เป็นคนที่ถูกบริษัทเลือก หรือจะเป็นคนเลือกบริษัท

Art Thunder
2 min readJun 17, 2018

--

คนส่วนใหญ่มักสมัครงานแล้วรอให้บริษัทเลือกเข้าไปทำ ก็จะมีทั้งคนที่ได้บริษัทที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่ถ้าเราเป็นคนเลือกบริษัทเองละ โอกาสที่จะถูกใจย่อมมีมากกว่า

หลายคนเบื่อวันจันทร์ ดีใจเมื่อถึงวันศุกร์ แต่เราไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้นเลย ไม่เคยเบื่อที่จะต้องตื่นเช้าไปทำงาน ไม่ได้รู้สึกอะไรเมื่อกำลังจะถึงวันหยุด เพราะเราเป็นคนเลือกเอง เลือกในสิ่งที่เราอยากจะทำ เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคืองาน เหมือนแค่เราไปเล่นมากกว่า สนุกทุกวัน สนุกทุกครั้งที่ได้ทำ

ถ้าใครยังหาสิ่งที่ตัวเองชอบทำไม่ได้ ก็สู้ๆเข้านะ ขอให้เจอว่าอะไรที่ทำไปได้อีก 50 ปี แก่แล้วทำก็ยังไม่เบื่อ

จงหาสถานที่สำหรับเข้าไปใช้ชีวิต

ไม่ใช่แค่ไปทำงาน ไม่ใช่แค่ไปหาเงิน

Finding your partner, not a company.

ถ้าอยากเป็นคนที่สามารถเลือกบริษัทได้ ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณค่าและความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาด การทำแค่งานเสร็จอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องทำให้ดี ทำให้รู้จริง หาวิธีทำให้ดีกว่าเดิมที่เป็นอยู่ พัฒนาตลอดเวลา

ถ้าเก่งมากพอ ใครก็ต้องการ

การเลือกบริษัท

  • งานที่ทำต้องได้ความรู้เพิ่มขึ้น
  • ได้ทำงานร่วมกับคนเก่งๆ เราจะได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ
  • เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ดี
  • บรรยากาศการทำงานตรงกับที่เราชอบ
  • วัฒนธรรมองค์กร
  • การเมืองภายในบริษัท
  • องค์กรที่มีเป้าหมายชัดเจน
  • ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามนั้น
  • เวลาทำงาน ปริมาณงานที่เหมาะสม และผลตอบแทนที่คุ้มค่า

เราจะรู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร ถ้ารู้จักคนในบริษัทนั้น ก็ถามเอาเลย ถ้าอันไหนที่ยังไม่ได้คำตอบ ก็เตรียมคำถามไว้ถามตอนสัมภาษณ์

การสมัครงาน

เรซูเม่ (Resume)

เมื่อ HR หยิบเรซูเม่ของเราขึ้นมาดู (เคยอ่านมามีคนบอกว่า HR ใช้เวลาพิจารณาแค่ 5 วินาที ถ้าไม่โดนใจก็โยนทิ้ง) ลองกวาดตาไปใน Resume ของตัวเอง ภายใน 5 วินาที จะต้องสามารถรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง จุดเด่นใน Resume ต้องเป็นสิ่งที่ HR อยากรู้ ไม่ใช่เราอยากบอก ทำยังไงก็ได้ให้ HR ทราบถึงความสามารถของเราได้ทันทีแบบคร่าวๆ ภายใน 5 วินาที โดยที่ยังไม่ต้องเริ่มอ่าน แบบมองผ่านๆก็เห็น ถ้า 5 วินาที แล้วยังสามารถสะกด HR ไว้ได้หลังจากนั้นทั้งหมดจะเริ่มถูกอ่านจนครบเอง

  1. เริ่มที่รูปถ่าย ต้องเป็นทางการแต่ไม่ถึงกับต้องเป็นหน้าตรงติดบัตร ยิ้มได้ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมิตร มุมที่ดีคือมุมเฉียง และอย่าแต่งเยอะตัวจริงต้องตรงปก
  2. การจัดวาง layout หัวข้อต้องโดดเด่นมองแล้วรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนในทันที ตัวหนังสือที่เป็นเนื้อหาไม่รก Font อ่านง่าย
  3. สี มีผลในทางจิตวิทยา สีที่เหมาะในการสมัครงานคือสีน้ำเงินเพราะทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าทุกคนใช้สีน้ำเงินกันหมด ของเราก็จะถูกกลืนไปด้วย ทำให้ไม่เด่น ดังนั้นต้องเลือกเฉดสีดีๆ และไม่ควรใช้สีที่มองยาก อ่านยาก เช่น เหลืองอ่อน
  4. ภาษา ถ้าไม่ได้สมัครงานราชการควรใช้ภาษาอังกฤษ
  5. Profile บ่งบอกถึงตัวตน ความสามารถ สิ่งที่สนใจ งานอดิเรก ที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร ถ้าไม่เกี่ยวก็ไม่ต้องใส่ เช่น My hobby is swimming. จะใส่เพื่อ? ถ้ามองในมุมบริษัทคือคนนี้จะชอบว่ายน้ำหรือไม่ชอบก็ไม่ได้มีผลต่องานเลย แต่สมมติสมัครงาน Designer แล้วใส่ My hobby is photography. อันนี้คือดี ใส่ไปแล้วช่วยแน่นอน
  6. Abilities อันนี้คิดขึ้นมาเอง คิดว่าไม่เคยมีใครใส่ ที่ใส่ไปเพราะเราทำอะไรมาหลายอย่าง เลยใส่ให้เห็นภาพว่าไม่ได้ทำได้แค่ด้าน Programming อย่างเดียว ใส่ให้รู้ว่าสามารถทำ Business ได้ด้วย อะไรก็ว่าไป แน่นอนว่าตอนสัมภาษณ์จะโดนถามแน่ “ไหนที่ว่า … ทำอะไรมามั่ง บลาๆ” Radar Graph ถ้าไม่เจ๋งจริงอย่าใส่ เพราะถ้าใส่ Max ทุกด้านโดนมองว่าไอ้นี่ fake แน่ ถ้าใส่บางด้านน้อยก็จะโดนถามว่าทำไมด้านนี้น้อย คิดเหตุผลในการตอบให้ได้ละ
  7. Contact ต้องชัดเจน สิ่งที่ต้องระวังคือชื่ออีเมล ใช้ชื่อจริงตัวเองปลอดภัยที่สุด ถ้าไม่ใช่ก็สมัครใหม่ซะไม่กี่นาทีเอง
  8. Education ไม่ต้องใส่เยอะ อนุบาล ประถม ไม่มีประโยชน์และรก ใส่แค่ ม.ปลาย ขึ้นไปพอ ใส่สายและคณะที่เรียน ได้เกียรตินิยมก็ใส่ไป (สำหรับน้องจบใหม่ไม่จำเป็นต้องใส่เกรดเลย เพราะต้องแนบ Transcript อยู่แล้ว อย่าใส่ไปให้ซ้ำซ้อนและรก)
  9. Work Experience ใส่ไปเลยแต่ไม่ต้องใส่เยอะมาก เอาเด็ดๆซัก 2–4 อัน กำลังดี (ขึ้นกับเนื้อที่กระดาษที่เหลือ) สิ่งที่ต้องอธิบายคือ เวลาที่ทำ ทำงานอะไร หน้าที่ที่เราได้ทำคือส่วนไหน ไปแข่งอะไรมาก็ใส่ไป ทำกิจกรรมอะไรเด่นๆมาก็ใส่ไป งานที่ใส่ยิ่งสอดคล้องกับตำแหน่งที่สมัครยิ่งดี
  10. Computer Skills จริงๆส่วนนี้คือความสามารถเฉพาะทางของเรา (Technical Skills) ใส่ level ด้วยก็ดี ถ้าเรียนสายอื่น เช่น บัญชีก็ใส่ไปว่าสามารถทำงบดุล งบการเงิน บลาๆ คือมันมีหัวข้อย่อยอยู่แล้วอะ
  11. Personal Skills ถ้าสมัครงานบริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่จะใส่กันนะ (มันคือ Soft skills) ข้อระวังก็เหมือนกับ Radar Graph ถ้าใส่ Max หมด จะถูกมองว่าไอ้นี่ fake ใส่น้อยก็โดนมองไม่ดี ตัดสินใจเอาและใส่ตามจริง
  12. Social media และผลงาน ที่สามารถเข้าไปดูได้เพิ่มเติม

ทริก: search “resume design” เพื่อดูตัวอย่างเรซูเม่ที่น่าสนใจ ถ้าไม่ได้ทำงานสาย creative อย่าใส่กราฟฟิกและสีสันเยอะจนดูรก แบบ minimal ก็ทำให้สวยและน่าดึงดูดได้ แถมดูทางการ น่าเชื่อถือ และดูโปรอีกด้วย

LinkedIn

เป็นตัวช่วยในการหางานที่ดีมาก โดยเฉพาะสายไอทีควรสมัครทิ้งไว้ ส่วนใหญ่จะมี Head Hunter และบริษัทต่างๆ ส่งมาชวนไปทำงานด้วยอยู่ตลอดเวลา อะไรที่มันขึ้นมาให้ใส่ข้อมูลก็ใส่ไปเลย จะทำให้อันดับเราอยู่บนๆ เวลาถูกค้นหา

การสัมภาษณ์

  • ศึกษาบริษัทที่จะเข้าไปคุย ว่าที่นั่นทำธุรกิจอะไร
  • หาจุดแข็ง จุดอ่อนและวิธีแก้ไขไปเสนอ
  • หาว่าในตำแหน่งของเรา เราสามารถทำอะไรที่สามารถพัฒนาบริษัทได้
  • แรงบันดาลใจ เหตุผลที่เลือกจะเข้าที่บริษัทนี้
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามสัมภาษณ์พื้นฐาน
  • แนะนำตัวอย่างไรให้น่าสนใจ
  • เตรียมคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับบริษัทนั้น
  • วางบุคลิกให้ดีระหว่างการสัมภาษณ์

การเปลี่ยนงาน

  • เปลี่ยนตอนที่เรากำลังสบายๆ เพราะเวลาไปคุยกับที่ใหม่เราก็จะไม่กดดัน ไม่ตื่นเต้น ความสามารถในการต่อรองก็มีมากขึ้นเพราะเราไม่ต้องกลัวว่าจะเสียอะไร ไม่ได้ก็ไม่เสียอะไร ถ้าเจอที่ที่ดีกว่าก็เป็นการสร้างทางเลือกและโอกาสให้ตัวเอง
  • เปลี่ยนตอนที่คิดว่างานเดิมไม่ท้าทายแล้ว รู้สึกว่าทำต่อไปตัวเราก็ไม่พัฒนาขึ้น
  • เปลี่ยนตอนที่รู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่เห็นคุณค่าของเรา

ผลตอบแทน

  • อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ทำงานที่ไม่ได้รู้สึกเหมือนทำงาน ดังนั้นผลตอบแทนสำหรับเรา เราเอาไว้เป็นตัววัดความสามารถของตัวเองเฉยๆ ว่าเรามีความสามารถเท่าไรเมื่อเทียบกับคนที่ทำในสายอาชีพเดียวกัน
  • เราสามารถประเมินความสามารถตัวเองคร่าวๆ โดยลองเปรียบเทียบสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่คนอื่นทำ ดูว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในระดับไหนแล้ว แล้วจึงตีราคาออกมา ก็จะได้ว่าเราควรได้เงินเดือนเท่าไร
  • พอได้ตัวเลขเงินเดือนสำหรับบริษัทที่กำลังทำอยู่แล้ว ก็ไปเปรียบเทียบกับตลาดดูว่า ตัวเราและบริษัทที่กำลังทำอยู่มีความสามารถอยู่ที่ระดับไหนของตลาด ก็จะได้ตัวเลขที่ละเอียดมากขึ้น
  • ถ้าบริษัทที่กำลังทำอยู่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าสิ่งที่เราทำมากเกินไป ก็อาจเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆให้ตัวเอง
  • การเรียกผลตอบแทนจากบริษัทใหม่ ก็เรียกตามที่เราประเมินความสามารถของตัวเองเอาไว้ แล้วดูว่าบริษัทนั้นมีความสามารถในการจ่ายมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับตลาด ถ้าบริษัทนั้นสามารถจ่ายได้มากเราก็สามารถเรียกเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งนี้เราก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราจะไปทำในบริษัทนั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่เราจะทำที่นั่นสามารถแปลงออกมาเป็นตัวเงินที่ประมาณเท่าไร
  • นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับอำนาจในการต่อรอง เช่น เราจำเป็นต้องเอาที่นั่นให้ได้หรือไม่ เราคิดว่าผลทดสอบและผลสัมภาษณ์ออกมาดีแค่ไหน บริษัทนั้นต้องการคนด่วนหรือไม่ ความสามารถของเราเมื่อเทียบกับที่นั่นอยู่ในระดับไหน รวมถึงมีที่อื่นสู้ราคาเพื่อแย่งชิงตัวเราอีกหรือไม่ ถ้าเข้าทางเราทุกอย่าง เราก็สามารถเรียกได้สูงขึ้น แต่ถ้าเราเสียเปรียบก็อาจต้องเรียกน้อยลง นอกจากนี้เวลาเปรียบเทียบควรนำโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ มาคิดรวมด้วย
  • ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าถ้าเราเรียกสูง บริษัทนั้นย่อมคาดหวังกับสิ่งที่เราจะทำสูง ถ้าเราทำไม่ได้ตามนั้น เราก็จะไม่ผ่านโปร แล้วก็…ลาก่อน

สำหรับยุคนี้ เด็ก Gen Z กำลังเริ่มเข้ามาทำงาน เด็กหลายคนนั้นมีฐานะทางบ้านดีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำงานก็สามารถอยู่ได้จนตาย หรือมีบริษัทของที่บ้านอยู่แล้ว การที่บริษัทจะได้เด็กเหล่านี้มาทำงานด้วย ก็ต้องมีแรงดึงดูดมากพอ ให้เขาเห็นว่าทีนี่น่าสนใจในหลายๆด้าน จนอยากเข้าไปร่วมใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่แค่ไปทำงาน

เพราะการทำงานไม่ใช่แค่การไปเป็นลูกจ้างรับเงินเดือน แต่คือการเป็นเพื่อน…กับบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกัน

“Be my partner”

--

--