Pull system ระบบดึง ภาษาชาวบ้าน

Pull system for production หรือ Pull production หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ระบบการผลิตแบบดึง” นั้นคืออะไร และเราจำเป็นจะต้องนำระบบนี้เข้ามาใช้ในองค์กรของเราเสมอไปหรือไม่ วันนี้จ๊ะเอ๋จะมาย่อยความรู้ให้ฟังกันง่ายๆนะคะ

Pull production คืออะไร

เปรียบง่ายๆเลย เหมือนป้อนข้าวให้เด็ก ถ้าเราป้อนๆๆ โดยไม่สนว่าเด็กเคี้ยวเสร็จยัง กลืนแล้วยัง เด็กก็จะอมสะสมไว้ในปาก พอกลืนไม่ไหวก็บ้วนทิ้งเสียเปล่า ถ้าจะให้ดีเมื่อเด็กกลืนเสร็จแล้ว ก็ให้มาทำท่าอ้าปาก อ้ามมม หม่ำๆ เอง

พูดเข้ามาใกล้เชิงธุรกิจเข้ามาหน่อย ก็คือการ Made to order ไม่ใช้ซื้อหรือผลิตสินค้ามาตุนๆๆไว้เยอะๆ แล้วค่อยไปอัดขายให้ออกทีหลัง เสี่ยงต่อการขายไม่ออก สินค้าเน่าเสียหมดอายุ เปลี่ยนที่เก็บในตู้เย็น บลาๆ

พูดภาษาเชิงวิชาการ คือการผลิตที่ลูกค้าเป็นคนส่งสัญญาณว่าผลิตได้ ซึ่งคำว่าลูกค้า มีทั้งลูกค้าภายนอก (External Customer) และลูกค้าภายใน (Internal Customer) ทั้งหมดนี้ที่ถือว่าเป็น ลูกค้าปลายทาง (Downstream) ของแต่ละจุดในกระบวนการทั้งหมด เขาเรียก การผลิตแบบลูกค้าเป็นคนกำหนด (Market-in)

ไม่ต้องจำๆ เข้าใจแค่ว่า “ผลิตเมื่อสั่ง” คำเดียวจบ จับหลักตรงนี้ให้ได้แล้วไปต่อก่อนค่ะ

ทำอย่างไร

หลักคือ การค้นหาและลดความสูญเปล่า และการให้สัญญาณว่าผลิตได้แล้ว ส่งมาเติมได้แล้ว

ว่ากันว่าบริษัทส่วนใหญ่มีความสูญเปล่าถึง 80% ของกระบวนการเชียวนะ หมายความว่า คุณลงทุนไป 100 มีต้นทุนไปจมอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้่ก่อให้เกิดผลกำไรถึง 80 คุณต้องหาให้เจอว่าเงินของคุณไปนอนเล่นอยู่ตรงไหนในกระบวนการค่ะ

ซึ่งความสูญเปล่าตัวหลักๆ ในนี้มี

  • วัตถุดิบที่ตุนไว้ (Material),
  • งานที่ทำแบบครึ่งๆกลางๆจะขายก็ขายไม่ออก(Work-In-Process product),
  • งานที่เสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออก (Finished goods)

ขอเรียกสิ่งเหล่านี้รวมๆว่า “สินค้าคงคลัง” นะคะ

การมีสินค้าคงคลังเอาไว้ ก็เพื่อความสบายใจ ถ้าเกิดลูกค้ากิดเปลี่ยนใจสั่งเยอะๆกระทันหัน หรือสินค้าที่เราขายออกไปมีปัญหา ลูกค้าขอเคลมเข้ามาเปลี่ยนมากมาย จะได้มีให้ลูกค้าทัน เรียกว่าปลอดภัยไว้ก่อน ภาษาโรงงานเขาเรียกว่า Safety stock แต่นี่แหละคือการสปอยล์อย่างหนึ่ง เพราะไม่ได้ดูว่าจริงๆแล้วมีปัญหาอะไรล่ะที่ทำให้ตอบสนองลูกค้าไม่ทันเสมอ หรือมีจุดบกพร่องตรงไหนที่ทำให้ของเสียจนลูกค้าต้องมาเคลม จึงไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุสักที เหมือนเด็กที่ชอบลืมของไปโรงเรียนอยู่เสมอ ก็จะไม่ทันระวัง เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็มีผู้ปกครองตามเอามาให้ที่โรงเรียน จนไม่ได้แก้ปัญหาสักทีที่ทำให้ลืมบ่อยๆ

**แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ให้มี Safety stock เลยนะ เพียงแต่ว่าต้องรู้ว่าปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

เพราะการมีสินค้าคงคลังนี่แหละที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกซุกซ่อนเอาไว้ เช่น ต้องเสียทรัพยากรในการจัดการ เสียพื้นที่จัดเก็บใน warehouse เหมือนกักตุนเชื้อเพลิงดีๆ หรืออาจจะกลายเป็นรังหนูไปได้ หนำซ้ำยังเป็น ตัวถ่วงงบดุล อีก เป็นต้น ดังนั้นการลดสินค้าคงคลังที่คอยสปอยล์ลงซะ ก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ชัดเจนขึ้น ดูซิว่าตรงไหนไม่มีประสิทธิภาพจนต้องมีสินค้าคงคลังไว้ แน่นอน ความจริงเป็นสิ่งเจ็บปวด แต่เจ็บแล้วจบค่ะ มันจบเพราะว่ามันจำ

ทีนี้พอลดสินค้าคงคลังแล้ว ไม่ต้องตุน จะผลิตเมื่อลูกค้าสั่ง ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ต่อมาถ้าเราจะทำ Pull system เราต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นการส่งสัญญาณว่า เอ้ย มาเติมของได้แล้วนะ ส่งข้อมูลต่อกันเป็นทอดๆ สิ่งที่เป็นตัวส่งสัญญาณนี่คือ คัมบัง (Kamban) จำตัวอย่างป้อนข้าวเด็กได้มั้ยคะ ถ้าเด็กกลืนแล้วให้มาทำท่าอ้าปากให้ป้อนต่อ ให้เด็กจัดการตัวเองได้ ร้องขอเป็น นั่นแหละค่ะ “คัมบัง” หลักง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ โรงงานเขาก็เอาไปใช้กันค่ะ แต่เขาจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นกิจลักษณะไปเท่านั้นเอง

นี่…หลักการของ Lean ก็แอบเอาไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงลูกได้นะเนี่ย

ดีอย่างไร

ลดต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าคงคลัง คือประโยชน์สูงสุดทีี่ได้จากรูปแบบการผลิตแบบนี้ เมื่อลองทบทวนดูดีๆแล้ว อาจจะมีบางครั้งก็จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่น่าจ่ายไปอย่างเสียดายเลยค่ะ หรือบางครั้งลงทุนไปแล้ว กลับไม่ได้ใช้ ก็เสียเปล่า นั่นคือ การผลิตเผื่อไว้เยอะๆนั่นเอง

เกร็ดความรู้
สำหรับแนวคิดของการลดต้นทุน ถ้าอยากขายราคาถูกลง กำไรเท่าเดิม ไม่เข้าเนื้อ แสดงว่าเราต้องลดอะไรคะ เชื่อว่าตอบกันได้สบายๆ คำตอบคือ ต้นทุน ลองดูการคำนวณนี้นะคะ (ราคาขาย — กำไร = ต้นทุน)

เครื่องมือ Lean สำคัญที่ทำให้เกิด Pull system

  • ระบบคัมบัง (Kamban)
  • 5S (หรือ 5ส)
  • Heijunka (การปรับเรียบ)
  • SMED
  • การออกแบบ Layout การทำงานเป็น Cell
  • One piece flow
  • การจัดการระบบสารสนเทศ การทำ Documentary
  • การฝึกพนักงานให้มี Multiskill

ลักษณะของบริษัทที่อาจจะไม่เหมาะกับ Pull system

(1) ไม่รู้ยอด Demand ความต้องการของลูกค้าที่แน่นอน

(2) สิ้นค้าต้องเปลี่ยนเรื่อยๆ ตามฤดูกาล หรือตามกระเแส

(3) สินค้าต้องไปวางขายให้ลูกค้าเลือกแล้วหยิบใส่ตะกร้าซื้อตอนนั้นเลย แต่รถยนต์ ไม่ใช่สินค้าประเภทที่ชี้นิ้วแล้วเลือกเอาวันนี้เลย ต้องสั่งซื้อแล้วรอก่อน ของ Toyota ฝั่งการขายจะต้องทำงานอย่างหนักที่จะต้องได้ยอดสั่งซื้อมาล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อที่จะส่งให้ทางฝ่ายวางแผนรู้ยอดสั่งที่แน่นอน แล้วจึงจะทำการผลิต รถทุกคันที่อยู่ในโรงงานมีเจ้าของจองไว้แล้วทุกคัน

(4) ผู้บริหารระดับสูงไม่มีเข้าใจเรื่อง Production control ที่เพียงพอ

(5) ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่รับความคิดใหม่ๆ คิดว่าของเดิมดีอยู่แล้ว

แล้วบริษัทที่ไม่เหมาะกับ Pull system จะทำอย่างไรดี

(1) โอ้ยระบบนี้ไม่เหมาะกับเราหรอก กลับไปผลิตแบบครั้งละมากๆดีกว่า ? — ข้อนี้ไม่ควรทำสุดๆ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาตลาดของตัวเอง รู้จักสินค้าของตัวเองเป็นอย่างดีก่อน มีโอกาสจะนอนจมกองสินค้าคงคลังได้ แต่ถ้าศึกษามาดีแล้ว มั่นใจสุดๆ ก็ลุยเลยค่ะ บริษัทของคุณเอง

(2) ระบบนี้มันอุดมคติ ยังไงๆก็ต้องคอยปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทุกครั้งที่ต้องผลิตสินค้ารุ่นอื่นๆ ? — ก็เสมอตัว แต่ไม่ได้มีการพัฒนาอะไร วันหนึ่งพนักงานอาจจะรู้สึกหมดกำลังใจก็ได้ แล้วก็สู้กับบริษัทคู่แข่งที่ปรับปรุงไม่ไหว

(3) ถ้าระบบนี้ยังไม่ใช่ซะทีเดียว แล้วจะต้องทำยังไงถึงจะค้นพบวิธีที่เหมาะสมนะ? — ทดลองเรื่อยๆ จนกว่าจะหาวิธีที่เหมาะกับบริษัทตัวเอง แบบนี้ก็น่าจะไปรอดได้มากกว่า

จริงๆแล้วบริษัท Toyota เองก็ไม่ได้ Pull system 100% นะคะ ของเขา Push ในงานการวางแผน Pull ในงานการผลิต ซึ่ง Toyota เอง ยังปรับปรุงวิธีการทำงานอยู่เสมอ

หมายความว่า ที่เราเรียนๆกันอยู่นี่ อาจจะเป็นอดีตไปแล้วสำหรับ Toyota ค่ะ

เราก็เอาแนวคิดเขามาเนอะ วิธีการก็ลองปรับดูค่ะ หา way ที่เหมาะกับเรา

จ๊ะเอ๋ FB ปุถุชนคน Lean

Source ความรู้เพิ่มเติม

--

--