เคล็ดวิชาดวงจีน #1— 8 เรือน

Qi Men Alchemy
5 min readAug 20, 2017

--

มีหลายท่านได้ส่งข้อความมาคุย, แลกเปลี่ยนความรู้ และ สอบถามเรื่องต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ บทความที่เขียนทำให้เข้าใจทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมาก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะนำทฤษฎีเหล่านั้นไปใช้จริงอย่างไร ?

ผมจึงถือโอกาสนี้ ยกตัวอย่างการนำ ไท่จี๋, หยินหยาง มาใช้ในเรื่องดูดวง ขั้นระหว่างการนำเสนอทฤษฎีอื่น ๆ และก่อนจะกลับเข้าสู่การอธิบายฉีเหมินตุ้นเจียตามที่ได้เริ่มตั้งเพจ QiMen Alchemy มา สำหรับเคล็ดวิชาที่นำไปใช้งานจริงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นดวง หรือ ฮวงจุ้ย จะทยอยนำมาเสนอตามแต่เวลาที่ผมมีครับ

ก่อนเริ่มต้องขอออกตัวก่อนว่า วิธีการดูดวงนั้นมีอยู่หลายสำนักและหลายวิธีมาก แต่ละสำนักก็ใช้วิธีแตกต่างกันไป และการอ่านดวงนั้น ต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก เช่น ชง ภาคี ฤดู ฯลฯ ดังนั้น เคล็ดวิชานี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของวิชาทั้งหมดครับ

อารัมภบท

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจดวงชะตา หรือ ดูดวง ผมพบความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง ระหว่างคนไทย กับ คนทั่วโลกในเรื่องของการตรวจดวงชะตา ว่าจุดสนใจต่างกันคือ

  • ไทย = สนใจว่า เมื่อไหร่ (When) จะได้ในสิ่งที่ต้องการ → จะรวยเมื่อไหร่, จะมีคู่เมื่อไหร่
  • ประเทศอื่น = สนใจว่า ทำอย่างไร (How) จะได้ในสิ่งที่ต้องการ → ทำไงให้มั่งคั่ง, ทำไงให้มีคู่

ในเรื่องของการเปลี่ยนผลลัพธ์ หรือ ที่เราเรียกว่า “แก้ดวง” ก็มีความแตกต่างกันอยู่เยอะ คือ

  • ไทย = เชื่อว่าดวงแก้ไขได้ โดยการหาอะไรบางอย่างจากภายนอก (เช่น ฮวงจุ้ย, ของขลัง) มาแก้ไขดวง
  • ประเทศอื่น = เชื่อว่าดวงแก้ไขไม่ได้ ชะตาฟ้ากำหนด แต่เราสามารถเปลี่ยนการกระทำได้อย่างอิสระตามที่เราต้องการ หรือมีเจตจำนงเสรี (Free Will) โดยเมื่อเปลี่ยนการกระทำแล้วผลลัพธ์จะเปลี่ยนไปด้วย โดยการแก้ไขชะตานั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง (Self-Improve) เป็นหลัก

ไป ๆ มา ๆ เหมือนกับว่าพวกฝรั่งซะอีก ที่จะเชื่อในกฎแห่งกรรมมากกว่าคนไทย ทั้งที่เราเป็นประเทศศาสนาพุทธ

ด้วยเหตุนี้เอง ในการอ่านดวง ในประเทศอื่น จึงเน้นน้ำหนักและให้ความสำคัญไปที่การเข้าใจพื้นดวง (ดวงเกิด) เพื่อเข้าใจตัวเองเป็นอย่างมาก ซึ่งมากกว่าการให้ความสำคัญไปที่วัยจร, ปีจร เพื่อจะพยากรณ์เหตุการณ์แบบประเทศไทยเยอะมาก

การอ่านดวงเกิดให้เข้าใจอย่างชัดเจน จากประสบการณ์พบว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการทำความเข้าใจตัวเองในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านดี ด้านร้ายสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ การที่เราสามารถเข้าใจพื้นดวง หรือดวงของตัวเองจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหา สภาพชีวิต นิสัย สันดาน พฤติกรรม วิธีการใช้ชีวิต การตัดสินใจ ของคนนั้นได้อย่างดี

เป็นผลให้ → เราจะรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ → ผู้นั้นจะตัดสินใจอย่างไร ตัดสินใจไปเพราะอะไร และผลลัพธ์น่าจะเป็นแนวไหน วิธีไหนที่จะพัฒนาตัวเองได้ อะไรเป็นจุดอ่อนที่เราต้องปรับปรุง เป็นต้น

ในประเทศอื่น ๆ ที่ผมประสบมาจะเชื่อว่า ถ้าเตรียมตัวมาดี พัฒนาตัวเองให้ดี เมื่อเกิดเหตุอะไรก็ฝ่าฟันไปได้ง่าย

อาศัยเหตุนี้ บทความเรื่องดวงที่จะเขียนต่อไปผมจึงเน้นไปที่การพยายามทำความเข้าใจดวงเป็นหลัก มากกว่าการพยากรณ์เหตุการณ์

8 เรือน

เมื่อเราเริ่มต้นเรียนดวงจีน เราก็จะพบกับ ช่อง ๆ 8 ช่องหรือที่เรียกว่า 8 เรือน ที่เราคุ้นกันดีในตอนที่เรียนเราก็จะเริ่มกันจากท่องจำว่า แต่ละช่องหมายถึงอะไร เช่น ฐานวันหมายถึงคู่ครอง หลักยามหมายถึงลูก

ในสมัยที่เริ่มศึกษาใหม่ ๆ มีหลายครั้งที่ดูดวงแล้วก็งง ๆ ว่าทำไมมันไม่เห็นจะตรงกับที่เรียนมา รวมถึงบางครั้งไปเจอซินแสเก่ง ๆ บางท่านก็ใช้ไม่เหมือนกับที่เรียนหรือเห็นในตำรามา ต่อมาหลังจากได้รับการถ่ายทอดวิชาจากปรมาจารย์หลายท่าน ก็ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามันเกี่ยวเนื่องกับไท่จี๋และหยินหยางนั้นเอง

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ถือว่าเป็นเคล็ดวิชาของการดูดวงของซินแสหลาย ๆ คนเลยที่ ซึ่งถ้ามีการเปิดสอนในประเทศไทย เชื่อว่า สามารถทำเงินเฉพาะหลักสูตรนี้ได้หลายแสนบาท (ที่ต่างประเทศสอนเรื่องพวกนี้ขั้นต่ำ 200,000 กว่าบาท — แต่มีลายระเอียดอื่น เช่น การย้ายตำแหน่งไท่จี๋)

เนื่องจากบทความนี้เน้นการไปใช้ ผมจะไม่อธิบายที่ไปที่มาและทฤษฎีมากหละกันนะครับ

องค์ประกอบ

ใน 8 เรือนนั้น ด้านบน จะเป็น 天干 (tiān gān, เทียน กาน) — กิ่งฟ้า, ราศีบน; ด้านล่างจะเป็น 地支 (dì zhī, ตี้ จือ) — ก้านดิน, ราศีล่าง; นอกนั้นยังมี 藏干 (cáng gān, ฉัง กาน) — กิ่งคลัง, ราศีแฝง; 藏 ตามโบราณมันจะหมายถึง การเก็บรักษาของมีค่าไว้แอบ ๆ ลับ ๆ ไม่ให้ใครรู้ เช่น ท้องพระคลัง, ห้องลับ เป็นต้น ผมจึงตัดสินใจเรียกมันว่า กิ่งคลัง หละกันครับ (นอกจากนี้ยังมีเหตุผลตามความหมายที่แท้จริงของมันเอง ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ)

บนล่าง

เราจะให้ด้านบนคือ สิ่งที่เห็นได้ง่าย, ปรากฏได้ง่าย, เห็นได้เร็ว ส่วนด่านล่างก็ตรงข้ามคือ ปรากฎได้ยาก, เห็นได้ช้า หรือ ด้านบนเป็นหยาง ด้านล่างเป็นหยิน ซึ่งสรุปได้เป็น

  • กิ่งฟ้า = สิ่งที่มองเห็นได้ง่าย, ปรากฏได้ง่าย, เห็นได้เร็ว, เกิดเร็ว, จินตภาพ, สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจ
  • ก้านดิน = สิ่งที่มองเห็นได้ยาก, ปรากฏได้ยาก, เห็นได้ช้า, เกิดช้า, กายภาพ, สิ่งที่เป็นจริง ๆ
  • กิ่งคลัง = สิ่งที่มองไม่เห็น (บางทีเจ้าตัวก็ไม่รู้), แทบไม่ปรากฏ, หลายปีกว่าจะเห็น, จิตภาพ, จิตใต้สำนึก, สิ่งที่จิตคิด

ซ้ายขวา

เราจะให้ด้านซ้าย แทนภายใน, ใกล้ ๆ ; ด้านขวาแทนภายนอก, ไกล ๆ ; หรือ ด้านขวาของผังเป็นหยาง ด้านซ้ายของผังเป็นหยิน ซึ่งสรุปได้เป็น

  • หลักปี = ไกล ๆ, นอก ๆ ตัวเรา, นาน ๆ เจอที, นาน ๆ ไปที
  • หลักเดือน = นอกตัว ไม่ไกล ไม่ใกล้มาก, ไปบ่อย ๆ
  • หลักวัน = ตัวเรา, เจอบ่อย ๆ ทุกวัน
  • หลักยาม = ในตัวเรา, อยู่กับเรา, เกิดจากเรา

หยินหยาง 8 เรือน

ความสนุกจะเริ่มต่อจากนี้ครับ เราจะนำสิ่งที่ได้กล่าวด้านบน มาผสมความหมายกัน ตามหลักหยินหยาง และ ไท่จี๋ ผมขอยกตัวอย่าง เรื่องที่เกี่ยวกับคน กับ สถานที่ก่อนจะได้เห็นภาพง่าย

หลักปี

หลักปี = ไกล ๆ ตัว นานไปเจอที → ดังนั้นในสมัยก่อน เลยหมายถึง ตระกูล, ปู่ทวด, ย่าทวด แต่ในปัจจุบันมักจะหมายถึงพ่อแม่ เนื่องจากปัจจุบัน เรามักแยกครอบครัวออกมาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อีกต่อไป ต้องย้อนนึกไปถึงสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่คนจีนมักอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ในความหมายของครอบครัวที่ไกล ๆ ตัวเลยเป็นเรื่องตระกูล แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จึงมีซินแสหลายท่านอ่านหลักนี้เป็นพ่อแม่เป็นหลัก

แต่… ถ้าคนที่อยู่กับพ่อแม่ อยู่บ้านเดียวกัน ทำงานที่บ้าน ทำงานกับพ่อแม่ หลักนี้ก็ยังอ่านเป็นตระกูลเหมือนเดิม → จะเห็นว่ามันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นอยู่กับ จุดอ้างอิง (คนๆ นั้น) ไม่ตายตัว

หรือยังอ่านได้ว่าเป็น

  • ผู้หลักใหญ่ ก็ได้ เพราะเป็นคนไกลตัว นาน ๆ จะไปเจอสักครั้ง
  • คนอยู่ไกล ๆ ก็ได้ เพราะนาน ๆ จะไปสักครั้ง
  • คนต่างประเทศ ก็ได้ เพราะนาน ๆ จะไปสักครั้ง (ถ้าไปมันบ่อยมากมักจะไม่นับ)

สำคัญคือ ความที่อยู่นอกตัว ไกล ๆ นาน ๆ คิดถึง หรือ ไปที หรือ เจอที

หลักปีบนล่าง

ด้านบน หมายถึงมองเห็น ถ้ารวมกับปี ก็หมายถึง ไกล ๆ ที่หมองเห็นได้ เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับสถานที่

  • หลักปีบน → ไปเทียวต่างประเทศแบบสวยงาม บันเทิง สนุกสนาน ถ่ายรูปโชว์ลง Facebook
  • หลักปีล่าง → ไปเทียวต่างประเทศเงียบ ๆ เช่น ไป Spa ต่างประเทศ, ไปเทียวท้องถิ่น, ไปพักผ่อนปลีกวิเวก

ในโบราณ ผู้หญิงไม่ได้แสดงออก ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีบทบาท ไม่ออกไปข้างนอกบ้านมาก ดังนั้น ด้านบนก็จะหมายถึงตระกูลฝ่ายชาย ด้านล่างคือ ตระกูลฝ่ายหญิง เป็นต้น

หลักเดือน

หลักเดือน = นอกตัว ไม่ไกล ไม่ใกล้มาก, ไปบ่อย ๆ หรือสังคมรอบตัวเรา ถ้าตามปกติก็จะแปลว่า พ่อแม่ เนื่องจาก ปกติสมัยก่อนสภาพสังคมเป็นแบบนั้น และ คนจีนสมัยก่อน มักทำงานกับพ่อแม่ ช่วยพ่อแม่ทำงาน

แต่ปัจจุบัน เราก็จะหมายถึง เพื่อน, เพื่อนร่วมงานเนื่องจากปกติก็จะเจอหน้ากัน 8 ชม. ต่อวัน และ 5 วันต่อสัปดาห์ บางคนเจอหน้าเมีย, พ่อแม่ น้อยกว่าเจอเพื่อนร่วมงานอีก แต่ก็เหมือนเดิมครับ → แล้วแต่บุคคล บางคนที่ทำงานที่บ้าน กับ พ่อแม่ วัน ๆ ก็เจอหน้าพ่อแม่ ไม่เจอเพื่อน

บางกรณี ก็จะหมายถึงพี่น้อง ถ้าเรามีอะไรทำร่วมกับพี่น้อง ไปไหนมาไหนด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวด้วยกัน

ถ้าเปรียบเทียบกับสถานที่ก็เดาได้ไม่ยากใช่ไหมครับว่า คือ สถานที่ทำงาน หรือ สถานที่เราไปบ่อย ๆ ถ้าไปเที่ยวก็จัดว่าเป็นพวก ห้างแถวบ้าน หรือ ร้านอาหารประจำ

นอกจากนี้หลักเดือนยัง เป็นตัวแทนของฤดู ซึ่งเป็นตัวกำหนด กำลัง (ความแข็ง/อ่อน) ของตัวอื่น ๆ ในดวงเราอีกด้วย จึงยังหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เราต้องเจอประจำ หรือ กำหนดการดำเนินชีวิต ซึ่งก็จะหมายถึงการเลี้ยงชีพ หรือ อาชีพการงาน ธรุกิจที่ทำ นั้นเอง

หลักเดือนบนล่าง

ด้วยหลักการเดิม คือ ด้านบนคือสิ่งที่มองเห็น/หยาง/ที่คนเข้าใจ ด้านล่างคือสิ่งที่มองไม่เห็น/หยิน/ที่เป็นจริง ๆ จะได้เป็น

  • หลักเดือนบน → งานที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเราทำ, ห้างแถวบ้านที่ไปบ่อย, สถานที่ ที่เราชอบถ่ายลง Facebook, งานขาย, งานการตลาด, การเจรจา
  • หลักเดือนล่าง → งานหลัก รายได้หลักของเรา, สถานที่เราไปทำงานประจำ, งานประจำ, งานหลัก, งานผลิต

หลักวัน

หลักวัน = ตัวเราเอง ตรงไปตรงมา ดังนั้น อะไรที่อยู่กับเราติดตัวประจำ วันละหลายชม. ก็จะหมายถึงหลักวัน เช่น คู่ครอง บ้านที่นอน เป็นต้น

ในวิชาโป๊ยหยี่ ฐานวัน ถือเป็นจุดที่สำคัญที่สุดในดวง ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตัวกำหนดชีวิต ของเจ้าของดวงเลย ถ้ามีการชงที่ฐานวัน อาจจะถึงขั้นชีวิตวิบัติ หาความเจริญในชีวิตได้ยาก หรือ ฆ่าตัวตายได้

ซึ่งก็เปรียบเทียบก็เหมือน ถ้าคู่ครองเรามีปัญหากับเรา ได้คู่ครองไม่ดี ชีวิตก็ถึงขั้นบัดซบ หนักหน่อยก็ฆ่าตัวตาย ดังที่เราจะเห็นได้ว่า คนที่ฆ่าตัวตาย สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจากปัญหาเรื่องความรักทั้งนั้น เรื่องเศรษฐกิจจะมีแค่ส่วนน้อยเท่านั้น

หลักยาม

หลักยาม = สิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา, สิ่งที่เกิดมาจากเราโดยตรง, สิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา → ซึ่งก็จะหมายถึง ความคิด → เราคิดอย่างไร ก็เลี้ยงลูกแบบนั้น ปกครองลูกน้องแบบนั้น → ก็เลยหมายถึงลูก + ลูกน้องด้วย

หลักยามบนล่าง

ด้วยหลักการเดียวกับหลักอื่น ๆ ก็จะได้

  • หลักยามบน → ลูกชาย, ลูกจ้าง, บริวาร, นิสัยที่แสดงออก
  • หลักยามล่าง → ลูกสาว, ลูกในใส้, หลาน, นิสัยที่แท้จริง, จิตใต้สำนึก

ธุรกิจ

เมื่อนำหลักการของหยินหยาง และ ไท่จี๋ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น มาลองเปรียบเทียบกับธุรกิจ ในแต่ละหลักเราก็จะสามารถกำหนดได้เป็นตามรูป

ในทำนองเดียวกันแต่ละระดับ (แถว) ก็สามารถวิเคราะห์ได้เป็น

ตัวอย่าง

เราลองมายกตัวอย่าง การเอาไปใช้งาน ให้พอเห็นภาพขึ้นครับ สมมุติว่า มีคนถามว่า เค้าทำงานในธุรกิจไหนจะได้เงิน สมมุติว่า ดิถีเป็น 癸 (น้ำกุ่ย) ดังนั้น โชคลาภของเค้าต้องเป็นไฟ 丙 (ไฟปิ่ง) หรือ 丁 (ไฟติง) สมมุติว่า หลังจากดูตามดวงแล้วพบว่าไฟปิ่งอยู่ที่กิ่งฟ้าหลักปี ตามรูป

เราก็จะสามารถบอกได้ว่า บุคคลนี้ เหมาะจะทำงานกับ งานขาย + บริษัทใหญ่ หรือ งานตลาด + บริษัทข้ามชาติ ฯลฯ เป็นต้น

สรุป

ถ้าเข้าใจหลักการและที่มา ต่อไปก็ขึ้นอยู่กับการนำไปประยุกต์เรื่องต่าง ๆ ตามที่เราต้องการ โดยต้องไม่ลืมว่า มันไม่ใช่หลักตายตัว เปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับ คนผู้นั้น หรือ ขึ้นอยู่กับจุดอ้างอิง (ไท่จี๋ของเจ้าของดวง) เช่น หลักปี ปกติจะแปลว่าต่างประเทศก็อาจจะเหมาะกับเฉพาะคนที่มีฐานะ แต่คนทั่วไปอาจจะแปลแค่ต่างจังหวัด เป็นต้น (หรือแปลว่าเดินทางไกลไปเลยให้ไปคิดกันเองว่าไกลแค่ไหน)

ในเรื่องอื่น ๆ เราก็สามารถนำไปประยุกต์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น หลักปีบน ถ้าเรานำไปใช้กับแต่ละเรื่องก็จะได้

  • ประเภทเงิน → ก็อาจจะหมายถึง การเล่นหุ้นในตลาดต่างประเทศ
  • การทำธุรกิจ → ก็อาจจะมายถึง สภาพตลาดที่มองเห็นได้ของธุรกิจ
  • การศึกษา → ก็อาจจะหมายถึง ความรู้จากต่างประเทศจากหนังสือ, ตำรา

ซึ่งเมื่อนำไปผสม กับ หลักการอื่น ๆ (เช่น 十神) ก็จะแปลความหมายได้หลายหลายอีกมาก

ถ้าเราเข้าใจหลักการของ ไท่จี๋ หยินยาง ก็จะเข้าใจที่ไป ที่มา ของวิชาอื่น ๆ อีกมากและสามารถนำไปประยุกต์ได้เกือบทุกวิชา

ขอให้ทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ครับ :)

ถ้าสนใจติดตาม บทความอื่น ๆ สามารถไปกด Like ได้ที่ Facebook
https://www.facebook.com/QiMenAlchemy/

--

--