังไม่เก่งพออยู่ตลอดเวลาด้วย
  • และด้วยไอ้ความที่เราก็กลัวว่าเราจะทำงานได้ไม่ดี ผมก็เริ่มทำความรู้จักคนในองค์กรเรื่อยๆ มาโดยตลอด รวมๆ ก็คงประมาณเกือบปี คนแรกที่ผมได้รู้จักด้วยนอกจาก ชาน พีท จีน ก็คือ พี่ไมเคิล และรวมถึงช่วงปลายปี 2019 ก็ไปทริป Web Summit ซึ่งมีคนจาก Thoughtworks ไปหลายคนมาก แม้ว่าบางคนจะไม่ได้ทำงานร่วมกัน แต่เราก็รู้สึกดีนะที่ได้รู้จักกันก่อน (ปล. ทริปนั่นตอนแรกแพลนไปกับชานสองคน แต่ตอนหลัง *_* งงมาก ไปกันเยอะมากเลย)

เอาคร่าวๆ ประมาณนี้ดีกว่า

Team Bonding

เป็นคำที่ถูกพูดถึงทุกครั้งที่มีการ Setup team ขึ้นใหม่เสมอตอนจะลงโปรเจคใหม่กัน ซึ่งในช่วงเวลาทั้งหมดที่ผมทำงานมา มีโปรเจคหลักๆ ที่ทำ Team Bonding 2–3 ครั้ง ส่วนโปรเจคอื่นๆ จะเป็นโปรเจคสั้นๆ เช่น Pre-sale

เราเคยไหมครับ (ผมเดาว่าเคยแล้วกัน ฮ่าๆ) ที่อยู่ๆ จะต้องไปทำงานกลุ่ม โดยที่เรายังรู้จักเพื่อนในกลุ่มไม่ดีพอเลย คำว่า “ดีพอ” นี่นิยามยากมากแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน สำหรับผมแล้วคงเป็นประมาณว่า ถ้าต้องร่วมงานกันแล้ว เรารู้ใช่ไหมว่าเราต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมยังไง ความหนักเบาในการสื่อสารได้ขนาดไหน เราหรือเพื่อนจะทำงานด้วยกันได้ดีเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบไหน ต้องถืออะไรมาคุยกันบ้าง หรือถือ Value อะไรกันบ้าง มันอาจจะไม่ได้รู้ ณ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่เราก็ต้องคุยกันเรื่อยๆ เพื่อนเข้าใจกันมากขึ้น Ceremony ที่จะช่วยได้เช่น 1:1, Feedback, Retrospective หรือ อยากคุยเมื่อไรก็คุยเลยครับ เช่น กินข้าว กลับบ้าน ฯลฯ

เชื่อไหมว่า แค่การ Bonding ทีมอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ มีเหตุการณ์นึงที่ผม Facilitate ให้กับลูกค้าด้วย Session นึง แล้วผมก็มาทบทวนกับตัวเองตอนหลังว่า “เฮ้ย นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เราทำพลาดนิหว่า ของที่ได้จาก Session นั่นมันไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานเลย” แต่ ณ เหตุการณ์ตอนที่เรา Run session มันไม่ได้รู้สึกว่าเราผิดพลาดมากมาย แต่กลับสนุกไปกับการทำงานตรงนั้นเลย (คือไม่ได้บอกว่าสนุกกับการผิดพลาดนะ ฮ่าๆ)

คิดถึงทีมนี้แน่นอนเลย

Constructive Feedback & Improve

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คน Thoughtworks ให้ความสำคัญกันมากๆ เรื่องหนึ่งเลย เพราะการได้รับ Feedback ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองกันต่อได้ ซึ่งตัวผมเองก็ถือเรื่องการ Feedback มาโดยตลอดอยู่แล้วเช่นกันไม่ว่าทำงานที่ไหน โดยเหตุการณ์ที่ผมมักจะอยู่ในการทำ Feedback ก็จะมีหลายๆ เหตุการณ์

  • หลัง Dry run การเตรียมตัว Meeting ต่างๆ
  • หลังจากจำเหตุการณ์สำคัญๆ หรือ Meeting, Session ยิ่งกับตอนที่เราเป็น Facilitator ด้วยแล้ว ยิ่งขอหนักๆ เลย
  • Retrospective อาจจะหลัง Sprint หรือทุก 2 Sprint ก็ขึ้นอยู่กับตกลง แต่ไม่ควรนานมาก เพราะเหตุการณ์บางอย่างเราอาจจะลืมไปแล้ว และ Action item จะมีกองมาก
  • หลังจากจบโปรเจค หรือกำลังจะ Roll-off ก็เป็นการทิ้งทวนภาพรวมทั้งหมด
  • อาจจะมีอีก จำไม่ได้แล้ว ฮ่าๆ

ผมเคยพูดที่ไหนสักแห่ง จะเห็นว่า การทำงานแบบเดิมๆ ที่ต้องมาประเมินประจำปี มันไม่เพียงพอแล้ว ถ้ากว่าจะมารู้ในวันที่สายไป มันคงไม่ดีกับใครสักคนแน่เลย :) ยิ่งเรารู้เร็ว ปรับตัวกันเร็ว แก้ไขกันเร็วครับ

ตอนปิดโปรเจคมากินข้าวกัน, Reflect กัน และคุยเรื่องโปรเจคใหม่กันด้วยตอนนั้น!!

Raise Hand!

การยกมือเมื่อเราอยู่ในภาวะที่ขอความช่วยเหลือ จริงๆ กับหลายๆ คนคงไม่ได้ติดอะไร แต่กับเราเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างหนักหน่วงเหมือนกัน ต้องบอกว่าทำแล้วนะ แต่อาจจะไม่เพียงพอ หรืออาจจะเผลอลืมไปว่า สถานการณ์แบบนี้แหละต้องขอความช่วยเหลือแล้วนะ

ต้องบอกว่ามันน่าตลกตัวเองมากๆ ที่มีครั้งนึงตอนเริ่มโปรเจคใหม่ ต้องเรียกว่าก่อนจะเริ่มโปรเจคใหม่ด้วย พีทตั้งคำถามแรกเลยกับเรา (ต้องบอกว่าชื่อนี้ถูกพูดถึงบ่อย ส่วนนึงคือเป็น Buddy ด้วย ฮ่าๆ) “ถ้าต้องทำแบบโปรเจคนี้ แต่ทำด้วยตัวเอง ความมั่นใจให้เท่าไร” ไอ้เราก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรมาก ปากดีซะด้วย ฮ่าๆ ตอบเลย 8/10

ซึ่งพอถึงเวลาจริง มันก็มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่คิดมาก่อน เรื่องของ Expectation, การวางแผน, การคาดการณ์ทีมว่าต้องมีทักษะยังไง, ขาดคนแบบไหนบ้างในทีม, Milestone จะวางยังไง, ภาพจบของโปรเจคได้วางไว้ไหม, ภาพไกลของโปรเจคละจะเป็นยังไง, และอื่นๆ อีกมากมาย

และในขณะที่เรากำลังคิดและวางแผน เราก็จะเริ่มกดดันตัวเองไปด้วย เพราะเราก็อยากทำเต็มที่ แต่หลายๆ ครั้งพีทก็มักจะถามอยู่เสมอว่า “นายไม่ได้ต้องทำเองหมดทุกอย่างใช่ไหม แต่ก็ต้องรู้ใช่ไหมว่าต้องมีอะไรบ้าง คำถามคือ จะให้มันเกิดขึ้นได้ยังไงบ้างถ้านายไม่ได้ทำเอง”

และก็มีอีกครั้งนึงที่เราต้องเริ่มโปรเจคด้วยตัวเอง และเราก็คิดแผนที่อยากจะทำให้มันเป็นทางการมากที่สุด (แต่ในชีวิตจริงเราสันทัดกับมันมากๆ เลยนะ คือการจัดงานกึ่ง Meetup) เราก็คิดความเป็นทางการมากจนเกินไปทำให้งานมันไม่เดิน และก็มี Reflect กับพีทอีกครั้ง ซึ่งพีทก็บอกว่า “ทำในสิ่งที่นายถนัดสิ” เออ ปลดล็อคเฉย ฮ่าๆ

จริงๆ การยกมือขอชีวิตนี่ เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ถ้าย้อนไปตอนแรกที่เข้ามาทำที่ Thoughtworks ต้องบอกว่าเราทำอยู่แล้วจนลืมตัวนะ จำได้เลยว่าโปรเจคแรกบอกพีทว่าเจออะไรที่ไม่ Make sense บ้าง จนพีทบอกว่า “ไปคุยกับ Andy ที่เป็น Lead Product Strategist สิ มีคำถามเหมือนกับนายเป๊ะเลย”

ข้อคิดสั้นๆ — จงร้องขอชีวิต เมื่อรู้ว่ามีปัญหา :) และทีมที่ดีต้องไม่ทอดทิ้งกันนะ

Testing

เป็นข้อสุดท้าย อารมณ์เหมือน Design Thinking (ฮ่าๆ) เพราะจะบอกว่า ทุกๆ ครั้งที่มี Session ใหม่ๆ หรือเหตุการณ์ที่จะต้องทำอะไรก็แล้วแต่ เรา Testing กันเยอะมากๆ ไม่ว่าจะ Dry run เพื่อซ้อมการไปพบลูกค้าครั้งแรก หรือทำ Session ก็แล้วแต่ คิดตั้งแต่ระดับที่ วันที่เราไปเจอลูกค้า เหตุการณ์นับตั้งแต่เดินทางจะเป็นยังไง, จบจากเจอลูกค้าแล้วต้องได้อะไรหรือทำให้ลูกค้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง, ลูกค้าต้องตัดสินใจอะไรไหม หรืออยากให้ตัดสินใจอะไรไหม, แล้วก็มาคิดย้อนกลับว่าจะทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นได้ต้องเตรียมอะไรไปก่อนหน้าไหม

ซึ่งเจ้าเทคนิคที่ว่ามา มันก็คือการทำ Journey นั่นเองแหละ ถามว่าแต่ก่อนทำไหม มันก็ทำ แต่แบบ High level มากๆ อันนี้เราลง Detail กันประมาณนึงเลย เช่น จะใช้เวลาเท่าไรแต่ละขั้นตอน, ต้องเตรียมอะไรของ หรือ Artefact อะไรไปบ้าง, อุปกรณ์ต้องใช้ไหม, ห้องประชุมหรือห้องที่จะไปมี Layout ห้องยังไง, ต้องเตรียมอะไรไปติดผนังห้องนั้นไหม (สีผนังห้องเค้าจะลอกไหม!!!)

เมื่อคำตอบที่เราคิดว่าพร้อม เตรียมได้แล้วประมาณนึง เราก็จะดึงคนในออฟฟิศมา Role play เป็นลูกค้าซะเลย ให้บทบาท ให้ Character แล้วก็ลองดูสิว่าใช้เวลานานไปไหม, คำถามเยอะไปไหม, หรือขาดคำถามอะไรไปไหม, คนฟังเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจทำไงให้เข้าใจ

และยังมีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นในตอน Testing และอย่าลืมที่จะเก็บ Feedback จากการ Testing เสมอ มันแทบจะเกิดขึ้นทันทีแหละ เห็นปุ๊บแก้เลยตรงนั้น

ภาพนี้ดูจะเป็นตัวแทนของเรื่อง Testing ได้ดี :)

ใครอ่านมาถึงตรงนี้ก็ขอบคุณมากๆ ผมหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์นะครับ หวังว่าถ้านำไปลองปรับใช้ก็ขอให้ได้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกับทุกคนนะครับ :) ถ้าไม่ขออะไรมาก ฝากอวยพรให้ผมกับที่ทำงานใหม่ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยนะครับ ฮ่าๆ แล้วผมจะเอาเรื่องมาเล่าอีกครั้งครับว่าผมได้เรียนรู้อะไรอีกบ้าง

ผมคงยังมีอีกหลายเรื่องเลยที่ถ่ายทอดได้ไม่หมด อยากเล่าอีกนะ ฮ่าๆ หวังว่าผมจะได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกับ Thoughtworks อีกครั้งในอนาคตนะครับ และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกครั้ง เป็นที่ที่ดีมากๆ ผมได้เรียนรู้จากที่นี่เยอะมากๆ ขอบคุณเพื่อนร่วมงานและลูกค้าทุกคนที่ผมเคยร่วมงานด้วยนะครับ

ถ่ายกับ Logo ของ Thoughtworks เก่าวันสุดท้ายเลย ทั้งชีวิตการทำงานและป้ายด้วย ฮ่าๆ

--

--

Pom Sutham
2Bearstalk

CEO & Co-Founder, KO-EXPERIENCE, UX/UI Consultancy. Love to listen people, Excited in Tech, Build the value for business. Contact me www.linkedin.com/in/suthamt