ฟ้า คน ดิน

Qi Men Alchemy
7 min readAug 9, 2017

--

ฟ้า คน ดิน เป็นสิ่งสำคัญในทุกวิชาของจีน แท้จริงแล้วคืออะไร ?

ฟ้าคนเป็นหนึ่งเดียว

ฟ้า คน ดิน เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากในวิชาของจีนทุกแขนง ไม่ว่าจะ ฮวงจุ้ย ดวง ฤกษ์ยาม แพทย์จีน ไปจนถึงลัทธิเต๋า ซึ่ง คำพูดที่สำคัญอันหนึ่งที่ถือเป็นรากฐานของแนวความคิด ปรัญญาทั้งหมด ก็คือ 天人合一 (tiān rén hé yī, เทียน เหริน เหอ อี) — ฟ้าคนเป็นหนึ่งเดียว

เราชื่อกันว่า คนมาจากฟ้า คนเป็นส่วนหนึ่งของฟ้า การจะเป็นปกติได้คือการเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า ไม่ขัดแย้งกับฟ้า โดยฟ้าในที่นี้รวมไปถึงธรรมชาติรอบตัวต่าง ๆ และ เวลา ฤดูกาลต่าง ๆ

บทความนี้ผมจะเล่าแบบคร่าว ๆ ว่าแต่ละส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร มุมมองต่อ ฟ้า คน ดิน แบบไหนที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในการศึกษาวิชาต่าง ๆ ของจีน

กำเนิด

เรามาดูการกำเนิดกันแบบคร่าว ๆ ก่อนครับ ภาพที่แสดงอาจจะไม่ถูกต้องมาก เนื่องจากมีรายละเอียดอีกเยอะมาก แต่ถ้าผมอธิบายละเอียดไป จะกลายเป็นบทเรียนวิชาเต๋าไปแทน 😁

การกำเนิด — ก่อนฟ้า

道 เต๋า

道 (dào, เต้า) — เต๋า ถ้าว่ากันตามคำนิยามสมัยดั้งเดิม จะเปรียบเทียบก็เหมือนกับ เหมือนกับ พรหมภูมิ หรือ พรหมโลก ในศาสนาฮินดู แต่ถ้าเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธ อรูปพรหม หรือ อรูปาวจรภูมิ นั้นเอง

โดยหลักการ เต๋า เป็นเหมือนสิ่งที่อยู่อีกมิติหนึ่ง มีพลังงานส่งมาถึงสิ่งมีชีวิตทั้งมวลได้ โบราณเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลเกิดมาจากเต๋า (เหมือนกับที่ฮินดูเชื่อว่ามนุษย์เกิดจาก พระพรหม) ในเต๋ามีการอธิบาย โดยละเอียดเลย ว่าจากเต๋าเกิดมาเป็นวิญญาณจนเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

แต่ถ้าแปลตามความหมาย เต๋า จะหมายถึง วิถี หรือ มรรค เพื่อเข้าถึงแหล่งกำเนิดนี้ (หรือคือเพื่อกลับเป็นอรูปพรหม)

無極 อู๋จี๋

無極 (wú jí, อู๋ จี๋) —ไร้ประมาณ ไร้ขอบเขต ไร้การแบ่งแยก หรือ อัปปมัญญา ตรงนี้มีจุดที่น่าสนใจ ในตามเต๋าจริง ๆ อู๋จี๋ คือสภาพที่ ทุกอย่างเท่าเทียบกันหมด ทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกทั้งสิ้น สงบนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย หรือคือไม่มีอะไรเลย

ซึ่งสภาพนี้จริง ๆ คือ สภาพของการเข้าอรูปฌานตามความหมายเดิมของเต๋า แต่เนื่องจาก การอธิบายให้คนทั่วไปฟัง (นึกถึงชาวจีนที่เป็นชาวบ้าน ชาวนา นักรบ) จึงไม่สามารถอธิบายคนที่เข้าฌานไม่ได้ให้เข้าใจได้ เพราะมันคือสภาพที่หายไปหมดทุกอย่าง เป็นความว่างเปล่าแท้จริง

ในสถาพนี้ แม้แต่เวลาก็ยังเหมือนไม่มี จะสังเกตุว่า คนที่เข้าฌานได้ จะบอกเหมือนกันว่า เหมือนเวลาหยุดเดิน หรือ รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเดี๋ยวเดียว แต่จริงแล้วผ่านไปหลายชั่วโมง หรือ เราจะเห็นว่า พรหมจะมีอายุยืนยาวมาก

จึงเป็นที่มาของการที่ไม่สามรถบอกได้ว่าคืออะไร ต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง และเป็นสาเหตุเรามักจะเข้าใจผิดไปว่า อู๋จี๋ก็เปรียบเหมือนอวกาศที่ไม่มีอะไร

太極 ไท่จี๋

太極 (tài jí, ไท่ จี๋) — จุดสูงสุด, จุดอ้างอิง, จุดยอด, จุดกำเนิด ในเต๋าเราถือว่า เป็นจุดที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย การเปลี่ยนแปลงเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดหยินหยาง และ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นให้สภาพอู๋จี๋หายไป

หรือกล่าวได้ว่า จุดไท่จี๋ คือ จิตของเรานั้นเอง เพราะจิตเรานั้น เป็นสิ่งที่กำหนดจุดอ้างอิงเพื่อใช้ในการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ในโลก เช่น ถ้าเปรียบเทียบ อุณหภูมิ จากอุณหภูมิปกติของกรุงเทพ ประมาณ 35 °C ถ้าถามว่า อุณหภูมิ 26 °C เป็นยังไงก็ต้องจัดว่าอุณหภูมิเย็น เป็นหยิน เพราะว่า มันน้อยกว่าจุดอ้างอิงของเรา แต่ถ้าถามฝรั่งตอนบน เค้าอยู่ที่อุณหภูมิปกติ 20 °C เค้าก็จะบอกว่า 26 °C อบอุ่นเป็นหยางแล้ว

ปรัญญาของจีน ได้ถูกถ่ายทอดลงสู่อักษรแต่ละตัวอย่างหน้าสนใจ คือ จากรูปด้านล่าง เราจะเห็นว่า เมื่อ 人 — คน กางแขนกางขา ออกจนสุด เราจะเรียกว่า 大 (dà, ต้า) — ใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่า คนเราใหญ่สุดก็แค่เท่าที่กางแขนกางขาออกเท่านั้น ในแนวความคิดเดียวกับ สำนวนไทยโบราณว่า “กว้างคืบ ยาววา หนาศอก”

ต่อมาเมื่อ มีขีดด้านบน จะกลายเป็น 天 (tiān, เทียน) — ฟ้า แสดงถึงสิ่งที่อยู่เหนือตัวเราที่ใหญ่แล้ว หรือ เหนือมนุษย์ยังมีฟ้า แม้แต่ฮ่องเต้ ก็อยู่ภายใต้ฟ้า

ในทำนองเดียวกัน 大 ที่ว่าใหญ่หรือเป็นทั้งหมดของมนุษย์แล้ว พอเติมจุดลงไปกลางตัว ซึ่งจุดกลางตัวก็หมายถึงจิตใจที่อยู่ในศูนย์กลางตัวเรา ก็จะกลายเป็น 太 (tài, ไท่) — จุดสูงสุด จุดยอด จุดอ้างอิง จุดกำเนิด เป็นการแสดงว่า จุดที่สูงสุด จุดที่เป็นการกำเนิด ล้วนมาจากใจของมนุษย์ทั้งนั้น (太太 แปลว่า สุดยอดของสุดยอดดวงใจ = เมีย…. )

太 ไท่ คือ จิตใจ

วิชาต่าง ๆ ใช้ความหมายว่า จิตใจเป็นจุดกำเนิดไท่จี๋ เป็นอย่างมาก การเข้าใจเรื่อง ไท่จี๋ ว่าเป็นจุดอ้างอิง ในการแบ่งแยก หรือ เปลี่ยนแปลง จะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในวิชาอื่น ๆ ไม่ว่าจะดูดวง ฮวงจุ้ย ฉีเหมินตุ้นเจีย ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะยกตัวอย่างการนำไปใช้กับวิชาจริง ๆ ให้ดูครับ

陰陽 หยินหยาง

陰陽 (yīn yáng, อีน ยั๋ง) — หยินหยาง ข้อนี้จะว่าง่าย ก็เหมือนง่าย จะว่ายาก ก็เหมือนยาก สรุปได้ง่ายสุดคือ หยิน = น้อยกว่าจุดอ้างอิง; หยาง = มากกว่าจุดอ้างอิง ดังที่อธิบายไปในเรื่องไท่จี๋

สังเกตุว่าในชั้นนี้ หยินหยางจะเป็นการแบ่งกันชัดเจน ไม่ใช่รูปหยินหยางแบบที่เราคุ้นเคยกัน

四象 4 ส่วน

四象 (sì xiàng, ซื่อ เซี่ยง) — 4 ส่วน หมายถึงการที่คนจีนแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 4 ส่วนตาม 28 กลุ่มดาว คือ

  • 青龍 (qīng lóng, ชิง ล๋ง) — มังกรน้ำเงิน
  • 白虎 (bái hǔ, ไป๋ หู่) — เสือขาว
  • 朱雀 (zhū què, จู เฉฺวี่ย) — นกกระจอกชาด
  • 玄武 (xuán wǔ, เซฺวี๋ยน อู่) — เต่างูดำ

ย้ำอีกทีนะครับ สัตว์ ทั้ง 4 นี่เป็นการแบ่ง ตาม 28 กลุ่มดาว บนท้องฟ้าจริง ๆ ไม่ได้เป็นการแบ่งทิศ ตามพื้นโลก อย่างที่ทุกคนเข้าใจ

มีเคล็ดวิชา เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกนิดครับ

วันเปลี่ยนปี (ประมาณ 4–5 กุมภา) คือ วันที่ ตอนเที่ยงคืน เราจะเห็นดาวดวงแรกของกลุ่มมังกรน้ำเงิน ที่ชื่อ ว่า 角宿一 (jiǎo xiù yī, เจี่ยว ซิ่ว อี) — “กลุ่มดาวเขาสัตว์ที่ 1” ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว 角 (jiǎo, เจี่ยว) — เขาสัตว์; ขึ้นที่ ขอบฟ้าทิศตะวันออก เป็นวันแรก

{ ดาวนี้มีชื่อเป็นสากลว่า Spica หรือ Alpha Virginis ย่อว่า α Vir เป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) หรือ กลุ่มดาวกันย์ (♍)}

ดังนั้นโบราณ จะรู้ว่าเปลี่ยนปีตอนไหน ดูไม่ยาก คือ ตอนประมาณเที่ยงคืน ไปยืนมองทางทิศตะวันออก ถ้าเห็นดาว 角宿一 ก็คือการเริ่มปีใหม่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ดาว → เวลา (ฤดู) → ตำแหน่ง (ทิศ) → การกำหนดปี ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันหมด เพียงแต่คนทั่วไปที่ศึกษา ฮวงจุ้ย ดวง ฉีเหมิน ไม่ได้เข้าใจความสัมพันธ์เหล่านี้ ทำให้บางทีก็คิดทฤษฎีขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้มีความเข้าใจเหตุผลของเดิม

มีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง คือ ในโบราณมันเป็นมังกรสีน้ำเงิน ไม่ใช่มังกรเขียว และ เป็นนกกระจิบสีชาด ไม่ใช่หงษ์แดง หรือ ฟีนิกซ์ อย่างที่เราเข้าใจครับ การแปลเป็นมังกรเขียวกับหงษ์แดง นี่เป็นการแปลตามฝรั่งสมัยใหม่ สัตว์ 2 ตัวที่ว่า หน้าตามันประมาณรูปด้านล่างครับ (และมันยังเป็นเต่างู ไม่ใช่เต่าเฉย ๆ ด้วยนะครับ)

ที่มา Azure Dragon

八卦 8 ข่วย

อันนี้ 8 ข่วยของผังก่อนฟ้าที่คุ้นเคย ไม่ต้องอธิบายหละกันครับ

จริง ๆ มีความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ 8 ข่วยกับดวงดาว และ ส่วนประกอบอื่น ๆ มากมาย แต่ขอข้ามไปก่อนเดี๋ยวจะยาวเกิน

การกำเนิด — หลังฟ้า

陰陽 (後天) หยินหยางหลังฟ้า

หลังจาก ที่เป็น 8 ข่วยก่อนฟ้าแล้ว ก็กลับมาเป็นหยินหยางหลังฟ้า ซึ่งอยู่ในกฎของการสลับขั้วพลัง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชั้นพลังงาน เช่น การเปลี่ยน พลังชี่ → แร่ธาตุ → พืช → สัตว์มีเปลือก → สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ถ้ามีโอกาสจะอธิบายต่อไป

จุดที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ในหยินหยางหลังฟ้า จะมีหยินในหยาง หยางในหยิน แบบสัญลักษณที่ทุกคนคุ้นเคยกัน

五行, 天干, 六氣, 地支

พวกนี้ เดี๋ยวขอยกไปอธิบายในบทความต่อ ๆ ไปครับ เพราะยาวมาก

天人地 ฟ้า คน ดิน

จุดนี้เราถือว่า ฟ้าคนดิน ได้กำเนิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งในบทความช่วงต่อไป ผมจะมาอธิบายส่วนนี้ครับ

精氣神 จิง ชี่ เซิ๋น

精氣神 จิง ชี่ เซิ๋น นั้นเต๋าจัดว่าเป็นหัวใจหลักของมนุษย์เลย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ไป จะไม่เรียกว่ามนุษย์อีกต่อไป โดย

  • 精 (jīng, จิง) — สารสำคัญในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน สารอาหาร เชื้ออสุจิ
  • 氣 (qì, ชี่) — พลังชี่ในร่างกายยังมีการแบ่งย่อยอีกหลายอย่าง
  • 神 (shén, เซิ๋น) — จิตวิญญาณ หรือ จิตสำนึก ของเรา

เช่น ขาด 神 (เซิ๋น)— วิญญาณ ก็ไร้ชีวิต
มีแต่วิญญาณแต่ไม่มี 精 (จิง) — สารสำคัญ ก็เป็นผี เป็นต้น

ในวิชาฮวงจุ้ย ดวง ฉีเหมินตุ้นเจีย ล้วนแต่มีการเน้นที่จัดการ 3 ส่วนนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวต่อไป

ระดับพลังงาน

ก่อนจะเข้าใจเรื่องต่อไป มีอีกเรื่องที่เราต้องรู้ คือ เราจะมีการแบ่งพลังงาน ออกเป็น 5 ระดับชั้น ตามภาพด้านล่าง

ระดับพลังงาน, สสาร

ฟ้า คน ดิน

จากการแบ่งระดับพลังงานตามขั้นต้น ทำให้เราสามารถ อธิบาย ฟ้า คน ดิน ได้ตามภาพด้านล่าง

ฟ้า คน ดิน 4 ระดับพลังงาน

โดย

  • 星 (xīng, ซิง) — ดาว ในที่นี้จะหมายถึง 28 กลุ่มดาวของจีน
  • 斗 (dǒu, โต่ว) — ดาวเหนือ จะหมายถึง 7 ดาวเหนือ
  • 虛 (xū, ซู) — ความว่าง จะหมายถึง การทำสมาธิ หรือ การเข้าฌาน

เราลองมาดูความสัมพันธ์ของทั้ง 4 กลุ่มนี้กัน คือ

月 ดวงจันทร์

  • ดวงจันทร์ ควบคุม ระดับน้ำขึ้นน้ำลง
  • รอบของดวงจันทร์มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย (เช่น ประจำเดือน)

日 ดาวอาทิตย์

  • ควบคุมอุณหภูมิ → อุณหภูมิต่างกันทำให้เกิดลม
  • ชี่มาตามลม ชี่เข้าบ้านจากลมเป็นหลัก
  • ดวงอาทิตย์เป็นตัวให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิตเป็นหลัก

星 กลุ่มดาว

  • คนจีนเชื่อว่า กลุ่มดาวบนฟ้า เป็นตัวกำหนดชัยภูมิ
  • แรงดึงดูดจากดาวต่างๆ เป็นเวลาหลายล้านปี ทำให้เกิดภูเขา
  • ภูเขา และ กลุ่มดาว มีผลต่อความ คิดและการเป็นอยู่ (เช่นภูเขาธาตุไม้ จะทำให้เรียนดี, ภูเขาธาตุทองเป็นอำนาจ เป็นต้น)

斗 ดาวเหนือ

  • ดาวเหนือ อยู่ศูนย์กลางฟ้า ดาวทุกดวงโครจรรอบดาวเหนือ
  • คนจีนถือเป็นดาวแห่งจิตวิญญาณ สมาธิ วิชาทางจิตวิญญาณ หรือ เต๋า มักจะต้องเกี่ยวข้องกับดาวเหนือ
  • ดาวเหนือ ยังเป็นตัวกำหนดภูติ, เทพ, วิญญาณ อีกด้วย

เพิ่มเติม

ลม แม้จะเป็นส่วนสำคัญในวิชาฮวงจุ้ย แต่มักเป็นความลับ และ เคล็ดวิชาอย่างมาก ไม่มีการพูดถึง หรือ ถ่ายทอดในปัจจุบัน ทั้งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เลยทำให้ครูพักลักจำ ได้ยากมาก

ในวิชาแต่ดั้งเดิม มีการศึกษาเรื่องลมเป็นอย่างมาก เช่น ในฉีเหมินตุ้นเจียเวลาตั้งผังฉีเหมินฮวงจุ้ย ต้องอาศัยดูลมจริง เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งในวิชากล่าวไว้ว่า รู้ว่าลมมาจากทิศไหน ยามไหน นานเท่าไหร่ สามารถบอกผลลัพธ์ได้เลยว่า จะเป็นอย่างไร

หรือ ในวิชาดาวเหิน ตามดั้งเดิม ก็จะมีดาวลม (ไม่ใช่ดาวน้ำ ดาวภูเขา) ดูจากผังจะบอกได้เลยว่า ลมปกติของอาคารนี้จะเข้ามาทิศไหน เป็นลมดี ลมร้าย ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร รวมถึงการพยากรณ์จากลมด้วย นอกจากนี้ยังมีวิชามังกรลมอีกด้วย (เป็นวิชาวางค่ายกลของลมเหมือนมังกรน้ำ)

ขอบเขตวิชา

แต่ละวิชา หรือ กลุ่ม ก็จะมีการศึกษา ในส่วนต่าง ๆ ของรูปฟ้าคนดินนี้ต่างกันไป เช่น กรณี แพทย์จีน ก็จะให้ความสำคัญไปที่ จิง กับ ชี่ เป็นหลัก ว่าต้องกินอะไรหรือแก้ไขอย่างไร (เช่น ฝังเข็ม รมยา สมุนไพร) และให้ความสนใจเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่อง ฤดู สภาพอากาศ อารมณ์ สภาพจิตใจ ของผู้นั้น

วิชา โหงวเฮ้ง หรือ ชี่กงภายนอก ก็เช่นเดียวกัน คือ ให้ความสนใจไปที่ จิง และ ชี่ เป็นหลัก เพียงแต่ต่างกันที่มุมอง และ โดยทั่วไป วิชาเหล่านี้จะนำมาใช้ร่วมกัน เช่น เมื่อดูหน้าก็จะรู้ว่าป่วยเป็นโรคอะไร การรักษาอาจจะใช้ชี่กง รวมกับ สมุนไพร และฝังเข็ม พร้อมให้การแนะนำการปฏิบัติตัวเองให้เข้ากับสภาพอากาศ (ที่ประเทศจีน มีแพทย์จีนแผนกชี่กง ที่รักษาโรคด้วยชี่กง ด้วยครับ) ตามตัวอย่างรูปด้านล่าง

หรือจะเป็นโหราศาสตร์จีน ก็จะสนใจกลุ่มดาว, พระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวเคราะห์อื่น ๆ มากเป็นพิเศษ โดยให้ความสนใจดาวเหนือ จิง ชี่ บ้าง เช่น ซินแสบางท่าน ใช้การดูพลังบนใบหน้า และสีสันบนใบหน้า สามารถบอกดวง โรคภัยไข้เจ็บ ยันฮวงจุ้ยในได้เลย บางท่านก็ดู ทั้งดวง ทั้งใบหน้า เพื่อยีนยันการแปลผล

จุดสำคัญ

ตอนนี้มาถึงจุดสำคัญของเรื่องที่ผมเขียนมาข้างต้นแล้ว

ประการที่ 1

ในตามที่มีการสืบทอดมานั้น วิชาอภิปรัชญาทั้งหลาย (ฮวงจุ้ย, ปาจื้อ, ชี่กง, โหวงเฮ้ง, ฉีเหมินตุ้นเจีย, ลิ่วเริ่นเสินเค่อ ฯลฯ) เป็นเรื่องของการ

ถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน ถูกวิธี

  • ถูกที่ คือ ถูกเทศะ ทำในสถานที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมเหมาะสม ชัยภูมิเหมาะสม เช่น นอนในห้องประชุม แบบนี้เรียกไม่ถูกที่ ขายเพชรที่ตลาดนัดก็ไม่ถูกที่ เป็นต้น
  • ถูกเวลา คือ ถูกกาละ ได้เวลาเหมาะสมที่จะทำ ถูกยาม ถูกฤดู เหมือนที่เรียกน้ำขึ้นให้รีบตัก เช่น การปลูกพืชทุกอย่างต้องปลูกให้ถูกเวลา เช่น ปลูกข้าวปลูกผิดฤดู มีสิทธิ์น้ำไม่พอ
  • ถูกคน คือ ใช้คนให้ถูกกับงาน หรือ ทำงานให้ถูกกับนิสัย หรือ บางครั้งก็ถูกกับสถานะของผู้นั้น
  • ถูกวิธี คือ การทำแต่ละอย่าง ย่อมมีวิธีที่จะทำได้หลายทาง อยู่ที่เราเลือก มีทั้งวิธีที่มีคุณธรรม และ ไร้คุณธรรม วิธีที่ยาก วิธีที่ง่าย เป็นต้น

ปัญหา คือ วิชาเหล่านี้ในปัจจุบัน ได้มีมุมมองและความเข้าใจเปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น

  • มีเรื่องเงินทอง การพาณิชย์ เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการใช้วิชาอย่างมาก จากที่สมัยก่อน การแก้ไขฮวงจุ้ย แก้ไขดวง จะทำโดยนักพรตเต๋า หรือ ซินแส เพื่อการช่วยเหลือผู้คน เช่น เจี่ยงต้าหง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาดาวเหิน ก็แก้ไขโดยไม่คิดมูลค่าใด
  • มีความเชื่อถือในวิทยาศาสตร์มาก ทำให้ปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถมองเห็น หรือ ไม่สามารถฝึกฝนได้ถึง ทำให้วิชาเหล่านี้ เหลือเฉพาะ แค่ส่วนเล็ก ๆ ที่ตาสามารถมองเห็นได้ และ ตัวซินแสผู้นั้นสามารถทำได้
  • การนำมุมมองของตะวันตกเข้ามาใช้ ทำให้มองทุกอย่างเป็นส่วน ๆ แบ่งแยกกัน สนใจปัจจัยภายนอกเพียงเล็กน้อย และ ใช้เฉพาะปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ ในการตัดสินว่าสิ่งใดผิด สิ่งได้ถูก มองว่าเราต้องสามารถควบคุมธรรมชาติ จากเดิมที่ต้องเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ

จากเหตุหลัก ๆ เหล่านี้ จึงทำให้เกิด ฮวงจุ้ยแนวใหม่ ขึ้นมา เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี จึงขอเรียกเป็น “ฮวงจุ้ยแนวพาณิชย์”, “ฮวงจุ้ยเชิงวิทยาศาสตร์”, “ฮวงจุ้ยแนวตะวันตก” เพื่อให้แตกต่างจากฮวงจุ้ยแบบที่เคยเป็นมาในสมัยโบราณ ซึ่งสรุปได้ตามภาพด้านล่าง

ประการที่ 2

นอกจากนี้จะเห็นว่า ทุกส่วนนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน อย่างแยกได้ยาก แต่ละส่วนมีผลถึงกันหมด เช่น ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดู ซึ่งก็มีผลต่อชี่ และก็มีผลต่อการเกิดโรคด้วย ดังนั้น วิชาจึงต้องใช้ร่วมกันให้สัมพันธ์กัน เช่น จะสนใจแต่ชัยภูมิ แต่ไม่สนใจ ลม, ฤดู, ดวงอาทิตย์ ไม่ได้

หรือ วิชาที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ ก็จะเกี่ยวกับ จิง หรือ อารมณ์ หรือ น้ำ เป็นหลัก(หรือ เกี่ยวกับวิชาด้านหยิน) เช่น ในฮวงจุ้ยวิชาน้ำขั้นสูง เมื่อกระทำการเกี่ยวกับน้ำ การหาฤกษ์จะใช้ฤกษ์ตามพระจันทร์ แทนที่จะเป็นตาม 60 กะจื้อปกติ

หรือ ในวิชา ฉีเหมินตุ่นเจีย จะมีการแยกไว้ชัดเจนว่า 28 กลุ่มดาว ใช้พยากรณ์เรื่องความคิด การตัดสินใจ; 7 ดาวเหนือ ใช้พยากรณ์เรื่องจิตใต้สำนัก หรือ อิทธิพลจาก เทพ หรือ ภูติผี ต่าง ๆ; หรือ ในการดูดวงด้วย ฉีเหมินตุ้นเจีย 28 ดาวกลุ่มดาว ก็ยังสามารถใช้ดูความสามารถของจิตวิญญาณ ความสามารถพิเศษ หรือ พรสวรรค์ ได้อีกด้วย และต้องใช้ทุกอย่างร่วมกัน เป็นต้น

ประการที่ 3

เต๋า ขงจื้อ และ พุทธ เชื่อในเรื่องการกระทำของมนุษย์เป็นอย่างมาก จนสามารถกล่าวได้ว่า

ถ้าพัฒนาตัวเองให้ดีแล้ว ไม่ต้องสนใจดวง, ฮวงจุ้ย, ฤกษ์ เลยก็ได้

ถ้าชี่ในร่างกายดี พลังชี่ข้างนอกก็ทำอันตรายได้ยาก ดังนั้น การฝึกตัวเองให้มีชี่, พลัง ในร่างกายดีจึงเป็นการทำให้ตัวเองมีผลเหนือพลังไม่ดีได้ไม่ยาก (ซึ่งก็รวมถึงการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมด้วย)

ปล. ถึงอย่างไรก็ดี ก่อนจะฝึกตนได้ขนาดนั้น ดวง ฮวงจุ้ย ฤกษ์ยาม ก็ยังมีประโยชน์อยู่มาก นอกจาากนี้ เต๋า ยังใช้ ดวง ฮวงจุ้ย ฤกษ์ยามช่วยในการฝึกวิชาอีกด้วย

ถ้าวาสนาดี (บุญกรรมดี) ก็ไม่ต้องสนใจดวง ฮวงจุ้ย ฤกษ์ ก็ได้ ดังคนจีนกล่าวประจำว่า “เก่ง หรือจะสู้ เฮง” ดังนั้นทำให้ตัวเอง วาสนาดี (ทำให้ตัวเองเฮง) จึงง่ายกว่า และ ถาวรกว่ามาก (ทำกรรมดีให้เรามีวาสนาดี)

แม้แต่ในฮวงจุ้ย ปรมาจารย์หลายท่าก็มีคำสอนเป็นเคล็ดวิชาว่า

และ อีกประโยค ในทางกลับกัน คือ

ประการที่ 4

ซินแส หรือ นักพรต สมัยก่อน เมื่ออาจจะต้องแก้ไขฮวงจุ้ย สิ่งที่เค้าทำ คือ

  1. ดูว่าคนนั้นมีคุณธรรมหรือไม่ เช่น จากโหงวเฮ้ง, จากดวง, จากพฤติกรรมในอดีต
  2. ถ้ามีคุณธรรม จะเริ่มจากให้แก้ไขพื้นฐานที่ทำได้ง่ายก่อน เพื่อทำให้ดวง/และโอกาสดีขึ้น พอที่จะแก้ไขที่ใหญ่ขึ้นได้
  3. รอเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เช่น ตามดวง ตามโหงวเฮ้ง แล้วจึงทำการแก้ไข
  4. ถ้าไม่มีคุณธรรม หรือ ไม่ถึงเวลาจะไม่แก้ไขอะไร
  5. ถ้าเหตุฉุกเฉิน เช่น ถึงแก่ชีวิต จะแก้ให้พ้นเคราะห์ชั่วคราว แต่ไม่ถาวร
  6. เมื่อได้ผลดี ต้องทำทาน ทำบุญ ช่วยเหลือสังคม ตอบแทน
  7. มักแก้ไขหลายทางพร้อมกัน เช่น ให้ฝึกชี่กง, กินยาจีน, เปลี่ยนงาน, เปลี่ยนพฤติกรรม
  8. ถ้ามีสุสาน จะแก้ไขสุสานก่อน (เพราะผลรุนแรงกว่ามาก)

ซึ่งจะแตกต่างจากที่เราได้เจอในปัจุบันมาก โดยเฉพาะ เรื่องคุณธรรม เนื่องจาก สมัยก่อนเชื่อว่าทุกอย่างมีผลกระทบ ถ้าไปช่วยให้คนไร้คุณธรรมให้ดีขึ้นมา จะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และทำให้คนอื่นต้องได้รับผลจากผู้ไรคุณธรรมคนนั้นเป็นจำนวนมาก

ความแตกต่าง

ผมได้สรุปมุมมองของฮวงจุ้ยทั้ง 2 แบบไว้คร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพตามภาพด้านล่าง การเข้าใจทัศนคติ ที่ต่างกัน จะมีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาวิชาทางด้านนี้ต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าคุณเน้นปรับภายนอก กระตุ้นภายนอก เป็นหลัก คุณก็จะเป็นกังวลไปหมดทุกอย่าง เช่น นอนผิดทิศไหม นั่งผิดทิศไหม ทำผิดฤกษ์ไหม ฯลฯ ชีวิตจะเสียศูนย์ กังวลไปเสียทุกเรื่อง
  • คุณจะเข้าถึงวิชา และ ภาพรวมทั้งหมด แทนที่จะเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ แค่ส่วนเดียว เช่น ในฮวงจุ้ยขั้นสูง คุณสามารถทำให้บ้านทั้งหลังเป็นดาว 8 ได้ แต่คุณจะต้องฝึกเพื่อคุมพลังนั้นได้ด้วย (ต้องฝึกเอง คุมเอง คนอื่นแค่เริ่มต้นให้ได้ แต่ไม่ถาวร)

โดยในฮวงจุ้ย แนวพาณิชย์, เชิงวิทยาศาสตร์, แนวตะวันตก แสดงได้เป็น

ในทางกลับกันฮวงจุ้ยแนวเต๋า, เชิงไสยศาสตร์, แนวดั้งเดิม จะสนใจองค์ประกอบทุกส่วนเลย ลองนึกถึง ขงเบ้ง ที่หลายคนชื่นชมว่าเป็นสุดยอดซินแส

  1. ดูดาวบนฟ้าบอกได้ว่าตัวเอง และ คนอื่น จะมีเหตุ หรือ หมดอายุเมื่อไหร่
  2. ทำพิธี เรียกลม เรียกฝน เรียกหมอก
  3. ดูทิศทางลม วางค่ายกล และอีกสารพัดพิธี
  4. ทำพิธี จุตตะเกียง ต่ออายุ

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าขงเบ้งไม่เชื่อในพิธีกรรม จะทำพิธีต่ออายุ ไปเพื่ออะไร ? จะบอกว่าทำหลอกคนอื่นก็คงไม่ใช่ เพราะไม่ได้หลอกใครแถมไม่ให้มีใครรู้ ถ้าเรายึดตามแนววิทยาศาสตร์ จะอธิบายว่าอย่างไร ? ยังมีอีกหลายพิธี เช่น “หมั่นโถว” ที่ขงเบ้งคิดค้นขึ้นมาเพื่อ การทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ดวงวิญญาณและเพื่อเชิญดวงวิญญาณกลับ

การที่ซินแสปัจจุบันไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ได้แปลว่าวิชาไม่มีจริง แต่ควรจะแปลว่าซินแสยังไม่สามารถทำได้มากกว่า

เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนโม้ อาจจะต้องได้เจอซินแสหลาย ๆ คนที่ทำได้จริง กับตัวเอง ก็จะเข้าใจไม่ยาก (เรียกลม, เรียกฝน, บอกเหตุการณ์ได้ในระดับนาที ได้)

สรุป

อ่านถึงจุดนี้ สรุปประเด็นที่เราควรจะให้ความสนใจได้คือ

  1. เราควรมองว่ามันเป็นหลักสูตร เพื่อเข้าใจธรรมชาติ (เช่น สมมุติว่ามันคือหลักสูตรวิศวะ) แต่ละส่วน เช่น ฮวงจุ้ย ดวง ชี่กง เป็นแค่วิชาหนึ่งของหลักสูตร (เช่น ฮวงจุ้ย ก็ เหมือนเป็นเพียงแค่วิชากลศาสตร์) ต้องเรียนจนผ่านทุกวิชา ถึงจะเรียกว่า ผ่านหลักสูตร (เหมือนจะจบป.ตรีวิศวะ ต้องผ่านหลายวิชา เป็นต้น)
  2. เต๋า ขงจื้อ พุทธ ไสยศาสตร์ ฮวงจุ้ยดั้งเดิม ดวงดั้งเดิม เราเชื่อว่า การกระทำของมนุษย์ คุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญู ความเมตตา มีผลกว่าปัจจัยข้างนอกมาก แม้ปัจจัยภายนอก (เช่น ฮวงจุ้ย) ก็ต้องเปลี่ยนไปตามการกระทำของเรา
  3. ในปัจจุบัน วิชาฮวงจุ้ย หรือ ดวงที่เราได้ทำการศึกษา เป็นเพียงส่วนเล็กมาก ๆ ซึ่งเกิดจาก ซินแสคนไทย ไปเรียนมากับซินแสที่พูดภาษาอังกฤษได้ (ซึ่งมีอยู่แค่ ประมาณ 4 คนในโลกเท่านั้น) บางท่านอ่านภาษาจีนได้ก็เกิดจากอ่านหนังสือภาษาจีนเองเป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่แปลก ถ้าจะมีวิชาอื่น ๆ อยู่อีกเยอะ รวมถึงวิชาที่ไม่ได้มีการพิมพ์เป็นหนังสือขายตามร้านหนังสือ ครับ

ก่อนจาก

ขอขอบคุณ ทุกท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้ได้ แสดงว่าท่านน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดจะตั้งใจศึกษาวิชาฮวงจุ้ย ดวง หรือ ศาสตร์อื่น ๆ ของจีน อย่างตั้งใจ ดังนั้นก็ขอให้ท่านพบเจอในสิ่งที่ตัวเองคาดหวังไว้ครับ :)

ทุกวิชา ล้วนแต่มีจุดกำเนิดร่วมกันอยู่ ไม่กี่อย่างคือ

  1. เป็นหนึ่งกับฟ้า หรือ เป็นหนึ่งกับธรรมชาติ
  2. ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ถ้าเราศึกษาวิชา และ ใช้วิชาเพื่อเหตุ 2 อย่างนี้ ฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา เทพ ก็จะนำคุณไปสู่ เส้นทางนี้ เจอคนในกลุ่มเดียวกัน เจอวิชาที่เหมาะสมกับตัวเอง (ในทางกลับกัน ถ้าใช้วิชาไปเพื่อวิถีอื่น เช่น บังคับธรรมชาติ พาณิชย์ ก็จะนำคุณไปสู่คนกลุ่มที่เป็นแนวนี้ — คนเหมือนกันย่อมดึงดูดกัน)

ในตอนหน้า จะเปลี่ยนบรรยากาศ เป็นตัวอย่างการนำทฤษฎีไปใช้งานบ้างครับ

ขอทุกท่านได้รับประโยชน์จากบทความเหล่านี้

ถ้าสนใจติดตาม บทความอื่น ๆ สามารถไปกด Like ได้ที่ Facebook
https://www.facebook.com/QiMenAlchemy/

Credit ภาพบนประกอบ Cover จาก
https://cww.hk/2013/03/08/2013-lent21/

--

--