The principle of Lean หลักการของลีน

ในหนังสือ “The Machine That Changed the World” Womack และ Jones (1990) ได้กำหนด หัวใจสำคัญ 5 ประการของของการผลิตแบบ Lean ไว้ดังนี้

  1. เข้าใจก่อนว่าอะไรที่มีหรือทำแล้วเกิดคุณค่า ทำแล้วนำไปสู่สิ่งที่ต้องการจริงๆ ตัดทิ้งไม่ได้ (Specify Value as perceived by the Customer)
  2. ลองวาดลำดับขั้นตอนดูตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อจับจุดว่าแล้วมีอะไรตรงไหนบ้างล่ะ ที่ไม่จำเป็นต้องทำ ทำแล้วเกิดอุปสรรค มีคอขวดตรงไหน (Identify the Value Stream)
  3. กำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำหรือทำแล้วเกิดอุปสรรคนั้นๆออก เพื่อให้เกิดสภาพคล่องของการไหลของกระบวนการ ให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการไหลโดยไม่หยุดชะงัก (Make the Value Flow through the Value Stream)
  4. นำระบบดึงเข้ามาใช้ ขั้นตอนหลังดึงเอาเฉพาะแต่สิ่งที่จำเป็น ในเวลาและจำนวนที่ถูกต้องจากขั้นตอนก่อนหน้า ขั้นตอนก่อนหน้าต้องจ่ายงานให้พอดีกับขั้นตอนถัดไป (Pull the Value from the Value Stream)
  5. ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งเข้าหาความสมบูรณ์แบบ (Strive for Perfection)

อย่างไรก็ตาม ถ้าไปลองค้นหาตามอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือต่างๆ ก็จะพบว่าคำจำกัดความของ Lean นั้นมีแตกต่างกันมากมาย จึงอยากให้เข้าใจก่อนว่า จริงๆ Lean เป็นปรัชญาความคิด เป็นแนวทาง ไม่ว่าจะไปอยู่ในบริบทใดก็ตามแต่ แม้จะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ถ้ามีหลักคิดในการพัฒนาไปในทางเดียวกัน ก็ถือว่าเป็น Lean ได้

ระบบการผลิตของโตโยต้า (TPS) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น World Class Manufacturing (WCM) ก็เป็น Lean รุ่นพี่ช่วงต้นๆที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น บางครั้งไปพูดว่า Lean กับคนญี่ปุ่น เขาไม่รู้จัก พอบอกว่า TPS ก็ถึงบางอ้อ

จนถึงวันนี้ เราจะได้เห็นร่างอวตาลของ Lean มากมาย เช่น Lean Sigma, Agile เป็นต้น Lean สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานบริการ งานสำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่กระทั่งชีวิตประจำวันของพวกเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Lean” แทรกซึมเข้ามาอยู่ในขณะที่เราอาจจะไม่รู้ตัว เช่น จะหั่นผักยังไง ดี จะจัดโต๊ะทำงานยังไงดี ลำดับในการปรุงอาหาร ลำดับในการเดินทาง ต่างๆ เป็นต้น

อาจารย์ณรงศักดิ์ นันทกสิกร อาจารย์ที่สอน Lean ให้กับพี่ จะเปิดฉากมาด้วยคำถามชวนคิดก่อน พี่จำได้ มาวันแรก อาจารย์ถามว่า ปกตินั่งกินข้าวที่โรงอาหาร มักจะนั่งที่เดิมๆทุกวัน หรือเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนคนที่นั่งกินข้าวด้วยกันไปเรื่อยๆ

ส่วนมากก็มักจะเป็นอย่างแรกใช่มั้ย

อาจารย์บอกว่า เพราะคนเรามักจะเลือกทำให้สิ่งที่สบายและเคยชินมากกว่า เดี๋ยวคอยดู พรุ่งนี้มาเรียน ก็นั่งกันที่เดิมยาวไปเรื่อยๆ…(และวันรุ่งขึ้นก็เป็นอย่างที่อาจารย์บอกจริงๆ 55) ประเด็นสำคัญคือ อาจารย์จะสอนว่า คนเรามันต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเหมือนกับบรรพบุรุษของเราที่มีวิวัฒนาการ อาจารย์จะไม่ฟันธงว่า Lean คืออะไร แต่จะให้ “Guideline Principle” มาให้ ปูพื้นฐานย้อนกลับไปตั้งแต่ ระบบการผลิตแบบ Toyota Shingo’s model

พี่จับหลักสำคัญมาได้ก็คือ

“กำจัดสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าเมื่อยึดสายตาของลูกค้าทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อลดต้นทุนแล้วทำกำไร โดยที่ยังรักษาหรือเพิ่มคุณภาพได้ด้วย”

จ๊ะเอ๋กับอาจารย์ณรงศักดิ์

เรื่อง Lean นี่ ถ้าหากเริ่มต้นเรียน เราจะเห็นศัพท์เทคนิคต่างๆ ชื่อเครื่องมือต่างๆ อาจจะคิดว่าต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก่อน ต้องจบ IE (Industrial Engineering) มาก่อน เวลาเราเห็นประกาศรับสมัครงานตำแหน่งที่ทำเกี่ยวกับ Lean ก็มักจะมีการกำหนดว่าต้องจบนั้นจบนี้มาก่อน อันนั้นเป็นสิ่งที่เรามาตั้งขึ้นกันเองภายหลัง แล้วไปยึดติดมันเอง

James P. Womack ; Founder and Senior Advisor, Lean Enterprise Institute. Bachelor in political science from the University of Chicago in 1970. Master’s degree in transportation systems from Harvard University in 1975. Ph.D in political science from the Massachusetts Institute of Technology (MIT) in 1982. https://www.lean.org/WhoWeAre/LeanPerson.cfm?LeanPersonId=1

แต่รู้มั้ย เอาเข้าจริงๆแล้ว แม้แต่คนก่อตั้ง Lean เนี่ย ก็ไม่ได้เรียนจบโดยตรงสายวิศวะมาเลย

อาจารย์พิสิษฐ์ ชูยงค์ (Pisith Chooyong ; Lean operating system (LOS) designer and implementation consultant, Thailand) เล่าเรื่องของ James และ Jones ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาอาวุโสสถาบัน Lean Enterprise Instituteให้ฟังถึงภูมิหลังการศึกษาของทั้งสองคนนี้

Daniel T. Jones; Founder and Chairman of the Lean Enterprise Academy in the U.K. Bachelor in economics from the University of Sussex. Ph.D in Science from the University of Buckingham in 2015. https://www.lean.org/WhoWeAre/LeanPerson.cfm?LeanPersonId=2

James จบอะไรมา?

จบรัฐศาสตร์ค่ะ

ส่วน Jones ล่ะ ?

จบเศรษฐศาสตร์ค่ะ

Pisith Chooyong ; Lean operating system (LOS) designer and implementation consultant, Thailand

ทั้งคู่จบมาทางด้านสายสังคมนะ

เพราะฉะนั้น ถ้าหากน้องๆ มีหัวใจเป็น Lean เป็นคนชอบทำอะไรให้ดีขึ้น ชอบสิ่งที่พัฒนา ชอบวิเคราะห์แก้ไขปัญหา หรือว่าอาจจะเป็นคนขี้เกียจแต่มีปัญญาคิดค้นประดิษฐ์อะไรเพื่อมาช่วยให้เราไม่ต้องทำสิ่งที่ขี้เกียจๆนั้น แต่คุณภาพของงานยังรักษาไว้ได้หรือดีขึ้น ก็ลองท้าทายตัวเองเข้ามาศึกษา Lean ดูค่ะ

ถึงแม้จะไม่ได้ไปทำสายงานวิศวะ หรือด้านโรงงาน องค์ความรู้ตรงนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลายด้านในชีวิตเลยค่ะ

พี่ชื่นชมศาสตร์นี้มาก เรียนแล้วรู้สึกฉลาดขึ้นเยอะ 555

ถ้าถามพี่ นิยามคำว่า Lean สำหรับพี่ ณ ตอนนี้นะคืออะไร (ต้องบอก “ณ ตอนนี้” เพราะพี่เชื่อว่าอะไรก็ปรับปรุงได้ทั้งนั้น) พี่ก็จะตอบว่า

“มันคือภูมิปัญญาที่มีอยู่ในมันสมองของมนุษย์ทุกคน เพื่อที่จะทำบางสิ่งให้มันดีขึ้น คนที่ค้นพบการมีอยู่ของมันได้ ก็พากันกลั่นกรองรวบรวมมัน ตกผลึกมอบให้กับคนรุ่นหลัง”

เหมือนกับเซอร์ ไอแซก นิวตัน ที่ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลก มันมีของมันอยู่แล้ว แต่นิวตันไปพบมัน แล้วก็ตั้งชื่อ แยกแขนงเป็นศาสตร์เป็นสาขาให้น้องๆได้เรียนกันนี่แหละ

คำว่า “ดี” ในประโยคนิยามของพี่ พี่ไม่ได้บอกว่าสำหรับใคร เพราะมันดีได้สำหรับทุกคน แล้วแต่เราจะกำหนด แต่โลกแห่งธุรกิจ เวลาเรียนก็ต้องบอกว่าดีสำหรับลูกค้าอยู่แล้ว ถึงจะจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาทำ เพราะดีกับลูกค้าได้เมื่อไหร่ ผลดีมันก็ย้อนกลับมาเป็นกำไร ทำธุรกิจก็ต้องหวังผลกำไร ไม่แปลก

แต่พี่จะบอกว่า น้องสามารถทำ Lean เพื่อตัวเองได้นะ

เช่นจะจัดบ้านยังไง จะวางแผนการอ่านหนังสือยังไงให้มีประสิทธิภาพ การตั้งเป้าหมายในชีวิตแบบ SMART ซึ่งน้องอาจจะอธิบายคนที่ถามไปว่า อ๋อ อันนี้มองว่าลูกค้าที่ว่าคือตัวเราเอง จุดประสงค์ในการทำคือกำไรชีวิต คือความสบายใจ ก็ได้

แล้วน้องล่ะ จะนิยามคำว่า Lean ว่าคืออะไรดีน้า ?? คอมเมนต์บอกพี่จ๊ะเอ๋บ้างนะ ไม่ต้องกลัวถูกผิด มันขึ้นอยู่กับเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมจึงนิยามแบบนั้น

ขอบคุณอาจารย์ณรงค์ศักดิ์มากๆ ที่ให้โอกาสเอ๋ได้เข้าไปเป็นลูกศิษย์ ทั้งๆที่เอ๋ไม่ได้จบสายตรงมาเลย ขอบคุณอาจารย์ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคน และให้ความรู้ลูกศิษย์จนสุดๆไม่หวงวิชา ถ้าหากเอ๋พูดอะไรผิดพลาดบกพร่องประการใด ก็อาจจะเป็นเพราะเอ๋ลืมไปเอง หรืออาจจะเข้าใจผิดเอง อาจารย์ชี้แนะว่ากล่าวตักเตือนได้เสมอนะคะ

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์พยุงศักดิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ ตอนอยู่ในห้องก็ช่วยสอนเอ๋ กลัวเอ๋จะตามเพื่อนไม่ทัน มาคอยตอบคำถามนอกรอบให้เอ๋ตลอด พี่สนที่สอน DOE และ Promodel simulation ให้เอ๋เหมือนเอ๋เป็นน้องสาวอีกคนหนึ่ง

ขอบคุณพี่ๆ ร่วมห้องเรียนที่คอยช่วยอธิบายเพิ่มให้เอ๋ รับฟังความคิดเห็นของเอ๋ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การได้ฟังประสบการณ์หรือ case study เป็นการย่นระยะการเจอประสบการณ์ด้วยตัวเองลงไปได้มากค่ะ

ขอบคุณพี่ธิ ลัทธิ มีแก้ว รุ่นพี่ที่เอ๋เคารพนับถืออีกคน เอ๋ได้รู้ว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า Lean ครั้งแรก ก็เพราะพี่เลย ทำให้เอ๋เก็บเงิน แล้วเอาเงินเก็บตัวเองไปเรียนกับอาจารย์ ณรงศักดิ์ นี่แหละ บริษัทไม่ได้ส่งเรียนค่ะ

จ๊ะเอ๋ กับพี่ธิ พี่ที่ทำให้รู้จักคำว่า Lean ครั้งแรก

และขอบคุณพี่ๆ อาจารย์หลายๆคนที่เอ๋เคยไปลงคอร์สเรียนเพิ่มเติม เช่น 5S, Lean Office, Karakuri, 7Tools, Safety ต่างๆ

พี่ๆ เพื่อนร่วมงาน ช่างซ่อมบำรุงที่บริษัท ที่ให้ความรู้เอ๋ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PLC, Electricity, Robot, Sensors, Production, Process Engineer และอีกมากมายจนกล่าวไม่หมด น้องๆในไลน์การผลิตที่ให้ความร่วมมือสอนพี่จ๊ะเอ๋ให้รู้ว่าน้องๆลำบากกันยังไง อยากให้ปรับปรุงยังไง แม่บ้านที่คอยมาบ่นว่าโรงงานเรามีจุดบอดอะไรยังไง

ขอบคุณเจ้านายเก่าๆ เจ้านายคนญี่ปุ่น ที่ให้เอ๋ทำงานที่ไม่ได้เรียนจบด้านนั้นมาเลย ไม่ถนัด ไม่ชอบ เริ่มจากศูนย์ ต้องมาศึกษาเองใหม่หมด ทำงานไปศึกษาไป อ่านหนังสือเอง เช่น ทำบัญชี การตลาด แต่รู้มั้ยเกร็ดความรู้ และความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ทักษะการจัดการ การคิดแบบตรรกะ คือได้มาจากสิ่งเหล่านี้เลยแหละ

ความเป็นลีนอยู่ในตัวทุกคนค่ะ ไม่จำเป็นต้องเก่งมากจากไหน น้องก็ทำได้ค่ะ

สมัยเรียน Lean Master ในภาพกำลังพับจรวด เรียนเรื่อง One piece flow vs Batch size กับอาจารย์ณรงศักดิ์ และอาจารยพยุงศักดิ๋

Resources

ลองเสิร์จหาเพิ่มเติมดูนะ เดี๋ยวนี้ความรู้ในอินเตอร์เน็ตหาได้ง่าย มีเยอะแยะค่ะ ถ้าติดขัดไม่เข้าใจตรงไหนส่งข้อความมาหาพี่ ถ้าพี่ตอบได้พี่จะตอบ ถ้าตอบไม่ได้ เราค่อยไปศึกษาหาความรู้ด้วยกันนะ

--

--