คุณูปการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อพลวัตในสังคมไทย

คุณูปการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อพลวัตในสังคมไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ. 2351 — พ.ศ. 2425) ถือเป็นบุคคลสำคัญของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นขุนนางที่มีบทบาทสำคัญ นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนถึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ) ได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติมีคุณูปการต่อพลวัตในสังคมไทยเป็นอเนกประการ เป็นรัฐบุรุษที่มีบทบาทสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ รวมทั้งภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมที่กำลังคุกคามประเทศอยู่รอบด้าน ได้แสดงบทบาททั้งในทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สุวรรณา สัจจวีรวรรณ, 2539, น. 85–86) ดังนี้

1.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับคุณูปการด้านการเมืองในสังคมไทย

เมื่อเยาว์วัย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มีโอกาศศึกษาและฝึกงานด้านการบริหารบ้านเมืองกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้เป็นบิดา และได้มีส่วนช่วยเหลืองานราชการของบิดาในด้านการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ (หอสมุดดิจิทัล วชิรญาณ, ม.ป.ป ,ออนไลน์)

ในด้านการรักษาเสถียรภาพของประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีการฝึกหัดและจัดระเบียบการทหารบก และทหารเรือตามแบบประเทศตะวันตก สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชากองอาสามอญ ซึ่งเป็นทหารปืนเล็กในกรมพระกลาโหม ที่เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” มีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านของท่าน ณ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม และในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารยุโรป

ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ตลอดรัชกาลที่ 3 นี้ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีพระราชดำรัสฝากฝังให้ท่านช่วยดูแลรักษาประเทศก่อนที่จะเสด็จสวรรคตว่า “การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้..”

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ยังได้ฝากฝังสมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ดูแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ในฐานะผู้ทรงสมควรจะได้รับราชการสมบัติต่อไป

สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีบทบาทอย่างมากต่อการอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 โดยได้สั่งการต่างๆ ด้วยความเข้มแข็งเด็ดขาดเพื่อให้สถานการณ์ตอนเปลี่ยนแผ่นดินดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันมิให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตก ฉวยโอกาศเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของไทย ในสมัยนั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจและอิทธิพลยิ่งใหญ่ในการปกครองประเทศโดยได้รับเลือกจากที่ประชุมขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างที่รัชกาลที่ 5 ยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ ระหว่าง พ.ศ. 2411–2416

ภายหลัง พ.ศ. 2416 ถึงแม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปแล้ว ท่านก็ยังคงเป็นที่พึ่งในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมือง ดังเช่นในกรณีวิกฤติการณ์วังหน้า พ.ศ. 2417 ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจนถึงกับต้องเชิญท่านมาจากเมืองราชบุรี ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยมิให้เหตุการณ์บานปลายจนประเทศมหาอำนาจอาจเข้าแทรกแซงได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ประเทศเข้าสู่ความสงบและมีเสถียรภาพในการปกครองอีกครั้งหนึ่ง

สรุป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณรัชกาลที่ 5 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ โดยในระหว่างที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ทำการให้การสืบสันติวงศ์เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น อันจะทำให้เกิดการแทรกแซงจากต่างชาติได้ ทั้งยังได้ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ราชบัลลังก์ ถวายความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์ และยังมีบทบาทเป็นข้าราชการคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์จักรีถึง 3 พระองค์

2 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับคุณูปการด้านเศรษฐกิจในสังคมไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือประเทศในด้านเศรษฐกิจไม่แพ้บทบาททางการเมืองและสังคม ดังนี้ (สุวรรณา สัจจวีรวรรณ, 2539, น. 87–88)

2.2.1. การสนับสนุนการทำสนธิสัญญาเบาวริ่ง

ในการทำสนธิสัญญาเบาวริ่ง รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ เข้าร่วมเป็นผู้แทนฝ่ายไทย ในการเจรจาครั้งนี้เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ได้กล่าวถึงบทบาทของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่าท่านเป็นหัวใจสำคัญของที่ประชุมและเป็นผู้พูดเกือบทั้งหมดในระหว่างการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านระบบผูกขาดของไทย การตกลงกันกระทำอย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือของท่านซึ่งในสายตาของเซอร์จอห์น บาวริ่ง เห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลม มองเห็นการณ์ไกล และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดที่ทำให้การเจรจาสำเร็จลงด้วยดีจากสนธิสัญญาเบาริ่ง พ.ศ. 2398 เป็นผลให้ระบบผูกขาดของไทยสิ้นสุดลงเปลี่ยนเป็นระบบการค้าแบบเสรี ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีพ่อค้าและชาวต่างประเทศเข้ามาขายสินค้าในไทยเพิ่มขึ้น

2.2.2. การบำรุงการเกษตรและการพาณิชย์

ในด้านการเกษตร สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มีบทบาทส่งเสริมการเกษตรให้กว้างขวางขึ้น เมื่อมีชาวนาซึ่งทำนาคู่โคร้องเรียนว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีหางข้าว สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ลดค่านาลง ทำให้ชาวนาขยายพื้นที่นาทำการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นแม่กองชำระโจรผู้ร้ายที่ลักโคกระบือ หัวเมือง ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้น

2.2.3. การจัดเก็บภาษีอากรผูกขาด

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีอากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงโปรดให้กรมราชการต่างๆ มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีอากร กรมพระกลาโหมซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีอากรผูกขาดถึง 12 ประเภท อาทิ ภาษีฝิ่นและอากรสุราเป็นต้น จึงทำให้กรมพระกลาโหมมีเงินใช้จ่ายในราชการเพิ่มขึ้น

สรุป สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจ อาทิ การบำรุงการเกษตรและการพาณิชย์ การจัดเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ท่านมีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการทูตที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดใจยอมรับแนวคิดของต่างชาติ จึงทำให้ท่านกลายเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อมั่นและการชื่นชมยอมรับจากราชทูตที่เข้าเจรจาทำสนธิสัญญาด้วย อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รักษาเอกราชไว้ได้และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ นำไปสู่การพัฒนาและความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง

3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับคุณูปการด้านทางด้านการศึกษาในสังคมไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นแบบอย่างของบุคคลที่ใฝ่การเรียนรู้ ยังนำสิ่งที่เรียนรู้ตะวันตกกับตะวันออกมาผสมผสานเป็นความรู้ใหม่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน จัดตั้งโรงเรียนในวัง ส่งเสริมให้ลูกหลานและลูกไพร่ทาสที่มีความคิดอ่าน ได้เรียนหนังสือ มีสอนภาษาอังกฤษ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วยกำเนิดครั้งแรกในบริเวณบ้านของท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ และมีความสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดังนี้ (วิเชียร ทัพประเสริฐ, 2539, น. 73–82)

จากหลักฐานก่อนที่จะมีชื่อปรากฏเป็นสถานศึกษานามว่า “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2438 ที่จัดตั้งโรงเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษแบบพับลิคสคูล (Public School) ของอังกฤษที่เมืองสระบุรี รับนักเรียนประเภทประจำและจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอน แต่ไม่สามารถจะจัดตั้งที่เมืองสระบุรีได้ในขณะนั้น เพราะทางรถไฟสายกรุงเทพฯ นครราชสีมายังไม่แล้วเสร็จ การเดินทางไปมาจากสระบุรีกรุงเทพฯ มีความลำบาก พระองค์จึงทรงรับสั่งให้คณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนเมืองสระบุรีตามพระราชดำริ และได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน โดยมีความเห็นว่า โรงเรียนนั้นควรจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อให้เปิดรับนักเรียนตามกำหนด ที่ครูจ้างชาวต่างประเทศจะเข้ามาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2439 และสถานที่ที่จะอาศัยตั้งโรงเรียนเป็นการชั่วคราวนั้นให้ใช้ที่จวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สรุป สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแบบอย่างของบุคคลที่ใฝ่การเรียนรู้ และสร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาแก่ประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และบริเวณโดยรอบเคยเป็นจวนและที่ดินของท่านมาก่อน ทุกๆ คนในมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูนท่านโดยขนานนามท่านว่า “เจ้าพ่อ” และเรียกตนเองว่า “ลูกสุริยะ”

4. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับคุณูปการด้านทางด้านสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างผลงานด้านวัฒนธรรมไว้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นหลังมากมาย ทั้งงานด้านพุทธศาสนา วรรณกรรม การละครและดนตรี ดังนี้ (วีณา ศรีธัญรัตน์, พรพิมล พุทธ-มาตย์ และสุวรรณา สัจจวีรวรรณ, 2539, น. 88–90 อ้างถึงในภาวิณี บุนนาค. 2560, น.324–325)

4.4 1.การสร้างวัด

วัดสำคัญที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้สร้างไว้คือ วัดศรีสุริยวงศ์ อยู่ที่จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบกอธิค (Gothic) โดยเฉพาะพระอุโบสถเป็นตึกฝรั่งมีพาไล รูปช่องอาร์คโค้ง (Arc) เรียงราย ตลอดทั้ง 4 ด้าน ทางเข้าพระอุโบสถด้านหน้ามีซุ้มประตูโค้ง ตรงหน้าพระอุโบสถมีปูนปั้นตราสุริยะ ด้านนอกมีเสาระเบียงต้นกลมทำเป็นลายปูนสีเทาให้เหมือนหินอ่อน

นอกจากวัดศรีสุริยวงศ์แล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังได้สร้างวัดอื่นๆ ที่เมืองราชบุรี อีก 3 แห่ง คือวัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม วัดบ้านซ่อง และวัดโคกตลุง หลักฐานที่แสดงว่าท่านเป็นผู้สร้างวัดเหล่านี้คือตราสุริยมณฑล ซึ่งเป็นรูปปูนปั้นอยู่ตามหน้าบันพระอุโบสถและพระวิหาร

4.4 2. วรรณกรรม

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มีพระประศาสน์ให้ผู้รู้แปลพงศาวดารจีนจำนวน 19 เล่ม ออกเป็นภาษาไทย เพื่อให้ความเพลิดเพลินและให้ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ตำราพิชัยสงคราม ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองและการเมืองของประเทศไทยในสมัยนั้น นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังได้นำคติธรรมของเทพเจ้ากวนอู ผู้ซึ่งยึดถือความซื่อสัตย์กตัญญูและความเสียสละมาเป็นคติธรรมในการดำเนินชีวิตของท่านอีกด้วย

4.4 3. การละครและการดนตรีไทย

สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้มีละครหญิงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านได้หัดละครขึ้นในทำเนียบของท่านจนมีชื่อเสียง และเคยแสดงถวายรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นวงที่มีชื่อเสียงมากวงหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังเป็นผู้ให้กำเนิดเพลงที่มีชื่อเสียงแก่ดนตรีไทย เช่น เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพลงเทพบรรทม และเพลงบุหลัน 3 ชั้น ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้ให้การสนับสนุนและสร้างนักร้องนักดนตรีและละครที่มีชื่อเสียงเยี่ยมยอด เช่น หม่อมสุด ครูมีแขก ครูทัต จ่าโคม และพระแสนท้องฟ้า เป็นต้น ถึงแม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะถึงแก่พิราลัยไปแล้ว แต่ละครและนักดนตรีของท่านยังได้ไปเป็นครูในวงดนตรีต่างๆ ต่อมา

สรุป สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรม การละคร และดนตรี รวมถึงการบูรณะ ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยท่านได้ส่งเสริมและสนับสนุนงานทางด้านวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญด้านหนึ่งให้เจริญรุ่งเรืองและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

5. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กับคุณูปการด้านทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มองเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ วิทยาการ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์ การพิมพ์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยของหมอสอนศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะมิชชันนารีชาวอเมริกันนั้นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่คนเหล่านี้มักถูกรังเกียจจากเจ้านายและขุนนางหัวเก่า จึงมักได้รับความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และการทำงาน ท่านจึงได้ให้ความอุปการะอำนวยความสะดวกแก่หมอสอนศาสนาเหล่านี้ และคอยติดต่อเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งท่านหมั่นเพียรเรียนรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ทำให้ท่านสามารถต่อ “เรือกำปั่น” ได้เอง และนับเป็นนายช่างสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้เกิดสงครามอันนัมสยามยุทธระหว่างไทยกับญวน (พ.ศ. 2376–2390) รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ไปสร้างเมืองจันทบุรีเพื่อป้องกันการรุกรานจากญวน พร้อมกับโปรดให้ต่อเรือรบประเภทต่างๆ อยู่ที่เมืองจันทบุรีและได้สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูลด้วยการริเริ่มต่อเรือกำปั่นอย่างฝรั่งไว้ใช้ในราชการเป็นคนแรกของไทย เรือสำคัญๆ ได้แก่ เรือแกล้วกลางสมุทร เรือสยามอรสุมพลและเรือไรซิงซัน เป็นต้น เรือกำปั่นที่ต่อขึ้นมานี้ได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการทัพศึก ปราบปรามการจลาจลในประเทศ และรับทูตต่างประเทศเป็นการเสริมสร้างกำลังทางนาวีของไทยให้เข้มแข็ง

จากความสามารถในด้านการช่างและการก่อสร้างของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมงานเหล่านี้อยู่เสมอในพ.ศ. 2391 รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ท่านเป็นแม่กองสร้างป้อมที่บางจะเกร็ง เพื่อใช้เป็นที่อยู่ของแม่ทัพที่เมืองสมุทรปราการและพระราชทานชื่อป้อมว่า “ป้อมเสือซ่อนเล็บ” นับเป็นการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูเข้าโจมตีประเทศได้โดยง่าย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้ทำการป้องกันบ้านเมือง ทรงเห็นว่าที่พระนครยังไม่มีป้อมปราการที่มั่นคงพอจะตั้งรับข้าศึกศัตรูที่อาจเข้ามาถึงพระนครชั้นในได้ จึงโปรดให้ขุดคลองเป็นคู แล้วให้สร้างป้อมก่อกำแพงขึ้นทางด้านตะวันออกให้มั่นคงกับให้สร้างป้อมอีกฟากละป้อมของลำน้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2395 ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ดำเนินการสร้างป้อมต่างๆ ขึ้นในพระนคร 8 ป้อม คือ ป้อมป้องปัจจามิตร ปิดปัจจนึก ฮึกเหี้ยมหาญ ผลาญไพรีราบ ปราบศัตรูพ่าย ทำลายแรงปรปักษ์ หักกำลังดัสกร และป้อมพระนครรักษา (ปิยนาถ บุนนาค, 2553 อ้างถึงในภาวิณี บุนนาค. 2560, น.321)

สรุป สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพในการประสานความเป็นไทยซึ่งเป็นตะวันออกเข้ากับความเป็นตะวันตกได้อย่างเหมาะสม เปิดรับแนวคิดวิทยาการสมัยใหม่ของประเทศในภูมิภาคตะวันตกมาผสมผสานทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมโลก

--

--