23 ปีมลพิษที่แม่เมาะ: ความยุติธรรมที่มิอาจยุติความตาย

ForestCoin.Space
5 min readJul 30, 2018

--

รื่อง: บำเพ็ญ ไชยรักษ์

ภาพประกอบ: เริงฤทธิ์ คงเมือง และ เริงชัย คงเมือง

* ตีพิมพ์ฉบับย่อในนิตยสารสารคดี ปีที่ 31 ฉบับที่ 361 มีนาคม 2558

“ใบไม้และพืชผักเป็นรูพรุนเหมือนถูกเผาจนเกรียม…เกิดฝนฝุ่นตกลงมาเต็มไปหมด…ต้นมะขามที่อยู่ข้างบ้านใบร่วงหมด…ดอกไม้และไม้ผลต้นเล็กเสียหาย ต้นข้าวกลายเป็นสีเหลือง” [1]

บันทึกถึงเหตุการณ์มลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เมื่อต้นฤดูหนาวปลายปี 2535 ซึ่งก่อผลกระทบต่อคน พืช และสัตว์เลี้ยง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษเฉียบพลันในครั้งนั้นว่ามีผู้ป่วยนอก 1,222 ราย และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย และมีผู้ที่มารับการรักษากับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อีก 1,120 ราย

แอ่งแม่เมาะ” อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นที่ตั้งของเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม่เมาะ อุตสาหกรรมพลังงานที่เก่าแก่ ใหญ่โต และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แอ่งนี้ มีพื้นที่ทั้งหมดราว 85,000 กว่าไร่ เกือบครึ่งหนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ผู้กุมธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่รายเดียวของประเทศ ได้ใช้พื้นที่ทำเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไปแล้วราว 30,000 ไร่ ปัจจุบันบ่อเหมืองมีความกว้างราว 4,000 เมตร ยาวราว 7,500 เมตร ลึกราว 300 เมตร และตั้งเป้าขุดถ่านหินต่อไปอีกราว 20 ปี ซึ่งตอนนั้นบ่อเหมืองจะลึกราว 500 เมตร และขยายกว้างยาวออกไปอีก นับจากต้นปี 2497 ที่เหมืองแม่เมาะเริ่มขุดถ่านหินลิกไนต์ได้ปีละราว 20,000 ตัน ขณะที่ปัจจุบันปี 2558 เวลาผ่านมากว่า 60 ปี ภายในวันเดียวเหมืองสามารถผลิตลิกไนต์ได้มากกว่า 45,000 ตัน นับว่าพลังการขุดค้นของเหมืองและอำนาจการเผาถ่านหินของโรงไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นนับพันเท่า

ตลอด 24 ชั่วโมงที่บ่อเหมืองทั้งเครื่องจักรและมนุษย์ทำงานไม่เคยหยุด เพื่อผลิตถ่านหินลิกไนต์วันละ 45,000 ตันต่อวัน (ประมาณ 16–17ล้านตันต่อปี) ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า ปัจจุบัน กฟผ. ยืนยันว่าควันสีเทาดำมหึมาที่ลอยอยู่เหนือปล่องโรงไฟฟ้านั้นเป็นแค่ “ไอน้ำ” ที่ลอยขึ้นไปกลายเป็นเมฆก้อนใหญ่ และอ้างว่าเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue gas desulfurization: FGD) ที่เริ่มใช้ระบบนี้เมื่อปี 2538 บางเครื่อง และติดตั้งเพิ่มแล้วเสร็จในปี 2541 ทำให้ก๊าซไอเสียจากการเผาไหม้ถ่านหิน โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ กัมมะถัน ถูกดักจับไว้และตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศออนไลน์ให้อยู่ในระดับปลอดภัยตลอดเวลา อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องโลหะหนักอื่นๆในอากาศ ดิน น้ำ ตลอดจนฝุ่นควัน เสียง น้ำเสีย ลานทิ้งดิน ทั้งจากบ่อเหมืองและโรงไฟฟ้า ระบบน้ำบาดาลที่เชื่อมโยงกับบ่อเหมืองขนาดใหญ่มาก แล้วเทคโนโลยีใดจะป้องกันผลกระทบได้หมด

หลังเหตุมลพิษเมื่อ 23 ปีก่อน ผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นฟ้องคดีหลายคดีในชั้นศาลทั้งศาลแพ่ง และศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ. ทำตามกฎหมาย และขอให้เยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่ฟ้องเมื่อปี 2547–2548 รวม 2 คดี ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรมทางนิเวศของคนแม่เมาะ

คดีมลพิษ

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษา ดคีที่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่รอบเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 131 รายร่วมกันฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2546เรียกค่าเสียหายกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะกระทำละเมิดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

คดีดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งอ้างรายงานการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2535 — สิงหาคม 2541 ที่วัดค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 50 เดือน จากระยะเวลาที่ตรวจวัด 70 เดือน (ค่าที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 คือ ไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเฉพาะในพื้นที่แม่เมาะ ขณะที่พื้นที่อื่นในประเทศกำหนดที่ 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ส่วนที่เหลืออีก 20 เดือน พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 17 เดือน โดย กฟผ. เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้คนที่ได้รับเข้าไปมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและทำให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตาอักเสบ ประกอบกับราษฎรที่ได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นเวลา 67 เดือน ซึ่งมีการปล่อยก๊าชซัลเฟอร์ฯ เกินมาตรฐานไม่น้อยกว่า 248 ครั้ง และศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจ ผู้ฟ้องส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาถึง 6 ปีนับแต่การยื่นฟ้อง อย่างไรก็ตามฝ่าย กฟผ. กลับ ยื่นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า “…การที่ศาลวินิจฉัยว่า กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกระทำละเมิดต่อผู้อื่นนั้น หาก กฟผ. ไม่ยื่นอุทธรณ์จะส่งผลต่อชื่อเสียงและการดำเนินการของ กฟผ…” [2] อุทธรณ์นั้นกินเวลาอีกกว่า 6 ปี ที่ กฟผ. ยื้อไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่ทุ่มงบประมาณซื้อโฆษณาบนหน้าสื่อหลักเพื่อผลิตซ้ำวาทกรรม “พลังงานถ่านหินสะอาด”

… ในช่วงการรอคอยท่ามกลางเสียงก้องดังของวาทกรรมถ่านหินสะอาด มีผู้ฟ้องคดีที่ป่วยได้เสียชีวิตไปแล้ว 20 คน (ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่ถอนฟ้องไปแล้ว 6 ราย ขณะที่อีก 346 รายที่ยื่นฟ้องแต่ไม่ได้เข้ารับการตรวจร่างกายและไม่มีใบรับรองแพทย์ศาลไม่รับฟ้อง ทำให้เหลือผู้ฟ้องคดี 131 ราย)

เข้าปีที่ 12 ของการต่อสู้ภายใต้กระบวนการยุติธรรม จึงได้มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสรุปเนื้อหาสำคัญได้ว่า

(1) กรณีร้องขอค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้องและภายหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงอายุ 80 ปี ศาลพิจารณาว่า กฟผ.ไม่ต้องจ่าย เพราะตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 เป็นต้นมา ไม่มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ฯ เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องฯ ไม่อาจแสดงหลักฐานที่แสดงถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้

(2) กรณีค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ และค่าทดแทนการสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุข กฟผ. ไม่ต้องจ่าย เพราะผู้ฟ้องคดีมิได้เสนอหลักฐานให้เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพจนทำให้ขาดประโยชน์อย่างไร หรือสูญเสียโอกาสดำรงชีวิตอย่างปกติสุขอย่างไร

(3) กรณีค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพและอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจ กฟผ. ต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานที่ควรเป็น และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยศาลได้กำหนดค่าเสียหาย (1) ในกรณีปล่อยเกิน 780 แต่ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องจ่ายรายละ 300 บาทต่อครั้ง (2) ในกรณีปล่อยเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2535 — มิถุนายน 2538) ต้องจ่าย 600 บาทต่อครั้ง (3) ในกรณีปล่อยเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2538 — สิงหาคม 2541 ที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2538 ที่กำหนดมิให้ปล่อยเกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แล้ว) ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ได้บำบัดหรือควบคุม ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงและฝ่าฝืนกฎหมายให้ค่าเสียหายในกรณีนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 1,200 บาท ต่อครั้ง [3]

นับตั้งแต่การปล่อยมลพิษเมื่อปี 2535 ซึ่ง ณ เวลานั้น พืชพรรณเหี่ยวเฉาเพราะฝนกรด คนป่วยเข้ารับการรักษานับพันคน มีสัตว์เลี้ยงตาย แม้จะเป็นเรื่องที่เห็นและรับรู้ แต่คนแม่เมาะยังต้องใช้เวลาพิสูจน์เป็นเวลากว่า 23 ปี ซึ่งตลอดช่วงเวลาดังกล่าว กฟผ.ปฎิเสธจะรับผิดชอบต่อผู้ที่ปอดถูกทำลาย ต่อแผ่นดิน ต่อพืช และสัตว์ หรือกระทั่งต่อคนตาย ทำให้ชาวแม่เมาะต้องออกวิ่งวนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนานกว่า 10 ปี ก่อนศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษา ให้ กฟผ. จ่ายค่าเสียหาย

ศาลกำหนดการจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แม่เมาะตลอดช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานเป็นเวลารวม 76 เดือนจำนวนไม่น้อยกว่า 248 ครั้ง ตามอัตราความรุนแรงในการรับมลพิษ ดังนั้นคนที่อยู่แม่เมาะตลอดจึงจะได้รับเงินค่าเสียหายสูงสุด 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะที่ผู้ป่วยบางรายจะได้รับค่าเสียหายต่ำสุดคือ 10,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าเสียหายท้ายฟ้องด้วย เพราะการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล แม้ผู้ฟ้องจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่บางรายไม่ได้รับการยกเว้นหรือได้ยกเว้นบางส่วน จึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลด้วยตนเอง เป็นแรงกดดันให้ผู้ฟ้องบางรายระบุคำขอค่าเสียหายท้ายฟ้องน้อย เพราะถ้าหากเรียกมากจะต้องหาเงินมาจ่ายค่าธรรมเนียมศาลสูงตามไปด้วย โดยที่ศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายไม่เกินคำขอของผู้ฟ้องรายนั้น และทั้งหมดต้องจ่ายภายใน 60 วัน หลังศาลมีคำสั่ง

หากเทียบกับระยะเวลา 23 ปีนับจากปีที่เกิดมลพิษ บางคนป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลตนเองระหว่างที่รอคอยคำพิพากษา ผู้ฟ้องที่เจ็บป่วยหรือทายาทของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วซึ่งศาลตัดสินให้ได้เงินชดเชยสูงสุด จะได้รับเงินเยียวยาจากการรับมลพิษครั้งนั้นเฉลี่ยประมาณวันละ 60.61 บาท ขณะที่คนที่ได้รับเงินค่าชดเชยน้อยที่สุดจะได้รับเงินเยียวยาเฉลี่ยวันละ 2.24 บาท (คำนวนจากค่าเสียหายสูงสุด 246,900 บาท และค่าเสียหายต่ำสุด 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องคดีเป็นเวลา 10 ปี)

ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร มีความเห็นต่อบทเรียนจากคำพิพากษากรณีแม่เมาะว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยที่มีอยู่ไม่สามารถปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้เห็นได้จากการกำหนดค่ามาตรฐานซึ่งควรอ้างอิงเพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กรณีแม่เมาะ การกำหนดการปล่อยซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ ไว้ที่ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ที่อื่นๆ กำหนดไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หมายความว่าหากปล่อยมากกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่น้อยกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย ดังนั้นเลขค่ามาตรฐานจึงไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่าจะช่วยปกป้องประชาชน เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานของไทยประมาณ 4 เท่า ทำให้เห็นว่ากฎหมายเขามุ่งปกป้องประชาชนของเขามากกว่าเรา

นอกจากนี้ ดร.ธนพล ยังเห็นว่าประเทศไทยพิจารณาผลกระทบจากมลพิษด้วย “การเจ็บป่วย” คือต้องมีหลักฐานยืนยันว่าเจ็บป่วยแล้วจริง หรือเสียชีวิตเพราะโรคนั้นๆจริง แต่ ในนานาประเทศ การพิสูจน์ว่าเจ็บป่วยไม่จำเป็นเลย เพียงผู้ก่อให้เกิดมลพิษได้ทำให้เกิดมลพิษอันนำมาสู่ “ความเสี่ยง” ต่อโรคมะเร็ง หรือ โรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง มีค่าความเสี่ยงเกินค่าที่ยอมรับได้ (Excess Risk) ประมาณ 1/100,000 สำหรับโรคมะเร็ง และมีดัชนีความอันตราย (Hazard Index) เกิน 1 ก็พอแล้วที่ต้องรับผิดต่อมลพิษอันก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกิดมลพิษ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเท่าๆกัน เพาะบางคนอาจจะป่วยทันที ขณะที่บางคนอาจจะป่วยภายหลัง (โดยเฉพาะกรณี มะเร็งซึ่งโอกาสเป็นหรือไม่เป็นตลอดช่วงชีวิต) ไม่ได้หมายความว่าคนจะป่วยทันที หรือป่วยในช่วงได้รับมลพิษเท่านั้น บางคนอาจจะไม่ป่วยด้วยโรคนั้นโดยตรง แต่มลพิษทำให้ร่างกายอ่อนแอทำให้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ แต่การละเมิดเกิดขึ้นแล้วจากความเสี่ยงที่ไม่เต็มใจรับนี้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้ฟ้องร้องก็ควรได้รับการปกป้องด้วย เพราะคนเหล่านั้นได้รับความเสี่ยงเช่นกัน แม้จะไม่ได้ฟ้องร้องก็ตาม

ดี EIA

ก่อนหน้าคำพิพากษาเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพนี้สองสัปดาห์ เมื่อ 10 กุมภาพันธุ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีด้านสิ่งแวดล้อมอีกคดีหนึ่ง ซึ่งชาวแม่เมาะจำนวน 318 คนได้ยื่นฟ้องเหมืองถ่านหินแม่เมาะไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ให้ติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองยาว 800 เมตรบริเวณที่ทิ้งดิน ให้ตั้งคณะทำงานท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบและมีความประสงค์จะอพยพออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองและปลูกป่าแทนการนำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำรอบเหมืองและโรงไฟฟ้าไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุมน้ำนั้น การทำเหมืองให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่ติดตั้งสเปรย์น้ำ แล้วปล่อยดินในตำแหน่งที่ไม่อยู่ต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชน ให้กำหนดพื้นที่กันชนจากจุดปล่อยดินกับชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร โดยระบุให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

คำพิพากษาในดคีนี้ให้น้ำหนักไปที่เทคนิคด้านสิ่งแวดล้อมที่ กฟผ. ละเลยนับตั้งแต่ได้ประทานบัตรทำเหมืองเมื่อปี 2535 ขณะที่สาระสำคัญเรื่องผลกระทบต่อ ชีวิต สุขภาพอนามัย ของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องเพิ่มเติมนั้นตกไป โดยศาลระบุว่าผู้ฟ้องคดีไม่เสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงความเสียหายได้ว่าเกิดจากเหมืองฯ หลังคำพิพากษานี้นักฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายสำนัก ตั้งข้อสังเกตว่าคำพิพากษาได้สะท้อนสถานะของ “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ในสังคมไทย เพราะเป็นคำพิพากษาที่มีสารเรื่องเทคนิคสิ่งแวดล้อม ที่ศาลชี้ให้แก้ปัญหา แต่ไม่เห็นความเชื่อมโยงกับคนแม่เมาะ ว่าเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่นี้ได้คุกคามชีวิตและสุขภาพอย่างไร เวลากว่า 20 ปีที่เหมืองละเลยไม่ทำตามมาตรการลดผลกระทบนั้นแม้จะมีความเสียหายแต่ก็ “พิสูจน์ไม่ได้” กฟผ.จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะผู้ฟ้องหาหลักฐานมาอ้างไม่เพียงพอ แม้ศาลปกครองมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงก็ตาม นอกจากนี้คำพิพากษายังระบุว่าดุลพินิจของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ไม่เพิกถอนประทานบัตรเหมืองถ่านหินกรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ตาม พรบ. แร่ พ.ศ.2510 ว่าเป็นดุลพินิจที่จะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้หากมีเหตุผล ประกอบการพิจารณาว่าการที่ กฟผ. ไม่ปฎิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อส่วนรวม

คดีแม่เมาะทั้งสองนี้นับเป็นจารึกในหน้าประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทย ที่แม้การเรียกร้องค่าเสียหายด้านสุขภาพจะได้รับเพียงน้อยนิดเพื่อเยียวยาอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยืนยันว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหิน คือแหล่งกำเนิดมลพิษซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซต์” และ “กฟผ. กระทำละเมิดต่อสิ่งแวดล้อมและมีการกระทำละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแร่ และสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ” จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและแก้ไขมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นย่อมเป็นการสั่นคลอนวาทกรรม “พลังงานถ่านหินสะอาด”

หลังการพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฉวยนาทีหลังการต่อสู้มายาวนานของชาวแม่เมาะแถลงต่อสื่อมวลชนว่า “แม้ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ราษฎรตามคำพิพากษา แต่ศาลก็ชี้ว่า กฟผ. ได้ติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมลภาวะอื่น ๆ รวมทั้งระบบตรวจวัดต่าง ๆ เพื่อแก้ไขแล้วเสร็จมากว่า 15 ปีแล้ว ศาลฯ มีความเห็นว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบันไม่เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย จึงอยากให้ราษฎรแม่เมาะและประชาชนมั่นใจว่าปัจจุบัน โรงไฟฟ้า และเหมืองแม่เมาะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ กฟผ. จะร่วมกับชุมชนพัฒนา ความเจริญ ต่อไปในอนาคต” [4]

ไม่มีคำขอโทษ หรือคำแสดงความเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบ มีเพียงน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภูมิใจในเทคโนโลยีและความฝันเรื่องอนาคตอันเรืองรองของแม่เมาะที่ต้องยึดเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเครื่องค้ำจุน ไม่ต่างกับแก่นความคิดในโฆษณาชุด “พลังงานที่สมดุล” ของ กฟผ. ที่ออกอากาศถี่ในโทรทัศน์ เพื่อชวนเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นล้วนไม่มั่นคง ต้องเพิ่มการผลิตพลังงานถ่านหินจากปัจจุบันที่ใช้อยู่ราว 18% ให้เป็น 34% เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

วาทกรรม “พลังงานถ่านหินสะอาด” เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่วาทกรรมการตลาดนี้ก็ปรากฎในเอกสารนโยบายพลังงาน เช่น ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับล่าสุด(พ.ศ. 2555–2573) รัฐบาลไทยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 30% หรือไม่ต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ในปี 2556 ประเทศไทยใช้ถ่านหินทั้งสิ้น 35.9 ล้านตัน เป็นลิกไนต์ที่ผลิตในประเทศ 18.6 ล้านตัน (ในจำนวนนี้ 94% ผลิตโดย กฟผ.ที่เหมืองแม่เมาะ อีก 6% เป็นของเหมืองเอกชน) อีก 17.3 ล้านตันนำเข้าจากประเทศเพื่อบ้าน [5]เพราะถ่านหินเป็นพลังงานราคาถูก ทำให้มีความพยายามจะสร้างเหมืองถ่านหินเพิ่มขึ้น ที่แอ่งสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แอ่งเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แอ่งงาว จังหวัดลำปาง และมีโครงการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ส่วนในเหมืองแม่เมาะก็มีแผนการขยายเหมือง และสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกในเร็ววัน

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทนายความที่ช่วยเหลือทางคดีร่วมกับทนายอีกหลายท่านจากสภาทนายความ กล่าวว่า ในด้านสุขภาพ การที่ศาลพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายเพราะปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งที่แม่เมาะเคยกำหนดให้สูงกว่าที่อื่นในประเทศไทยคือ 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ที่อื่นๆ กำหนดไว้ที่ 780 นั้น นับว่าศาลได้วางหลักการให้เห็นว่า “ค่ามาตรฐาน” ของมลพิษสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบของมลพิษถ้าไม่เกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นแม้จะปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐานแต่หากพบว่ามีผลกระทบต่อคนก็ต้องเยียวยา ส่วนในเรื่องการเยียวยาผลกระทบจากความเสียหายอันไม่อาจจะประเมินเป็นตัวเงินได้ ซึ่งเป็นการคิดค่าเสียหายเชิงลงโทษ เช่น ที่กำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่สูงถึง 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังละเมิดปล่อยมลพิษมากกว่านั้นหลายเท่าทั้งที่รู้อยู่ว่ามันอันตราย ซึ่งการคิดค่าเสียหายเชิงลงโทษจากการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังไม่เคยปรากฎ จึงนับเป็นความก้าวหน้าของการพิจารณาคดี

“ส่วนสิ่งที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งสะท้อนจุดอ่อนในกระบวนการยุติธรรมไทย จากกรณีคำขอให้มีการเยียวยาค่าเสียหายด้านสุขภาพ นั้นศาลพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้อง(กฟผ.) ไม่ต้องจ่าย เพราะผู้ฟ้องคดี(คนป่วย) ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่อาจจะพิสูจน์ให้ศาลเห็น ทั้งที่ความเสียหายทางสุขภาพ หรือการเจ็บป่วย เป็นเรื่องซับซ้อน ที่ต้องอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญในการนำสืบพิสูจน์เพื่อช่วยให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย แต่ประเทศไทยไม่มีระบบพยานผู้เชียวชาญ ขณะที่คดีใช้เวลากว่า 10 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาค่าเสียหายที่ได้รับกับระยะเวลาที่รอคอย การเดินทางไปศาล การเจ็บป่วยที่ต้องรักษา แล้วจึงกล่าวไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับการเยียวยา”

ส่วนคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่พิพากษาเมื่อ 10 กุมภาพันธุ์ 2558 นั้น ทนายสุรชัย เห็นว่าศาลได้ชี้ว่าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อพิจารณาเรื่องการลงโทษในการละเมิดต่อสิ่งแวดล้อม ที่แม้จะชัดเจนว่า กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตรแต่ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่ใช้อำนาจสั่งปิดเหมืองทั้งที่มีอำนาจก็ไม่มีความผิดเพราะอ้างเหตุผลว่า “หากมีการเพิกถอนประทานบัตรที่พิพาทก็อาจกระทบถึงการบริการสาธารณะด้านไฟฟ้า” ซึ่งสะท้อนมะโนทัศน์เรื่องพลังงานถ่านหินคือความมั่นคงพลังงานโดยไม่พิจารณาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นว่าการที่เหมืองได้รับความเห็นชอบเรื่องการประเมินผลกระทบนั้น ไม่ได้หมายความว่าเหมืองจะปลอดภัยเพียงแต่อาจจะช่วยจะลดผลกระทบได้หากทำตามเงื่อนไข

กว่าสองทศวรรษหลังมลพิษทางอากาศที่แม่เมาะ กว่าหนึ่งทศวรรษที่ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม แต่ทว่าเส้นทางที่เหลืออยู่นั้นอาจยาวนานราวนิรันดร์สำหรับคนป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง พวกเขายังต้องสะดุ้งเพราะเสียงเจาะระเบิดถ่านหิน เสียงหมุนอันแข็งกระด้างของสายพานลำเลียงเศษดิน และถ่านหิน ยังต้องเฝ้ามองควันสีเทาเหนือปล่อยโรงไฟฟ้า ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งต้องรื้อเรือนชานอพยพออกจากรัศมีมลพิษ นั่นคือราคาที่คนแม่เมาะต้องจ่ายเพื่อเผาพลาญถ่านหินเป็นไฟฟ้า

ในวันพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรอบรูปภาพผู้ฟ้องคดีที่เสียชีวิตแล้วจำนวนหนึ่งเรียงกันอยู่บนม้านั่งหน้าห้องพิจารณา ฉากหลังเป็นเหล่าชาวแม่เมาะและครอบครัวผู้เสียหาย กำลังตั้งตาฟังเสียงอ่านคำพิพากษา น้ำเสียงผู้พิพากษาชัดถ้อยชัดคำ เสียงที่เปล่งออกมาฟังดูทรงอำนาจ ท่านเปล่งถ้อยคำภาษากฎหมายและตัวเลขอันซับซ้อน เป็นเวลาหลายชั่วโมง

“เฮาชนะก่อ?”

หญิงสูงวัยผู้หนึ่งเอ่ย ขณะเงยขึ้นมองหน้าทนายที่นั่งอยู่ข้างๆ เมื่อศาลกลับออกจากบัลลังก์

รายการอ้างอิง

ทานตะวัน (นามแฝง) “พิษแม่เมาะ” นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 164 ธันวาคม 2535, [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://doctor.or.thttp://doctor.or.th/node/3212 เข้าถึงเมื่อ 17 ธันวาคม 2554

หนังสือ กฟผ.เลขที่ 93300/20065 ลงวันที่ 19พฤษภาคม 2552 ลงชื่อนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้อง ถึง นายปราศัย ผูกพันธ์และพวก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. “กฟผ.คาด จ่ายสินไหมทดแทนคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตามคำพิพากษาศาศาลปกครองสูงสุดภายในกลางเดือนมีนาคม” [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=852&c..., เข้าถึงเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2558

ศาลปกครองเชียงใหม่ “คำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 60–77/2552 และ 64/2548”, [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://enlawfoundation.org/newweb/wpcontent/uploads/maemoh_compensation_... เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (โดยสำนักงานศาลปกครอง) “ข่าวสารปกครอง ครั้งที่ 19/2558”,[ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Summary_Decision_Su... Court_MeamohCompensationCase.pdf เข้าถึงเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2558

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.730–748/2557, [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Decision-MaemohCase..., เข้าถึงเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2558

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (โดยสำนักงานศาลปกครอง) “ข่าวสารปกครอง ครั้งที่ 15/2558”, [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Summary-MaemohEIA-S..., เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2558

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.749–764/2557, [ออนไลน์] เข้าถึงจาก http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Decision-MaemohEIA-..., เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2558.

บำเพ็ญ ไชยรักษ์ (2556). เมฆปริศนา: ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย. ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.

ฝ้ายคำ หาญณรงค์. “ถ่านหินสะอาดในบริบทโลกร้อน” เอกสารเผยแพร่ คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม 8 ธันวาคม 2557

--

--

ForestCoin.Space

We need people from around the world help us to preserve the forest. Funding from everyone can help us to develop good place for living in harmony with nature.