leX2017 : กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

Apirak Sang-ngenchai
oirrmutl
Published in
3 min readSep 21, 2017

ประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ Learning Express 2017 ร่วมกับ
Singapore polytechnic และ Kanazawa Institute of Technology
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในระหว่างที่ผมกำลังเลื่อนโทรศัพท์ไปมาด้วยความเบื่อ ก็ไปสะดุดกับโพส ๆ นึงซึ่งประกาศรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม Learning Express 2017 ในประกาศนั้นรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ โดยให้เป็นบัดดี้กับนักศึกษาจากสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้จะได้ทำการฝึกภาษา และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความรู้ทางด้านภาษาอันน้อยนิด บวกกับความอยากรู้ อยากลองจึงตัดสินใจส่งใบสมัครไปในวันสุดท้าย ปรากฏว่าผ่านการคัดตัว และได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการ

โครงการนี้มีระยะเวลาการจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ถึง 30 มีนาคม 2560 เรียกได้ว่า อยู่ด้วยกัน 2 สัปดาห์เต็ม ๆซึ่งแน่นอน ภาษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นก็คือ ภาษาอังกฤษ ตลอดทั้ง 2 สัปดาห์นี้ ผมได้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งจะของแยกหัวข้อจากการเข้าร่วมโครงการดังต่อไปนี้
(1) เพื่อนใหม่
(2) ภาษา
(3) วัฒนธรรม
(4) พฤติกรรมการเรียนรู้
(5) ทีมเวิร์ค

(1) เพื่อนใหม่ : คำว่าเพื่อน ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดประเทศ ไม่จำกัดมหาลัย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อาจารย์ ชาวบ้านที่ไปสัมภาษณ์ ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมกิจกรรม ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ทำให้ก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ไม่ต้องคิดว่าฉันเป็นอาจารย์ เธอต้องทำงานที่ฉันสั่ง ฉันเป็นนักศึกษาต่างชาติ เธอต้องทำทุกอย่างเพื่อฉัน ฉันเป็นชาวบ้าน เธอต้องแก้ปัญหานั้นให้ฉัน

(2) ภาษา : โดยชีวิตประจำวันของผมแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ภาษาเมืองเหนือ กับภาษาไทยซะส่วนใหญ่ แต่ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาในค่ายนี้ บอกได้เลยครับว่า แบตโทรศัพท์หมดเร็วมาก เปิดแอพดิกชันนารีภาษาอังกฤษทั้งวัน แต่นั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะโดยสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของมนุษย์แล้ว จะผลักดันให้เราดิ้นรนจนพูดภาษาอังกฤษทั้งวันได้ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษามือก็ตาม ตึ่งโป๊ะ…แต่ถึงอย่างไร เมื่อต้องมาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะต้องสอนกัน ถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่อง เคยลองถามคำถามภาษาอังกฤษ เพื่อให้ถามคำถามภาษาอังกฤษได้ถูกต้องไหมละครับ นั่นแหละครับ ผมเคย ๕๕๕

(3) วัฒนธรรม : ก่อนที่ผมจะลงไปสัมภาษณ์คนในหมู่บ้านนั้น พวกเราได้แนะนำมารยาทของคนไทยที่พึ่งปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การก้มหัว การแต่งกาย หรือกริยาท่าทางที่ไม่สมควรในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ววัฒนาธรรมไทย กับญี่ปุ่นจะคล้าย ๆ กัน แต่วัฒนธรรมของสิงคโปร์มีความเปิดกว้างมากกว่า แอบคล้ายกับทางฝั่งยุโรป ซึ่งวัฒนธรรมนี้เอง ทำให้เค้ามีความเป็นตัวเองสูง
กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้าที่จะออกนอกกรอบ

(4) พฤติกรรมการเรียนรู้ : ปกติแล้วเวลาผมเรียน ถ้าวิชาไหนน่าเบื่อ ก็จะแอบหยิบโทรศัพท์มานั่งสไลด์ไป ๆ มา ๆ แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กสิงคโปร์แล้ว เค้าก็ทำเหมือนผมเลย ๕๕๕ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อมีการประชุม หรือเมื่อมีอาจารย์พูดขึ้นมา ทุกคนจะเงียบและตั้งใจฟังมาก บางครั้งอาจารย์มาแนะนำให้ทำแบบนั้น แต่เด็กสิงคโปร์บอกไม่ทำ เรากำลังทำแบบนี้อยู่ และอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ส่วนเด็กญี่ปุ่น เท่าที่ผมสังเกตดูเพื่อนญี่ปุ่นของผม เค้าจะมีสมุดเล่มเล็ก ๆ หรือโปรแกรมบันทึกในโทรศัพท์ เค้าจะจดทุกอย่างที่เค้ารับรู้ทั้งหมด คือขนาดเล่าเรื่องตลกให้ฟัง ยังจดอะ

(5) ทีมเวิร์ค : หลาย ๆ คนบอกทีมเวิร์คที่สำคัญ ก็นำชัยไปกว่าครึ่ง แต่แล้วยังไงละ ถึงจะสร้างทีมเวิร์คที่จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่ผมได้พบเจอคือ…การเปิดใจ หลังจากที่พวกเราลงสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนเสร็จแล้ว เราก็ต้องกลับมาปรึกษาหาวิธีแก้ปัญหากันด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งการระดมความคิด (Brainstorming) นั้น ทุก ๆ คนในกลุ่มจะต้องมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า เมื่อทุก ๆ คนเปิดใจ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความคิดเห็นของตัวเอง และกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะคัดค้าน กล้าที่จะให้เหตุผล สุดท้ายแล้ว เมื่อทุก ๆ คนเปิดใจ งานที่เราทำอยู่ก็จะประสบความสำเร็จได้โดยสมบูรณ์…

แถมอีกนิ๊ส…

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
Step 1 : Sense & Sensibility เปิดใจ รับรู้ ลงมือทำ ปัญหาอาจจะเหมือนก้อนน้ำแข็งบนผิวน้ำ ที่เรามองเห็นเพียงแค่นิดเดียว แต่ความจริงแล้วอาจจะมีก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวน้ำก็ได้ ดังนั้นแล้ว การรับรู้ด้วยตา จึงไม่อาจเทียบเท่ากับการรับรู้ด้วยใจ

Step 2 : Cluster ระดมความคิด ไอเดีย ปัญหาที่พบเจอ และทำการจัดกลุ่มปัญหา

Step 3 : Similar data point การรวมปัญหาที่คล้าย ๆ กัน ให้อยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่

Step 4 : Insights เมื่อเราทราบปัญหา จัดกลุ่มปัญหาจากการไปสัมภาษณ์ใน Step 1 แล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นการกลับไปสัมภาษณ์อีกครั้ง แต่จะเป็นคำถามที่ลงลึกไปในปัญหานั้น ๆ ซึ่งจะได้ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนั้น ๆ มา

Step 5 : Pain Point จากการลงพื้นที่สำรวจ ปัญหาที่เราได้มาอาจจะมีมากเกินไปจนแก้ไขไม่หมดดังนั้นจึงต้องทำการเลือกปัญหาใหญ่ ๆ ที่ทำการสัมภาษณ์แล้วมีข้อมูลนั้นมากที่สุด นั่นหมายความว่ามีคนพูดถึงมากที่สุด หรือสำคัญมากที่สุด

Step 6 : Need เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว เราก็จะเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง เหมือนกับก้อนน้ำแข็งที่เห็นผิวข้างบนมีน้อยแต่ยังเหลือก้อนน้ำแข็งอีกมากใต้น้ำที่เรามองไม่เห็น

Step 7 : Deep need ปัญหาที่ได้บางปัญหาเราอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำการเลือกปัญหาที่สามารถทำการแก้ไขได้โดยกลับมาดูข้อมูลที่เรามี ว่าข้อมูลของปัญหาไหนมีมากที่สุด และเราสามารถแก้ปัญหานั้นได้

Step 8 : Problem Statement เมื่อเราถามคำถามเจาะลึกลงไปเรื่อง ๆ จนได้ปัญหาที่แท้จริง และเราเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้เมื่อเราทำทุกกระบวนการเสร็จแล้ว ก็จะได้วิธีการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหานี้ จะวนกลับไปทำ Step 4 ใหม่ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

รูปภาพเพิ่มเติมของกิจกรรม leX2017 : Design thinking

--

--

Apirak Sang-ngenchai
oirrmutl

Sometime, We need to take a step away from certain things to reclaim your own self .