อธิบายการผลิตแบบโตโยต้าด้วยการทำงานของสมอง (Toyota Production System : TPS)

เมื่อเราได้ยินคำว่า “ผลิต” แบบโตโยต้า

เรามักเข้าใจว่า คือ “การผลิตสินค้า” หรือคำที่หลายท่านที่อยู่ในวงการนี้คุ้นหูคือ “Monotsukuri” ด้วยวิธีที่ให้ productivity สูงสุด โดยการค้นหาและลดความสูญเปล่าในกระบวนการอยู่เสมอ ที่ซึ่งวิธีนั้นจะต้องใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่า และไม่มีผลกระทบในแง่ลบกับคุณภาพ

ความเข้าใจนี้ไม่ผิดค่ะ

แต่แก่นแท้ ที่ชาวญี่ปุ่นสอนกันมาเกี่ยวกับการผลิตแบบโตโยต้า ไม่ได้อยู่ที่ “การผลิตสินค้า” ค่ะ
แต่เป็น “การผลิตคน” ต่างหาก
โตโยต้าบอกว่า “ผลิตคนให้ได้ ก่อนผลิตสินค้า” เพราะ “คนคือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด”
และการปรับปรุงใดๆนั้น จะต้องเป็นการปรับปรุงที่ไม่ส่งผลเสียต่อ “คน” ด้วย

ถ้าเราเข้าใจเรื่องการปรับปรุงจริง เราก็จะเข้าใจว่าการปรับปรุงนั้นก็เพื่อ “คน” นั่นเอง คือ
1. ช่วยให้คนทำงานได้สะดวกขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น
2. หากเกิดความผิดพลาดแล้ว จะได้ไม่ต้องโทษที่คน
3. ได้ผลผลิตดีขึ้น ผลประกอบการดีขึ้น ค่าตอบแทน สวัสดิการก็ดีขึ้น
4. ฝึกสมอง สร้างปัญญา สร้างความภาคภูมิใจให้กับคน

ดังนั้น ถ้าเราจะนำวิถีของโตโยต้าของแท้มาใช้จริงๆ เราต้องไม่ลืมนำแก่นของเขามาด้วยค่ะ

การผลิตคนนั้น จ๊ะเอ๋ขอเสริมว่า มันคือการผลิตมันสมองของคนนั่นเองค่ะ

การผลิตแบบโตโยต้า ผลิตมันสมองอย่างไร ?

ถ้าวิเคราะห์หลักการแบบโตโยต้าแล้ว จะพบว่าเป็นหลักการที่บังคับกลายๆให้ผู้นำจะต้องใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (จ๊ะเอ๋จะพูดง่ายๆคือ ความรู้ต้องมาพร้อมกับความเข้าใจค่ะ)

จ๊ะเอ๋วิเคราะห์จากการที่มีหลักการที่เรียกว่า “5 Gem” ค่ะ (3 Gem ไม่พอแล้วค่ะ อัพเดตเป็น 5 Gem)
Gemba = สถานที่จริง คือ ที่ที่คนทำงาน ถ้าเป็นฝ่ายการตลาด เสียงของลูกค้าก็มาแทนสิ่งนี้ค่ะ
Gembutsu = ของจริง คือ สิ่งของ ชิ้นวาน เครื่องจักร ที่จับต้องได้
Genjitsu = ความจริง หัวหน้าต้องแปลงร่างเป็นนักสืบ เก่งไปดู ไม่ใช่เก่งไปเดา

3 ตัวแรกนี้ค่ะ ที่สมองส่วน Cerebrum และ Cerebellum จะรับข้อมูล ภาพ เสียง รส ลักษณะทางกายภาพ การทรงตัว การรับรู้ในมิติสัมพันธ์ ผ่านตัวรับสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ส่งต่อให้กระบวนถัดไปโดยใช้ 2 Gem ที่เพิ่มเข้าต่อไปนี้ คือ

Genri = หลักการทำงานของสิ่งต่างๆ มีความรู้ว่าแบบไหนเรียกว่า ปกติ ไม่ปกติ
Gensoku =หลักการที่มีไว้กลับมาทบทวนเสมอ หากต้องตัดสินใจ คือมีความเข้าใจว่า ถ้าเราเป็นลูกค้า เราอยากได้อะไร

หมายความว่า หลังจากที่รับข้อมูลเข้ามาแล้ว สมองจะต้องประมวลผล เปรียบเทียบข้อมูลนั้นกับความรู้และความเข้าใจว่า แล้วตกลงสิ่งที่เห็นมันปกติมั้ย ถ้าผิดปกติจะต้องทำ action อย่างไรต่อไป

โตโยต้าวางรากฐานการตอบสนองของการผลิตให้ฉับไวในเรื่องของการ หยุด! เมื่อพบสิ่งผิดปกติ

หลักการนี้เลียนแบบการทำงานของสมองเพื่อความอยู่รอดของชีวิตค่ะ
เมื่อเราแตะไปโดนของร้อน (พบสิ่งผิดปกติ) เซลล์ประสาทสั่งงานในไขสันหลังต้องสั่งแขนขาให้ดึงกลับทันที (หยุดการผลิตนั้นทันที) ด้วยปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (Refelx Action) อย่างอัตโนมัติ
หลังจากนั้นจะเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าไปแตะสิ่งนี้มันจะร้อน สิ่งนั้นๆก็น่าจะร้อนด้วย
คนเราจึงเกิดปัญญาว่า ถ้าอย่างนั้น ก็จะต้องป้องกันไม่ให้ไปแตะเสียตั้งแต่แรก
นั่นก็คือ POKAYOKE ป้องกันไม่ให้ผิดพลาดเลยตั้งแต่แรกดีกว่า
กลายมาเป็น เสาหลัก 2 เสา
Jidouka (การทำให้เป็นอัตโนมัติ) และ JIT (ระบบทันเวลาพอดี) นั่นเอง

นี่แหละค่ะ ที่จ๊ะเอ๋มองว่า 5 Gem เหล่านี้ เป็นตัวกระตุ้นสมองชั้นดี

ที่สำคัญ กฏเหล่านี้ ก็ตกผลึกมาจากคน
ที่ได้รับการกระตุ้นให้คิดด้วยตนเองว่าจะ “ปรับปรุงวิธีการปรับปรุง” ของตนเองอย่างไร
เมื่อผลิตมันสมองที่ดี ก็ได้คนที่ดี งานก็ออกมาดี
ให้ความสำคัญที่คน ปรับปรุงที่ระบบ

By JaAei
Facebook page: ปุถุชนคน Lean

--

--