บอกต่อเล่าเรื่อง กับประสบการณ์ทำงาน Product Owner
นี่อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จการทำงาน Product Owner และการทำงานจริงก็ไม่ได้มีแค่ความสำเร็จ ผิดบ้างถูกบ้างปะปนไป ใครที่กำลังเริ่มทำหน้าที่นี้หรือกำลังคิดว่าจะทำ ลองอ่านดูก่อนก็ได้ครับ สำหรับคนที่เป็น Product Owner แล้วและยังทำจนถึงทุกวันนี้ พวกคุณคือสุดยอดของหน้าที่นี้บริษัทมากๆ ถกเถียงและเพิ่มความคิดเห็นได้เต็มที่นะครับ
เรื่องต่อไปนี้ คือประสบการณ์ทำงานที่ Wisesight หรือชื่อเดิมคือ THOTH ZOCIAL เป็นช่วงเวลา 1 ปี 11 เดือน ที่ได้ทำหน้าที่ Product Owner (ตั้งแต่ Nov 2016 - Sep 2018)
ก่อนจะเริ่มอ่าน สำนวนหรือประโยคในการเล่าต่อไปนี้ มันไม่ได้ถูกถอดคำพูดออกมาเปะๆ เป็นเพียงประโยคการเล่าให้เข้าใจภาพมากขึ้นนะครับ และเรื่องทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิดนะครับ :) ลองแชร์พูดคุยกันได้ครับ
Chapter 0 : Invitation
“พี่ป๋อม บริษัทผมกำลังจะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง กำลังหา Product Owner พี่สนใจไหม ผมว่าพี่น่าจะทำได้นะ ลองดูไหม”
นี่คือประโยคบอกเล่าที่เชิญชวนจากปากของ Warat GDE สาขา Web Technologies ชวนผมตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 ซึ่งตอนผมเพิ่งหันหลังการทำงานกับบริษัทโฆษณาและไปทำในบริษัท Startup แทนในตำแหน่ง UX Designer
การชวนวันนั้นทำให้ผมขบคิดเยอะมากประมาณนึง ว่า Product Owner ทำหน้าที่อะไรกันแน่ แต่หลังจากที่ได้รู้ว่าคืออะไร และการทำหน้าที่ UX Designer ก็ยังคงทำงานกับ Product Owner ด้วย ถือเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่จะรู้ว่า Product Owner หรือเรียกย่อว่า PO ต้องทำอะไรบ้าง
แต่หลังจากทำงาน UX Designer มาสักพักนึง ประมาณครึ่งปี ตั้ง หรือ Warat ก็มาชวนผมอีกรอบนึง ซึ่งคราวนี้รู้สึกว่า เออ มันก็ดูเป็นก้าวที่สำคัญและน่าสนใจในแง่การทำงาน Product นะ ซึ่งนั่นคือเรื่องที่ PO ควรรู้และตายตัวประมาณนึงว่า Technology, Business และ User Experience ควรมาควบคู่กัน ตอนนั้นคิดแค่ว่า “เออ เราก็อยากเอาประสบการณ์ทั้งหมดมาเทใช้รวมกันที่นี่นะ / จบวิทคอม > เป็น designer ที่ทำงานกับ dev มาตลอด > เป็น Project Manager ในบริษัทโฆษณา > เรียน Marketing > ทำงาน UX Designer / ทั้งหมดนี้ช่วงเวลา 10 ปีในการทำงานทั้งหมดที่ว่า ก็เลยคิดว่า น่าจะเพียงพอ”
Chapter 1 : Interview
“ป๋อมคิดว่า Product Owner ต้องทำอะไรบ้าง”
คำถามจากใครสักคนที่ไม่พี่นิคก็น่าจะพี่น็อต ถามแล้วก็สะอึกเหมือนกัน นึกในใจ “ทำไรบ้างวะเนี่ย” คำตอบผมน่าจะโคตรคร่าวสุดๆ จำคำตอบไม่ได้เปะๆ แต่ก็จะเป็นไปในทางเกี่ยวกับทำให้ Product มันดีขึ้นเรื่อยๆ, คอยคุยกับทีม, วางแผน Product ในอนาคต
มีคำแนะนำในวันนั้นอย่างนึงที่ยังจำจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นสิ่งที่บอกกับคนอื่นเสมอเมื่อถึงเวลาแบ่งปันประสบการณ์ทำงาน Product Owner และคำพูดเหล่านี้ พี่นิคเป็นคนบอก
“เราสร้าง Product ให้มี Function หรือ Feature ได้ เราก็ต้องฆ่ามันทิ้งด้วย”
ตอนนั้นงง อะไรวะ ให้ฆ่าด้วย แต่ก็เข้าใจได้ในภายหลังว่า บางอย่างที่อยู่ใน Product ไม่ใช่ว่าจะเป็นของที่ดีเสมอไป มันอาจจะทำร้ายเราในอนาคต เช่น มันอาจจะสร้าง Cost ข้างใน Product เราไม่รู้ตัวก็ได้
ผมใช้เวลาในการสัมภาษณ์โดยรวมประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นหัวใจพองโตมาก อยากทำวินาทีนั้นมาก แต่ พี่นิคบอกว่า “พี่ให้เราเข้ามา seat-in ในบริษัทก่อน มานั่งดูว่าชอบไม่ชอบอะไร ถ้าไม่ชอบ เขียน note ให้พี่ด้วย” แต่ในใจนี่คือแบบ อยากทำไปแล้ว
วันนั้นผมจำได้ว่าต้องไปสัมภาษณ์งานอีกที่นึง แต่ออกจากบริษัทไปแล้วก็โทรปฏิเสธงานที่นั่นไป แล้วแจ้งไปว่า “ผมได้งานแล้วนะครับ เพิ่งตอบตกลงไป” ทั้งๆ ที่เค้ายังไม่ได้รับกูเข้าทำงานเลย ฮ่าๆ
Chapter 2 : 1st Day
“วันนี้มี Happy Friday นะ”
ใครสักคนในออฟฟิศบอกผม ซึ่งต้องเล่าย้อนไปนิดนึงว่า ผมมา seat-in หลายวัน น่าจะ 3–4 วันก่อนที่ผมจะมาเริ่มงานวันจริง และวันที่ผมมา seat-in และสนุกมากน่าจะเป็นวันนี้แหละ Happy Friday
ชื่อ Chapter คือวันแรก แต่ก็ไม่ใช่วันแรกของการทำงาน แต่วันนั้นเป็นวันที่เข้ามามีส่วนร่วมเยอะสุด และ Happy Friday วันนั้นเป็นวันที่พี่นิคทำ Workshop LEGO โดยการแบ่งเป็นทีมและมี PO อยู่ตรงกลาง คอย assign ว่าให้ทำอะไร, เรียง item ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง และก็ให้ทีมเริ่มทำงานตามโจทย์ ต่อ LEGO แล้วก็ส่งงานเป็นรอบๆ โดยมีเวลาที่จำกัด, มีการรีวิวของ, ทบทวนว่าที่ผ่านมาใช้เวลากับอะไรไปนาน หรือทำอะไรก่อนหลังดี
ทั้งหมดนี้เหมือนหลักสูตรเร่งรัดที่เรียกว่า “Scrum” เป็นวันแรกที่ได้รู้เลยว่า culture ออฟฟิศนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ
Chapter 3 : 1st Assignment
เนื่องจากเราไม่เคยเป็น Product Owner หรือ PO มาก่อนเลย มันมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในช่วงวันสองวันแรกที่เข้าไปทำงาน และพี่นิค ก็ได้มอบหมายงานชิ้นแรกอย่างเป็นทางการ(ไหมนะ)
“มึงไปทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองมั่นใจก่อน”
แล้วหลังจากนั้นก็มี Knowledge Sharing ที่เคยเกิดขึ้นในกลุ่ม Senior ภายในบริษัท พี่นิคก็นำมา re-run ให้เราฟังอีกรอบ เป็นเรื่อง Levels of Delegation ซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะที่ผ่านมาในการทำงาน ก็จะเจอเรื่องอะไรแบบนี้อยู่เป็นประจำ คือการสื่อสารภายในองค์กร บางทีเราไม่รู้ว่า การคุย ณ เวลานั้น ใครบอก ใครทำ ใครตัดสินใจ ใครรับผิดชอบ เราอาจจะไม่เคยเคลียร์ความเข้าใจเรื่องพวกนี้มาก่อนเลย อาจจะทำให้มีปัญหาในอนาคตได้
ตั้งแต่เล่าลงจาก Chapter 0–3 เป็นเรื่องที่เล่าจาก timeline เหตุการณ์จริง เรื่องตั้งแต่ Chapter 4 เป็นต้นไป จะเป็นการเล่าจาก item ที่เป็นเรื่องหลักที่เกิดขึ้น
Chapter 4 : Team
ด้วยการทำงานในบริษัทที่ผลิต software หรือ engine ของตัวเอง แน่นอนว่าเราก็ต้องทำงานกับ developement team ด้วย แต่ PO ก็ต้องทำงานกับทีมอื่นทุกทีมนะ :) ไม่งงใช่ไหม เพราะ
- PO คือคนที่คอยดูทิศทางของ Product ว่ามันจะเป็นยังไงหรือไปทางไหน ก็ต้องคุยกับทีม Developer ว่าเราจะทำอะไรก่อนหลัง, ทำไปทำไม, ใครใช้, เพราะอะไร, ขายได้ไหม, ROI มีไหม นี่คือสิ่งที่ Developerx เองก็ควรรู้ ไม่ใช่แค่รับ brief แล้วก็ทำๆไป
- PO คือคนที่เคยสื่อสารกับผู้อื่นเช่น Sale, AE หรือรวมไปถึงทีม Research ว่า status ของ Product เราเป็นยังไง, ทำงานแบบไหนได้บ้าง, ถ้าเพิ่มแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม และใช้เวลาเท่าไร, มี Use Case ไหมว่าทำงานแบบไหนแล้วดีแล้วได้
- PO คือคนที่คอยอัพเดตกับ Stackholder หรือคอยรับ opportunity ใหม่ๆ ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะบางทีเราอยู่ใน area ตัวเอง อาจจะไม่เห็นโอกาสอะไรบางอย่างที่ Stackholder เจอก็ได้
- PO คือคนที่ต้องออกไปคุยกับลูกค้า เพราะ requirement บางอย่างชนเข้ามา แต่มันมีวิธีพลิกการใช้งานอะไรบางอย่างก็ได้เช่นกัน ยิ่งเป็น Product ใหม่ PO ควรออกไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง เพื่อรับ feedback ตรงๆ
น่าจะทุกคนในออฟฟิศเลยเนอะ?
แต่สุดท้าย ไม่ใช่แค่คุยรับส่งอะไรมาก็จบๆ ไป สิ่งหนึ่งที่เป็น Culture ภายในทีมก็คือ การถกเถียง ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เราต้องหาเหตุผลและความเป็นไปได้มากที่สุดว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนั้น, มันมีวิธีที่ดีกว่านั้นไหม, ถ้าไม่ เราลุยทำไปเลยนะ
Chapter 5 : Culture
ตั้งแต่อ่านลงมา (ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ขอบคุณมากๆครับ) จะเห็นว่าผมน่าจะพูดคำว่า Culture บ่อยอยู่ และเป็นสิ่งที่อยากเน้นย้ำมากว่า Culture คือสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกอย่างให้เดินหน้าไปด้วยกันได้ แค่ความเข้าใจ มองเห็นภาพเดียวกัน นั่นก็ถือว่าสุดยอดของการทำงานร่วมกันแล้ว
Scrum
เป็นเรื่องแรกและเป็นของทุกเรื่องที่เกิดขึ้นภายในบริษัท เกิดขึ้นกับทุกทีม ทำไมมันมีบทบาทมากขึ้นนะหรอ จะเล่าคร่าวๆให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเพราะคำว่า Scrum
- Standup Meeting : น่าจะเป็นพิธีกรรมแรกๆ ที่เข้ามาตั้งแต่ seat-in แล้วก็เจอ ได้เข้าร่วมด้วย ทุกเช้าจะมายืนล้อมวงแล้วพูด 3 อย่างด้วยกัน(หรืออาจจะสี่อย่าง) เมื่อวานทำไร, วันนี้จะทำไร, ติดปัญหาอะไร หรือรออะไรจากใครอยู่
- Sprint Review : คือวันที่ทั้งบริษัท(ควร)มานั่งฟังกันว่า ทีม Development ทำอะไรออกมาบ้างจาก sprint นี้ ทำให้ทีมอื่นที่ไม่ใช่ทีม dev ก็จะได้เข้าใจและเห็นภาพรวมด้วยว่า สิ่งที่บริษัทเราทำ Product อยู่ ทิศทางเป็นยังไง ทำอะไรได้บ้าง รวมถึงอาจจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเจอกับอะไร ยิ่งทีม Sale/AE ก็สามารถ forecast ได้ระดับนึงว่าเตรียมตัวขายอะไรได้บ้าง และวัน Sprint Review ก็สามารถซักถามหรือให้โจทย์อะไรบางอย่างกลับที่ทีมเผื่อขบคิดต่อได้ (PO ควรตั้งใจฟัง session นี้อย่างยิ่ง เพราะเอาไปต่อยอดกับ Product ได้) / ตอนท้ายสุดของวัน review คือทีม dev ทุกทีมมายืนคุยกันว่า velocity ใน sprint ที่ผ่านมาของแต่ละทีมเป็นไงบ้าง เพื่อที่ว่าบางทีอีกทีมอาจช่วยเหลือได้
- Sprint Planning : คือวันที่ทีม Development มาคุยกันว่า sprint ต่อไปเราทำอะไร โดยมี PO มามอบหมายความต้องการ เราจะพยายามไม่ยื่น requirement ให้ เพราะทีม Developer จะมี solution ที่ทีมต้องคุยกัน ที่ผ่านมาตอนเป็น PM ในเอเยนซี่ เรามักยื่น requirement เสียส่วนมาก ว่าอยากได้อะไรและต้องทำแบบไหน ซึ่งจริงๆแล้ว ทีม dev มีของดีๆ ที่บางทีเค้าอาจจะไม่ได้ใช้เพียงเพราะเราไปปิดกั้นความสามารถเค้า เพราะฉะนั้น บอกความต้องการและให้ทีม dev เสนอ solution ออกมา พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ใช้พลังไปกับงานนั้นเท่าไร โดยทีม dev จะมีเวลาที่บอกมาเลยว่า sprint ต่อไป ทั้งทีมมีพลังเท่าไรในการทำ โดยทีม dev จะโหวตกันว่า งานที่ต้องทำแต่ละชิ้นใช้ขนาดหรือเวลาเท่ากัน
- Retrospective : ต้องบอกว่าพิธีกรรมนี้ผมผ่านน้อยๆ มากๆ แต่ทีม dev ทำกันเป็นประจำ และเป็นเรื่องที่ดี เป็นวันที่ทุกคนในทีมจะมานั่งคุยกันว่า sprint ที่ผ่านมา มีอะไรที่ดีบ้าง และมีอะไรที่เราอยากแก้ไขเพื่อให้ sprint ต่อไปดีขึ้นบ้าง รวมไปถึงอยากจะขอบคุณหรือขอโทษใครไหม จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำพิธีนี้กับที่อื่น คือวันที่สามารถบอกได้ถึงแม่จะไม่เกี่ยวกับงาน เช่น อาจจะทำให้ facility ในบริษัทดีขึ้น (ที่ก่อนหน้าที่ผมเคยทำ มีน้องในทีมว่า “ถ้ามี M-150 ในตู้เย็นก็น่าจะดี แล้วก็ทำจริง”)/ ผมได้ทำพิธีนี้แค่ครั้งเดียวแบบจริงจัง คือวันที่ Exit Retro หรือทำงานวันสุดท้ายนั้นเอง
อยากรู้ว่าทีม dev ทำงานกันอย่างไรแบบละเอียด อ่านที่นี่ได้เลยครับ Lead dev ได้เขียนเอาไว้เอง
Happy Friday / Townhall
เป็นอีก 1 Culture ที่ดีมากๆ ในบริษัท ผมได้เล่า Happy Friday ไปแล้วในตอนต้น ถ้าขยายความอีกนิด มันคือวันที่เราจะได้ความรู้อะไรบางเรื่องมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับงานหรือเกี่ยวกับงานก็ได้ เช่น อาจจะมีเชิญ Speaker จากข้างนอกมาพูดเรื่องภาษี, การออมเงิน, หุ้น, หรืออาจจะเป็นเรื่องที่คนในภายในออฟฟิศเราอยากแชร์ก็ได้ เช่นผมเองเคยแชร์เรื่อง UX กับเคยแชร์เรื่อง Presentation Design
ส่วน Townhall คือวันที่คนทั้งบริษัท จะรับรู้ความเข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้น รวมถึงความเคลื่อนไหวของบริษัท ที่บางที เราไม่ได้อยากให้พลาดความเข้าใจ และก็มีอัพเดตข่าวสารภายในองค์กรอื่นๆ เช่น Welcome New Staff ด้วย เป็นวันที่พนักงานใหม่จะออกมาแนะนำตัวเองและให้พนักงานที่นั่งฟังถามได้ 3 เรื่อง จากนั้นก็สลับกันให้พนักงานใหม่ถามบ้าง
มีอีกเรื่องที่ประทับใจ จะเป็นเรื่องการสื่อสารก็ไม่เชิง คือเรื่องการตัดสินใจร่วมกันกับทีม Coach (ทีมผู้บริหารที่นี่จะเรียกรวมๆว่าทีม Coach) ถ้าตัดสินใจร่วมกันแล้ว หรือแม้กระทั่งตัดสินใจร่วมกับใครก็แล้วแต่ ถ้ามีใครมาถามว่า “ใครบอกเรื่องนี้” ก็ต้องตอบได้ทันทีว่าตัวเองตัดสินใจ
มีคำกล่าวของพี่นิคกล่าวไว้ให้ผมฟังเรื่องการตัดสินใจว่า
“เรื่องของการตัดสินใจที่แย่ที่สุด คือการไม่ตัดสินใจอะไรเลย และเรื่องการตัดสินใจที่แย่มากๆ อีกเรื่อง คือการที่มึงตัดสินใจแล้วบอกกับคนอื่นว่า — อ่อ พี่เค้าบอกมาครับ”
Final Chapter : Friendship
ผมว่านี่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงและอยากบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นความทรงจำ วันนึงผมมานั่งอ่าน อาจจะเป็นวันที่เหนื่อย หรือท้อแท้อะไรมา เรื่องนี้น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ยิ้มได้และมีกำลังใจ
Badminton
ชมรมแบดมินตันในออฟฟิศน่าจะเป็น 1 ใน 2 ชมรมที่มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาปีนิดๆที่ผ่านมา ตั้งแต่บริษัทเริ่มตั้งสวัสดิการนี้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกาย และน่าจะเป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น อาจจะทั้งศิษย์เก่าที่ผมเองก็ยังแวะกลับไปเล่น, เราอาจจะได้เห็นความมีนำ้ใจนักกีฬา, spirit ในการช่วยเหลือ แก้ไข หรือรวมถึงการแนะนำการเล่นด้วยกัน มันอาจจะเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ในการทำกิจกรรมนึงในบริษัท แต่ผมก็รู้สึกว่า พื้นที่ตรงนี้ก็มีความสำคัญสำหรับผมไม่น้อย
ฺPub / Bar / ร้านเหล้า
ไม่รู้จะเรียกชื่อว่าอะไร แต่มุมนี้ของบริษัท คือมุมที่(เกือบ)ทุกเย็นเราปาร์ตี้ เล่นกีตาร์ ร้องเพลง หรือเล่นบอร์ดเกม เป็นพื้นที่ที่สร้างความสุขอีกมุมนึงของบริษัท เรามีเรื่องเศร้า เรื่องเครียด เรื่องดี ทุกอย่างจะถูกมาพูดคุยตรงนี้เป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งที่ในออฟฟิศที่มี friendship เกิดขึ้น
Trip
ตั้งแต่อยู่ออฟฟิศมา ดูจะมีทริปเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่ไปหลักๆ ก็จะมีหัวหิน, อยุธยา และล่าสุดก็ไต้หวัน เป็นอีก moment ที่สนุกเช่นกัน ได้ถ่ายรูปฟิล์มไปหลายม้วนกับไต้หวัน ได้เก็บภาพเพื่อนพี่น้องไว้หลายคน และยังมีทริปที่ไม่เป็นทางการเฉพาะกลุ่มที่ชอบเดินป่า อย่างปีก่อนเราไปม่อนจองกัน และปีนี้เราไปภูสอยดาว
Thailand Zocial Awards
และนี่น่าจะเป็น Event สุดท้ายที่ผมน่าจะพูดถึง เป็นงานที่ทำให้ทุกคนคงจะได้ใช้ศักภาพนอกเหนือจากงานประจำด้วย เพราะเราต้องช่วยกันทำให้งาน Thailand Zocial Awards ให้ออกมาพร้อมากที่สุด ภารกิจติดตัวผมที่ช่วยเหลืองานนี้มากสุดก็คงจะเป็น Keynote ของงาน พี่กล้า พเนิน (หรือรวมไปถึง Event อื่นๆ เช่นงานแถลงข่าวต่างๆ)
ที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ ก็น่าจะสุดท้ายแล้ว :) จริงๆยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญบริษัท, กีฬาสี, ปาร์ตี้ปีใหม่ ทุกกิจกรรมเป็น moment ที่ดีเช่นกันครับ และระหว่างผมเขียนเองก็ได้ทบทวนตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายแบบเร็วๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมคงยังไม่ได้พูดถึงด้วย อาจจะไม่สามารถ mention ได้ถึงทุกคน ก็ขอขอบคุณมากๆ กับทุกคนที่เคยร่วมงานกับผม ผมว่าผมน่าจะคุยกับน้องทุกคนในบริษัทนะ (หรือเปล่านะ ฮ่าๆ)
- คนแรกอยากขอบคุณตั้ง Warat มากๆ ที่ชวนให้มาท้าทายหน้าที่การงานบทบาทนี้ มันโหดจริง หินจริง ขอบคุณมากๆ
- ขอบคุณพี่กล้าที่ให้โอกาสออกไปขายงานกับลูกค้า ร่วมถึงขึ้นเวทีพูดเล็กๆกับพนักงานฝั่งลูกค้าหลายคนด้วย
- ขอบคุณพี่นิคพี่น็อตมากๆ ที่คอยให้คำปรึกษาและเทคนิคดีๆ หลายเรื่อง ทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิตครับ
- ขอบคุณพี่ออยกับเทคนิคการทำงาน PO ครับ
- ขอบคุณทีม Precision มากๆ ช่วยเหลือกันตลอด
ขอบคุณทุกคนที่ผมไม่ได้พูดถึงด้วยทั้งบ้าน A Tower และ Space 48 อนาคตจะไม่มีสองชื่อนี้แล้ว เพราะจะมีแค่สาขาเดียวแล้ว :)
ขอโทษหากทำผิดพลาดกับใครไป และ ขอบคุณช่วงเวลาที่ดีร้ายที่ผ่านมา
ขอบคุณมากครับ