ฉีเหมิน #1 — โหมโรง

Qi Men Alchemy
3 min readOct 25, 2017

--

ช่วงนี้ผมจะเขียนบทความแนะนำฉีเหมินตุ้นเจี่ยจำนวนหนึ่ง อาจจะ 5–6 บทความ เพื่อให้ผู้สนใจ มองเห็นภาพรวมว่าวิชานี้คืออะไรครับ

3 สุดยอดวิชา

奇門遁甲(qí mén dùn jiǎ) ฉีเหมินตุ้นเจี่ย จัดเป็นหนึ่งในสุดยอดวิชาลึกลับของจีนโบราณทั้ง 3 (三式) ที่มีการพูดถึงอยู่เป็นประจำ ด้วยความแปลกประหลาดและหาศึกษาได้ยากมาก รวมทั้งการปรากฎอยู่ภายในประวัติศาสตร์และนิยายหลายครั้ง โดยวิชาทั้ง 3 คือ

  1. 太乙神數 — ไท่อี้เสินซู่
  2. 六壬神課 — ลิ่วเริ่นเสินเค่อ
  3. 奇門遁甲 — ฉีเหมินตุ้นเจี่ย

ไท่อี้เสินซู

เป็นวิชาที่สนใจพลังงานของฟ้าในระดับมหาภาคเป็นหลัก จึงเป็นการใช้เพื่อวิเคราะห์สถาณการณ์ต่าง ๆ ระดับประเทศ เช่น การทหาร การเกษตร การสงคราม ของปีนั้น และวางแผนการพัฒนาและกำลังคน เป็นวิชาที่เอาไว้พยากรณ์ในระดับประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันแทบไม่พบการใช้งานวิชานี้ เนื่องจากยังไม่สามารถผู้ที่สามารถคำนวณปฏิทินของวิชานี้อย่างถูกต้องได้

ลิ่วเริ่นเสินเค่อ

เป็นวิชาที่สนใจพลังงานของดินเป็นหลัก เป็นการวิเคราะห์ดูว่าพลังงานดิน และ ภูติต่าง ๆ มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ณ สถาณการณ์นั้น อีกทั้งยังใช้เพื่อสั่งงานภูติ ต่าง ๆ (เนื่องจากภูติ อยู่ในระดับพลังงานนี้)

การใช้งานลิ่วเริ่นในปัจจุบันจะเป็นการทำนายเป็นหลัก การใช้เพื่อสั่งงานภูติ เช่น วิชา 5 ผีนำโชค (ใช้ผีจริง ๆ ไปเอาโชคเลยครับวิชานี้) ไม่ค่อยมีการเปิดเผยเท่าไหร่

ฉีเหมินตุ้นเจี่ย

ในวิชา ฉีเหมินตุ้นเจี่ย นั้นบุคคลทั่วไปจะได้ยินวิชานี้จากการที่ ขงเบ้ง (จูเก่อเลี่ยง, จูกัดเหลียง) ใช้วิชา ฉีเหมินตุ้นเจี่ย ในเหตุการณ์ หลายครั้ง เช่น

  1. ศึกผาแดงเรียกลมเรียกฝน ที่แท่นบูชา 7 ดาว (七星壇)
  2. ศึกผาแดงใช้เพื่อหลบหนีโดยไม่ให้มีคนเห็น
  3. ค่ายกล 8 ทิศ ( ค่ายกลพยุหะอัฏฐทิศ)
  4. จุดตะเกียง 7 ดาวต่ออายุ
  5. ปล่อยโคม 7 ดาว (โคมขงเบ้ง — 孔明燈)
ภาพจาก http://s1.sinaimg.cn/middle/4c50072dn8495771b26d0&690

ในนิยาย

ค่ายกลเกาะดอกท้อ ของ มารบูรพา อึ้งเอี๊ยะซือ หรือ หวงเหยาซือ เจ้าเกาะดอกท้อ จากเรื่องมังกรหยก (ในนิยายค่ายกลนั้น ประกอบด้วย 2 ชั้น ค่ายกลชั้นในถึงจะเป็นฉีเหมินตุ้นเจี่ย)

ต่างประเทศ

ในต่างประเทศมักแปล ฉีเหมินตุ้นเจี่ย ว่า “เทคนิคการหลบหนีโดยประตูมหัศจรรย์” แต่ถ้าแปลกันตามตัวอักษร ก็จะได้เป็น

  • 奇(qí) ฉี : มหัศจรรย์, ลึกลับ, แปลก, ประหลาด
  • 門 (mén) เหมิน : ประตู
  • 遁 (dùn) ตุ้น : หนี, หลบ, ซ่อน
  • 甲 (jiǎ)เจี่ย : อักษรตัวแรก ของกิ่งฟ้า

ซึ่งกลายเป็น “ประตูมหัศจรรย์เพื่อซ่อนเจี่ย” ก็ดูเหมือนจะยิ่งสร้างความงุนงงให้มากขึ้นว่ามันเป็นวิชาอะไร

ในไทยบางครั้งก็มีการแปลว่า “เกราะบังตาประตูจำแลงพิศดาร” (甲 แปลว่าชุดเกราะ, เสื้อเกราะ ก็ได้)

ฉีเหมินตุ้นเจี่ย คืออะไร?

ฉีเหมินตุ้นเจี่ย เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการอธิบายรูปแบบพลังงาน ณ เวลาหนึ่ง ว่า ณ เวลานั้นมีผังงานในแต่ละชั้นพลังงานเป็นอย่างไร? ส่งผลอย่างไรในอนาคต? แล้วจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ยังไง?

จุดที่แตกต่างจากวิชาอื่น ๆ ก็คือ ความละเอียด และ ระดับชั้นพลังของที่ผัง ฉีเหมินตุ้นเจี่ย บอกนั้น นับว่ามีความละเอียดมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิชาอื่น

โดยผังฉีเหมินตุ้นเจียจะแบ่งออกเป็น 9 วัง8 ทิศ ลักษณะดังภาพด้านล่าง ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่า ผังฉีเหมินตุ้นเจีย มีรายละเอียดและความซับซ้อนกว่าวิชาอื่นที่ใช้โดยทั่วไปเป็นอย่างมาก

โดยในฉีเหมินตุ้นเจียจะมีอยู่ 10 ระดับชั้นพลังงานด้วยกัน คือ

  • 8 ทิศ — ใช้เพื่อบอกทิศทาง, ธาตุ, สถานการณ์
  • 10 กิ่งดิน — ใช้บอกเหตุ, อดีต
  • 10 กิ่งฟ้า — ใช้บอกผล, อนาคต, ข้อเท็จจริง, บุคคล, สิ่งของ
  • 8 ประตู — ใช้บอกการกระทำ, กิจกรรม, สิ่งที่เรารับรู้
  • 9 ดาว — ใช้บอกพลังฟ้า, ความคิด, จังหวะเวลา, ดินฟ้าอากาศ
  • 10 เทพ — ใช้บอกพลังจักรวาล, จิตใต้สำนึก, พลังจากธรรมชาติ, สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมเหนือความเข้าใจ (ปกติจะปรากฎเป็น 8 เทพขึ้นอยู่กับหยินหยางของผัง)
  • วิถี 7 ดารา (7 ดาวเหนือ) — ใช้บอกระดับชั้นของพลัง, ระดับชั้นจิตใต้สำนึก, ระดับสภาพแวดล้อม
  • 28 กลุ่มดาว — ใช้บอกเวลาและกำลังของธาตุ, จิตเหนือสำนึก, สิ่งที่มีอิธิพลต่อสภาพแวดล้อม
  • 64 ข่วย — กลยุทธ์ ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น, ทิศทางการเปลี่ยนแปลง
  • 12 ก้านดิน — ใช้บอกพลังดิน, ทิศทางในการเคลื่อนที่ และ เวลา

การศึกษา ฉีเหมินตุ้นเจี่ย จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เนื่องจากแต่ละส่วนก็จะมีความหมายของมันเอง การจะเชี่ยวชาญในทุกส่วนองค์ประกอบและทุกแขนงวิชาของฉีเหมินตุ้นเจี่ย เป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก แม้ผมจะศึกษามาถึง 10 ปี และแบบจริงจังมาก ๆ อีก 5 มีก็ยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างไร

ภาพรวมวิชา

วิชา ฉีเหมินตุ้นเจี่ย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

  1. ส่วนหยาง — ส่วนฉีเหมิน (奇門) เป็นส่วนหยางของวิชา เอาไว้พยาการณ์ผลดีร้าย กระทำการต่าง ๆ หรือ กิจกรรมที่เป็นกายภาพ เช่น การรบ, การต่อรอง, การโฆษณา ซึ่งเป็นส่วนที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยซินแสทั่วไป
  2. ส่วนหยิน — ส่วนตุ้นเจี่ย (遁甲) เป็นส่วนหยินของวิชา เอาไว้ทำกิจกรรมที่เป็นจิตภาพ เช่น การใช้วิชาฉีเหมิน ในส่วนของเต๋า, ฉีเหมินเวทย์มนต์ ซึ่งถือเป็นส่วนเคล็ดวิชาของวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ยที่สำคัญที่สุด โดยทั่วไปการใช้วิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย จะสำฤทธิ์ผลขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความชำนาญในวิชาส่วนนี้ ซึ่งวิชาอย่าง ตะเกียง 7 ดาว, โคม 7 ดาว ก็ล้วนแต่เป็นวิชาในส่วนนี้ทั้งนั้น

ส่วนฉีเหมิน จะเน้นใช้ 10 กิ่งฟ้า (奇) กับ 8 ประตู (門) เป็นหลัก ในทางกลับกันส่วนตุ้นเจี่ย จะเน้นใช้ 9 ดาว (星) กับ 10 เทพ (神) เป็นหลัก (ตำแหน่ง 9 ดาว กับ 10 เทพ ขึ้นอยู่กับตำแห่งที่ 甲 ซ่อนอยู่ (遁甲 — จึงเป็นที่มาที่เราเรียกว่า ตุ้นเจี่ย)

ดังนั้นในวิชานี้ จะมีอยู่ 2 ส่วน ใช้คู่กัน เพื่อ ประสิทธิภาพสูงสุด ในปัจจุบัน ส่วนตุ้นเจี่ย ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากมีปัจจุบันมีค่านิยม และ ลัทธิ ว่าทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ทำให้การทำสมาธิ เพื่อเข้าถึงพลังชี่ พลังธรรมชาติและใช้งาน จึงโดนต่อต้านจากซินแส และ สังคม โดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เป็นผลให้วิชาในส่วนของ ตุ้นเจี่ย จึงมีการใช้งานเฉพาะในนักพรตเต๋า และ ผู้ที่สามารถสัมผัสพลังชี่ได้ หรือ นั่งสมาธิ เท่านั้น ทำให้ไม่มีการใช้โดยทั่วไป

ส่งท้าย

ในบทความต่อไป จะอธิบายว่า ฉีเหมินตุ้นเจีย นำไปใช้อย่างไรบ้าง ที่ไปที่มา รวมถึงการนำไปใช้โดยภาพรวม โดยพยายามจะเขียนทั้งหมดให้เสร็จพร้อมกับโปรแกรมที่ให้ใช้ฟรี เพื่อที่จะทำให้ผู้ที่สนใจมีพื้นฐานเพียงพอที่จะใช้เบื้องต้นได้

ขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ จากบทความชุดนี้

ถ้าสนใจติดตาม บทความอื่น ๆ สามารถไปกด Like ได้ที่ Facebook
https://www.facebook.com/QiMenAlchemy/

--

--