สุขภาพจิตคนไทยในสถานการณ์โควิด-19

Alongkot Prasansri
3 min readMar 1, 2022

--

อาจารย์อลงกต ประสานศรี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

สถานการณ์ปัญหาทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความตื่นกลัว ความวิตกกังวลการติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง หรือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ รวมทั้งการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการรักษา ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รายได้น้อยลงหรือต้องตกงานตามมา ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความเครียดสะสมจนอาจลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในอนาคต ดังนั้นในบทความนี้จะเน้นเรื่องความหมายของสุขภาพจิต ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต และสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19

ความหมายของสุขภาพจิต

สุขภาพจิต หมายถึง ภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ สามารถจัดการความเครียดในชีวิต ปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดี การมีสัมพันธ์อันดีงามกับบุคคลอื่น และดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสมดุลอย่างสุขสบาย สามารถสนองความต้องการของตนเองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีความขัดแย้งภายในจิตใจ และตระหนักรู้ในความสามารถของตนเองสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและเสียสละเพื่อสังคมของตนเอง (1, 2)

ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตเกิดจากปัจจัยที่หลากหลายและมีลักษณะแบบพหุปัจจัย โดยปัจจัยเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุโดยตรง เนื่องจากสุขภาพจิตมีความซับซ้อนที่เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งแต่เป็นการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตประกอบด้วยปัจจัย 3 ด้าน ดังต่อไปนี้ (3)

1. ลักษณะส่วนบุคคลและพฤติกรรม (Individual attributes and behaviors) เป็นลักษณะที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิด การเรียนรู้ภายหลังการเผชิญและการจัดการกับความคิด ความรู้สึกในชีวิตประจำวันที่เรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) หรือเป็นความสามารถในการเผชิญและจัดการทางสังคม เช่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ความรับผิดชอบ และการเคารพมุมมองความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่เรียกว่า ความฉลาดทางสังคม (Social intelligence) ภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิตของบุคคลอาจมาจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์และชีวภาพ บุคคลอาจเกิดมาด้วยความผิดปกติของโครโมโซม เช่น ภาวะดาวน์ซินโดมหรือมีความผิดปกติของสติปัญญาเนื่องมากจากการได้รับสารแอลกอฮอล์จากมารดาที่ดื่มระหว่างตั้งครรภ์หรือการขาดออกซิเจนขณะคลอด

2. ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social and economic circumstance) เป็นความสามารถของบุคคลในการพัฒนาในขณะที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงานและการมีข้อจำกัดหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาและการมีรายได้ที่ดีก็เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งเสริมให้บุคคลมีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิตได้

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลใช้ชีวิตอยู่มีผลต่อสุขภาพจิตของบุคคล เช่น การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ การถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางวัฒนธรรม ทัศนคติ หรือการปฏิบัติต่าง ๆ การถูกแบ่งแยกเชื้อชาติ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ความบีบคั้น เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่นำไปสู่การเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายและการใช้สารเสพติดของบุคคล

แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตประกอบไปด้วยปัจจัย 3 หลัก คือ ปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม (4, 5) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ปัจจัยด้านบุคคล (Individual factor)

1.1 อายุ การเจริญเติบโตและพัฒนาการ อายุของบุคคลมีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพจิตเนื่องจากอายุเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงทางอารมณ์และการเผชิญปัญหาของบุคคล อายุยังเป็นสิ่งพยากรณ์โรคทางจิตเวช ตัวอย่างเช่น อายุที่เริ่มป่วยเป็นจิตเภทเป็นตัวทำนายและพยากรณ์โรคในคนที่มีอายุน้อยและมีทักษะการจัดการกับปัญหาที่น้อยกว่าคนที่มีอายุมาก ผู้ป่วยวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งพาจะมีโอกาสในด้านการงานและมีความพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกว่าผู้ป่วยสูงอายุ นอกจากนี้อายุยังมีอิทธิพลต่อการแสดงออกด้านการเจ็บป่วย บุคคลที่มีอายุน้อยอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการเผชิญปัญหาในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นตามอายุของบุคคล

1.2 พันธุกรรมและปัจจัยด้านชีวภาพ เป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาแต่กำเนิดไม่สามารถควบคุมได้ มีงานวิจัยที่ศึกษาการเชื่อมโยงพันธุกรรมที่ผิดปกติ ตัวอย่างเช่น คนที่มีพันธุกรรมของเครือญาติเป็นอัลไซเมอร์ถึงแม้ว่าความจำเพาะของสายพันธุกรรมจะไม่ได้อธิบายภาวะสุขภาพจิตที่รุนแรง แต่จากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยทางจิตในกลุ่มฝาแฝดยืนยันได้ว่าลักษณะทางพันธุกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยทางจิต

1.3 สุขภาพร่างกายและการปฏิบัติตัว มีอิทธิพลต่อการตอบสนองด้านความเครียดและการเจ็บป่วย การมีสุขภาพดีของบุคคลคือการที่บุคคลสามารถปรับตัวต่อความเครียดและการเจ็บป่วยได้ ภาวะทุพโภชนาการ ปัญหาการนอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพเรื้อรังทำให้บุคคลสูญเสียความสามารถในการปรับตัว การปฏิบัติตัวด้านสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเป็นการบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลของบุคคลได้ เมื่อบุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นขณะออกกำลังกายก็จะเป็นการเพิ่มแหล่งสนับสนุนทางสังคมและนำไปสู่การมีสุขภาพดี การออกกำลังกายที่มีความต่อเนื่องเป็นปัจจัยด้านบวกต่อการปรับปรุงภาวะสุขภาพให้ดีขึ้น

1.4 ความสามารถของบุคคล บุคคลที่มีสมรรถนะต่อตนเองที่สูงจะมีเป้าหมาย มีแรงจูงใจด้วยตนเอง มีความสามารถปรับตัวต่อความเครียดและการเจ็บป่วยและมีความสามารถที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเมื่อต้องการ ส่วนบุคคลที่มีสมรรถนะส่วนบุคคลที่ต่ำก็จะมีแรงจูงใจด้วยตนเองที่น้อยซึ่งอาจเกิดจากความเครียดและความกังวล ปัจจัย 4 ประการของผู้ป่วยที่นำไปสู่การความสำเร็จในการจัดการกับปัญหา ได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะเอาชนะอุปสรรค การมีแบบอย่างที่ดี การให้คำแนะนำของบุคคลรอบข้าง การลดความเครียดและเสริมสร้างร่างกายให้มีความแข็งแรง

1.5 ความสามารถในการผ่านปัญหา เป็นความสามารถในการเผชิญปัญหาของบุคคลเมื่อเกิดความเครียด ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ ความมุ่งมั่น ความสามารถในการควบคุมการตัดสินใจ และความสามารถในการรับรู้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายและเกิดประโยชน์ ความสามารถในการผ่านปัญหาสามารถเจอได้ในบุคคลที่เกิดความเครียดซึ่งบุคคลจะแสดงออกมาเพื่อปกป้องตนเอง

1.6 พลังสุขภาพจิตและเชาว์ปัญญา เป็นปัจจัยที่ช่วยให้บุคคลสามารถจัดการกับความเครียดและปัญหาสุขภาพที่เล็กน้อยได้ ความยืดหยุ่นบ่งบอกความมีสุขภาพจิตที่ดีที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ความเครียดหรือสถานการณ์ที่เสี่ยง พลังสุขภาพจิตที่สูงมีความ สัมพันธ์กับการส่งเสริมและป้องกันการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เช่น การจัดการกับความเครียดของครอบครัวซึ่งมีสมาชิกเจ็บป่วยด้วยปัญหาทางสุขภาพจิต ปัจจัยที่แสดงว่าครอบครัวมีพลังสุขภาพจิตประกอบด้วย ทัศนคติเชิงบวก การมีจิตวิญญาณ ความสอดคล้องกันของสมาชิกในครอบครัว มีความยืดหยุ่น มีการพูดคุยสื่อสารกันภายในครอบครัวและมีเครือข่ายช่วยเหลือ พลังสุขภาพจิตในครอบครัวยังเปรียบเหมือนการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน การทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจและการมีปฏิสัมพันธ์กันเชาว์ปัญญาเกี่ยวข้องกับการใช้ความสามารถในการจัดการกับปัญหาและความเชื่อว่าสิ่งนั้นแก้ไขได้ บุคคลที่มีพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาคือ บุคคลที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาได้

1.7 จิตวิญญาณ ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและเป้าหมายการใช้ชีวิตอาจประกอบ ด้วยความเชื่อในพระเจ้าหรือพลังบางอย่าง ศาสนา วัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจจะแปลความด้านศาสนาที่ผิดแปลกจากบุคคลทั่วไป ศาสนาและจิตวิญญาณอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเมื่อมีความเครียดหรือความเจ็บป่วย

2. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal factors)

2.1 เครือข่ายและแหล่งสนับสนุนทางสังคม เป็นกลุ่มคนที่มีหนึ่งความรู้และหนึ่งความรู้สึกที่มีความเชื่อมโยงกัน เครือข่ายทางสังคมช่วยลดความเครียด ลดความเจ็บป่วยมีอิทธิพลเชิงบวกต่อการจัดการกับปัญหาและการปรับตัว การสนับสนุนทางสังคมเป็นการคงไว้ซึ่งอารมณ์ที่ได้รับมาจากเพื่อน ครอบครัวและการจัดการด้านสุขภาพเมื่อเกิดปัญหาขึ้น บุคคลที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์และการทำหน้าที่จะมีสุขภาพจิตดีมากกว่าคนที่ไม่มีแหล่งสนับสนุนทางสังคม ซึ่งหมายถึงสัมพันธภาพทางครอบครัวเพื่อช่วยให้สุขภาพหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นองค์ประกอบพื้นฐานของการสนับสนุนที่น่าพอใจคือ ความสามารถที่จะร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการและความเต็มใจของแหล่งสนับสนุนทางสังคมที่ได้ตอบสนอง สองปัจจัยนี้มีความสำคัญในการสนับสนุนทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ

2.2 แรงสนับสนุนในครอบครัว เป็นกุญแจที่สำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิต ความรักในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญทั้งหมดที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยควรแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวได้ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง เช่น การให้ความรักความเอาใจใส่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ป่วย

3. ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social/cultural factors) ได้แก่ ความเชื่อถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม สถานะทางสังคมในสังคมที่อยู่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประเพณีอย่างรวดเร็วจะทำให้คนเราปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตตามมาหรือเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ต่างวัยกัน

สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19

​การประเมินสุขภาพจิตคนไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2564–25 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ผู้ที่มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในกลุ่มตกงาน/รายได้น้อย/ธุรกิจประสบปัญหา ร้อยละ 31.28, 36.07 และ 22.74 ตามลำดับ กลุ่มผู้ติดเชื้อ ร้อยละ 7.03, 10.33 และ 4.37 ตามลำดับ กลุ่มผู้กักตัวที่บ้าน ร้อยละ 19.37, 21.78 และ 13.26 ตามลำดับ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 6.31, 8.52 และ 2.67 ตามลำดับ และกลุ่มประชาชนทั่วไป ร้อยละ 13.43, 15.55 และ 8.75 ตามลำดับ (6) (รูปที่ 1) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2563 และที่น่าสนใจ คือ ปัญหาดังกล่าวนี้มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี พบว่า ผู้ที่มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย สัดส่วนร้อยละ 28.40, 33.40 และ 23.12 ตามลำดับ และ 20–29 ปี ร้อยละ 28.54, 32.63 และ 18.45 ตามลำดับ (6) (รูปที่ 2)

รูปที่ 1 ร้อยละของปัญหาสุขภาพจิตคนไทย (1 ม.ค. 2564–25 ก.พ. 2565
รูปที่ 2 ร้อยละของปัญหาสุขภาพจิตคนไทย (1 ม.ค. 2564–25 ก.พ. 2565) แยกตามกลุ่มอายุ

จากสถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจจากการตกงาน สูญเสียรายได้หรือธุรกิจ หรือด้านการใช้ชีวิตทั่วไปที่จำนวนหนึ่งต้องถูกกักตัวหรืออยู่ระหว่างการเฝ้าระวังโรค ควรเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องการการดูแลและเยียวยาทางจิตใจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจาก พบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ซึ่งจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าจำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตายที่เข้ารับบริการสุขภาพจิตในปี 2563 และ 2564 พบว่ามีจำนวนมากสูงถึงเกือบ 2.5 หมื่นคนต่อปี (7) (รูปที่ 3) และจากการศึกษาเรื่อง Exposure to COVID-19-Related Information and its Association with Mental Health Problems in Thailand พบว่าการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิต โดยคนที่รับข้อมูลข่าวสารมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า 1.35 เท่า ความกังวล 1.88 เท่า และอาการนอนไม่หลับ 1.52 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่รับข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน (8)

รูปที่ 3 จำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตาย

สรุป

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทางสุขภาพจิตต่อประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยเสี่ยงที่ต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มตกงาน/รายได้น้อย/ธุรกิจประสบปัญหา กลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้กักตัวที่บ้าน และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปที่พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นมากจากปี 2563 และประเด็นที่สำคัญเด็กและเยาวชนในวัยเรียน เป็นหนึ่งในกลุ่มพึ่งพิงที่มีความเปราะบาง เนื่องจากมีประสบการณ์ชีวิต ความพร้อมและความเข็มแข็งทางจิตใจที่น้อยกว่าประชากรวัยอื่นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ เช่น จากการเรียนออนไลน์ การขาดสังคมเพื่อน ขาดการเล่น หรือ แม้แต่ขาดผู้ดูแลจากการติดเชื้อหรือเสียชีวิตด้วยโควิด-19

รายการอ้างอิง

1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. รายงานการวิจัยการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต. นนทบุรี: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข; 2545.

2. World Health Organization. Promoting Mental Health. Concepts, Emerging Evidence, Practice. WHO Library Cataloguing-in-Publication Data: Department of Mental Health and Substance Abuse in collaboration with the Victorian Health Promotion Foundation 2004.

3. รัตนาภรณ์ พันธุ์โพธิ์. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพจิตในตำรวจชั้นประทวน [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา; 2559.

4. Videbeck SL. Psychiatric mental health nursing. 6 ed: Wolters Kluwer Health; 2014.

5. Shives LR. Basic concepts of psychiatric-mental health nursing. Philadelphia: Lippincott; 2012.

6. ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย [Internet]. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. [cited 23 กุมภาพันธ์ 2565]. Available from: https://public.tableau.com/app/profile/atprogrammer/viz/ MHCI/Dashboard1.

7. คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย. โควิด-19 กับสุขภาพจิตคนไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 2564. [cited 23 กุมภาพันธ์ 2565]. Available from: https://www. thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=90.

8. Mongkhon P, Ruengorn C, Awiphan R, Thavorn K, Hutton B, Wongpakaran N, et al. Exposure to COVID-19-Related Information and its Association With Mental Health Problems in Thailand: Nationwide, Cross-sectional Survey Study. J Med Internet Res. 2021;23(2):e25363.

--

--