องค์กรสีเทอร์ควอยซ์

Chatri Tung
1 min readJul 18, 2016

--

http://images.huffingtonpost.com/2016-03-04-1457133096-8531032-ReinventingOrganizationsImage1.jpg

หลังจากที่ได้ยินเรื่ององค์กรสีเทอร์ควอยซ์จากการไปอบรมกับอาจารย์
วิศิษฐ์ วังวิญญู ก็พยายามค้นคว้าแต่ก็ไม่เจอเบาะแสใดๆ อย่างน่าประหลาด ช่วงนี้ได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องของ Agile กับการศึกษา ก็กลับพบความเชื่อมโยงกับเรื่ององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ง่ายๆ ซะอย่างนั้น

วิวัฒนาการองค์กร

เรียบเรียงจากคลิปวีดีโอของ Peter Green ที่สรุปใจความจากหนังสือชื่อว่า Reinvent Organizations ซึ่งเขียนโดย Frederic Laloux อีกทีหนึ่ง สรุปใจความว่าองค์กรนั้นมีวิวัฒนาการซึ่งสามารถแทนได้ด้วยแถบสีต่างๆ แต่ละแถบสีก็มีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป สรุปคร่าวๆ ได้ตามนี้

สีแดง: องค์กรสุนัขป่า

ปกครองด้วยความหวาดกลัว และผู้นำที่มีพลังอำนาจ อยู่ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน พุ่งความสนใจไปที่ประโยชน์ระยะสั้นที่จะสามารถพาองค์กรให้อยู่รอดไปได้วันต่อวัน

ตัวอย่าง: มาเฟีย, แก๊งส์นักเลง, กองทหารชนกลุ่มน้อย

สีอำพัน: องค์กรทหาร

เพื่อให้องค์กรสามารถที่จะมองไปได้ไกลกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น องค์กรสีอำพันจึงเกิดขึ้น ด้วยการยุติความสับสนวุ่นวายโดยใช้การปกครองด้วยตำแหน่ง แทนการใช้ความหวาดกลัวและพละกำลัง การจะทำอะไรซักอย่างนึงในองค์กรประเภทนี้จะต้องมีกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน

ตัวอย่าง: หน่วยงานของรัฐ, สถาบันการศึกษา, โบสถ์คริสต์

สีส้ม: องค์กรจักรกล

เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น องค์กรสีอำพันไม่สามารถปรับตัวได้ทัน องค์กรสีส้มก็ก้าวขึ้นมาแทนที่ องค์กรสีส้มขับเคลื่อนด้วยผลกำไร และการแข่งขัน นวัตกรรมและการบรรลุจุดประสงค์โดยไม่จำกัดวิธีการจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า

ตัวอย่าง: องค์กรเอกชนข้ามชาติ

สีเขียว: องค์กรครอบครัว

แม้ว่าจะเป็นลักษณะขององค์กรส่วนใหญ่ในโลกตอนนี้แต่องค์กรสีส้มเองก็เริ่มมีปัญหา เพราะเงินเพียงสิ่งเดียวไม่สามารถเติมเต็มหัวใจของพนักงานในองค์กรได้ องค์กรสีเขียวจึงเกิดขึ้น องค์กรสีเขียวขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร เน้นการมีส่วนร่วมและตั้งเป้าหมายที่คุณค่าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนเห็นร่วมกันแทนที่จะเป็นวัตถุประสงค์ซึ่งถูกกำหนดโดยผู้บริหาร การตัดสินใจภายในองค์กรนี้จะใช้ฉันทามติ (Concensus)

ตัวอย่าง: องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรม (Culture driven organization), Southwest Airlines, Ben&Jerry‘s

สีเขียวหัวเป็ด (Teal): องค์กรมีชีวิต

ถึงจุดๆ หนึ่งองค์แบบครอบครัวจะไม่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากการตัดสินใจแบบฉันทามติใช้เวลาเนิ่นนานจนเกินไป องค์กรมีชีวิต อนุญาตให้พนักงานในทุกระดับสามารถตัดสินใจเองได้โดยมีคำแนะนำเป็นแนวทาง ซึ่งพนักงานจะทำตามหรือไม่ก็ได้ตามแต่วิจารณญาณของตนเอง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งขององค์กรมีชีวิตคือไม่จำเป็นต้องมีผู้จัดการอีกต่อไป เพราะพนักงานทุกคนจัดการตัวเอง (Self Management)

ตัวอย่าง: Patagonia, Buurtzorg

ไม่มีองค์กรสีเทอร์ควอยซ์?

จะว่าไม่มีก็คงไม่ถูก เรียกว่าองค์กรสีเทอร์ควอยซ์คือขั้นที่สูงกว่าองค์กรสีเขียวหัวเป็ดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหน้าตาจะเป็นยังไงก็สุดจะจินตนาการได้ คงต้องไปอ่านเพิ่มเติมในหนังสือ Reinvent Organizations กันต่อ แต่ดูเหมือนว่าอาจารย์วิศิษฐ์จะเรียกทั้งสองแถบสีรวมกันว่าเป็นองค์กรสีเทอร์ควอยซ์นั่นเอง (เข้าใจว่าสีเขียวหัวเป็ดมันเรียกแล้วตลกๆ ชอบกลอยู่)

องค์กรที่เราอยู่ไม่ได้มีสีเดียว

องค์กรในโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะไม่ได้มีสีเดียว อาจจะมีสีผสม ซึ่งสีผสมเหล่านั้นก็อาจจะเกิดขึ้นจากบุคลิกของผู้นำองค์กร และผู้บริหารระดับกลางรวมไปจนถึงเหล่าหัวหน้าทีมย่อยๆ หรือบางครั้งสถานการณ์ขององค์กรก็บังคับให้องค์กรต้องเปลี่ยนแนวทางในการบริหารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้เช่นกัน

บางทีองค์กรของคุณอาจจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร (สีเขียว) ที่ยังยึดกำไรเป็นโจทย์หลัก(สีส้ม) มีชั้นมีตำแหน่งหน้าที่ (สีอำพัน) และส่งเสริมให้พนักงานตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง (สีเขียวหัวเป็ด) แต่ถ้าทำไม่ถูกใจนายก็อาจจะโดนเรียกประชุมตัวต่อตัว หรือขู่ไล่ออกกันก็เป็นได้(สีแดง) เรียกว่ามีครบทุกสีกันเลยทีเดียว

Blog นี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนเดียวขององค์ความรู้เรื่องการรื้อสร้างองค์กรใหม่เท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือนเม็ดทรายบนผิวส้ม ถ้าอยากรู้จักวิวัฒนาการองค์กรตามแนวคิดของนาย Frederic Laloux ก็แนะนำให้อุดหนุนหนังสือของเค้าได้จากลิงค์ด้านล่างครับ

--

--

Chatri Tung

Ex Drivehub CTO, Startup Therapist, Facilitator, and Scrum Servant