[สรุป] หนังสือ Managing Oneself — ปัญญางาน จัดการตน และข้อคิดจาก Peter F. Drucker - ปรมาจารย์การจัดการของโลก

ART LERD
6 min readDec 31, 2019

--

ภาพหนังสือ Managing Oneself — ปัญญางานจัดการตน และข้อคิดจาก Peter F. Drucker — ปรมาจารย์การจัดการของโลก

หนังสือ Managing Oneself — ปัญญางาน จัดการตน
หนึ่งในหนังสือชุด Harvard Business Review Classic Series
ผลงานที่ทรงค่าและทรงพลัง ที่เขียนโดยปรมาจารย์การจัดการของโลก
อย่าง Peter F. Drucker ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสถาบันการศึกษา Harvard Business School ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Peter Ferdinand Drucker — ปรมาจารย์การจัดการของโลก

Peter F. Drucker ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการจัดการสมัยใหม่

เขาเป็นผู้คิดหลักสูตร MBA สำหรับผู้บริหาร สร้างศัพท์คำว่า
คนงานความรู้ (knowledgeworker) และ สังคมองค์ความรู้ (knowledge society)
ก่อนที่โลกจะทันได้รู้สึกถึงการก่อเกิดของสิ่งเหล่านี้

“ Managing Oneself — ปัญญางาน จัดการตน
หนังสือเล่มนี้กระตุ้นให้เราขบคิดและตั้งคำถามกับหลายเรื่องสำคัญของชีวิตได้อย่างมีพลัง สร้างสรรค์ และเป็นระบบ

หนังสือเล่มนี้มิได้มีคำตอบ หากแต่ได้สรุปคำถามสำคัญ ที่เราจำเป็นต้องตอบให้ได้ มาที่ละข้อทีละขั้น เพื่อช่วยให้เราเข้าใจศาสตร์สำคัญที่สุดศาสตร์หนึ่งของมนุษย์ นั้นคือ การจัดการตนเอง “

“ การได้อ่านหนังสือเล่มนี้เปรียบ เสมือนการได้นั่งลงสนทนากับปรมาจารย์ด้านการจัดการและที่ปรึกษาด้านบริหารธุรกิจที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

นี้คือปัญญาราคาถูกที่สุด เท่าที่มนุษย์จะผลิตได้ “

ภิญโญ ไตรสรุยธรรม ผู้เขียนหนังสือ Future — ปัญญาอนาคต
และผู้แปล Managing Oneself — ปัญญางาน จัดการตน (ฉบับภาษาไทย)

[ข้อแนะนำในการอ่าน] คือ อ่านช้า ทีละข้อ ทีละบรรทัด และอย่าโกหกตัวเอง !!

อ่านออกเสียงให้ตนเองฟังในบางครั้ง ถ้าท่านเป็นนักฟัง
จดบันทึกข้อความสำคัญ ลงไปในสมุด ถ้าท่านเป็นนักเขียนบันทึก
ลองนึกย้อนประสบการณ์ถึงความคาดหวังและผลลัพธ์ของตัวเองในชีวิต 9–12 เดือนที่ผ่านมา ตาม [คำถาม] ที่คุณพบในบทความนี้

2 ใน 3 ส่วนของชีวิต คือ ชีวิตการทำงาน เราจึงต้องเข้าใจและตามติด การจัดการตนเอง (Managing Oneself)

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมคนธรรมดาส่วนใหญ่อย่างพวกเรา
จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการจัดการตนเอง
เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง
เราจำเป็นต้องวางตัวเองในจุดที่สามารถสร้างสรรค์ได้สูงสุด
เราจำเป็นต้องตื่นรู้และตามติดตลอด 50 ปีแห่งชีวิตการงาน

ซึ่งนั่นหมายถึง การรู้ว่าเราควรจะเปลี่ยนงานของเรา อย่างไร และเมื่อใด

“คนเรานั้นสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น
เราไม่สามารถสร้างผลงาน
จากจุดอ่อนทั้งหลายของเราได้
ไม่ต้องเอ่ยถึง งานที่เราไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง “

เราจึงจำเป็นต้องรู้จุดแข็งของตนเอง ผ่าน การวิเคราะห์ทบทวนตนเอง (Feedback Analysis)

Feedback Analysis — การวิเคราะห์ทบทวนตนเอง เมื่อเปรียบเทียบ เราจะรู้ว่า สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ

Feedback Analysis คือ การเทียบเคียงผลสัมฤทธิ์ กับความคาดหวัง (เป้าหมาย)
ผ่านการเพ่งความสนใจ ประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล

นับจากวันที่เริ่มงาน หรือ โปรเจ็ค เป้าหมายต่างๆ
ภายใน 9–12 เดือนให้หลัง เทียบเคียงผลสัมฤทธิ์กับความคาดหวัง กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (อย่าโกหกตัวเอง !!)

วิธีการ Feedback Analysis นี้จะแสดงให้คุณเห็นว่า
สิ่งที่คุณกำลังทำหรือสิ่งที่คุณทำไม่ได้
สิ่งไหนที่ขัดขวางคุณจากการใช้ประโยชน์สูงสุดจากจุดแข็งของคุณ

เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังและผลสัมฤทธิ์
เราจะพบสิ่งที่เราไม่ควรทำ

มันจะช่วยแสดงให้เห็นว่า จุดไหนที่คุณไม่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จุดไหนที่คุณทำได้ดี และท้ายสุด จุดไหนที่คุณไม่มีความแข็งแกร่งและไม่อาจแสดงผลงานได้เลย

เราควรใช้พลังงานน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการพัฒนางานในพื้นที่ที่เราไม่ถนัด

“การพัฒนาจากจุดที่ไร้ความสามารถ
ให้ไปสู่จุดกึ่งดิบกึ่งดี
จะใช้พลังงานมากกว่าการพัฒนา
จากจุดที่เยี่ยมให้ไปสู่จุดที่ยอดเยี่ยม ”

เมื่อเข้าใจถึง จุดแข็ง ให้นำไปปฎิบัติดังนี้

1. การรวมพลังไปที่จุดแข็ง วางตนเองไปในตำแหน่ง ที่จะใช้จุดแข็งสร้างผลงานได้

2. การทุ่มเทพัฒนาจุดแข็งของคุณ จาก Feedback Analysis จะทำให้คุณเห็น
จุดไหนที่คุณจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ ทักษะไหนที่คุณจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ความรู้อะไรของคุณที่ขาดหายไป อันเป็นความรู้ที่สามารถเติมเต็มได้

3. ค้นพบ ละเลิก ความอหังการ์ทางปัญญา ก้าวผ่าน ความยึดมั่นในความคิด ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ที่เป็นจุดแข็งของตนเอง คิดว่าตนเองเก่ง จนละเลยมุมคิด ของศาสตร์ต่างๆ(จุดแข็งของผู้อื่น) ซึ่งจะทำลายตนเอง

เช่น นักวางแผนต้องเข้าใจว่า งานไม่ได้จบเมื่อวางแผนเสร็จ
แต่เขาต้องเสาะแสวงหา คนที่จะมาทำตามแผน
อธิบายแผนการให้คนเหล่านั้นฟัง ใหสำเร็จตามที่ว่างไว้

เขาต้องสามารถปรับและเปลี่ยนแผน เมื่อมันถูกนำไปปฏิบัติจริง
หรือรู้ว่าเมื่อไหร่ ที่ควรจะหยุดผลักดันแผนนั้น !!

4. ลดทอนอุปนิสัย ด้านลบที่จะขัดขวางการทำงาน
ช่วยให้คนสองคนทำงานด้วยกันได้ ไม่ว่าจะชอบหน้ากันหรือไม่ก็ตามที

เช่น การกล่าวคำว่า ‘กรุณา’ ‘ขอบคุณ’
การจดจำชื่อเสียงเรียงนาม การไถ่ถามสารทุกซ์สุกดิบ

วิธีการทำงานของแต่ละคนนั้น มีลักษณะเฉพาะตัว(ปัจเจก) เช่นเดียวกับจุดแข็ง

วิธีการทำงานเป็นเรื่องของลักษณะนิสัย ไม่ว่าจะเป็นตามธรรมชาติ หรือเกิดจากเลี้ยงดู เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานติดตัว ก่อนที่เราจะเริ่มต้นชีวิตการงาน

Managing Oneself : How do I perform ? — ฉันมีวิธีการทำงานอย่างไร

เราต่างมีวิธีกันทำงานที่ต่างกัน เช่นเดียวกับความถนัดและความไม่ถนัด
วิธีการทำงานของคน อาจปรับเปลี่ยนได้บ้างเล็กน้อย
แต่ไม่สามารถปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด และแน่นอน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

คนเราทำงานสำเร็จด้วยดี
เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบฉันใด
คนเราย่อมต้องการทำงาน
ในวิธีการที่ตนเองถนัดที่สุดฉันนั้น

มีลักษณะร่วมกันบางอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามีวิธีการทำงานอย่างไร

[คำถาม ]
คุณเป็นนักอ่านหรือเป็นนักฟัง ?

มีคนน้อยมากเหลือเกิน ที่รู้ว่าโลกมีทั้งนักอ่านและนักฟัง
และน้อยคนนักที่จะเป็นได้ทั้งสองประเภท

สังเกต ตนเอง
นักอ่าน คุณทำงานได้ดี เมื่อได้รับข้อมูลและตกผลึก ผ่านการอ่าน
นักฟัง คุณทำงานได้ดี เมื่อได้รับข้อมูลและตกผลึก ผ่านการฟัง

โรงเรียนเกือบทุกแห่ง วางแผนผ่านสมมติฐานที่ว่า มีวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องเพียงวิธีเดียว ผ่านการเรียนในหลักสูตรการศึกษา แต่ความจริงแล้วเราต่างมี การเรียนรู้ต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล

การถูกบังคับให้เรียนรู้ ในวิธีการที่โรงเรียนสอน
จึงเป็นการทารุณกรรมเด็ก ที่มีวิธีการเรียนรู้ต่างออกไป

Managing Oneself : How do I learn ? — ฉันมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร

ความจริงแล้ว อาจจะมีวิธีการเรียนรู้อีกไม่ต่ำกว่า 6 วิธี
มีคนอย่าง วิลตัน เซอร์ซิลล์ (รัฐบุรุษ ของอังกฤษ)ที่เรียนรู้ผ่านการเขียน

หรือ เบโธเฟน (นักประพันธ์เพลงดนตรีคลาสสิค)
เรียนรู้ด้วยวิธีการจดบันทึก เขาทิ้งสมุดสเก็ตช์ไว้มากมาย แม้เขาจะกล่าวว่า
ไม่เคยเหลือบแลมันเลย เมื่อต้องประพันธ์เพลงจริงๆ

[คำถาม ]
คนบางคนเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
บางคนเรียนรู้ด้วยการฟังตนเองพูด

แล้วคุณ เรียนรู้ผ่านวิธีการไหน ?

ในบรรดาองค์ประกอบสำคัญ
ของการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
ความเข้าใจว่าตนเองเรียนรู้ด้วยวิธีไหน
เป็นความรู้ที่ง่ายที่สุด
ที่เราสามารถแสวงหาได้

เมื่อถามผู้คนว่า “คุณเรียนรู้ด้วยวิธีไหน” คนส่วนใหญ่มักจะรู้คำตอบ
แต่เมื่อถามต่อว่า “คุณนำวิธีการไปสู่การปฏิบัติหรือไม่”
น้อยคนนักที่จะตอบรับ

การไม่นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการไร้ผลงาน !

บางคนทำงานได้ดีที่สุด ในฐานะสมาชิกของกลุ่ม
บางคนทำงานคนเดียวได้ดีที่สุด

Managing Oneself : Work will with People or a loner ? — ฉันทำงานได้ดีกับผู้คนหรือฉันทำงานคนเดียวได้ดีกว่า

[คำถาม ]
ในการจัดการตนเองให้เกิดประสิทธิผล คุณจำเป็นต้องถามตนเองว่า
ฉันทำงานกับผู้คนได้ดี หรือจะดีกว่า ถ้าฉันทำงานคนเดียว ?

Managing Oneself : A commander or a subordinate ? — ฉันเป็นผู้นำหรือผู้ตาม

[คำถาม ]
ถ้าคุณทำงานกับผู้คนได้ดี คำถามต่อมาที่ต้องถามก็คือ
ในความสัมพันธุ์แบบไหน ผู้นำ หรือ ผู้ตาม ?

Managing Oneself : I produce results as — ฉันสร้างผลงานในฐานะ

จากลักษณะการทำงานและความสัมพันธ์กับผู้คน

[คำถาม ]
คุณสามารถทำงานให้เกิดผลลัพธ์ ในฐานะ
คนตัดสินใจ หรือ ที่ปรึกษา อะไร ?

บางคนมีพรสวรรค์อันโดดเด่น ในฐานะผู้ฝึกสอนและที่ปรึกษา
บางคนอาจขาดไร้ทักษะในฐานะที่ปรึกษา

Managing Oneself : I am — ฉันเป็น

[คำถาม ]
คุณเป็น หมายเลขหนึ่ง หรือ หมายเลขสอง ?

หมายเลขหนึ่งขององค์กรนั้น ต้องการคนที่ตัดสินใจ
ผู้นำที่เป็นนักตัดสินใจ มักชอบวางคนที่ไว้ใจ
ในตำแหน่งหมายเลขสอง เพื่อเป็นที่ปรึกษา
และนั่นเป็นตำแหน่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่น

แต่เมื่อเลื่อนพวกเขา มาอยู่ในตำแหน่งหมายเลขหนึ่ง
บุคคลเดียวกันกลับประสบความล้มเหลว เขาและเธอรู้ว่าจะต้องตัดสินใจเช่นไร
แต่ไม่อาจแบกความรับผิดชอบได้ เมื่อต้องลงมือตัดสินใจจริงๆ

ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนทำงานได้ดีที่สุด ในฐานะที่ปรึกษา
แต่ไม่สามารถรับภาระและแรงกดดัน จากการตัดสินใจได้

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำไม
หมายเลขสองในองค์กรมักจะล้มเหลว
เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
ขึ้นไปเป็นหมายเลขหนึ่ง

Managing Oneself : I perform well under — ฉันทำงานได้ดีภายใต้

[คำถาม ]
ฉันทำงานได้ดีภายใต้แรงกดดัน หรือฉันต้องการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างแน่นอนและพยากรณ์ได้ ?

สรุปจุดแข็ง อย่าพยามยามเปลี่ยนตัวเอง

เพราะคุณจะไม่ประสบความสำเร็จ
แต่จงทำงานหนัก เพื่อพัฒนาวิธีการที่คุณจะสร้างสรรค์ผลงาน
และอย่าพยายามรับงานที่คุณไม่สามารถทำ กระทั่งงานที่จะทำได้อย่างย่ำแย่

Managing Oneself : What are my values ? — ฉันให้คุณค่ากับสิ่งใด

[คำถาม ]
เพื่อที่จะจัดการตนเองได้
สุดท้ายแล้ว คุณต้องถามตัวเองว่า
คุณค่าที่แท้จริงของคุณคืออะไร ?
สิ่งที่คุณยึดถือหรือความเชื่อ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน
ผ่าน Mirror Test หรือ แบบทดสอบกระจก

การค้นหา Value ผ่าน Mirror Test หรือ แบบทดสอบกระจก

เช่น เรื่องเล่าของเอกอัครราชทูต กับ งานเลี้ยงตอนรับ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องความนิยมชมชอบในสตรี
และได้แสดงพระราชประสงค์อย่างชัดเจน ว่าต้องการงานเลี้ยงชนิดใด

ท่านเอกอัครราชทูต ไม่จัดงานเลี้ยงแบบนั้น และกล่าวว่า
“ผมปฏิเสธที่จะเห็นแมงดาในกระจก เมื่อผมโกนหนวดในตอนเช้า”

นี่คือ กระจกทดสอบ จริยธรรมทำให้คุณต้องถามตัวเองว่า

[คำถาม ] ฉันต้องการเห็นคนแบบไหน เมื่อฉันส่องกระจุกในตอนเช้า
คุณค่าแบบไหนที่ยึดถือ ที่จะบอกว่า ‘จะทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ สิ่งใด

Managing Oneself : My Values — ฉันให้คุณค่ากับ

[คำถาม ]
สิ่งที่คุณให้ คุณค่าตัวเอง กับ คุณค่าขององค์กร สอดคล้องกันหรือไม่ ?

องค์กรก็ไม่ได้ต่างจากบุคคล
ทุกองค์กรมีคุณค่าที่ยึดถือแตกต่างกัน
การจะทำงานให้ได้ผล ในองค์กรหนึ่งองค์กรใด
สิ่งที่บุคคลให้ค่านั้นจำเป็นต้องตรงกัน
กับคุณค่าขององค์กร

การทำงานในองค์กรที่ให้ค่า กับสิ่งที่เราไม่อาจยอมรับ
หรือไม่สอดคล้องกับตัวเรา มิได้หมายความว่า คุณค่านั้นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน
หากทว่า ต้องใกล้เคียงกัน จนสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้
มิเช่นนั้น บุคคลอาจจะอึดอัดคับข้องใจ จนไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้

Managing Oneself : A Business should be run for Short-term or Long-term results ?

ธุรกิจควรดำเนินไปเพื่อเป้าหมายในระยะสั้น หรือมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายระยะยาวก็เป็นคำถามเกี่ยวกับระบบคุณค่าเช่นกัน

[คำถาม ]
คุณคิดเห็น ให้คุณค่า กับแนวทางในสร้างผลลัพธ์ในระยะสั้น หรือ ระยะยาว ?

แน่นอน ทุกบริษัทต้องการผลสำเร็จในระยะสั้น
และสร้างการเติบโตในระยะยาว
แต่เมื่อเกิดการขัดกันระหว่าง
ผลสำเร็จในระยะสั้นกับการเติบโดในระยะยาว
แต่ละบริษัทต้องเลือก จัดลำดับความสำคัญของตนเอง

Managing Oneself : Decision - การตัดสินใจ

จุดแข็งของบุคคลและวิธีการทำางาน โดยปกติแล้ว
แทบจะไม่ขัดแย้งกัน ทั้งสองสิ่งจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

“แต่บางครั้ง สิ่งที่เราให้ค่า
อาจขัดแย้งกับจุดแข็งของเรา
สิ่งที่เราทำได้ดี หรือดีมาก
กระทั่งประสบความสำเร็จ
อาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราให้ค่า

ในกรณีนั้น งานอาจจะไม่ใช่สิ่งที่มีค่า
พอที่เราจะอุทิตชีวิตทั้งชีวิต
หรือเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตให้ ”

Managing Oneself : Where do i belong ? — ที่ทางของฉันอยู่ที่ไหน

ก่อนที่จะหา ‘ที่ไหน’ ที่เราจะสร้างผลงาน
ต้องตอบคำถามสำคัญ ได้ 3 ข้อ

[คำถาม ]
1. อะไรคือจุดแข็งของฉัน
2. ฉันทำงานด้วยวิธีการอย่างไร
3. ฉันให้ค่าต่อสิ่งใด

นั่นจะทำให้สามารถตัดสินใจ และควรตัดสินใจว่า
ที่ทางของฉันอยู่ที่ไหน หรืออย่างน้อยก็ควรจะตอบให้ได้ว่า
ที่ไหนไม่ใช่ที่ทางของฉัน

การรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปาก
ต่อโอกาสที่เข้ามา ต่อข้อเสนอ และงานที่ได้รับมอบหมายว่า

“ฉันตกลงจะทำ นี่คือวิธีที่ฉันจะทำ
นี่คือโครงสร้างการทำงานที่ควรจะมี
นี่คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น
และนี่คือผลลัพธ์ที่คุณควรคาดหวังจากฉัน
ในกรอบเวลานี้ เพราะนี่คือสิ่งที่ฉันเป็น ”

“ความสำเร็จในอาชีพการงานนั้น
มิได้เกิดจากการวางแผน
หากพัฒนาขึ้นเมื่อคนเตรียมพร้อม เพื่อรับโอกาสใหม่ๆ
เพราะรู้จุดแข็ง รู้วิธีการทำงาน และรู้คุณค่า “

การรู้ที่ทางของตน สามารถจะเปลี่ยนสามัญชนคนธรรมดา
ผู้ทำงานหนัก ทุ่มเท แต่มีผลงานปานกลาง ให้กลายเป็นคนทำงานที่โดดเด่นเป็นสง่า

Managing Oneself : What should I contribute ? — ฉันควรจะทุ่มเทอุทิศตนให้กับสิ่งใด

ตลอดระยะเวลายาวนานในประวัติศาสตร์
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องถามว่า
ฉันจะทุ่มเทอุทิศตนเพื่อสิ่งใด (ทำตามสิ่งที่ตนเองให้คุณค่า)
พวกเขามักถูกบอกว่า
ควรจะทุ่มเทอุทิศตนให้กับอะไร (ทำตามที่บอก)

หน้าที่การงานของพวกเขา ถ้าไม่ถูกกำหนดโดยตัวงาน
เช่น ชาวนา ช่างฝีมือ ก็มักต้องยึดถือตามคำสั่งของนาย ดังเช่นผู้รับใช้ทั่วไป

[คำถาม ]
สิ่งที่คุณ จะมอบให้งานนั้นๆคืออะไร ? ด้วยความเข็มแข็ง วิธีการทำงาน และคุณค่าของคุณ

เพื่อจะตอบคำถาม จำเป็นต้องตอกย้ำ คำถามที่รากฐานสำคัญ 3 ประการ
1. สถานการณ์ขณะนี้ต้องการสิ่งใด
2. ฉันควรจะทุ่มเทที่สุดด้วยวิธีไหน เพื่อให้งานลุล่วงไปได้
3. อะไรคือเป้าหมายที่จำเป็นต้องบรรลุ เพื่อสร้างความแตกต่าง

ลักษณะของคำตอบที่ควรจะเป็น

1. เป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุนั้น ต้องท้าทาย ทว่าเอื้อมถึง
2. ควรเปี่ยมความหมาย ควรจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น
3. ควรเห็นได้ชัด ควรวัดผลได้ เพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องตามมาด้วยการปฏิบัติ
ซึ่งก็คือสิ่งที่ต้องทำ
4. จะเริ่มจากจุดไหน อย่างไร เป้าหมายอยู่ที่ไหน
5. เส้นตายที่ต้องทำให้ได้ในเวลาที่กำหนด

“การตั้งเป้าหมายที่มิอาจเอื้อมถึง
หรือเอื้อมถึงได้ในสถานการณ์
ที่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้นั้น
หาใช่ความทะเยอทะยาน
หากคือความโง่เขลา “

มีน้อยคนนักที่จะทำงานด้วยตนเอง และบรรลุผลสัมฤทธิ์ด้วยตนเอง เช่น ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ผู้เกริกไกร นักกีฬาผู้สามารถ

Managing Oneself : Responsibility for relationship — การจัดการตนเองต้องรวมถึงความสัมพันธ์กับผู้คน

คนส่วนใหญ่นั้นต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และสร้างผลงานร่วมกับผู้อื่น
นี่คือความจริง ทั้งสำหรับคนทำงานในองค์กร หรือคนที่ประกอบวิชาชีพอิสระ

การจัดการตนเอง จึงจำต้องรวมถึง ความใส่ใจในความสัมพันธ์กับผู้คน
ผู้อื่น มีความปัจเจก เช่นเดียวกับเรา
พวกเขาโหยหาความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับเรา พวกเขามีจุดแข็งของพวกเขา พวกเขามีวิธีการทำงานให้สำเร็จได้ ตามวิถีทางของพวกเขา พวกเขามีสิ่งตัวเองให้ค่า

1. คุณจึงจำเป็นต้องเข้าใจจุดแข็ง วิธีการทำงาน และการให้ค่าของเพื่อนร่วมงาน

การสร้งงานให้เกิดประสิทธิผล
ต้องเข้าใจคนที่คุณทำงานด้วย
คนที่คุณต้องพึ่งพา แล้วจึงดึงจุดแข็งของเขาออกมาใช้
ในวิธีการที่เขาถนัด และในสิ่งที่พวกเขาให้ค่า

งานจึงจะก้าวหนสัมฤทธิ์ผล ความสัมพันธ์ในทางการงานนั้น

2. เอาใจใส่ในความสัมพันธ์ คือ ความใส่ใจในการสื่อสาร

ซึ่งปัญหาหลักขอคนทำงาน คือ การเข้าใจไม่ตรงกันของคนทำงาน
ไม่รู้ว่าคนอื่นในองค์กรนั้นกำลังทำอะไร

และทำงานกันอย่างไร หรือกำลังทุ่มเทให้กับสิ่งใด
และคาดหวังผลสัมฤทธิ์ใดจึงขึ้นอยู่กับผู้คน เช่นเดียวกับตัวงาน

“แม้คนที่เข้าใจในเรื่อง ความเอาใจใส่ในความสัมพันธ์
บ่อยครั้งก็ยังสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน น้อยเกินไป
พวกเขากลัวจะถูกเข้าใจผิดว่า อวดดี
อยากรู้อยากเห็น และไม่ประสีประสา ทว่า พวกเขาคิดผิด ”

เมื่อใดก็ตาม ที่มีใครคนหนึ่ง เดินไปบอกกล่าวกับเพื่อนร่วมงานว่า
ฉันเก่งในเรื่องนี้ ฉันทำงานด้วยวิธีการนี้ นี่คือสิ่งที่ฉันยึดถือให้ค่า
และนี่คือสิ่งที่ฉันต้องการจะทุ่มเทให้ เพื่อให้เกิดผลซัดเจนจับต้องได้
คำตอบมักจะเป็นว่า “มันมีประโยชน์ที่สุด แต่ทำไมคุณไม่บอกก่อนหน้านี้”

คำถามที่ควรถาม กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เจ้านาย
เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกในกลุ่ม

[นำไปถามต่อ]
1. อะไรคือสิ่งที่ผมควรจะรู้ เกี่ยวกับจุดแข็งของคุณ
2. วิธีที่คุณทำงาน คุณค่าที่คุณยึดถือ
3. สิ่งที่คุณต้องการทุ่มเทให้

“ ปัจจุบัน องค์กรมิได้สร้างด้วยกำลังอีกต่อไป
หากตั้งมั่นขึ้นด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ
ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคล
มิได้จำเป็นว่าทั้งสอง จะต้องรักใคร่ชอบพอกัน
แต่หมายความว่า ทั้งสองต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ”

หากคุณทำงานมา 20 ปีของการทำงานชนิดเดียวกันซ้ำๆ
จะเชี่ยวชาญในสายงานนั้นมาก

แต่ถึงจุดหนึ่ง จะไม่ต้องเรียนรู้ หรือทุ่มเทกายใจ
งานจึงมิได้ท้าทายหรือสร้างความพึงพอใจ อีกต่อไป

กระนั้น ก็ยังจำเป็น ต้องทำงานต่อไปอีก 20 หรือ 25 ปี จนเกษียณ
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมการจัดการตนเอง
ถึงโน้มนำไปสู่การเริ่มต้นอาชีพที่สอง ที่ยังคงต้องการความมท้าทายในชีวิต

Managing Oneself : The second ้half of life — ครึ่งสองของชีวิต

“ มีสิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนเข้าสู่การเรียนรู้
เรื่องการจัดการส่วนที่สองของชีวิต
นั่นก็คือ คุณจำเป็นต้องเริ่มดัน
นานก่อนที่คุณจะเข้าสู่ช่วงเวลาดังกล่าว “

ที่เราควรก่อร่างสร้างความสนใจที่สอง และเราควรต้องวางแผนไว้แต่เนินๆ ด้วยไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ตลอดชีวิตการงานอันยาวนานของเรา เมื่อไหร่เราจะถดถอยตกต่ำหนัก

ความสนใจที่สองอาจะมิให้เพียงเป็นเพียงแค่งานอดิเรกอีกต่อไป หากคือโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งหลายให้กับชีวิต

ในสังคมปัจจุบัน ยุคที่ความสำเร็จ
กลายเป็นสิ่งสำคัญจนน่ากลัว
การมีทางเลือกหลากหลาย
จึงกลายเป็นความจำเป็นยิ่งยวด

ในปัจจุบันที่ความก้าวหน้า และสภาพสังคมที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความท้าทายของการจัดการตนเอง

[คำถาม ]
ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่หมด คำถาม คือ อะไรเป็นประเด็นใหญ่ที่เราต้อง ตั้งคำถามกับตัวเองต่อไป ?ในการจัดการตนเองให้มีประสิทธิภาพ

เราอาจจะต้องเพิ่มคำถามใหม่ว่า เราทำงานได้ดีกับโลกออนไลน์ หรือ โลกออฟไลน์เรายังต้องเผชิญแรงกดดัน และต้องถามตัวเองว่า
เราเหมาะจะเป็นคนข้างหน้า หรือทำได้ดีกว่าถ้าอยู่เบื้องหลัง
และเราจะประกอบอาชีพอย่างไรในโลกยุคใหม่

[คำถาม ]
ในโลกที่การแข่งขันมากมาย
เราต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งหน้าใหม่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจะว่างต่ำแหน่งตัวเองไว้ที่จุดไหน ?

เราจะสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างไร ?

ในเมื่อโลกแห่งความเป็นจริง
เรามิได้รักกันเหมือนในโลกโซเชียล
เราจะสร้างความกลมเกลียวให้กลับมาได้อย่างไร
ในโลกที่ถูกปกคลุมด้วยความเกลียดชัง

“ ความจำเป็นของการจัดการตนเอง
จึงหาใช่สิ่งใด หากคือ
การสร้างสรรค์ให้เกิดการปฏิวัติ
กิจการงานแห่งมนุษย์ ”

บทความที่เกี่ยวข้อง
ค้นหา Value หรือ คุณค่า ที่เรายึดถือ (เพิ่มเติม)
อ่านบทความคลิก >> รู้จัก เข้าใจ ค้นหาตัวเอง กับการโค้ชด้วยการ์ด <<

เข้าใจตัวเอง คุณค่า และความหมายของชีวิต (เพิ่มเติม)
ผ่านหนังสือ 10 เล่มที่ควรอ่านก่อนตาย
โดยคุณเอ๋ นิ้วกลม Roundfinger
ที่แนะนำหนังสือในงานตายก่อนตาย live Exhibition |งานซ้อมตายนิ้วกลม
>> [
อ่านบทความคลิกลิงค์] <<

หากบทความนี้มีประโยชน์ กดถูกใจและแชร์ ไปยัง Social Media ให้เพื่อนได้อ่านด้วยนะครับ หรือมีคำแนะนำ ก็คอมเม้นกันได้เลย จะได้เป็นการแลกเปลี่ยนและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นครับ :)

อาร์ต 31/12/2562

#ManagingOneSelf #FeedbackAnalysis #SelfAwareness
#SelfImprovement #Development #Management #PeterDucker
#HBR #HavardBusunessReview

--

--