เพราะเป็น Early Adopter จึงเจ็บปวด

Be1con
3 min readJun 22, 2016

--

อนึ่ง โพสต์นี้บน Medium นั้นเอามาจาก Facebook ส่วนตัวของผม แต่ที่เอามาเขียนในนี้เพื่อขยายให้คนอ่านทั่วถึงกันครับ

เคยไหมที่เคยสั่งซื้อของจากแคมเปญในโครงการระดมทุนอย่าง Kickstarter หรือ Indiegogo แล้วสิ่งที่ได้กลับมามันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า “เราไม่น่าเอาเงินไปลงทุนในนั้นเลย

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเจอประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้ว และแน่นอนว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ เลยคือ โครงการระดมทุนทำเกม Mighty No. 9 จากผู้สร้าง Rockman/Mega Man แต่แล้วเมื่อเกมออกมาสู่สายตาสาธารณชน ปรากฎว่าทำได้เลวร้ายกว่าต้นฉบับที่ทำออกมาบน Nintendo Entertainment System (NES หรือที่หลายท่านรู้จักกันในชื่อเครื่อง Famicom นั่นแหละครับ)

Mighty No. 9 เกมที่ผ่านการระดมทุน แต่ผลงานที่ได้ออกมากลับไม่ดีดั่งที่คาดไว้

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผมเองได้ระดมทุนเข้าโครงการเหล่านี้มาแล้ว 4 โครงการ แบ่งเป็นจาก Indiegogo (IGG) 2 โครงการ และ Kickstarter (KS) 2 โครงการ ประกอบด้วย WonderCube (IGG), MicFlip (IGG), Znaps (KS) และ Remix Mini (KS)

ซึ่งทั้งหมดนั้นระบุตอนระดมทุนว่าว่า กำหนดการส่งของนั้นจะมาในปีที่แล้ว แต่ผลที่ออกมาคือ มีเจ้าที่ส่งตรงเวลาจริง ๆ แค่ 1 รายการเท่านั้นคือ MicFlip ที่สั่งไว้ทั้งหมด 2 เส้นด้วยกัน (ส่วนที่ไม่ดีเลย์เพราะว่าเป็นบริษัทที่ทำของแบบนี้อยู่แล้ว พอหลังจากที่ผ่านเป้าหมายแล้วก็ดำเนินการจัดทำทันทีไม่รีรออะไร)

ส่วนที่ส่งเรียบร้อยแล้ว แต่มีการดีเลย์ นั่นคือ WonderCube และ Remix Mini (อันหลังดีเลย์เล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับรับได้) ส่วนที่สั่งไปแล้วแต่ของยังไม่ส่งสักทีนั่นก็คือ Znaps ซึ่งทางบริษัทระบุว่าเตรียมจะจัดส่งแล้วในรุ่นแรก ๆ และสำหรับคนสั่งน้อย ๆ 2–3 ชิ้น (ซึ่งผมสั่งไป 6 ชิ้น (มี adapter, หัวต่ออีก 3 และพวงกุญแจอีก 1 เลยต้องรออีกสักพัก)

WonderCube ที่ผมมีอยู่

ประเด็นสำคัญคือ ของทั้งหมดที่ว่านั้น ผมเปรียบเสมือน early adopter ทั้งหมด และแน่นอนว่าของที่ใช้อยู่นั้นหลายอย่างกลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

เริ่มต้นด้วย MicFlip ถือว่าใช้งานได้ค่อนข้างดี แต่ข่าวร้ายคือ ตอนที่บริษัท Winner Gear โปรโมตตอนแรกระบุไว้ชัดเจนเลยว่า หัว microUSB และหัว USB Type-A นั้นจะเสียบข้างไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน ทว่าตอนก่อนที่จะจัดส่ง ทางบริษัทฯ ได้แจ้งว่า เนื่องจากความคงทนของผลิตภัณฑ์ในส่วนของหัว USB Type-A จะต่ำลงถ้าหากทำแบบเสียบแบบไหนก็ได้ จนสุดท้ายต้องเปลี่ยนกลับไปเป็นหัวแบบปกติก่อน

เจ้า MicFlip

ผมเองก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร ก็รอจนได้ของ (แต่ก็มีคนโวยขอคืนเงินกันมากมาย) จนได้ของมา ก็ใช้งานสักระยะ ก็ถือว่าดีระดับหนึ่ง แต่ที่เสียความรู้สึกสุด ๆ คือ หัวฝั่ง microUSB อ่อนแอมาก อ่อนแอถึงขนาดที่งอได้ (และพังไปแล้วเส้นหนึ่ง)

ซึ่งทางบริษัทฯ เองก็รับทราบว่ามีปัญหาจริง และได้แก้ไขในล็อตถัดไป (ซึ่งแน่นอนว่าสามารถเคลมสินค้าได้) ซึ่งถือว่าบริษัทฯ ทำการบ้านค่อนข้างดีในการรับมือ crisis management จากปัญหาต่าง ๆ ขอชื่นชมในความ professional ของบริษัทฯ ครับ

“Crisis Management และ Risk Management ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับการทำธุรกิจ”

มาที่อีกชิ้นหนึ่งที่รู้สึกเจ็บปวดไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Remix Mini ครับ แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกเลยว่า มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วดีมาก ๆ Jide ทำระบบ Remix OS (based on Android) ลื่นไหลดี และ UI ที่ใช้งานง่าย เหมาะกับการใช้งานแทน Windows เวอร์ชันเต็มได้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริง ๆ แถมเหมาะกับใช้ดูหนังฟังเพลงบนทีวีได้ (ทุกวันนี้ก็นั่งดู The Flash กับ The Big Bang Theory จาก iFlix บน Remix Mini เนี่ยแหละ ส่วนสาเหตุก็เพราะมันไม่มีแอปบน Windows Store ไงล่ะ)

Remix Mini คอมพิวเตอร์ดีไซน์หินพลัง Android

แต่สิ่งที่เจ็บในกรณีของ Remix Mini มีอยู่ 2 เรื่องครับ เรื่องแรกนี่เจ็บจี๊ดสุด ๆ คือ เฟิร์มแวร์ล่าสุดของ Remix OS นั้น ได้ถอด Google Mobile Service (GMS) ออกทั้งหมด ด้วยสาเหตุที่ว่า ทาง Jide ทำงานร่วมกับกูเกิลเพื่อพัฒนาระบบพร้อมกัน แล้วพบว่า GMS นั้นมีปัญหากับตัวระบบที่ทำงานคล้ายกับเดสก์ท็อป ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขปัญหานี้อยู่

การถอด GMS นั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ๆ (โดยเฉพาะสาวก เอ๊ย! ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์กูเกิล อย่างมากมาย) ที่ต้องหาตัว GMS มาติดตั้งใหม่อีกรอบเพื่อแก้ปัญหานี้ทั้งหมด แล้วที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การถอด GMS นั่นหมายความว่าต้องถอดตัว Google Play Store ออกไปด้วย (ถึงกับร้องว่า Holy Sh*t ดัง ๆ)

การประกาศเรื่องนี้ออกมาในกลุ่มของ Remix Mini — Kickstarter Backer นั้นย่อมมีเสียงโวยวายอย่างมากว่า ทำไมถึงทำกันแบบนี้ อย่างไรก็ดี ทาง Jide เองก็นำตัว Google Play Store (อย่างเดียว) ให้ดาวน์โหลดบนแอป Remix Central ไปใช้แก้ขัดกันก่อนได้

แต่เรื่องที่สองก็เจ็บจี๊ดไม่แพ้กัน นั่นคือการเปิดตัว Remix Pro พร้อมกับ Remix OS 3.0 และการเปิดตัวอุปกรณ์ที่ลง Remix OS 3.0 จาก OEM ทั้ง AOC และ Acer ซึ่งไอ้การเปิดตัวนี้มันไม่ค่อยมีอะไรมากหรอกครับ เพราะมันก็ไม่ต่างอะไรกับการอัปเกรดตัวแท็บเล็ตที่มีอยู่เดิมอย่าง Remix Ultra (ที่หน้าตาเลียนแบบ Surface มาเด๊ะ ๆ)

หน้าตาของ Remix Pro ที่มาพร้อมกับ Remix OS 3.0

ที่เจ็บจริง ๆ คือตัว Remix OS 3.0 (with Android 6.0 Marshmallow) มากกว่า เพราะว่าทาง Jide ไม่มีการประกาศเรื่อง Remix OS 3.0 ให้ทราบก่อน แต่เรื่องประกาศก่อนประกาศหลังยังไม่เจ็บมากเมื่อเทียบกับการ ไม่ประกาศปล่อยอัปเดตสำหรับผู้ใช้ Remix Ultra และ Remix Mini อันนี้แหละเจ็บสุด ๆ

คือออกรุ่นใหม่ ลุยกับพาร์ทเนอร์ เราไม่ว่านะ แต่อย่างน้อยน่าจะบอกก่อนว่าจะอัปเดตให้รุ่นเก่าด้วยไหม แล้วเมื่อไร คนใช้จะได้เข้าใจและยอมรับมัน

ส่วนอันที่รู้สึกประทับใจมากคือ WonderCube ใช้งานมา มันดีมากจริง ๆ แต่เสียอย่างเดียว แพงฉิบหาย แต่เอาจริง ๆ นะ สินค้าที่ผมได้มันดีเลย์นะ แต่ดีเลย์เล็กน้อย (ต่างจากรุ่น Lightning ที่ดีเลย์ยาวเนื่องจากรอ Made for iPhone (MFI) จากแอปเปิลอยู่)

สรุปส่งท้ายว่า ของแบบนี้มันเหมือนเล่นหุ้นแหละครับ บางชิ้นที่เราหวังว่าจะดี แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ดั่งใจ แต่ก็นั่นแหละครับ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและเอกสารชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน”

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและเอกสารชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน”

--

--

Be1con

A blogger who loves technology. Microsoft Student Partners FY17. Young Webmaster Camp 13 in Content.