ฉีเหมิน #4 — ซานหยวน

Qi Men Alchemy
9 min readNov 22, 2017

--

จุดประสงค์ของบทความฉีเหมิน #4 ที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ผมมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพรวม มิติเวลา การแบ่งเวลา หรือ ปฏิทิน ในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย เป็นหลัก

ผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านทุกท่านสามารถขึ้นผังด้วยมือโดยไม่ใช้โปรแกรม เนื่องจากการอธิบายการขึ้นผังนี้มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งยังมีโปรแกรมสำเร็จรูปอยู่แล้ว รู้วิธีขึ้นไปก็ไม่ได้ขึ้นเองอยู่ดี อีกทั้งนี้เชื่อว่าหลายท่านไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นซินแสเพียงแต่ต้องการเข้าใจและใช้งานเบื่องต้นได้เท่านั้น

นอกจากนี้มีหลายท่านได้ส่งข้อความมาพูดคุยและสอบถาม เรื่อง ระบบ และ ข้อแตกต่างของแต่ละระบบเป็นอย่างมาก จึงเห็นเหตุอันควรที่จะเขียนอธิบายไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกท่านในการศึกษาวิชานี้ต่อไปในอนาคต

บทความตอนนี้ มีศัพท์ภาษาจีนใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่วิชาอื่นไม่ได้มีการกล่าวถึง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่งภาษาจีนเลยสักนิดเดียว ถ้าศัพท์ไหนผมอ่านผิด, แปลผิด, ใช้ผิด ก็แนะนำผมได้นะครับ ผมจะได้แก้ไขให้ถูก ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

ซานหยวน — 三元

วิชา ฉีเหมินตุ้นเจี่ย ถือเป็นวิชาที่เป็นระบบซานหยวน (三元, sān yuán) หรือ 3 ยุค, 3 รอบ; อย่างแท้จริง เนื่องจากการขึ้นผังยาม ผังวัน ผังเดือน ผังปี ทุกผังก็จะเป็นไปตามระบบซานหยวนทั้งหมด ทฤษฎีต่าง ๆ ของฉีเหมินตุ้นเจี่ยล้วนอ้างอิงหลักการของซานหยวนทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิชาที่มีการใช้ทฤษฎีซานหยวนมากกว่าวิชาไหน ๆ ก็ได้

จนมีปรมาจารย์หลายท่านกล่าวว่า วิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย เป็นวิชาต้นกำเนิดของสาย ซานหยวน ทั้งหมด รวมถึงวิชาดาวเหินด้วย (เดี๋ยวจะเห็นว่าในฉีเหมินก็มีการเหินดาวเช่นเดียวกับดาวเหิน)

มิติเวลา

เวลาในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย จะเป็นการรวมเอา 60 เจี่ยจื่อ (60 甲子) หรือคนไทยเรียก 60 กะจื้อ เข้ากับ 9 วัง หรือ ลั่วซู (洛書 — luò shū, ลั่วซู̲) หรือที่คนไทยเรียกว่าหล่อซู่

ทำให้มิติเวลาจากเดิมที่มีเพียง 60 รูปแบบ (60 甲子) เพิ่มเป็น 60 × 9 = 540 รูปแบบ นอกจากนี้ ยังเพิ่มมิติของหยินหยางเข้าไปอีก ทำให้มีรูปแบบทั้งหมด 540 × 2 = 1,080 รูปแบบ

ถือได้ว่า เป็นการขยายมิติเวลาหนึ่ง ๆ ออกไปอีก 18 รูปแบบ โดยใช้ทิศทางและฤดูกาลเข้ามาเป็นปัจจัย เป็นเหตุให้จากในปกติยามจะมี 60 รูปแบบ แต่ในฉีเหมินยามจะมีทั้งหมด 1,080 รูปแบบ (ถ้ารวมวิถี 7 ดารา กับ 28 กลุ่มดาว เข้าไปด้วยแล้วจะมีประมาณ 10,000,000–10 ล้านรูปแบบ) — (อย่าลืมอีกว่าฉีเหมินก็มีผังวัน ผังเดือน ผังปี ด้วยนะครับ)

ด้วยการเพิ่มเติมมิติของลั่วซูเข้าไปจึงทำ การแบ่งเวลาตามปกติที่ใช้ 60 เจี่ยจื่อ เกิดเป็น 3 รอบ, 3 ยุคหรือ ‘ซานหยวน’ ขึ้นมา เช่น กรณีที่ 甲子 เริ่มที่หมายเลข 1 เดินแบบหยางก็จะได้

  • รอบแรก 甲子 จะปรากฏคู่กับลั่วซูหมายเลข 1
  • รอบสอง 甲子 จะปรากฏคู่กับลั่วซูหมายเลข 7
  • รอบสาม 甲子 จะปรากฏคู่กับลั่วซูหมายเลข 4
  • รอบที่สี่ 甲子 จะปรากฏคู่กับหมายเลข 1 เหมือนเดิมเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป
60 เจี๋ยชี่ ซานหยวน

24 เจี๋ยชี่, 8 ทิศ

節氣 (jié qi, เจี๋ย ชี่) คนทั่วไปมักเรียกว่า ‘สารท’ ซึ่งไม่น่าจะถูกนัก เพราะ ‘สารท’ แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง หรือ เทศกาลบุญเดือนสิบ (เวลาเราเรียกว่า 24 สารทก็จะกลายเป็น 24 ฤดูใบไม้ร่วง หรือ 24 เทศกาลบุญเดือนสิบ; หรือเราบอกว่า วันเปลี่ยนสารท ก็จะกลายเป็น วันเปลี่ยนฤดูใบไม้ร่วง, วันเปลี่ยนเทศกาลบุญเดือนสิบ)

จริงแล้ว 24 เจี๋ยชี่เป็นการกำหนดจุดที่มีนัยสำคัญทาง อุตุนิยมวิทยา และ ดาราศาสตร์ของจีนในสมัยโบราณ เป็นการกำหนดจุดเพื่อบอกฤดูหรือพลังฟ้าในสมัยก่อน (氣 — ชี่หมายถึงสภาพอากาศก็ได้ครับ → พลังฟ้า ในอีกแง่หนึ่งก็คือดินฟ้าอากาศ หรือ ฤดูกาล ด้วยครับ) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • 節氣 (jié qi, เจี๋ย ชี่) — รอยต่อของฤดู; อันนี้คือกลุ่มต้นเดือน
  • 中氣 (zhōng qi, จ̲ง ชี่) — ตรงกลางของฤดู; อันนี้กลุ่มกลางเดือน

ซึ่งภาษาไทยจะมีศัพท์เรียกว่า อุตุปักษ์ (อุตุ = ฤดู; ปักษ์ 15 วัน) ดังนั้นแล้ว 二十四節氣 น่าจะเรียกว่า ‘24 อุตุปักษ์’ มากกว่า ‘24 สารท’ ให้ตรงกับความหมายตามปกติของมันครับ

โดย 24 เจี๋ยชี่ตามความเข้าใจทั่วไป จะเป็นช่วงเวลา 15 วัน ซึ่งจะสามารถแสดงได้ตามภาพ

24 เจี๋ยชี่ตามปกติ

อย่างไรก็ดี 24 เจี๋ยชี่นั้นแท้จริงแล้ว เป็นจุด, เป็นวัน หรือ เป็นเวลา; มากว่าจะเป็นช่วงเวลา อย่างที่เราเข้าใจตามปกติ เช่น ตงจื้̲อ (冬至, dōng zhì) จริง ๆ เราหมายถึง วันที่ 22 ธันวาคม (โดยประมาณ) แต่ก็อนุโลมหมายถึงช่วงเวลา 22 ธันวาคม ถึง 5 มกราคม เป็นต้น

โดย เจี๋ยชี่ (節氣) นั้น นอกจากจะเป็นวันเริ่มต้นเดือน คำว่า เจี๋ย (節) จะมีอีกความหมายหนึ่งแปลว่า ‘เทศกาล’ ซึ่ง อ.ณฤทธิ์ ลี้ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เนื่องจากสมัยก่อนสภาพสังคมจีนนั้นไม่มีสิ่งบันเทิงอะไร เมื่อถึงวัน เจี๋ยชี่ จึงมักมีการจัดงาน เทศกาล อยู่เป็นประจำเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไปในเดือนนั้น เสมือนเทศกาลประจำต้นเดือน จึงเป็นเหตุให้ 節 ถูกใช้ในความหมายว่าเทศกาลด้วย (คล้ายกับงานบุญวันเพ็ญเดือน… ของไทย)

สำหรับ จงชี่ (中氣) มักจะเป็นจุดที่มีความสำคัญทางดาราศาสตร์ เช่น

  • 冬至 (dōng zhì, ตงจื้̲อ) — เหมายัน เป็นวัน (เป็นจุด) กึ่งกลางฤดูหนาวที่ช่วงเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี
  • 夏至 (xià zhì, ซย่าจื้̲อ) — ศรีษมายัน เป็นวันกึ่งกลางฤดูร้อนที่ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี
  • 春分 (chūn fēn, ชุ̲นเฟิน) — วสันตวิษุวัต เป็นวันกึ่งกลางฤดูใบไม้ผลิที่ช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน
  • 秋分 (qiū fēn, ชิวเฟิน) — ศารทวิษุวัต เป็นวันกิ่งกลางฤดูใบไม้ร่วง ที่ช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน

ซึ่งเมื่อแสดงเป็นจุด ไม่ได้เป็นช่วงเวลา อย่างที่ใช้กันทั่วไปตามด้านบนจะได้ตามภาพ

24 เจี๋ยชี่ เมื่อกำหนดโดยอาศัย จุด หรือ วัน

อาศัยเหตุนี้ ผมขออนุญาติเรียกตามนี้คือ ถ้าผมเรียก ‘เจี๋ยชี่’ จะหมายถึงวัน, จุด หรือ เวลา ถ้าเรียก ‘อุตุปักษ์’ จะหมายถึงช่วงเวลา 15 วันนับจากเจี๋ยชี่นั้น ตามเหตุผลที่ได้แสดงไว้ด้านบน

เมื่อนำ 24 เจี๋ยชี่ มาแบ่งตาม 8 ทิศลั่วซูก็จะพบว่าแต่ละทิศจะประกอบไปด้วย 3 เจี๋ยชี่ (24 / 8 = 3) ซึ่งกำหนดเลขลั่วซู ให้กับ เจี๋ยชี่ที่อยู่ตรงกลางของแต่ละทิศเป็น

  • 1 = 冬至 ตงจื้อ
  • 2 = 立秋 ลี่ชิว
  • 3 = 春分 ชุนเฟิน
  • 4 = 立夏 ลี่ซย่า
  • 6 = 立冬 ลี่ตง
  • 7 = 秋分 ชิวเฟิน
  • 8 = 立春 ลี่ชุน
  • 9 = 夏至 ซย่าจื้อ

ตามภาพด้านล่าง

ลั่วซูของเจี๋ยชี่

72 โฮ่ว— 七十二候

นอกจากนี้ในทุก ๆ 60 ยาม หรือ 60 เจี่ยจื่อยาม หรือ 5 วัน (60 ยาม / 12 ยามต่อวัน = 5 วัน) จะถือเป็น 1 รอบของ เจี่ยจื่อยาม ทำให้มีระบบการบอกฤดูที่ละเอียดกว่า 24 เจี๋ยชี่ (節氣 — อุตุปักษ์) คือ 72 โฮ่ว (候, hòu) — กาลอากาศ (ชื่อเต็มคือ 七十二候, qīshí’èr hòu)

“กาลอากาศ” ตามอุตุนิยมวิทยาคือ “สภาพอากาศในช่วงเวลาสั้น ๆ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Weather (ถ้าภูมิอากาศ คือ ค่าเฉลี่ยของสภาพอากาศในพื้นที่นั้น ตลอดเวลาหลายปี) ซึ่งผมพิจารณาดูแล้วพบว่า มีความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับ 候 ในภาษาจีน จึงขอเรียกว่า 候 ว่า “กาลอากาศ” (หรือสั้น ๆ ว่า 72 กาล) ด้วยเหตุนี้ครับ

ซึ่งในระบบ 72 โฮ่ว (กาลอากาศ) จะถือว่า ทุก 3 โฮ่ว จะเป็น 1 เจี๋ยชี่

  • 60 ยาม = 1 โฮ่ว (กาลอากาศ)
  • 60 ยาม = 5 วัน
  • 5 วัน = 1 โฮ่ว (กาลอากาศ)
  • 3 โฮ่ว (กาลอากาศ) = 1 เจี๋ยชี่ (อุตุปักษ์)
  • 3 รอบ × 60 ยาม = 1 เจี๋ยชี่ (อุตุปักษ์)
  • ซานหยวน ของ 60 ยาม = 1 เจี๋ยชี่ (อุตุปักษ์)

ทำให้ในระบบ 72 โฮ่ว มีแบ่งเจี๋ยชี่ออกเป็น 3 รอบ หรือ ‘ซานหยวน’ ดังแสดงตามภาพด้านล่าง

72 โฮ่ว (กาลอากาศ) — ตำแหน่งตัวอักษรจีนคือวันเริ่มของโฮ่วนั้น

เมื่อนำลั่วซู, หยินหยาง และ 72 โฮ่ว มาบูรณาการณ์เป็นระบบเดียวกัน ก็จะทำให้เราสามารถกำหนด เลขลั่วซูของแต่ละ 72 โฮ่วตามหลักของซานหยวน โดยสามารถแสดงให้อยู่ในรูปของช่วงเวลาหรืออุตุปักษ์ โดยแต่ละโฮ่วมี 5 วัน เพื่อให้เข้าใจง่ายได้ตามภาพด้านล่าง

เลขลั่วซูตาม 72 โฮ่ว — ใช้เพื่อกำหนดกระดาน (局)

ซึ่งเลขเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องใช้กระดานไหนในการขึ้นผังฉีเหมินดังที่จะได้แสดงในหัวข้อถัดไป

ในอีกมุมหนึ่ง ฉีเหมินตุ้นเจี่ย ก็เปรียบเสมือนการขยาย ปาจื่อ ให้ละเอียดขึ้นไปอีก โดยนำมิติต่าง ๆ เข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาอีกด้วย

กระดาน — 局

局 (jú, จี๋ว์, จวี้) — กระดาน, สถานการณ์ ; 局 เป็นคำที่แปลค่อนข้างยาก เนื่องจากมีหลายความหมาย เช่น

  • กระดานที่ใช้เวลาเล่นเกมส์กัน เช่น เกมหมากรุก
  • รอบของการเล่นเกมนั้นเช่น 1 ตา หรือ 1 รอบ
  • สถานการณ์, สภาพแวดล้อม
  • พื้นที่ ที่โดนตีกรอบกำหนดไว้ หรือ กั้นไว้
  • สนามรบ หรือ การจับคู่กันต่อสู่ในสนาม
  • โต๊ะ, กระดาน, รายงาน ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ราชการใช้ (นึกถึงโต๊ะที่จำลองชัยภูมิ เมื่อวางแผนการรบในหนังครับ)
  • ช่อง แบบ ช่องในล็อกเกอร์
  • ยังมีความหมายอื่น ๆ อีกมาก

โดยภาพรวม น่าจะหมายถึง พื้นที่ที่เรามีความสนใจ โดยมีการกำหนดเงื่อนไข, กฎ, หรือ สถานการณ์กำหนดไว้ ซึ่งโดยมากจะเป็นพื้นที่ ที่มีการแข่งขัน หรือ การรบกัน (แปลผิดพลาดประการใดขออภัย)

ในที่นี่ขอเรียกว่า ‘กระดาน’ เพราะจะทำให้เข้าใจได้ง่าย

กระดาน (局) เป็นตัวกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นของขององค์ประกอบในผังฉีเหมินที่เราจะวาดขึ้นมา เป็นเสมือนกระดานในเกมกระดานต่าง ๆ เช่น หมากรุก หรือ หมากล้อม ที่ตัวหมากต่างที่ต่างชนิดกันจะนำมาวางในตำแหน่งต่าง ๆ บนกระดานนั้น

โดยเราจะนำ กิ่งดิน, กิ่งฟ้า, ประตู, ดาว และ เทพ มาวางลงใน กระดาน (局) อันนี้

แรกเริ่มนั้น ฉีเหมินตุ้นเจี่ย มีถึง 4,320 กระดาน (12 ยาม × 360 วัน = 4,320 กระดาน) ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมเป็นระบบจึงพบว่ามันมีกระดานที่ซ้ำกัน ทำให้สามารถลดลงเหลือเพียง 1,080 กระดาน

ในสมัยต่อมา หลิวป๋อเวิน ได้คิดค้นวิธีในการนำกิ่งฟ้ามาใช้แทนการนับวันเวลาตาม 甲子 ปกติ เช่น กำหนดใช้ 甲子 แทนที่ด้วย 戊 แค่ตัวเดียว (อธิบายเบื่องต้นในตอนท้ายของบทความ)

ด้วยการแทน 甲子 ด้วย กิ่งฟ้าแค่ 1 ตัวทำให้สามารถยุบจำนวนกระดานจาก 1,080 กระดาน เหลือเพียง 18 กระดานได้ (18 局) ซึ่งจะแบ่งเป็น 9 กระดานหยาง (陽局) กับ 9 กระดานหยิน (陰局) โดย

  • อุตุปักษ์ 冬至 ถึง 芒種 ใช้ กระดานหยาง
  • อุตุปักษ์ 夏至 ถึง 大雪 ใช้ กระดานหยิน

ซึ่งสามารถแสดงตัวอย่างของกระดานได้ตามภาพด้านล่าง ตัวเลขที่ต่อจากกระดาน คือ เลขลั่วซูตาม 72 โฮ่ว เช่น ในอุตุปักษ์ 大雪 โฮ่วแรก จะมีเลขเป็น 4 ดังนั้นใช้กระดานหยิน 4 เป็นต้น (ตัวเลขในกระดานเดินแบบหยางเสมอครับ)

ตัวอย่างกระดาน

อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้ว จานดิน (地盤, dì pán, ตี้ ผาน) จะถูกกำหนดตามกระดานแบบคงที่ (Fix) คือ กระดานแบบหนึ่งก็จะได้จานดินแบบหนึ่งเสมอ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเวลาพูดถึงกระดาน มักจะรวมเอาจานดินเข้าไปในกระดานเลย โดยการวาดจานดินจะแสดงในตอนท้ายของบทความครับ

จากการแบ่งเวลาตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาใหม่ เนื่องจาก 5 วัน × 72 กาลอากาศ = 360 วัน แต่เวลาใน 1 ปีนั้น ไม่ได้ประกอบด้วย 360 วัน แต่ประกอบด้วย 365.25 วัน

ทำให้มีเศษอีก 5.25 วันในทุกปี จึงได้เกิดวิธีแก้ปัญหานี้ เป็น 3 วิธีด้วยกันคือ

  1. 置润法 (zhì rùn fǎ, จื้̲อ รุ่น ฝ่า) — วิธีจับวางให้เรียบ
  2. 茅山法 (máo shān fǎ, เหมา ซ̲าน ฝ่า) — วิธีสำนักเหมาซาน
  3. 拆補法 (chāi bǔ fǎ, ไช̲ ปู่ ฝ่า) — วิธีฉีก+ปะ

วิธีจื้อรุ่น — 置潤法

置润法 (zhì rùn fǎ, จื้̲อ รุ่น ฝ่า) — วิธีจับวางให้เรียบ

  • 置 แปลว่า สวม, ใส่, ติดตั้ง, วาง, จัดวางให้เข้าที่
  • 润 แปลว่า เรียบ, ปรับ, ทำให้เรียบ, สัมผัส, ไกล่เกลี่ย

เป็นวิธีดั้งเดิมแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีที่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ยกำหนดไว้ เช่น

  • การกำหนดวันต้องเป็นไปตามซานหยวน
  • 1 รอบต้องมี 5 วันเสมอ
  • วันแรกของกระดานต้องเป็นวัน 甲 หรือ 己 เท่านั้น

จึงเป็นเหตุให้ปรมาจารย์ และ อาจารย์ทุกท่านใช้วิธีนี้กันเป็นหลัก (อาจารย์ทุกท่านที่ผมเคยไปเรียนด้วยใช้วิธีนี้เป็นหลัก)

วิธีจื้อรุ่นใช้การแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการเดียวกับการแก้ปัญหาเรื่องปฏิทินทางจันทรคติ ที่มีบางปีจะการเพิ่มเข้าไป 1 เดือนทำให้ในปีนั้นมี 13 เดือนทางจันทรคติ (อธิกมาส) โดยหลักการคือ จะมีบางปี ที่จะเพิ่มกระดานต่อเข้าไปจากกระดานสุดท้ายของช่วงอุตุปักษ์ หมังจ้ง (芒種) และ ต้าหาน (大雪) เพื่อแก้ปัญหาวันที่หายไป 5.25 วันต่อปี จึงเป็นที่มาของชื่อวิธีว่า จับวาง (ให้เข้าที่) เพื่อให้มันเรียบ มันต่อเนื่องกัน (ไม่นั้นมันจะแหว่งไป 5.25 วัน)

ยกตัวอย่างจากรูปด้านล่างจะเห็นว่าในอุตุปักษ์ 大雪 กระดานจะเป็น 4–7–1 ตามลำดับ

แต่ในปี 1998 นั้นกระดาน 4–7–1 นั้นเริ่มก่อนถึง อุตุปักษ์ต้าเสวี่ย (大雪) ถึง 9 วัน เป็นเหตุให้เหลืออีก 10 วันกว่าจะถึง อุตุปักษ์ตงจื้อ (冬至) ตามภาพด้านล่าง — สาเหตุเนื่องมาจากการสะสมวันที่เกินมาจาก 360 วัน ตามที่ได้กล่าวไป

วิธีของจื้อรุ่นจะแก้ปัญหานี้โดยการ เพิ่มกระดานเดิมเข้าไปในกรณีที่จำนวนวันที่ขาดไปตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป (มากกว่าหรือเท่ากับ 10 วัน) โดยในกรณีนี้คือเพิ่มกระดาน 4–7–1 เข้าไปอีกรอบ ดังภาพด้านล่าง

วิธีเหมาซาน — 茅山法

茅山法 (máo shān fǎ, เหมา ซ̲าน ฝ่า) — วิธีสำนักเหมาซาน; เหมาซานจัดเป็นสำนักเต๋าสำนักหนึ่ง ที่ชำนาญวิชาฮวงจุ้ยเป็นอย่างมากที่สุดสำนักหนึ่ง รวมถึงการใช้พลังงานจากธรรมชาติ และ จักรวาล เข้ามาเสริมฮวงจุ้ยและดวงชะตา แต่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นสำนักปราบผีกัน

ทั้งนี้เนื่องจากสำนักเหมาซาน ในสมัยโบราณ มีความสามารถพิเศษที่สำนักเต๋าอื่นไม่สามารถทำได้คือการควบคุมวิญญาณ จากการทำสัญญากับสามภพของปรมาจารย์เหมาซาน (ควบคุมวิญญาณได้ เลยทำให้ปราบผีได้)

ถึงแม้สำนักเหมาซาน จะมีความชำนาญวิชาฮวงจุ้ย, ดวงจีน และ ฉีเหมินเป็นอย่างมากที่สุดสำนักหนึ่ง แต่มีกฎข้อห้ามในการถ่ายทอดวิชาให้กับคนนอก ทำให้ซินแสทั่วไปมักเข้าใจสำนักเหมาซานผิดว่าเป็นแค่คนทำพิธีตามศาลเจ้า หรือ ปราบผี ปราบวิญญาณ

การกำหนดกระดานตามวิธีเหมาซาน จะเป็นการแบ่งโดยอาศัย 72 โฮ่วโดยตรง ซึ่งจะใช้การคำนวณองศาของพระอาทิตย์โดยตรงในการแบ่ง โดยไม่สนใจว่า วันนั้นเป็นวันไหน หรือ 甲子 ไหน

เช่นในกรณีเดียวกับที่ยกตัวอย่างในวิธีจื้อรุ่น ถ้าเป็นตามวิธีเหมาซาน ก็จะเปลี่ยนกระดานตรงตามเจี๋ยวชี่เสมอ

ซึ่งกล่าวได้ว่ากระดานตามวิธีของเหมาซานนั้นจะมีการเปลี่ยนกระดานทุก ๆ 5 องศาอาทิตย์ และแต่ละกระดานมีเวลาเท่ากันเสมอ ทำให้กระดานตามวิธีของเหมาซานนั้นไม่ได้เริ่มต้นที่วัน 甲 หรือ 己 ตามวิธีจื้อรุ่น

วิธีเหมาซานจะใช้ในการทำพิธีกรรมของสำนักเหมาซานเป็นหลัก ซึ่งเป็นการใช้งานในส่วนของตุ้นเจี่ยเป็นหลัก เนื่องจากเหมาซานเชื่อว่า พลังของ 9 ดาวและ 10 เทพไม่ขึ้นอยู่กับวันเวลาของโลก (ไม่ขึ้นอยู่กับ 60 甲子) แต่ขึ้นกับตำแหน่งของดาวมากกว่า

วิธีไชปู่ — 拆補法

拆補法 (chāi bǔ fǎ, ไช̲ ปู่ ฝ่า) — วิธีฉีก+ปะ; เป็นวิธีที่คิดขึ้นมาใหม่ไม่นานนี้ เป็นวิธีที่นิยมในโปรแกรมแจกฟรีทั้งหลาย และใช้ในกรณีที่ไม่มีปฏิทินของฉีเหมินตามสมัยโบราณ เนื่องจากวิธีไชปู่ไม่จำเป็นเป็นต้องมีการเก็บบันทึกปฏิทินย้อนหลังเช่นเดียวกับวิธีจื้อรุ่น (ปฏิทินฉีเหมินในสมัยก่อน ถือเป็นสมบัติของผู้ใช้วิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ยเลยทีเดียว — ลองคิดถึงคัดลอกปฏิทินด้วยมือ สมัยที่ยังไม่มีการพิมพ์)

แต่วิธีไชปู่ก็ยังสามารถที่จะคงเงื่อนไขบางอย่างตามทฤษฎีของฉีเหมินไว้ เช่น เริ่มต้นกระดานที่วัน 甲 หรือ 己 เสมอ ไว้ได้

วิธีไชปู่จะใช้หลักการฉีก (拆) หรือตัด ส่วนปลายของช่วงกระดานนั้น เมื่อถึงเจี๋ยชี่ (มีการเปลี่ยนอุตุปักษ์) โดยไม่จำเป็นต้องให้กระดานนั้น วนครบรอบ 60 ยาม (5 วัน) เช่นเดียวกับวิธีของจื้อรุ่น

และปะ (補) หรือ แทรกในกรณีที่เปลี่ยนสารทแล้ว แต่ยังไม่ถึงวัน 甲 หรือ 己 ทำให้ขึ้นกระดานใหม่ตามจื้อรุ่นไม่ได้ (ตามกฎที่ว่า กระดานใหม่ต้องเริ่มที่ 甲 หรือ 己 เสมอ)

เป็นเหตุให้ครั้ง อาจจะมีการใช้กระดานนั้นแค่ 1–2 วันก็เปลี่ยนเป็นกระดานอื่นไป จึงทำให้วิธีนี้ไม่ถูกต้องนักตามทฤษฎีของซานหยวน

จากภาพด้านบนจะเป็นวิธีไชปู่เทียบกับวิธี จื้อรุ่นและเหมาซาน จะเห็นได้ว่า วิธีไชปู่พยายามจะฉีก ตัด ปะ เพื่อให้กระดานตรงกับที่กำหนดไว้ใน 72 โฮ่ว และ กฎของฉีเหมินที่กำหนดไว้ในวิธีจื้อรุ่น แต่ก็จะทำให้ปฏิทินที่ได้มีความสับสน ยุ่งเหยิงมาก บางรอบของกระดานใช้เพียงไม่กี่ยามก็เปลี่ยน (ยิ่งถ้าเวลาเริ่มอุตุปักษ์ใกล้สิ้นวัน บางทีใช้กระดานนั้นไม่ถึง 1 ยามก็เปลี่ยนกระดาน)

เนื่องจากตัวอย่างข้างบน ดูสับสนและอธิบายอยาก ผมขอยกตัวใหม่ตามภาพด้านล่างครับ

จากรูปด้านบนเป็นปี 2006 จะเริ่มอุตุปักษ์ 芒種 วันที่ 6 มิถุนายน 2006 เวลาประมาณ 2:38 น. ดังนั้น

  • เป็นวัน 丙寅 ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ 甲子 ดังนั้น ต้องใช้ตาม ยุคบน (上元)
  • วันที่ 6 ก่อน 2:38 จะยังเป็นช่วงอุตุปักษ์ 小滿 (เสี่ยวหม่าน) ซึ่งตามกฎ อุตุปักษ์ 小滿 + ยุคบน จะเป็นหยาง 5 ดังนั้น ก่อน 2:38 จะใช้กระดานหยาง 5
  • วันที่ 6 หลัง 2:38 จะเป็นช่วงอุตุปักษ์ 芒種 แล้ว ซึ่งตามกฎ สารท 芒種 + ยุคบน จะเป็นหยาง 6 ตาม ดังนั้นในวันเดียวกันหลังจาก 2:38 จะใช้กระดานหยาง 6

เปรียบเทียบ

เมื่อนำปฏิทินที่ได้จากการแบ่งของทั้ง 3 วิธีมาเทียบกันจะแสดงได้ตามภาพด้านล่าง

จะสังเกตุว่า วิธีจื้อรุ่น และ วิธีเหมาซาน นั้นแต่ละช่วงของกระดาน จะมีขนาดเท่ากัน โดย

  • วิธีจื้อรุ่น รอบของกระดานจะกินเวลา 60 เจี่ยจื่อยามหรือ 5 วัน เสมอ
  • วิธีเหมาซาน รอบของกระดานจะกินเวลา 5 องศาพระอาทิตย์เสมอ (คิดเป็น 60.875 ยาม, หรือ 5 วันกับอีก 1.75 ชม.)

โดยสามารถสรุป แต่ละวิธีได้ ดังตาราง

วิธีจื้อรุ่น เป็นวิธีดั้งเดิมแต่โบราณ ทฤษฎีและกฎทุกอย่างในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย ในสมัยโบราณถูกสร้างมาตามหลักการในวิธีจื้อรุ่น มาหลายพันปี และเป็นวิธีเดียวกับที่พบหลักฐานตามเอกสารต่าง ๆ ของนักโหรศาสตร์ของวังในประเทศจีนสมัยโบราณ

ดังนั้นอาจารย์ทุกท่านที่ผมได้เรียนมาด้วย จึงใช้ตามระบบจื้อรุ่นเป็นหลัก

วิธีเหมาซานเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสม และนิยม เมื่อต้องมีการทำพิธี ติดต่อกับพลังฟ้า และ ติดต่อกับเทพ ตามวิชาเหมาซาน เนื่องจากคำนวณตามหลักการของดาราศาสตร์เป็นหลัก อาจารย์บางท่านเมื่อต้องการใช้วิชาในส่วนตุ้นเจี่ย หรือวิชาของเหมาซาน ก็มีการเปลี่ยนไปใช้วิธีเหมาซาน

วิธีไชปู่ เป็นวิธีที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่ แม้จะเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในโปรแกรมแจกฟรีทั้งหลาย แต่จากที่ผมไปเรียนมากับอาจารย์หลายท่านก็พบว่า ไม่มีอาจารย์ท่านไหนใช้วิธีนี้เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากปฏิทินที่ได้ ผิดรูปผิดร่าง ขาด ๆ แหว่ง ๆ และไม่เป็นไปตามหลักการของซานหยวนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในหมู่ผู้ใช้โปรแกรมฟรี ซินแสสมัยใหม่ และ ซินแสเชิงวิทยาศาสตร์ มีความเชื่อว่า การแบ่งแบบไชปู่ นี่มีความถูกต้องและเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าวิธีจื้อรุ่น เนื่องจากมีการใช้เวลาเปลี่ยนอุตุปักษ์ซึ่งคำนวณจากตำแหน่งพระอาทิตย์เข้ามาเป็นตัวแบ่งรอบกระดาน แทนที่จะการแบ่งตามหลักการของซานหยวนในวิธีจื้อรุ่น ที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

ขึ้นผัง

วิธีการวาดผังฉีเหมิน สามารถสุรปเป็นขั้นตอนได้ 9 ขั้นตอนดังนี้

  1. หากระดาน (局) จากปฏิทิน
  2. วาดจานดิน (地盤, dì pán, ตี้ ผาน)
  3. วาดจานฟ้า (天盤, tiān pán, เทียน ผาน)
  4. วาด 8 ประตู (八門, bā mén, ปา เหมิน)
  5. วาด 9 ดาว (九星, jiǔxīng, จิ่ว ซิง)
  6. วาด 10 เทพ (十神, shí shén, สื̲อ เสิ̲น) หรือ 8 เทพ (八神, bā shén, ปา เสิ̲น)
  7. วาดดาวประกอบอื่น ๆ เช่น คงหวัง (空亡, kōng wáng) — ตาย ว่างเปล่า; หม่าซิง (馬星, mǎ xīng) — ดาวม้า
  8. วาดวิถี 7 ดารา (七星步罡法, qī xīng bù gāng fǎ, ชี ซิง ปู้ กัง ฝ่า)
  9. วาด 28 กลุ่มดาว (二十八宿, èrshí bāxiù, เอ้อร์ สื̲อ ปา ซิ่ว)

ในบทความที่ผ่านมาเราได้พูดถึงขึ้นที่ 1 ไปแล้ว โดยการหากระดานอาศัยจากดูในปฏิทิน หรือ ดูจาก 72 โฮ่ว (แล้วแต่วิธี) ขั้นต่อมาเมื่อได้หมายเลขกระดานมาแล้วก็นำมาวาดกระดานและจานดิน ดังที่จะได้แสดงต่อไป

ก่อนจะเริ่มอธิบายการขึ้นผัง ขออนุญาติอธิบาย 3 ขุนพล 6 องครักษ์ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจวิชามากยิ่งขึ้น

3 ขุนพล 6 องครักษ์ 三奇六儀

จากที่เคยได้กล่าวไปข้างต้นว่า หลิวป๋อเวิน ได้นำเอากิ่งฟ้ามาแทน 60 甲子 วิธีการที่ หลิวป๋อเวิน ใช้คือ จากซานหยวนของ 60 甲子 ที่ได้กล่าวถึงไปในตอนต้นของบทความ จะเห็นได้ว่า มีอยู่เพียง 6 แถวในแนวตั้งเท่านั้นทีมี 甲 อยู่ อีก 3 แถวนั้นจะไม่มี 甲 อยู่ ซึ่งจากในรูปด้านล่างแถวแนวตั้งที่ 1–6 จะมี 甲 อยู่ แต่แถว 7–9 จะไม่มี 甲 อยู่ในแถวแนวตั้งเลย

จากนั้น หลิวป๋อเวิน ได้กำหนดให้กิ่งฟ้าในแถวสุดท้ายของแถวแนวตั้งนั้น แทน 甲 ที่อยู่ในแถวแนวตั้งนั้น ซึ่งก็จะได้เป็น

  • 午 →
  • 未 →
  • 申 →
  • 酉 →
  • 戌 →
  • 亥 →

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า ตุ้นเจี่ย (遁甲) — ซ่อนเจี่ย, เจี่ยซ่อนในนี้

จริง ๆ อักษร 遁 ประกอบด้วย 2 ตัวคือ 辵 (เดิน, เคลื่อนที่) + 盾 (โล่) → ทำให้แปลได้อีกว่า เคลื่อนที่โดยมีการกำบัง, ปกป้อง

甲 นอกจากจะหมายถึงกิ่งฟ้าตัวแรก หรือ ไม้หยาง แล้ว ยังสามารถแปลว่า ชุดเกาะ, หมวกเกาะ ได้อีกด้วย

ดังนั้น 遁甲 นอกจากจะแปลว่า ‘ซ่อนเจี่ย’ แล้ว ยังแปลว่า ‘ปกป้องเจี่ย’, ‘คุ้มกันเจี่ย’ ได้อีกด้วย

ทำไมต้องคุ้มกันเจี่ย? เนื่องจากในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย 甲 หรือ เจี่ย จะเปรียบเสมือนแม่ทัพ หรือ ฮ่องเต้ เนื่องจากเป็นผู้นำกิ่งฟ้าอื่น ๆ ดังนั้น 甲 จึงมีความสำคัญมาก ที่ใดมี 甲 อยู่ จึงต้องมีองครักษ์ด้วยเสมอ

6 องครักษ์ — 六儀

ซึ่งจากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่า 甲 มีองครักษ์อยู่ 6 คน คือ 戊, 己, 庚, 辛, 壬, 癸 หรือเราเรียกว่า ‘6 องครักษ์’ หรือ ‘6 องครักษ์พิทักษ์เจี่ย’ นั้นเอง โดยในภาษาจีนจะเรียกว่า 六儀 (liù yí, ลิ่วอี๋)

อักษร 儀 ประกอบ 人 (คน, เจ้าหน้าที่) + 義 (พิธีการ โดย 義 มาจาก 我 อาวุธมีคม + 羊 แกะ → บูชายัญ) โดยทั่วไป 儀 จึงหมายถึง ผู้ที่ประกอบพิธีการต่าง ๆ ในวัง (ราชพิธี) นอกจากนั้นก็มีการนำไปใช้ตั้งตำแหน่งพระสนม หรือ นางใน เช่น ในสมัยราชวงศ์ถังมีการตั้ง หกพระสนมเอก ว่า ลิ่วอี้ (六儀) โดยมี

  • 淑儀 (ซูอี๋) ผู้งามบริสุทธิ์ยิ่ง
  • 德儀 (เต๋ออี๋) ผู้งามด้วยศีลธรรม
  • 賢儀 (เสียนอี๋) ผู้งามด้วยปัญญา
  • 順儀 (ซุ่นอี๋) ผู้โอนอ่อนนอบน้อม
  • 婉儀 (หว่านอี๋) ผู้อ่อนโยนละมุนละไม
  • 芳儀 (ฟางอี๋) ผู้มีกลิ่นหอมนวล

ในฉีเหมินตุ้นเจี่ย ก็จะคล้าย ๆ กันคือ องครักษ์ทั้ง 6 คนนั้นก็จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น 庚 จะชำนาญเรื่องการใช้กำลัง, 辛 จะชำนาญเรื่องสงครามจิตวิทยา สมัยก่อน 6 องครักษ์มีความสำคัญมาก แต่ในปัจจุบันเราไม่เน้นไปที่การทำสงคราม จึงทำให้ซินแสสมัยใหม่มักจะแปลความหมายของ 6 องครักษ์ไปในทางเลวร้าย

3 ขุนพล — 三奇

奇 (qí, ฉี) ตามความหมายทั่วไปแปลได้เป็น แปลกประหลาด, ไม่ปกติ, ผิดปกติ, อัศจรรย์, ประหลาดใจ, วิเศษ, หายาก, ยอดเยี่ยม, น่าพิศวง, ผิดปกติแบบสุดยอด เช่น เก่งมาก, สวยมาก

ซึ่งเราจะเห็นได้จากตารางซานหยวน จะพบว่ามีกิ่งฟ้าอยู่ 3 ตัวที่ไม่มี 甲 อยู่ ทำให้ กิ่งฟ้าทั้ง 3 นั้นแปลกประหลาด ผิดปกติกว่าตัวอื่น ๆ (แปลกกว่า 6 ตัวที่เหลือ) ซึ่งทั้ง 3 ตัวนั้นคือ 乙, 丙, 丁

จึงเป็นเหตุที่เรามักเรียก 乙, 丙, 丁 ว่า ‘3 ประหลาด’

อักษร 奇 ประกอบด้วย 大 (คนยืดแขนยืดขา) + 可 (มือป้องปากตะโกน) → ส่งเสียงดังด้วยเจอเหตุไม่ปกติ; แต่นักภาษาศาสตร์โดยมาก เชื่อว่า จริง ๆ แล้ว 可 ตามอักษรโบราณเป็นรูปอานม้า ดังนั้น 奇 ในสมัยโบราณจึงหมายถึง ขี่ม้า (แบบที่อ้าแขนไปทำอย่างอื่นได้ด้วย)

เมื่อรวมความหมายทั้งหมด ผมจึงคิดว่า 奇 แปลว่า “ขุนพล” น่าจะเหมาะสม เนื่องจาก ขุนพล ถือว่าเป็นคนที่หายากมาก มีความเก่งกาจมาก มีความสามารถที่แปลกประหลาดกว่าคนอื่นจนน่าประหลาดใจ ในการรบขุนพลก็มักจะสู้กันบนหลังม้า

คนที่สำคัญรองจากแม่ทัพก็คือขุนพลนี่หละครับ เช่น ในเรื่อง 3 ก๊ก ก็จะมี 5 ขุนพลพยัคฆ์ หรือ 5 ทหารเสือ (กวนอู, เตียวหุย, จูล่ง, ม้าเฉียว, ฮองตง)

อาศัยเหตุนี้ผมจึง เห็นควรแปล 三奇 ว่า ‘3 ขุนพล’

乙, 丙, 丁 นั้นยังมีอีกชื่อว่า

  • 乙 → 日奇 (rì qí, รื่อ ฉี) — ขุนพลสุริยัน (อาทิตย์)
  • 丙 → 月奇 (yuè qí, เย่ว์ ฉี) —ขุนพลจันทรา (จันทร)
  • 丁 → 星奇 (xīng qí, ซิง ฉี) — ขุนพลดารา (ดวงดาว)

จานดิน

ในบทความนี้ จะขอยกตัวอย่างการวาดจานดิน (地盤, dì pán, ตี้ ผาน) หรือ กิ่งดิน (地干, dì gàn, ตี้ กั้น) ให้ดูเพื่อให้เห็นภาพเบื่องต้น ส่วนการวาดส่วนประกอบอื่นนั้น อนุญาติข้ามไปเนื่องจากซับซ้อน และ มีโปรแกรมอยู่แล้ว

การเรียงกิ่งดิน และ กิ่งฟ้า ในฉีเหมินนั้นจะไม่เหมือนกับที่เรียงในปฏิทินและปาจื่อ โดยในฉีเหมินถ้าเป็นแบบหยางจะเรียง

戊 → 己 → 庚 → 辛 → 壬 → 癸 → 丁 → 丙 → 乙

ถ้าเป็นแบบหยินจะเรียง

戊 → 乙 → 丙 → 丁 → 癸 → 壬 → 辛 → 庚 → 己

วิธีการวาดจานดิน คือ ตรวจดูจากปฏิทินว่า วันเวลาที่เราต้องการวาดผังฉีเหมินตรงกับ กระดานไหน เช่น สมมุติว่าเป็น กระดานหยาง 1 เมื่อเราได้กระดานแล้ว เราจะเริ่มวาดจานดิน โดยการเริ่มต้นตามทิศของลั่วซู เช่น กระดานหมายเลข 1 ก็จะเริ่มต้นที่ช่องทิศเหนือ (N) เพราะ 1 ตามลั่วซูอยู่ทางทิศเหนือ (ใช้เลขตามเลขของลั่วซู ไม่ได้ใช่เลขของกระดาน)

ดังนั้น เราจะเริ่มต้นที่ทิศเหนือ โดยการใส่ 戊 เข้าไปตามภาพด้านล่าง

จากนั้นเราก็จะลงตำแหน่งต่อไป ตามลำดับของลั่วซู คือ

N → SW → E → SE → C → NW → W → NE → S

ดังนั้นจาก N ก็จะเป็น SW และเนื่องจากเดินแบบหยาง จาก 戊 ก็จะเป็น 己 ดังนั้น ใส่ 己 ที่ทิศ SW โดยในช่องอื่น ๆ ด้วยวิธีเดียวกัน (เหมือนกับดาวเหิน แต่เปลี่ยนจากเลขเป็นกิ่งฟ้า) ตามตัวอย่างในภาพด้านล่าง

สำหรับกระดานอื่น ๆ 戊 จะเริ่มต้นตามเลขของลั่วซูเช่นเดียวกัน เช่น กระดาน 2 จะเริ่มต้นที่ทิศ SW; กระดาน 3 จะเริ่มต้นที่ E เป็นต้น

ผมได้ทำตัวอย่างการะดานอื่น ๆ ให้ดูตามภาพด้านล่าง

ตัวอย่างจานดิน

ส่งท้าย

ถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายท่าน คงจะเข้าใจในเบื่องต้นถึงที่ไปที่มาของมิติเวลาในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ยแล้ว อย่างไรก็ดี เนื้อหาเที่เกี่ยวข้องกับมิติเวลานั้นยังมีอีกเยอะมาก เช่น ที่มาของกฎต่าง ๆ ในวิชาตุ้นเจี่ย (เช่น ทำไมต้องเริ่มต้นกระดานที่ 甲 หรือ 己) แต่ผมพิจารณาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ในการศึกษาเบื่องต้น จึงไม่ได้กล่าวถึง

ในตอนหน้าผมจะพูดถึงการใช้งานอย่างง่ายของวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย คือ การพยากรณ์ว่าจะได้สิ่งที่ต้องการหรือไม่ได้ ว่าจะดูอย่างไร

ขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ครับ

หมายเหตุ

  1. หลายท่านเห็นผมเขียนภาษาจีนเต็มบทความ อาจจะคิดว่าผมเก่งภาษาจีน ต้องขอออกตัวไว้ก่อนครับว่า ผมอ่านภาษาจีนไม่ออก พูดไม่ได้ เขียนก็ไม่ได้ครับ แต่ที่ต้องมีภาษาจีนนั้น เนื่องจากว่าผมตั้งใจจะทำให้มันสมบูรณ์เท่าที่ผมจะมีปัญญาทำได้ และให้สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิง ในกรณีที่ทุกท่านไปศึกษาจากแหล่งอื่น อ่านหนังสือเล่มอื่น หรือไปเรียนกับอาจารย์ที่ต่างประเทศ (ต่างประเทศใช้จีนกลาง หรือ พินอิน เกือบทั้งหมด)
  2. ถ้าท่านใดพบว่าผมใช้ภาษาจีนไหนผิด, สะกดผิด, อ่านผิด, แปลผิด อย่างไรก็แนะนำหรือแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
  3. คำอ่านภาษาจีน ใช้ตามเอกสาร “เกณฑ์การถ่ายทอดเสียงภาษาจีนแมนดารินด้วยอักขรวิธีไทย” ของ คณะอนุกรรมการพิจารณาเกณฑ์การถ่ายถอดเสี่ยงภาษาจีนเป็นภาษาไทย ภายใต้ คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ถ้าสนใจติดตาม บทความอื่น ๆ สามารถไปกด Like ได้ที่ Facebook
https://www.facebook.com/QiMenAlchemy/

Credit ภาพประกอบ Cover : ตามตอนที่ 1

--

--