The Flyby of Comets
ดาวตก หรือ อุกกาบาต เราช่างต่างและไม่ต่างกัน
“ในวงโค้งของฝากฟ้า …บางคนอาจจะเป็นดาวตก ใครบางคนอาจจะเป็นอุกกาบาต
มีคนมากมายอธิษฐานเมื่อเห็นดาวตก แต่กลับไม่มีใครตื่นเต้นขอพรกับอุกกาบาต
ทั้งที่ต่างคือสะเก็ดดาวที่เดินทางมาจากฝากฟ้าเดียวกัน”
Arspiration วันนี้ขอพาทุกคนมาเยือน Brooklyn เมืองสำคัญของนิวยอร์กที่รวบรวมเสน่ห์ของมหานครนี้ไว้ครบไม่ว่าจะเป็นแหล่งร้านกาแฟสุดฮิบ ย่านร้านอาหารชื่อดัง อาคารงานสถาปัตยกรรมและที่ขาดไม่ได้คืองานศิลปะจากหลากหลายวัฒนธรรม
จากสวนสาธารณะ Maria Hernandez Park เราเดินข้ามถนน Irving Avenue แล้วมุ่งหน้าสู่ถนน Suydam St. เพียง 2 นาที หรือราว 180 เมตร เราจะเห็นอาคารสีน้ำตาลอ่อนที่ให้ความรู้สึกแห้งๆไม่ต่างจากทะเลทรายโกบีในมองโกเลีย ตัวอาคารที่ดูเผินๆแล้วนึกว่าเป็นโกดังขนาดใหญ่ ไม่มีอะไรที่ดูสะดุดตา แต่เมื่อเดินขึ้นไปถึงชั้นที่ 4 เราจะเปลี่ยนใจแล้วอาจอุทานว่า “แถวนี้ มีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ?”
ความรู้สึกผิดแผก แปลกแยก หรือไม่ Fit-in กับวัฒนธรรมเดิมและถิ่นที่อยู่ใหม่
คือตีมหลักที่ถูกตีความและนำมาสร้างสรรค์ในงานนิทรรศการ “The Flyby of Comets” โดยกลุ่มศิลปินและดีไซเนอร์คนไทยในสหรัฐอเมริกาที่รวมตัวกันจัดแสดงผลงานในระหว่างวันที่ 31 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ. The 4th Floor Studios (Brooklyn, New York)
แม้นิทรรศการ The Flyby of Comets จะจบลงไปแล้วแต่ด้วยที่ Arspitration ได้ข่าวมาว่าศิลปินยังคงพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องเพื่อจะนำไปจัดแสดงอีกครั้งที่ Los Angeles ในปี 2020 นี้ นานๆจะเห็นงานนิทรรศการที่ยัง ongoing พัฒนาได้เรื่อยๆไม่รู้จบแบบนี้ Arspitration จึงสนใจขอตามไปสัมภาษณ์ทีมผู้ริเริ่มจัดงานนิทรรศการมาฝากแฟนเพจ ซึ่งทีมนี้ก็ไม่ใช่คนไกลที่ไหน พวกเขาทั้งสามคือศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากภาควิชาสื่อผสม นำโดยคุณสุทธามน วรพงษ์, คุณเทพนรา คงสว่าง และคุณตวงกมล ทองบริสุทธิ์
Arspiration: ก่อนอื่นเลย เราอยากรู้ว่า “The Flyby of Comets” เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ?
คุณตวงกมล: เราทั้งสาม (สุทธามน, เทพนรา และตวงกมล) เคยทำงานแสดงศิลปะร่วมกันมาก่อน เมื่อครั้งยังอยู่เมืองไทยค่ะ เรื่องจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเทพนราและตวงได้ติดต่อกันอีกครั้งผ่าน Social Media และหลังจากนั้นก็เกิดเป็นความตั้งใจที่จะมีงานนิทรรศการด้วยกันที่อเมริกา พวกเราแค่ต้องการสร้างพื้นที่เล็กๆเพื่อให้พี่ๆน้องๆเพื่อนๆคนไทยที่ทำงานศิลปะ New Media Art ได้ลองมารู้จักกัน ก่อนจะกลายเป็นนิทรรศการที่ตั้งใจเปิดให้ศิลปินเอเชียได้เข้ามาร่วมแสดงผลงานค่ะ
Arspiration: ช่วยเล่าถึงนิทรรศการ “The Flyby of Comets” ให้ฟังคร่าวๆได้ไหมคะ?
คุณตวงกมล: The Flyby of Comets เป็นนิทรรศการแสดงงาน New Media Art ที่มีทั้ง Video Art, Performance Art, Music และ Installation Art ทั้งหมดเล่าเรื่องราวหลากหลายของชีวิตนักสร้างสรรค์จากหลากหลายแขนง พูดถึงการใช้ชีวิตในต่างแดนที่เป็นเรื่องตลกขำขัน บ้างเคล้าน้ำตา บ้างก็หยอกล้อกับวัฒนธรรมที่ติดตัวมาของศิลปินกับความหลากหลายของ New York และ Los Angeles มหานครทั้งสองแห่งของอเมริกาค่ะ
ในนิทรรศการรอบแรกที่ Brooklyn นี้ เรามีศิลปินทั้งหมด 7 คนที่จัดแสดงร่วมกัน ได้แก่สุทธามน วรพงษ์, เทพนรา คงสว่าง, ตวงกมล ทองบริสุทธิ์, ฐาน กิม, สิริพงศ์ ทิพยเกษร, สมิทธ์ แตงอ่อน และ อัครวินท์ รุ่งเรืองวิชชากุร
Arspiration: เราทราบมาว่า “The Flyby of Comets” ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้
คุณตวงกมล: ใช่ค่ะ หลังจากแสดงที่ The 4th Floor Studios, Brooklyn พวกเรายังคงพัฒนาผลงานกันต่อค่ะ ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ มีภาคต่อเหมือนกับ episode ในซีรี่ย์ภาพยนต์ ซึ่งพวกเราได้วางแผนจัดแสดงครั้งที่ 2 ที่ Los Angeles ปี 2020 (ปี 2563) ที่จะถึงนี้ค่ะ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ทาง Facebook: tuang studio หรือ อัพเดทจาก Event Page: The Flyby of Comets ค่ะ
หลังได้พูดคุยกับผู้ก่อตั้งโครงการนิทรรศการ The Flyby of Comets แล้ว Arspiration ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับนักปั้น 3D กับ Motion Graphic Designer อย่างสมิทธ์ แตงอ่อน (ปืน) และสิริพงศ์ ทิพยเกษร (เปรโต) เราจึงอยากนำความคิดและประสบการณ์ทำงานของเขาทั้งสองมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
Arspiration: รบกวนช่วยแนะนำตัวให้แฟนเพจ Arspiration รู้จักกันหน่อยค่ะ?
สมิทธ์: สวัสดีครับ ผม สมิทธ์ แตงอ่อน ชื่อเล่น ปืน ครับ ทำงานตำแหน่ง 3D and Motion Graphic Producer ทำเกี่ยวกับสื่อวีดีโอโฆษณาเพื่อส่งเสริมการตลาด ประสบการณ์ เน้นทำพวก 3D Modeling เป็นหลักกับ Visual Effect ให้ภาพยนต์บ้าง เช่น องค์บาก 2 หรืองานโฆษณาตามอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะมีหลายงานมากครับ เพราะเป็น Freelance ให้หลายบริษัทครับ ทั้งไทยและต่างชาติ
สิริพงศ์: สวัสดีครับ ชื่อ เปรโต สิริพงศ์ ทิพยเกษร ครับ เป็น Visuals Artist ทำงานพวก Motion Graphics และ Animation ผมทำงานทั้งสาย Art และ Commercial เช่น TV Board Casting, Digital Advertising ตาม Social Media ส่วนสาย Art จะทำ Live Visuals Performance หรือที่เรียกว่า “ VJ” ( Visual Jockey) แสดงสดทั้งใน Club, Music Festival รวมถึงใน Museum แล้วก็ทำงานแนว Mapping Projection ครับ
ที่ผ่านมาเคยทำให้กับ NY Historical Society Museum, Natural Museum, Martin Garrix (2015), Ted Talk (2015) และ Brooklyn Public Library ครับ ส่วนด้าน Visuals ผมมีกลุ่มชื่อ Electrobacillus VJ เคยทำงานให้ Maya Music Festival 2015–2016, Heineken Space Jams, Smirnoff Be There และ SangSom ครับ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2009 งานก็จะค่อนข้างมีความหลากหลายครับ
Arspiration: ไม่ทราบว่าทั้งคุณสมิทธ์และคุณสิริพงศ์เรียนจบด้านอะไรกันมา พอจะช่วยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานครั้งแรกให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ? ขอเริ่มที่คุณสมิทธ์ก่อนค่ะ
สมิทธ์: ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต เอก 3D Animation ทำงานที่แรกที่ Zurreal Studio เข้าไปทำงานได้เพราะตอนเรียนปีสุดท้ายช่วงทำ Thesis presentation ทางมหาวิทยาลัยเชิญบริษัท สตูดิโอต่างๆเข้ามาดู เพื่อวิจารณ์ผลงาน ทางสตูดิโอได้เห็นผลงาน จึงชวนผมไปทำงานด้วย ผมเลยได้เริ่มทำงานหลังจากเรียนจบทันทีเลยครับ
สิริพงศ์: ตัวผมจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาออกแบบ โท Animation Multimedia ครับ ก็เริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนอยู่ มีรับจ้างถ่ายวิดีโอกับตัดต่อต่างๆ เช่นงานฟ้อนรำให้พี่ๆที่คณะ จนไปถึงงานแต่งครับ พอเรียนจบวันแรกก็ทำงานเลย จำได้ว่าเป็นงาน Art Festival ที่เชียงใหม่และกรุงเทพ งานโปรเจ็ค 3 เดือน หน้าที่ของผมคือทำสื่อ, ถ่ายวิดีโอ และดูแลศิลปินต่างชาติที่มาร่วมแสดงงาน สาเหตุที่ได้งานนี้เพราะที่เชียงใหม่ กลุ่มศิลปินที่ทำงานจะเจอกันตลอดอยู่แล้ว อย่างพี่เจี๊ยบ กิติยา พี่เค้าชวนให้มาช่วยงาน พอจบโปรเจ็ค ก็ไปสมัครงาน บริษัท Architech ต่างชาติที่เชียงใหม่ ตำแหน่ง Junior Film Director อันนี้น่าจะเรียกว่าเป็นงานประจำที่แรกครับ
Arspiration: เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วจู่ๆทั้งสองมาใช้ชีวิต ทำงาน เป็นศิลปินที่อเมริกาได้อย่างไรคะ ต้องเตรียมตัวหรือทำอะไรอย่างไรบ้างคะ?
สมิทธ์: ตัดสินใจมาที่อเมริกาเพราะลุงอยู่ที่นี่ครับ และแม่อยากให้มาหาลุง (หัวเราะร่วน) ในช่วงแรกที่หางานก็ใช้วิธีส่งผลงานตัวเองไปทุกที่เลยครับ เยอะมาก ที่ไหนเรียกก็ลองไปดูหมด ทำเป็น Freelance ซึ่งเวลาทำงานกับพวกบริษัทก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบชัดเจนครับ เหมือนทำงานเป็นทีมอยู่ในบริษัทเขา
เวลาทำงานเดี่ยวจริงๆก็จะคนละแบบ ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการจัดการเวลาและคุยกับลูกค้าครับ
จากนั้นก็ค่อยๆเติบโตทางสายงานนี้มาเอง ใครให้ทำอะไรแนวไหนก็ทำหมดครับ เรียนรู้ทุกสไตล์ที่ได้รับบรีฟมา แล้วจากนั้นก็ค่อยๆสะสม Connection ครับ
ตอนนี้มาทำงานประจำอยู่กับบริษัท Simplimotion Inc. ครับ ซึ่งรับดูแลบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆหลายแห่งครับ
สิริพงศ์: ส่วนของผม ตอนนั้นทำงานสายโฆษณาและทีวีจนเป็นระดับ Senior ผมรู้สึกอยากจะเจอและทำงานกับคนเก่งๆ และอยากดูหนังฝรั่งแบบไม่มีคำแปล subtitle เลยตัดสินใจลาออกจาก Grammy มา New York เลยครับ
ส่วนที่ได้ทำงานแรกที่อเมริกา มันเริ่มจากงานบุญที่ ไปช่วยหัวหน้าของเพื่อนครับ ทำ Motion Graphic เปิดตัวตอนเดินแบบ New York Fashion Week เมื่อปี 2013 คือเค้าออกแบบชุดให้ Lady Gaga, Taylor Swift ซึ่งผมก็ไม่รู้ เพราะตอนนั้นภาษาอังกฤษผมยังไม่แข็งแรง ขนาด MTV มาสัมภาษณ์ผม ยังต้องตัดทิ้งเลย
การเดินทางมาอเมริกาคือมาด้วยความตั้งใจเพื่อเรียนภาษา ระหว่างเรียนผมเลยไปขอทำ Internship (ฝึกงาน) ด้าน Visual Graphic กับ Glowing Pictures บริษัทก็เลยส่งผมไปเป็น Assistant VJ ที่งาน EDC NY ปี 2013 และ 2014 สองปีต่อเนื่องครับ
หลังจากนั้นก็ได้งานเพิ่มมาเรื่อยๆ จน Director ชวนไปทำงานให้ Museum ต่างๆ และงาน Commercial ด้วยครับ
Arspiration: ในฐานะรุ่นพี่มีคำแนะนำให้น้องๆรุ่นใหม่ที่อยากทำงานสายนี้ อย่างไรบ้างคะ?
สมิทธ์: เด็กรุ่นใหม่เก่ง ไม่รู้จะแนะนำอะไร (หัวเราะ) ถ้าจะให้แนะนำก็คือ อย่าหยุดที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมครับ พวกโปรแกรมต่างๆมันจะออกมาเรื่อยๆให้เราเรียนรู้หรือทดลอง ถ้ามีช่องทางก็ควรต้องอัพเดทเรื่อยๆกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วก็เมื่อเริ่มทำงานเป็น Freelance
ต้องรู้เรื่องมารยาทในการรับงานนะครับ การรักษา Connection และต้องเคารพตัวเองในเรื่องราคาค่าจ้าง และไม่ลืมที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองกับบริษัทต่างๆด้วยนะครับ
สิริพงศ์: ใช่ครับ ก็ขอเพิ่มเติมว่าให้ทดลองทำเยอะๆ อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะ เราสามารถต่อยอดจากข้อผิดพลาดตรงนั้นได้ แล้วก็เรียนรู้งานจากทั้ง Online และ Offline ไม่ว่าจะ Commercial หรือ งานแสดงศิลปะทุกสาขา เพราะงานสายนี้มันมาทั้งภาพและเสียงด้วยครับ มันลื่นไหล
เราไปดูงานสาย Fine Arts ที่มัน Conceptual จ๋าๆ ก็สามารถนำมาปรับใช้ในงานโฆษณาได้ครับ อย่าปิดกั้นตัวเอง เพราะแบรนด์ Luxury หลายๆครั้งก็ไม่ทำงานดาษดื่นทั่วไป ไม่ขายของตรงๆ แต่เน้นเรื่องแนวความคิดที่ลึกซึ้งครับ
Arspiration: เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงมีความคิดว่าต้องมาอยู่เมืองนอกเท่านั้น ถึงจะสามารถเติบโตในสายงานอาชีพสร้างสรรค์ อันนี้จริงไหมคะ?
สมิทธ์: สำหรับผม คิดว่าต้องมาลองด้วยตัวเองครับ เพราะที่นี่โอกาสในการเรียนรู้ศิลปะจะเยอะกว่า ถ้ามีโอกาสก็ควรคว้าเอาไว้ก่อนครับ
สิริพงศ์: เดี๋ยวนี้โลกมันแคบลงครับ สื่อเยอะขึ้น ถ้าเรา Focus ถูกที่ก็ไม่จำเป็นต้องมาเมืองนอก แต่สภาพแวดล้อมและการเข้าถึงศิลปะที่นี่มันง่ายกว่า ไม่ต้องพยามยาม และลำบากเท่าไทย ข้อดีคือ เจอศิลปินคนอื่นๆได้ง่ายกว่าเยอะกว่า และ Technology มันสัมพันธ์กับ Lifestyle
“แต่ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นเลยครับ อยู่ที่ตัวเราเองทั้งสิ้น”
Arspiration: อยากให้ทั้งคุณสมิทธ์และคุณสิริพงศ์พูดถึงผลงานที่นำมาแสดงที่ The Flyby of Comets นี้ และในครั้งต่อไปที่จะจัดแสดงที่ Los Angeles ปีหน้าจะเป็นอย่างไรคะ?
สมิทธ์: งานที่ทำไปร่วมแสดงเป็น 3D Short Animation ชื่อ “Oddly Satisfying” ที่สื่อถึงเรื่องการใช้และหาเงินที่นี่ สำหรับงานที่จะทำชุดต่อไป จะเป็นการพัฒนาต่อให้ Animation มันซับซ้อนมากขึ้นเพื่อสื่อความหมายที่ลึกซึ้งและเป็นอีกมุมมองนึงในทางศิลปะครับ
สิริพงศ์: ผลงานชื่อ “The Energy of Survival Since 2012” ครับ Concept พูดถึงการปรับตัวตั้งแต่ย้ายมาที่ New York ปี 2012 แต่เรายังไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง และ สนุกกับการใช้ชีวิต เราเว้นพื้นที่ให้คนดูได้มีปฏิสัมพันธ์ เติมความคิดและจินตนาการของเค้าเองลงไป หรือเป็นคำถามให้คนดูคิดว่า พื้นที่นั้นควรเป็นอะไร เหมือนที่เราตั้งคำถามกับตัวเองถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
ผลงานที่จะไปแสดงที่ LA ผมอยากจะทำ Mapping Projection ขนาดให้ชิ้นงานใหญ่ขึ้นเหมือนห่อตัวคนดูไว้ทั้งหมด ให้เค้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเราไปด้วยเลยครับ
Arspiration: ขอบคุณมากนะคะสำหรับเรื่องราวและคำแนะนำดีๆ สุดท้ายแล้วสำหรับคนที่สนใจอยากจะติดตามผลงานของทั้งคู่ สามารถติดตามได้ทางไหนบ้างคะ?
สมิทธ์: ครับ ผมมีเพจรวมผลงานไว้ที่ Behance ครับ www.behance.net/gunboy27 เข้ามาติดตาม แนะนำ ติชม ได้ครับ ผมยินดีครับ
สิริพงศ์: สำหรับผมรวบรวมผลงานไว้ที่เว็บ www.ZummZtudio.com ครับ และสามารถติดตามผมได้ทาง Instagram @PretoHF และ @ZummZtudio ครับ ขอบคุณมากครับ
Arspiration เชื่อว่าประสบการณ์และแนวความคิดในการทำงานแบบมืออาชีพของสองศิลปิน จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางให้ทั้งน้องๆนักศึกษาที่เตรียมตัวลงสนามสู่โลกแห่งการทำงาน และทุกคนที่กำลังเติบโตในเส้นทางสายงานดิจิตอลดีไซน์และวงการศิลปะได้เป็นอย่างดี
สำหรับนิทรรศการ The Flyby of Comets ในครั้งต่อไปที่ Los Angeles จะจัดแสดงที่ไหน อย่างไร และเมื่อไรนั้น Arspiration ทราบข่าวแล้ว จะรีบมาอัพเดตให้ทุกคนทราบค่ะ
แด่ทุกสะเก็ดดาวที่ยังลุกโชนฝ่าฟันทุกชั้นบรรยากาศ และทุกดวงที่เผาไหม้หมดจดแลนดิ้งลงผืนดินที่ความฝัน ความฝันยังคงเดินทางต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
Photos and Story from @tuangstudio
Content Curator/Editor: Vicky Lohityotin