Dr. Ton Chantasirichot
3 min readMay 10, 2019

สรุปประเด็น P2P Lending Platform & Crowdfunding Portal จากผู้คุมกฎ

Money Funding Startup Image from 123rf

หลังจากที่ได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาของ Thai Fintech Association ในหัวข้อ “โอกาสและอนาคตของ P2P ในไทย” โดยมี Panelists จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เลยอยากมาสรุปประเด็นเป็นข้อๆ ไว้ เพื่อที่จะได้ใช้อ้างอิงในภายหลัง

รูปภาพจาก facebook fanpage สมาคมฟินเทคประเทศไทย

1. สิ่งสำคัญอย่างแรก ต้องดูว่าผู้กู้ เป็นกลุ่มไหน เพราะกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลจะแตกต่างกัน โดยถ้า

ผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา จะเรียกว่าเป็น Peer-to-Peer (P2P) Lending ซึ่งทาง ธปท. จะเป็นผู้กำกับดูแล

ผู้กู้เป็นนิติบุคคล จะเรียกว่าเป็น Crowdfunding และจะมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล

ธุรกิจ P2P Lending Platform

2. ธปท. ได้ยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงฯ ก็ใกล้คลอดกฎเกณฑ์กำกับดูแล P2P Lending ออกมาแล้ว ซึ่งขณะนี้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

3. ถ้ายังไม่มีประกาศในราชกิจจาฯ จะยังไม่มีใครสามารถได้รับ License ได้ ซึ่งตัว P2P Lending Platform License นี้ ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ให้ License ภายใต้คำแนะนำจาก ธปท. (อ้างอิงตาม ปว. ๕๘)

4. ธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถขอรับ P2P Lending Platform License ได้ เนื่องจากธนาคารฯ มีการรับฝากเงินประชาชน อาจทำให้เกิดประเด็นด้านความเชื่อมั่น

5. อย่างไรก็ตาม บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ สามารถขอรับ License ได้ ถ้ามีคุณสมบัติตามที่กฎเกณฑ์กำหนดไว้

6. ผู้ให้บริการ P2P Lending Platform ที่มีบริการอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว สามารถเข้ามาขอ License ได้ แต่ต้องเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเท่านั้น

7. บริษัทที่จะขอ P2P Lending Platform License ต้องจดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท และ มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยคนไทยเกิน 75%

8. เกณฑ์ด้านวงเงินสำหรับให้กู้ ในกรณีของ P2P Lending นั้น เป็นไปตามนี้

• ในส่วนของผู้กู้

- ถ้ามีรายได้ < 30,000 บาท จะกู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้

- ถ้ามีรายได้ > 30,000 บาท จะกู้ได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

- ผู้กู้ต้องทำ Self-declare ภาระการกู้ยืม ซึ่งถ้ากู้ถึง 3 แหล่งแล้ว จะไม่สามารถกู้เพิ่มได้

• ในส่วนของผู้ให้กู้

- ถ้าเป็นผู้ปล่อยกู้ทั่วไป ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาท ต่อรอบ 12 เดือน

- ถ้าเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ (กฎเกณฑ์ยังไม่แน่ชัด อาจจะต้องมีประสบการณ์การลงทุนมามากกว่าหนึ่งปี เป็นต้น) จะปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน

9. ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย สำหรับ P2P Lending นั้น เพราะตัวกลางไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงถูกควบคุมจากกฎหมายพาณิชย์ ทำให้ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งใน 15% นี้ จะยังไม่รวม Fee ที่เกิดจากการใช้งานระบบก็ได้

10. P2P Lending ในการกำกับของ ธปท. จะไม่มี Cooling-Off Period ในการ matching การปล่อยกู้ ดังนั้น Platform จะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อในนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ได้ใช้ตัดสินใจก่อนการทำรายการ

11. ทาง ธปท. มีคุณสมบัติและกฎเกณฑ์พื้นฐานที่ตั้งขึ้นมาคัดกรองและกำกับบริษัท สำหรับขอรับ P2P Lending Platform License โดนคร่าว คือ

• Platform จะทำหน้าที่เป็น match-maker เท่านั้น และการกู้ยืมแบบ P2P จะมีสัญญาสินเชื่อเป็นเงินบาทเท่านั้น

• ผู้ให้บริการ Platform มีคุณสมบัติพื้นฐาน ได้แก่

- มีระบบ IT / IT Audit ที่เหมาะสม

- มีระบบ Data Privacy / Risk Management

- จัดทำ KYC / AML ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ตามกฎหมาย

- มีระบบ Customer Support ที่เหมาะสม

- กรรมการ และ ผู้บริหาร ไม่ติด Blacklist

• ผู้ให้บริการ Platform จะต้องเข้า Sandbox ของทาง ธปท. หลังจากผ่าน Sandbox แล้ว ธปท. จึงชงเรื่องขอ License จากกระทรวงการคลังให้

12. การเข้า Sandbox ของ ธปท. นั้น มีเหตุผลหลักๆ ที่ต้องเข้า เพราะ

• P2P Lending Platform เป็นธุรกิจใหม่

• ธปท. ต้องการส่งเสริมให้เป็นนวัตกรรมทางการเงิน

• ทดสอบว่าเป็นนวัตกรรมที่ผู้บริโภคได้รับการดูแลและคุ้มครอง

• ทดสอบว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้

13. การเข้า Sandbox นั้น ทาง P2P Lending Platform สามารถให้บริการจริงได้ โดยให้บริการในวงจำกัด ซึ่งจะจำกัดขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ case-by-case ซึ่งทาง Platform และ ธปท. ต้องทำ mutual agreement กันตามแต่จะตกลง

14. สิ่งที่ ธปท. และ Platform จะทดสอบร่วมกันในการเข้า Sandbox เช่น

• ระบบงานต่างๆ ต้องมี Security / Integrety / Availability ที่เหมาะสมสำหรับการบริการ

- มีระบบ Credit Scoring ที่มีประสิทธิภาพ

- มีกระบวนการ Collection หรือการติดตามหนี้ที่เหมาะสม

- มีการกันสินทรัพย์ของผู้ให้กู้ ออกจากการดำเนินงานของ Platform

- มีกระบวนการ e-KYC ให้ถูกต้อง (ซึ่งเป็น prerequisite สำหรับการให้บริการเลย)

- สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคในภาพรวมได้

15. เพราะว่า Platform ห้ามแตะเงินของลูกค้า จึงจะต้องมี Third Party เป็นผู้ดูแลเงินให้ เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงิน / Escrow Account / Custodian ต่างๆ ซึ่งควรเป็นสถาบันฯ ที่มี Lead Regulator อยู่แล้ว (เช่น ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมี ธปท. เป็น Lead Regulator)

16. ธุรกิจ P2P Lending Platform เป็นธุรกิจที่เป็น Monoline ชนิดหนึ่ง จึงต้องแยกจากธุรกิจอื่นๆ (เช่น P2P Lending Platform จะไม่สามารถทำ e-Wallet ได้ เพราะทั้งสองธุรกิจต่างเป็น Monoline ทั้งคู่)

17. อย่างไรก็ตาม P2P Lending Platform สามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ P2P Lending ได้ เช่น การติดตามหนี้ ตาม พรบ. ติดตามหนี้ฯ เป็นต้น

ธุรกิจ Crowdfunding Funding Portal

18. ในส่วนของ Crowdfunding ทาง ก.ล.ต. เองได้มีการยื่นเสนอออกกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์เพิ่มเติม 6–7 ฉบับ ซึ่งกำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้

19. ในมุมของ ก.ล.ต. การสนับสนุนธุรกิจการนะดมเงินกู้ หรือ Debt Crowdfunding นี้ ก็เพื่อให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น (หลักการคล้ายกับการออกหุ้นกู้ ของบริษัทใหญ่)

20. ธุรกิจผู้ให้บริการ Crowdfunding ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. นี้ จะเรียกว่า Funding Portal ซึ่งไม่มีการออก License แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.

21. การทำ Crowdfunding ผู้กู้ จะต้องเป็นนิติบุคคล โดยมีข้อกำหนดพื้นฐานคือ

• ต้องเป็น บริษัทจำกัด (บจก.) หรือ บริษัทมหาชน (บมจ.) ที่จดทะเบียนในไทย

• ต้องไม่ใช่บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company)

• ต้องมีโครงการธุรกิจที่ชัดเจน

22. เกณฑ์การระดมเงินกู้ ของการทำ Crowdfunding ได้แก่

• ในส่วนของผู้กู้

- จำกัดจำนวนเงินของการระดมเงินกู้ อยู่ที่ < 20 ล้านบาท ในปีแรก

- จำกัดจำนวนเงินของการระดมเงินกู้ทั้งหมด ไม่เกิน 40 ล้านบาท

• ในส่วนของผู้ให้กู้

- ถ้าเป็นผู้ปล่อยกู้ทั่วไป ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อครั้ง และรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี

- ถ้าเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ (กฎเกณฑ์ยังไม่แน่ชัด แต่ทาง ก.ล.ต. แจ้งว่าจะต้องทำแบบทดสอบที่กำหนด และต้องได้ถูกทุกข้อ) จะปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน

23. การให้กู้ในรูปแบบ Crowdfunding บน Funding Portal จะแตกต่างกับ P2P Lending ในส่วนที่จะมี Cooling-Off Period 48 ชั่วโมงก่อนปิดคำสั่ง ซึ่งผู้ให้กู้จะสามารถยกเลิกรายการได้ในช่วงนั้น

24. บริษัทที่จะขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อทำธุรกิจให้บริการระบบ Crowdfunding หรือที่เรียกว่า Funding Portal จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้

• จดจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย

• มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท

• มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง

• กรรมการ และ ผู้บริหาร ไม่ติด Blacklist

• ต้องมีระบบงานที่พร้อมจะประกอบธุรกิจ Funding Portal

25. ระบบงานสำหรับการเป็น Funding Portal ที่ทาง ก.ล.ต. ให้นิยามไว้คือ

• ต้องมีการทำระบบ e-KYC และ AML ที่ถูกต้อง

• มีระบบป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูล

• มีระบบสมาชิกและการบริหารจัดการสมาชิก

• มีระบบป้องกัน Cyber Security

• มี Webboard และระบบ Chat เพื่อให้บริการสมาชิก

• มีการจัดการ Compliances ที่เหมาะสม

• มีระบบรับข้อร้องเรียน

• มีระบบการทำ Credit Scoring ที่เหมาะสม เป็นต้น

26. ทาง ธปท. และ ก.ล.ต. กล่าวว่า บริษัทสามารถขอรับทั้ง P2P Lending Platform License และขอความเห็นชอบในการเป็น Crowdfunding Funding Portal ได้ทั้งสองธุรกิจ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้คุมกฎทั้งสององค์กร

ซึ่งทั้ง 26 ข้อด้านบน เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้บริษัทที่สนใจเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการ P2P Lending Platform และ Crowdfunding Funding Portal ต้องรู้เป็นพื้นฐาน แน่นอนว่าหลังจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้นประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว น่าจะเป็นที่แน่ชัดมากขึ้น

ก้าวต่อไปที่สำคัญมากกว่า สำหรับทั้งบริษัทที่สนใจอยากให้บริการ และผู้คุมกฎของประเทศด้วย คือการหาวิธีการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้เข้าใจและเข้าถึง Peer-to-Peer Lending และ Crowdfunding ได้ง่ายขึ้น และต้องมีประสิทธิภาพที่ดีจนทุกฝ่ายพอใจ

Disclaimers : บทความชิ้นนี้เป็นการเรียบเรียงข้อมูลตามที่ผู้เขียนทำการศึกษาค้นคว้ามา ทั้งนี้ การแทรกความคิดเห็นต่างๆ เป็นแนวคิดส่วนตัวของผู้เขียนทั้งสิ้น ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบัน องค์กร หรือบริษัทที่ผู้เขียนเคยทำงานร่วม ทำงานอยู่ หรือเข้าร่วมงานในอนาคต

More Reference Site

Dr. Ton Chantasirichot

Blockchain Evangelist | Thai Banker | Active FinTech Learner