Jidouka ระบบควบคุมตนเองแบบอัตโนมัติ แนวคิดเพื่อเอาคนออก ?

ครั้งที่แล้วจ๊ะเอ๋ได้เขียนเกี่ยวกับ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ jidouka กับ JIT (เขานิยมเรียกว่า 2 เสา)

วันนี้เราจะมาดูคำว่า jidouka กันนะคะ

คำว่า jidouka แปลว่า การทำให้เป็นอัตโนมัติ ในภาษาญี่ปุ่นนั้น สามารถสะกดได้ 2 แบบค่ะ

จากรูปด้านล่าง พอจะทราบความแตกต่างมั้ยเอ่ย ไม่ทราบภาษาญี่ปุ่น ไม่เป็นไรเลยคะ ลองเล่นเป็นเกมจับผิดภาพก็พอ

เห็นมั้ยคะ คำตรงกลาง(สีแดง)ของ jidouka ในข้อ ① มีขีดๆเกินมาจาก คำตรงกลาง(สีน้ำเงิน) ของ jidouka ในข้อ ②

“ขีดๆที่เกินมา” นี้มีความหมายว่า “คน” ค่ะ

kanji picture of 重 and 力 from http://huusennarare.cocolog-nifty.com/blog/

jidouka ที่โตโยต้าใช้คือ ตัวที่มี “คน” ค่ะ

หมายความว่า การทำให้เป็นอัตโนมัติ โดยที่คนสามารถทำงานโดยการควบคุมตนเองได้ ตัดสินใจเองได้ เพราะมีการวางระบบกลไกไว้เรียบร้อยว่าถ้าเกิดแบบนี้ ให้ทำแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้น จะเกิดแบบโน้น ที่เหลือคือคนต้องมีวินัย อาจจะมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยบ้างในการทำงานของคนที่ต้องเสี่ยงอันตราย ร้อนหนักเหนื่อย งานที่มีผลต่อ ergonomics เข้าถึงยาก งานที่ต้องการความแม่นยำสูง

ไม่ได้หมายความว่า ให้เอาคนออกให้หมด แล้วเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ยกแผง นำหุ่นยนต์ เครื่องจักรแพงๆมาใส่ แล้วบอกว่าทำ jidouka แล้ว

ซึ่งเป็นความหมายของ jidouka ตัวที่ ② ค่ะ Automation ไม่ว่าจะเป็นแบบ semi หรือ full ก็ตาม

ดังนั้น jidouka แบบที่ ① ไม่ได้ทำเพื่อลดคนนะคะ ทำเพื่อคนจะได้ไปทำอย่างอื่นให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากกว่า

กุญแจสำคัญของการใช้ jidouka

คือ การกระทำเพื่อตอบสนองอะไรบางอย่างตามเงื่อนไขและวิธีที่ได้ตกลงกันไว้ทันที

ที่มีชื่อเสียงมากคือ “หยุดทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติ”

เพื่อไม่ให้เกิดของเสียเพิ่ม หาสาเหตุ ทำการแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

ที่บริษัทจ๊ะเอ๋เองก็มีการนำแนวคิดแบบนี้เข้ามาใช้ โดยจะมีคาถาให้พนักงานท่อง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเมื่อพบความผิดปกติค่ะ คือ “หยุด-เรียก-รอ” คิดว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายๆแห่งก็คงรู้จักกัน

หยุดการกระทำ หยุดเครื่องจักร แล้วเรียกหัวหน้า ผู้ที่เกี่ยวข้อง และรอจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้ทำต่อ

การตัดสินใจที่จะหยุดนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยตามลักษณะหน้างานอีกค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าจะสอนพนักงานไว้ว่าอย่างไร

บางครั้งการชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าในข้อดีข้อเสีย ระหว่างการหยุดเครื่องจักรแล้วต้องรันใหม่อีกรอบ ซึ่งเกิด loss ที่จะต้องรอให้เครื่องจักรกลับมาเสถียรภาพอีกครั้ง กับการประเมินว่า กระบวนการที่เกิดปัญหาขึ้นนั้นสามารถ rearrange เปลี่ยนลำดับได้หรือเปล่า ถ้าได้ เราก็ปล่อยให้งานเดินต่อเนื่องไปก่อน ระหว่างนั้นก็แก้ปัญหาตรงจุดนั้นไป เมื่องานเสร็จ แก้ปัญหาเสร็จ ก็วกกลับมาทำต่อให้เสร็จเฉพาะแต่ station นั้น

ที่จ๊ะเอ๋ไปดูที่โตโยต้าบ้านโพธิ์มา ตอนเดือนพฤษภาคม 2562 จะใช้ระบบให้พนักงานดึงเชือกที่โคมไฟ แล้วหัวหน้าจะสังเกตเห็นไฟขึ้น ก็จะรีบเข้าไปดูค่ะ ไม่ใช่ให้หยุดเครื่องเลยกันเองทีเดียว นอกเสียจากว่ามีเหตุฉุกเฉินจริงๆๆๆๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุ

ระบบการเรียกหัวหน้าแบบนี้เรียกว่า Andon ก็คือโคมไฟสี แดง เขียว เหลือง (แล้วแต่หน้างาน) และยังมี monitoring board ที่สามารถเห็นการไหลของทั้งระบบได้ในหน้าจอเดียว แต่ก็อาจจะมี delay จากความเป็นจริงนิดหน่อย ถ้าติดเรื่องการส่งสัญญาณ

และเมื่อรอ หาสาเหตุ ทำการแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำแล้ว เราก็จะได้เรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะย่นระยะเวลาแก้ไขได้กระชั้นชิดขึ้น และจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรกอย่างไร เราก็กำหนดออกมาเป็น standard ซึ่งมีระบบติดตามและอัพเดตได้เสมอด้วย PDCA ค่ะ

By JaAei

ติดตามบทความและความรู้อื่นๆได้ที่ Facebook fanpage : ปุถุชนคน Lean

--

--