[UI Design] Get Started in UI Design อยากทำงาน UI แต่จะเริ่มยังไงดีย์ ?

DesireStack
5 min readMay 13, 2019

--

ตอนที่ 1 เริ่มต้นเข้าใจ UI Design คืออะไร?

สวัสดีครับพบกันอีกครั้งในบทความเกี่ยวกับงาน Design ต้องบอกเลยว่าในยุคปัจจุบันนี้งานด้าน Design นั้นมาแรงมากๆไม่แพ้งานสาย Developer เลยทีเดียว การจะเป็นนักออกแบบที่ดีได้นั้น ไม่ง่าย แต่ก็ ไม่ยาก เกินจนกว่าจะไปไม่ถึง เรามาเริ่มทำความรู้จักกับ UI Designer กันครับ แล้วจะรู้ว่าการเริ่มเป็น UI Designer ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

บางครั้งก็มีเพื่อนๆหรือพี่ๆที่สนใจศาสตร์ทางด้าน UI Design ว่าคืออะไรทำไมเงินเดือนถึงต่างจากสายดีไซน์อื่นๆมากกว่า แล้วถ้าอยากจะเป็น UI Designer จะเริ่มอย่างไร อ่านอะไร รู้อะไร มีที่ไหนสอน บ้าง โอ้วววว…เยอะแยะมากมาย

แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะบทความนี้ อาจจะช่วยได้(บ้าง) สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นเป็น UI Designer โดยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ก่อนจะทำความรู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไรต้องเข้าใจ “บริบท” ของสิ่งนั้นก่อนเสมอ

ใช่แล้วครับสิ่งที่ผมบอกก็คือ เราต้องเข้าใจว่า UI Designer คืออะไร ?

โดยหัวข้อในบทความนี้มีดังนี้:-

  1. ทำความรู้จัก UI Design
  2. UI Design Process ขั้นตอนการทำงานแบบ UI Designer
  3. คนลักษณะไหนที่เหมาะกับการเป็น UI Designer
  4. จะเป็น UI Designer ต้องเริ่มอย่างไร ?

เมื่อทุกท่านพร้อมแล้วไปลุยกันเล้ยยยยยย ……

1. ทำความรู้จัก UI Design

UI Design หรือ User Interface Design แยกออกได้เป็นสามคำคือ

User ก็คือ ผู้ใช้ ที่มีประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ปาก อวัยวะงอกออกมา( มือ เท้า )

Interface คือ ส่วนติดต่อเชื่อมประสานกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอ สิ่งพิมพ์ อุปกรณ์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่ง อากาศธาตุ 55+

Design คือ การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง

เมื่อรวมกันแล้วก็คือ การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหากับส่วนติดต่อประสานกับผู้ใช้ โดยผู้ใช้จะสามารถติดต่อกับ Interface ของเราผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก ร่างกาย หรือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเอง

ปรับความเข้าใจให้ตรงกันตรงนี้คือ UI Designer นั้นไม่ได้เป็นคนที่ออกแบบหน้า Application หรือ Website เพียงอย่างเดียว แต่การออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ก็จะเรียกต่างๆกันออกไป เช่น Product design. Interaction design. Sound design. Light design. Multimedia design. Illustration design. Architecture. Interior design. และอีกเยอะแยะมากมาย

ว้าวๆ มั้ยละ 555555+

แต่ในที่นี้ผมจะจอพูดถึง UI Designer (GUI Designer)* ที่ทำหน้าที่ออกแบบ Visual ของ Monitor Device. หน้าตาที่แสดงออกทางหน้าจอของอุปกรณ์ต่างๆ

มาถึงตอนนี้เริ่มสงสัยแล้วใช่มั้ยครับว่า UI Designer ทำอะไรบ้าง?

ที่มา : https://www.freepik.com/free-vector/ui-ux-design-landing-page_4010922.htm

2. UI Designer ทำหน้าที่อะไร

หน้าที่หลักๆของ UI Designer คือการทำ Visualize ของ UI Application ให้ออกมามีลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนจริงที่สุด เพื่อนำไปให้นักพัฒนาหรือโปรแกรมเมอร์พัฒนาให้ใช้งานได้จริงต่อไป

ขั้นตอนการทำงานของ UI Designer

การทำงานของ UI Designer แบบทั่วๆไป มีขั้นตอนดังนี้

  1. รับ Requirement สิ่งที่ต้องทำ โดย อาจเป็นการรับ wireframe มาจาก UX Designer หรือรับข้อมูลที่ได้รับจาก Team Research มาแล้ว
  2. Research หรือหา Reference Style ต่างๆโดย Follow up ตามข้อมูลและ Wireframe ที่ได้จาก Team และข้อสำคัญคือต้องคำนึงถึงรูปร่างหน้าตาของ Product เข้าใจจุดประสงค์ที่เราต้องการออกแบบหน้านั้นๆให้ได้ผลลัพธ์กับ User ด้วย
  3. เมื่อเราได้หาข้อมูลต่างๆมาแล้วก็เริ่มลงมือ Sketch แบบโดยในกรณีที่ไม่ได้ Wireframe มาก็จะต้องทำเอง แต่ถ้าได้มาเราก็สามารถ ทำ Visualize ได้เลย โดยเครื่องมือการ Sketch ก็คือ ดินสอ ยางลบ กระดาษ นั่นเอง ไม่ควรทำในคอมพิวเตอร์เลยเพราะบางครั้งเราจะอยากเกิดกิเลส ใส่สีเบาๆ ใส่มุมโค้งๆ ซึ่งทำให้งานช้า หัวใจของการ Sketch คือการทำให้เราเห็นรูปแบบของ UI ได้เร็วๆและหลายๆแบบโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ในการแก้ไข
  4. การทำ Visualize ให้เหมือน Product จริงๆ ในขั้นตอนนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดยิบย่อยอีก (เอาไว้เขียนแยกอีกทีนะครับ 5555 ) โดยเครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบันก็มีมากมาย เช่น Adobe XD (น้องใหม่มาแรง) Figma และ Sketch App (สำหรับระบบปฏิบัติการ MacOs)
  5. เมื่อเราทำ UI แบบมี Visualize แล้วก็ต้องทำการ Review กับทีมว่างานของเราที่ออกไปนั้นพร้อมที่จะนำออกไป Test ได้หรือไม่
  6. เมื่อผ่านการ Reviews แล้ว ก็ควรจะนำไป Test เบื้องต้นจากผู้ใช้งานที่ได้ผ่านกระบวนการของ UX Design Process มาแล้ว และรับข้อมูลเพื่อนำ UI ไปแก้ไข
  7. สมมติว่า UI ของเราทำการ Test มาแบบเบาๆแล้วผ่านถูก Approve เรียบร้อย หน้าที่ต่อไปของเราคือการเตรียม Asset และ design specification เพื่อให้ Developer สามารถทำงานได้ง่ายที่สุดและสร้างปัญหาให้ Developer น้อยที่สุดเพราะแค่ให้เค้าเครียดกับการโค้ดก็น่าสงสารแล้ว 555+
  8. การ Follow up กับ Team Development ในบางครั้งงานที่เราได้ทำไปแล้วในทางเทคนิคก็อาจจะเกิดปัญหาระหว่างการพัฒนาได้ เราจึงต้องมีทักษะการคุยกับทีม Developer ด้วยนั่นเอง
  9. เมื่อเราทำงานครบปล่อยจบปิ้ง แต่หน้าที่ของเรายังไม่จบเราก็ต้องไปเริ่มข้อ 1 กันใหม่

และนี่คือหน้าที่คร่าวๆ ของ UI Designer ในการทำงานกับ Product หนึ่งๆ นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีกลายอย่างที่ UI Designer ควรจะ(ต้อง) ทำได้ คือ ทำ Design Style Guide , Design System , Asset illustration , Product Identity, Element และอื่นๆตามที่เกี่ยวข้อง

3. คนลักษณะไหนที่เหมาะกับการเป็น UI Designer

จำเป็นหรือเปล่าต้องเรียนศิลปะมาหรือเก่งงานด้าน Visualize ถึงจะเป็น UI Designer ได้ขอบอกว่า ไม่จำเป็นครับ ไม่จำเป็นจริงๆขอแค่คุณรักที่จะเรียนรู้และหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่คนที่มีพื้นฐานด้านศิลปะมานั้นจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเช่น การจัดวาง หรือ สี ที่ใช้คือมันจะมี Sense มาก่อนคนอื่นแต่ก็งานด้าน UI Design ไม่ใช่งาน ArtWork จ๋าๆมากๆ แต่เป็นงาน Art&Science ที่ต้องใช้ทั้งสาขาทางวิทยาศาสตร์และศิลปะควบคู่กัน มันคืองานศิลปะที่ต้องมีเหตุและผล และต้องทดลอง เก็บผลการทดลอง รับ Feedback เพื่อนำมาปรับแก้ไข เป็นการสื่อสารสองทางระหว่าง User และ นักพัฒนานักออกแบบ ไม่ใช่การใช้อารมณ์ในการทำเพียงอย่างเดียว เพื่อเกิดการสื่อสารทางเดียวแบบงานศิลปะ นั่นเองครับ เพราะฉะนั้น ขอแค่คุณเปิดใจ และหมั่นตามกระแสเทคโนโลยี ก็สามารถเป็น UI Designer ที่ดีได้เช่นกันครับ

  • *เพิ่มเติม การออกแบบของ UI Designer นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามและประโยชน์การใช้งานแล้วต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาด้วย ดังนั้น UI Designer ที่ดีกว่าควรจะมีพื้นฐานหรือเรียนรู้หลักการพัฒนาด้วย เช่น พื้นฐาน Grid CSS , Grid ในระบบปฏิบัติการประเภทต่างๆอีกด้วยครับ

4. จะเป็น UI Designer ต้องเริ่มอย่างไร ?

กว่าเราจะสามารถเรียกตัวเองว่า UI Designer ได้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง จากประสบการณ์ทำงานของผมทางด้าน UI Design มาโดยประมาณ 2 ปี จากที่ผมเป็นคนที่มาจากสาย Graphics Design นั้นพบว่าการจะกลายเป็น UI Design ที่สามารถไปทำงานได้จริงนั้นบอกตรงๆว่าค่อนข้างมี Learning Curve สูงแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินจะเริ่มต้นได้นั่นเอง โดยผมจะสรุปแนวทางออกมาได้ 7 ขั้นการเริ่มเป็น UI Design นั่นเอง

การเริ่มต้นที่ดี ก็คือการหมั่นฝึกฝนและมีวินัยทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ตัวเราพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและจะกลายเป็น UI Designer ที่ดีได้นั่นเอง

7 ขั้นการเริ่มเป็น UI Designer

  1. เรียนรู้ทฤษฎีการออกแบบ การเริ่มต้นเข้าสู่งานสายออกแบบแน่นอนสิ ก็ต้องเรียนรู้ทฤษฎีเบื้องต้นสำหรับงานออกแบบ เพราะทฤษฎีการออกแบบจะเป็นการทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยคุณจะได้รู้เกี่ยวกับ หลักจิตวิทยาการรับรู้ของมนุษย์ ว่า ทำไมงานออกแบบบางอย่างถึงรู้สึก เห้ยดูครบ ดูดี สวยงาม แต่งานบางงานกลับดูแย่ ไม่ได้เรื่อง อะไรทำนองนี้ ทุกอย่างมันมีข้อพิสูจน์จากหลักการออกแบบนั่นเอง ในเบื้องต้นลองเรียนรู้จากทฤษฎีองค์ประกอบของการออกแบบ เช่น Gestalt principles , Typography , Color Theory และอื่นๆอีกมากมาย

2.เรียนรู้กระบวนการออกแบบ User Experience Deign (UX Design) เนื่องจากงานทางด้าน UI Design เป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานที่สัมพันธ์กันกับ UX Design นั่นเอง ทำให้การทำงานด้านนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ UX Design Process อีกด้วย ทำให้ในบางครั้งเกิดการเรียกตำแหน่ง UI Design ว่า UX/UI Design นั่นเอง เพราะว่า UX ไม่ใช่ UI แต่ UX และ UI แยกออกจากกันไม่ได้นั่นเองครับผม >_< ส่วนเรื่องเบื้องลึกไว้ผมจะมาแชร์อีกทีนะครับ

3.พัฒนาจากตาคนธรรมดาเป็นตาเหยี่ยว ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรมใดๆนะครับ แต่เป็นการพัฒนาสายตาของเราให้เป็นคนแม่นยำ ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แม้เพียง 1 Pixel ที่ต่างกันก็ต้องมองเห็น และการทำให้สายตาของเรามีลักษณะที่สามารถแยกออกได้ว่างานใดเป็นประเภทงานออกแบบที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็คือพัฒนามาจากทฤษฎีการออกแบบ และ การดูงานของผู้อื่นมากๆ ไม่ใช่การก๊อปเพื่อทำตาม แต่คือการก๊อปเพื่อบอกวัตถุประสงค์และข้อดีข้อเสียของงานออกแบบตามทฤษฎีการออกแบบได้เบื้องต้น และเป็นการตามเทรนด์การออกแบบของนักออกแบบคนอื่นๆได้อีกด้วย ทำให้เรามีความสามารถในการทำงานไปอีกขั้น สำหรับวาร์ปที่เราจะสามารถดูงานดีไซน์ เอาไว้เป็นแรงบันดาลใจ (No ก๊อปนะครับ 555+) เช่น dribble , behance ,onepagelove , uimovement , pinterest , collect ui , Instagram และอื่นๆอีกมากมาย (ในคราวต่อไปจะทำบทความรวบรวมมาให้นะครับ อิอิ)

4.อ่านหนังสือและบทความดีไซน์ให้ได้มากที่สุด เพราะการอ่านทำให้เรารู้มากขึ้นมากกว่าเมื่อวานโดยพยายามอ่านให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่องก็ยังดีครับ 555+ พยายามทำให้เป็นนิสัยครับ จะทำให้เราเป็นคนขี้สงสัยอยากรู้ตลอดเวลา

5.เรียนรู้การใช้เครื่องมือที่จะทำ UI Design เพราะว่าการที่เราสามารถใช้เครื่องมือการทำงานที่หลากหลายได้นั้นคือข้อได้เปรียบอย่างมาก แต่ถามว่าจำเป็นต้องรู้ทุกตัวรึเปล่าก็ไม่ครับเพราะว่าโปรแกรมการดีไซน์ในปัจจุบันก็มีลักษณะการใช้งานคล้ายๆกัน ในการเริ่มต้นเรียนรู้ระยะแรกอาจจะเลือกโปรแกรมที่เราเห็นแล้วน่าจะชอบหรือสะดวก แต่ในการทำงานจริงๆก็ควรจะเรียนรู้อันที่องค์กรนั้นๆใช้นะครับเพื่อให้สามารถทำงานกับทีมได้นั่นเอง อย่างของผม เริ่มใช้จาก illustrator แต่เนื่องจากโปรแกรมนี้ไม่ได้เอื้ออำนวยเท่าไหร่ในความคิดของผม จึงเปลี่ยนโปรแกรมไปใช้อย่างอื่นแทน ในตลาดโปรแกรมการดีไซน์ในปัจจุบันมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย ตามสะดวกเลยครับ เช่น Adobe XD , Figma , Sketch App , Invision , Photoshop , Illustrator เป็นต้น

6.สร้างโปรเจคแบบอุดมคติของตัวเอง เพื่อเป็นการนำทฤษฎีหรือข้อการเรียนรู้ที่ได้รับมาลองทดลองสร้างไว้เล่นๆ เก็บเป็นผลงานตัวเอง พยายามสร้างทุกๆวัน เพื่อเป็นการเก็บพัฒนาการการออกแบบของเราเอง ในเริ่มแรกอาจจะลองกำหนดโจทย์ให้ตัวเอง เช่น ฉันอยากได้แอปพลิเคชั่นฟังเพลงที่มี บลาๆๆๆๆ หรือ แอปพลิเคชั่นขายต้นไม้ เราก็ลองออกแบบเป็น Single pages ก็ได้ครับไม่จำเป็นต้องทำเต็ม Flow เพราะจุดประสงค์ก็คือการฝึกฝนตัวเราเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรละว่างานที่เราทำเล่นๆเนี่ยจะดีหรือไม่ดีมีผลอย่างไร เราก็ควรจะนำไปแชร์ให้ชาวโลกเห็นครับ เช่น dribble , Instagram เพื่อให้เพื่อนๆในวงการนักออกแบบได้ให้ feedback กับเราทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ดีกว่าการเก็บงานไว้ดูคนเดียว ชมตัวเองคนเดียวนะครับ

7. หมั่นออกไปหาความรู้จากผู้ใหญ่ “ผู้ใหญ่” ในที่นี้ไม่ใช่คนที่มีอายุมากกว่านะครับแต่หมายถึงคนที่มีประสบการณ์ทำงานมามากกว่า ออกไปดูดความรู้ประสบการณ์การทำงานของเค้า มาเพื่อเป็นแนวทางให้ตัวเอง เผื่อเราจะได้แนวคิดหรือประสบการณ์ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน เช่น การไปงาน Meet up , การติดตาม Designer ที่อยู่ในวงการหรือที่เราชื่นชอบ , การลงงานในคอมมูนิตี้ของนักออกแบบเพื่อให้เราได้รับคำแนะนำ , การไปฝึกงาน และอื่นๆอีกมากมาย และแน่นอนทุกครั้งที่คุณออกไปหาความรู้ คุณควรจะเปิดใจกว้างๆ กว้างแบบกว้างมากๆ เพื่อให้เราได้รับไอเดียดีๆใหม่ๆ

ก็สำหรับบทความนี้เป็นการแชร์ประสบการณ์การทำงานเล็กๆของผมเองที่เริ่มต้นการเข้าสู่สายออกแบบเพื่อการใช้งาน ในเบื้องต้น หากผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะสามารถให้คำแนะนำได้เสมอครับ :) และบทความนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางสายออกแบบของผมที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ผู้อ่านท่านใดอยากร่วมเดินทางไปกับผมก็ ช่วยกดติดตามหรือตบมือเป็นกำลังใจให้ผมได้นะคร้าบบบบ…❤ ❤ ❤

ส่วนบทความหน้าจะเป็นหัวข้ออะไร รอติดตามได้เลยครับ สำหรับวันนี้ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่เข้ามาอ่านมากนะครับ สวัสดีครับ

W.Worawut

CMM KMUTT 4th years

(PartTime)Junior UI Designer Donuts Bangkok

ฝาก Reference จ้า

หมายเหตุ

*GUI Design หรือ Graphics User Interface บางที่ก็เรียกการออกแบบหน้าแอปพลิเคชั่นว่า GUI Design เนื่องจากทำให้คำศัพท์ดูระบุชัดว่าเราออกแบบอะไรมากกว่า UI Design อย่างที่บอกไปเบื้องต้นคือ UI Design ไม่ได้ออกแบบแค่หน้าแอปพลิเคชั่นเฉพาะอย่างเดียวเท่านั้นนั่นเองครับ

--

--

DesireStack

UI Designer who want to be The Better Designer. “I believe everyone can learn how to design for the better world will be.”