อธิบาย Net Zero แบบเชิงลึก (Part 1: The science)

Sitthichat Sukpholtham
6 min readOct 22, 2022

ช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับองค์กรต่างๆประกาศเป้าหมายการเป็น Net Zero ได้ไหลทะลักสู่สื่อและสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก นอกจากคำนี้ ก็ยังมีคำอื่นๆ อย่าง carbon neutrality, ESG, Paris Agreement ที่ช่วยเพิ่มความงงให้คนอ่านเข้าไปอีก แต่ในที่นี้จะขอเจาะที่เรื่อง Net Zero กับ เป้าหมายของ Paris Agreement ก่อน (ข้อตกลงปารีส) เพื่อชี้ให้เห็นว่า สองอย่างนี้ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

หลายๆคนน่าจะเคยลองค้นกูเกิ้ลเพื่อหาความหมายของคำว่า Net Zero ไปแล้ว Net Zero ในที่นี้ ถ้าพูดแบบเต็มๆคือ Net Zero Greenhouse Gas (GHG) คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก๊าซเรือนกระจกหลักๆที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ประกอบไปด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ CO2, มีเทน CH4, ไนโตรเจนไดออกไซด์ NO2, สารทำความเย็น และก๊าซโอโซนอื่นๆ แต่ตัวที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ CO2 เพราะถือเป็นก๊าซหลักที่เกิดในการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วิกฤตการณ์ด้านสภาวะภูมิอากาศ (Climate Crisis) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยอาจจะเป็นไปไม่ได้ (Residual Emission) แต่หากเราชดเชยการปล่อยของเราด้วยการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Removal) ในชั้นบรรยากาศเพื่อทำให้ตัวเลขหักลบเป็นศูนย์แล้ว ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป้าหมาย Net Zero

ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของวิธีการและคำนิยามของการเป็น Net Zero (ใช่ ฟังดูง่ายๆ แต่จะบอกว่าแต่ล่ะองค์กรมีวิธีนับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองไม่เหมือนกันอีก!) เราลองตั้งคำถามว่า ถ้าสมมุติทุกคนที่ออกมาสัญญาว่าเราจะเป็น Net Zero สามารถบรรลุเป้าหมายได้จริงภายในปี 2050 เท่านี้มันเพียงพอที่เราจะหยุดหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้แล้วใช่หรือเปล่า?

สำหรับใครที่ยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานเลยว่า Net Zero คืออะไร อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5–2.0 องศา คืออะไร สำคัญแค่ไหน แนะนำให้ลองหาข้อมูลอ่านคร่าวๆก่อนที่จะเริ่มอ่านส่วนถัดไป

Paris Agreement

ในข้อตกลงปารีสบทที่ 2 (article 2) วรรค a ได้กล่าวไว้ว่า

Holding the increase in the global average temperature to well below 2°C above pre-industrial levels and pursuing efforts to limit the temperature increase to 1.5°C above pre-industrial levels, recognizing that this would significantly reduce the risks and impacts of climate change

ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกต้องต่ำกว่า 2 องศา และพยายามที่จะทำให้ไม่เกิน 1.5 องศาเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ราวๆปี 1800) ซึ่งตัวเลขนี้ได้มากจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในวงการวิจัยด้าน climate science ว่าจะทำให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศได้ โดยในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้จำลองฉากทัศน์ (scenario) ของความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อที่จะหาว่าเส้นทาง (pathway) ใดบ้างที่จะมีโอกาสทำให้อุณหภูมิโลกเป็นไปตามเป้าที่ Paris Agreement ได้วางเอาไว้

การที่จะเข้าในว่าทำไม Net Zero อาจจะไม่ได้ทำให้เราบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิของ Pari Agreement นั้น เราต้องเริ่มจากการตีความภาษาของ Paris Agreement ก่อน

เป้าหมายอุณหภูมิใน Paris Agreement

รูปร่างหน้าตาของ Climate Pathway นั้นมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เพิ่มเป็นเส้นตรง เพิ่มแบบ exponential หรือ เพิ่มและลด (peak-and decline) ในขณะที่วงการวิจัยสังเคราะห์ Climate pathway ออกมามากเรื่อย ๆ การจัดหมวดหมู่ของ Climate pathway ที่หน่วยวิจัยต่างๆพัฒนาขึ้นมา จึงมีความจำเป็นในการสร้างข้อสรุปเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยวิธีนึงที่นิยมใช้คือ การใช้ค่ากลางอุณหภูมิ ณ ปี 2100 เป็นเกณฑ์

ตัวอย่าง Climate Pathway รูปแบบต่างๆ

ในตัวอย่าง Pathway S3 และ S4 เป็นรูปแบบ Peak-and-decline ซึ่งในกรณีนี้ การระบุแค่อุณหภูมิที่ปลายศตวรรษ (ปี 2100) นั้น ไม่เพียงพอที่จะแยกความแตกต่างระหว่างสองกรณีได้ จึงต้องมีการพูดถึง อุณหภูมิสูงสุด (Peak warming) ด้วย อย่างเช่น S3 มีอุณหภูมิสูงสุดเป็น 1.7 C และ อุณหภูมิสุดท้ายที่ 1.55 C ส่วน S4 มีอุณหภูมิสูงสุดเป็น 1.6 C และ อุณหภูมิสุดท้ายที่ 1.55 C

ใน Paris Agreement นั้น article 2 ได้เขียนขึ้นเพื่อ จำกัดวงของ Climate pathway ที่โลกควรดำเนินตามให้เป็นรูปแบบของ Peak-and-decline เพราะเป็นรูปแบบที่พยายามจำกัดอุณหภูมิสูงสุดไว้ และพยายามลดอุณหภูมิหลังจากจุดนั้นลงมา เพื่อรักษาระบบต่างๆของโลกไว้ โดยที่ อุณหภูมิสูงสุด (Peak Warming) นั้น ต้อง ห้าม เกิน 2.0 C และหากอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 C (Overshoot) ต้องพยายามให้ใกล้เคียง 1.5 C มากที่สุด

เพราะฉะนั้น Paris Agreement จึงได้ไม่พูดถึง เป้าหมายอุณหภูมิ 2 เป้า แต่มันคือเป้าเดียว โดยกำกับว่า อุณหภูมิสูงสุดนั้น ต้องอยู่ในช่วง 1.5 — 2.0 C นั้นเอง

หากใครมีพื้นฐานเรื่องสถิติ สามารถอ่านรายละเอียดทางคณิตศาสตร์ได้ในเชิงอรรถด้านล่าง

หนทางสู่ 1.5 องศาเซลเซียส

แล้วเราต้องทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความเร็วแค่ไหนถึงจะเพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสกันหละ? มีความเป็นไปได้หลากหลายที่กิจกรรมของมนุษย์จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร หรือการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ แต่ล่ะมาตราการมีความท้าทายและศักยภาพไม่เท่ากัน การจำลองสถานการณ์ของสังคมมนุษย์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สภาวะการเมือง และความทะเยอทะยานของแต่ล่ะประเทศ ในอนาคตเพื่อดูผลลัพธ์ว่า แต่ล่ะเส้นทางจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระไปในทิศทางใด และสุดท้ายแล้วอุณหภูมิของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรียกว่าการทำ scenario analysis ซึ่งในวงการ climate science มีแบบจำลองของระบบโลกอยู่หลากหลาย ที่รวบรวมแบบจำลองมหาสมุทร ชั้นบรรยากาศ ป่าไม้ ขั้วโลก ต่างๆเข้าด้วยกัน บางโมเดลได้ผนวกแบบจำลองของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเมือง และนโยบาย (socio-economics) เข้าไปด้วยกัน โดย Climate Scenario ที่ทาง IPCC ทำขึ้นมาเรียกว่า Shared Socio Economics (SSP) Pathway และเพราะชุดของสมมุติฐานที่ต่างกัน ทำให้อัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในแต่ละ scenario ดำเนินไปด้วยเส้นทางที่ต่างกัน ในกรณีที่ทุกภาคส่วนทำการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างจริงจังและรวดเร็ว ย่อมปล่อยแก๊สเรือนกระจกสะสมย่อมน้อยกว่ากรณีที่ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ (Business-as usual) และอุณหภูมิสุดท้ายย่อมน้อยกว่าไม่ทำอะไรเลย

Shared Socio-economic Pathway IPCC 2022

ด้วยความที่ต้องการนำผลลัพธ์ของ climate science ไปใช้ในการออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติ จึงได้มีการสร้างแนวคิด คาร์บอน บัดเจด (carbon budget) ที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายและเป็นตัวเลขที่ช่วยในการกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

Carbon Budget

เมื่อนักวิทยาศาสตร์มองย้อนกับไปในอดีต พบว่าระดับความเข้มข้นของ CO2 ในอากาศกับการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกมีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น ความบังเอิญนี้มาจากความประจวบเหมาะของหลายปัจจัย เช่นวัฎจักรของ CO2 ในโลก ระยะเวลาที่ CO2 อยู่ในชั้นบรรยากาศ ความสามารถในการกักเก็บความร้อนของ CO2 เป็นต้น ด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงเส้นนี้ทำให้เราสามารถทำนายได้ว่า ถ้าอุณภูมิจะสูงถึง 1.5 C หรือ 2.0 C ต้องมีความเข้มข้นของ CO2 ในชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ แล้วตอนนี้เรามี CO2 ในชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ ณ ปัจจุบัน หากรู้ความต่างของตัวเลขสองตัวนี้ เราจะทำนายได้ว่า เราสามารถปล่อย CO2 ได้อีกเท่าไหร่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกถึงจะเพิ่มถึงอุณหภูมิที่กำหนด จึงกลายมาเป็นคำว่า Carbon Budget

Transient Climate Response to Emission (TCRE) ความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่าง การปล่อย CO2 สะสม และอุณหภูมิโลก

ในขณะที่แก๊สเรือนกระจกตัวอื่นๆ เช่น มีเทน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงเส้นกับอุณหภูมิโลก (อัตราการปล่อยเร็วหรือช้า มีผลกับอุณหภูมิโลก ไม่ใช่ขึ้นกับแค่ปริมาณการปล่อยสะสม) ในการประมาณ carbon budget จึงต้องหักส่วนของแก๊สเรือนกระจกตัวอื่นๆออกไปก่อน รวมถึงความไม่แน่นอนอื่นๆอีกบางส่วน เช่น ระยะเวลาดีเลย์ระหว่างความเข้มข้นของ CO2 กับการเพิ่มของอุณหภูมิ (อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ณ ปัจจบันเป็นผลจากการปล่อย CO2 เมื่อ 6–10 ปีที่แล้ว) IPCC ได้ประมาณตัว carbon budgets สำหรับอุณหภูมิต่างๆกัน หากจะมีโอกาสพอสมควร (66%) ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 1.7 หรือ 2.0 องศา เราสามารถปล่อย CO2 ได้อีก 360, 660, 1,110 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ นับจากปี 2021

ด้วยอัตราการปล่อย ณ ปัจจุบัน เราเหลือเวลาอีกประมาณ 6 ปี ที่เราจะใช้ carbon budget สำหรับ 1.5 C จนหมด เมื่อถึงจุดนั้นเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่จะไปถึง 1.5 องศา ได้อีกแล้ว (นอกเสียจากว่าเราจะดูด CO2 กลับออกมาจากชั้นบรรยากาศ) และหากเราต้องการมั่นใจว่า เราจะจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศามากกว่า 66% ตัวเลขที่เรามีก็จะยิ่งน้อยกว่าเลข 360 GtCo2 ที่แสดงในรูป

ด้วยเทรนด์ของอัตราการปล่อย CO2 ในช่วงที่ผ่านมา หากเทรนด์นี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าเราจะใช้ carbon budget ของ 1.5 C หมดภายในอีก 6 ปี และ carbon budget ของ 2.0 C หมดภายใน 24 ปี

คลิกดู carbon budget countdown clock

โดยสรุปแล้ว หนทางเดียวที่เราไม่ทำให้อุณภูมิโลกทะลุ 1.5 C คือการเป็น Net Zero ก่อนที่ Carbon budget สำหรับ 1.5 C จะถูกใช้จนหมดไปเสียก่อน

Overshoot เป็นสิ่งที่ยอมรับได้แค่ไหน?

เป็นที่ถกเถียงกันว่าเรายอมรับให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 1.5 C ได้แค่ไหน? Climate Scenario ที่ 1.7 C (ค่ากลาง หรือที่โอกาส 50%) ถูกยกขึ้นมาในหลายๆการศึกษา (อย่างเช่น ของ International Energy Agency) ซึ่งเหมือนเป็นตรงกลางระหว่าง well-below 2.0 C และ limit to 1.5 C แต่เราต้องตระหนักว่าตัวเลขอุณหภูมิที่กำกับใน Climate Scenario พวกนี้ หรือที่อยู่ในคำปฏิญาณขององค์กรต่างๆ อาจจะเป็น Peak warming (อุณหภูมิ ณ จุดสูงสุด ก่อนตกกลับลงมา) หรือ End-of-century warming (อุณหภูมิสุดท้าย ณ ปี 2100) ก็ได้ โดยที่อย่างหลังนั้นมาจากข้อปฏิบัติที่แพร่หลายในวงการ Climate modelling (ประมาณ rule of thumb) โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีข้อกำหนดของรูปแบบการเพิ่มและลดของอุณหภูมิ แบบ peak-and-decline หมายความว่า หลังปี 2100 แล้วุอุณหภูมิอาจจะขึ้นต่อก็ได้ (ฮา) เพราะฉะนั้น รูปแบบ Peak-and-decline จึงเป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับว่าจะช่วยจำกัดผลกระทบของ Climate Change ได้

ประเด็นต่อมาคือ แล้วจุดสูงสุดของอุณหภูมิเป็นเท่าไหร่ได้? เรายอมให้อุณหภูมิขึ้นไปถึง 2.5 C หรือ 3.0 C แล้วค่อยตกลงกลับลงมาที่ 1.5 C ใน ปี 2100 ได้มั้ย เรื่องนี้มีข้อที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น

  1. Crossing Tipping Point: บนโลกของเรา มีระบบต่างๆหลากหลายที่คอยควบคุมการทำงานองค์รวมของดาวเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ระบบของทะเลที่มีกระแสน้ำที่คอยส่งผ่านพลังงานไปยังที่ต่างๆ (The great conveyor belt) แผ่นน้ำแข็ง Greenland ที่สะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์กลับขึ้นไปด้วยผิวสีขาวของน้ำแข็งที่ไม่ดูดซับแสงอาทิตย์ ป่าแอมะซอนที่กักเก็บคาร์บอนและเป็นคลังของความหลากหลายทางชีวภาพ ปรากฎการณ์ของชั้นบรรยากาศและทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิค (El-Nio La-nina ที่ประเทศไทยเกี่ยวข้องโดยตรง) วัฏจักรคาร์บอน (carbon cycle) เป็นต้น ระบบทั้งหลายนี้ ประกอบขึ้นมาเป็นระบบภูมิอากาศ (Climate system) ที่เรารู้จัก แต่ระบบทั้งหลายเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์และกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ แต่ล่ะระบบสามารถทำงานได้ในช่วงของเงื่อนไขที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ป่าแอมะซอน ที่สามารถดำรงความเป็นป่าดิบชื้นไม่ผลัดใบได้ตลอดปี เพราะป่าสามารถกักเก็บความชื้น และธาตุอินทรีย์ให้อยู่ในระบบนิเวศน์ได้ หากอุณหภูมิของโลกสูงมากเกินไป ระบบนิเวศน์อาจจะสูญเสียความสามารถในการกักเก็บความชื้น ส่งผลเป็นโดมิโนให้ระบบนิเวศน์ล่มสลาย และป่าแอมะซอนจะกลายจากแหล่งกักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งการปลดปล่อยคาร์บอนไปในที่สุด ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่สามารถย้อนกลับได้ในสเกลช่วงเวลาของอารยธรรมของมนุษย์ และการล่มสลายของระบบหนึ่ง อาจส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อระบบอื่นๆอีก เกิดโดมิโนเอฟเฟคในวงกว้าง การศึกษาเรื่อง Climate tipping points ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากในการให้คำตอบว่าอุณหภูมิที่จะทำให้ระบบๆหนึ่ง ข้ามผ่าน Tipping point เป็นเท่าไหร่และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
  2. Decreasing Temperature: หลังจากที่อุณหภูมิถึงจุดสูงสุดแล้ว การที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงมานั้น เราต้องเป็น Negative emissions ซึ่ง ณ เวลานี้จะเป็นช่วงที่ carbon removal solutions จะมีบทบาทในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ตกกลับลงมา แต่ว่าก็มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของศักยภาพในการดูดกลับ การใช้ทรัพยากร การขยายสเกลของการติดตั้ง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เทคโนโลยี negative emission ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้น pilot scale หรือ laboratory scale เท่านั้น

เพราะฉะนั้นการพยายามลดการปล่อย GHG เพื่อจำกัดให้อุณหภูมิอยู่ที่ 1.5 C นั้นจึงเป็นทางเลือกที่ให้โอกาสกับมนุษยชาติมากที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศในอนาคต ที่เรายังไม่มีความรู้มากพอเพื่อที่จะรับประกันว่าความเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนี้จะถูกจำกัดให้ไม่มากไปกว่าปัจจุบันมากนัก

แล้ว Net Zero ช่วยเรื่องอะไรกันแน่

ในย่อหน้าที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจำกัดอุณหภูมิสูงสุดหรือการทำให้อุณหภูมิลดลงมานั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Net-Zero แต่อย่างใด แล้ว Net-zero ช่วยเรื่องอะไรกันแน่

Schleussner, CF., Ganti, G., Rogelj, J. et al. An emission pathway classification reflecting the Paris Agreement climate objectives. Commun Earth Environ 3, 135 (2022).

รูปด้านบนมาจากงานวิจัยที่ทำการศึกษา climate pathway ที่อยู่ในฐานข้อมูลของ IPCC ซึ่ง Climate pathway เหล่านี้ถูกจัดกลุ่มออกเป็น กลุ่มที่มีการบรรลุ Net-zero (สีชมพู) และไม่มีการบรรลุ Net-zero (สีส้ม) เพื่อดูว่า ความแตกต่างนี้ส่งผลกับอะไรบ้าง

  1. อย่างแรกคือ ระหว่างเป็น Net-zero และไม่เป็น Net-zero โอกาสที่อุณหภูมิโลกจะเกิน 1.5 C และ 2.0 C นั้น มีความแตกต่างกันหรือไม่: ในรูปภาพด้านซ้ายสุด จะสังเกตุว่า ค่ากลางของแท่งสีชมพูและสีส้ม ในทั้ง 2 กรณี นั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ฉะนั้นเป้าหมาย Net-zero ไม่ได้ช่วยให้เราจำกัดอุณหภูมิสูงสุดได้
  2. ประเด็นที่สอง Net-zero ช่วยให้อุณหภูมิหลังจุดสูงสุด ลดลงมากแค่ไหนในปี 2100: ในรูปตรงกลาง จะเห็นว่าในกรณีนี้ pathway ที่เป็น Net-zero ทำให้อุณหภูมิลดลงมาได้มากกว่า Pathway ที่ไม่เป็น Net-zero อย่างมีนัยยะสำคัญ
  3. ประเด็นที่สาม Net-zero ช่วยให้อุณหภูมิลดลงเร็วแค่ไหน: ในรูปด้านขวาสุด จะเห็นว่า Net zero ยังช่วยให้ อุณหภูมิลดลงเร็วกว่ากรณีที่ไม่เป็น Net zero

นั้นคือ เป้าหมาย Net-zero ช่วยในเรื่องของการหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้และยกตัวอย่างเช่น หากมนุษยชาติสามารถบรรลุเป้าหมาย Net-Zero หลังจากที่อุณหภูมิโลกเพิ่มไปแล้ว 3.0 C โลกเราก็จะไม่ร้อนมากกว่า 3.0 C แล้วนั้นเอง และยังช่วยในเรื่องของการทำให้อุณหภูมิหลังจากผ่านจุดสูงสุด มีโอกาสที่จะลดลงได้มากขึ้น

สมมุติฐานการใช้ carbon removal

ในงานวิจัยอันนี้ ยังศึกษาถึงสมมุติฐานของการใช้ carbon removal solution ใน climate scenario ต่างๆที่ออกแบบโดยใช้หลักเกณฑ์ Net Zero เป็นเกณฑ์ พบว่า แม้แต่ในกลุ่ม Net-zero pathway เอง ระดับการพึ่งพา carbon removal นั้นมีช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ carbon removal ที่ต้องใช้เพื่อให้ชดเชย CO2 (แท่งสีน้ำเงิน) และใช้เพื่อชดเชยแก๊สเรือนกระจกตัวอื่นๆ (สีชมพู) และส่วนที่ช่วยในการดึงอุณหภูมิกลับลงมา (สีส้ม) การดูดกลับ CO2 สะสมนั้น มีตั้งแต่ 200 GtCO2 ไปจนถึง 1,100 GtCO2 โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริงๆว่า ตัวเลขของ carbon removal ควรอยู่ในช่วงใดซึ่งเป็นประเด็นรายละเอียดที่ต้องหากฎเกณฑ์ร่วมกันต่อไป

Schleussner, CF., Ganti, G., Rogelj, J. et al. An emission pathway classification reflecting the Paris Agreement climate objectives. Commun Earth Environ 3, 135 (2022).

บทสรุป

เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของ Climate Change การบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิที่ 1.5 C ตามข้อตกลงปารีสนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สมาชิกของประชาคมโลกต้องไปให้ถึง การตั้งเป้าหมาย Net Zero นั้น ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า องค์กรที่ตั้งเป้าหมายจะทำตามข้อตกลงปารีส แน่นอน Net Zero เป็นกรอบแนวคิดที่ช่วยเร่งให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกๆภาคส่วน แต่จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของเส้นทางการไปสู่ Net Zero ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญว่า เราจะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้เท่าไหร่ ในฐานะประชาชนผู้รับสื่อแล้ว เราควรที่จะรู้เท่าทันถึงฉากหน้าที่องค์กรต่างๆนำเสนอเพื่อภาพลักษณ์ของตัวเอง พร้อมกับตรวจสอบและเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ทำตามเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิที่ 1.5 C ตามข้อตกลงปารีส

นอกจากเรื่องเป้าหมายอุณหภูมิแล้ว การปล่อย GHG อะไรในส่วนไหนบ้างที่ถูกเอามาใช้นับเพื่อในเป้าหมายการเป็น Net Zero ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่องค์กรต่างๆ ใช้ความซับซ้อนและข้อมูลเชิงเทคนิคในสร้างภาพลักษณ์การเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่ดี โดยอาจจะไม่ได้จัดการกับแก่นของธุรกิจตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะพูดถึงในส่วนถัดไป

ในบทความถัดไป จะพูดถึง มาตราฐานในการมุ่งสู่ Net Zero ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 C ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งได้มีองค์กรที่พยายามพัฒนาวิธีการและเผยแพร่วิถีปฏิบัตินี้เพื่อให้องค์กรต่างๆนำไปใช้ในการตั้งเป้าหมาย และดำเนินการเพื่อให้การเป็น Net Zero ของตัวเองนั้นเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Target)

เชิงอรรถ

ภาษาของความน่าจะเป็น

ภาษาที่ใช้ในการระบุเป้าหมายของอุณหภูมินั้น อาจชวนทำให้เข้าใจว่า article 2 ระบุไว้สองเป้าหมาย คือ 2 องศากับ 1.5 องศา แต่จริงๆแล้ว เป้าหมายอุณหภูมินี้ต้องแปลให้เป็นภาษาทางสถิติก่อน ในทุก ๆ เส้นทางที่อยู่ในแบบจำลองทางฟิสิกส์นั้นมีความน่าจะเป็นกำกับอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งในกราฟเส้นที่แสดงเส้นทางของอุณหภูมิ มักจะใช้เส้นทึบแสดงถึงค่ากลาง median ซึ่งเทียบเท่ากับมีโอกาส 50% และใช้แถบแรเงาในการระบุถึงช่วงความมั่นใจ (confidence interval) ว่าช่วงอุณหภูมิที่อยู่ภายในพื้นที่แรเงาอยู่ในช่วงความน่าจะเป็นตามที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น เส้นสีน้ำเงินเข้ม ณ ปี 2100 ภายใต้ฉากทัศน์นี้ โอกาสที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะต่ำหรือสูงกว่า 1.7 C มี โอกาส 50 50 เท่ากัน ค่า 1.7 องศาเซลเซียสเรียกว่าค่ากลาง ส่วนพื้นที่แรเงาแสดงถึง very likely range ซึ่งตามภาษาของ IPCC นั้น คำว่า very likely คือมีความน่าจะเป็นประมาณ 95% หากดูจากพื้นที่แรเงาสีน้ำเงินและกราฟรูประฆังคว่ำ จะเห็นว่า โอกาสที่อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง ~1.4–2.3 นั้น มีโอกาสประมาณ 95% นั่นเอง ยิ่งออกห่างจากค่ากลางเท่าไหร่ กราฟรูประฆังคว่ำซึ่งบ่งบอกถึงความน่าจะเป็นของค่านั้นๆยิ่งมีค่าต่ำลง เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ความน่าจะเป็นที่อุณหภูมิจะเป็น 2.0 ก็น้อยกว่า 1.8 เหมือนกัน

กลับมาที่ เป้าหมายอุณหภูมิใน article 2 หากใช้ภาษาความน่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์มาจับ กับประวัติศาสตร์ของการต่อรอง แก้ไขเป้าหมายของอุณหภูมิ แล้วแปลความจะได้ว่า คำว่า well-below (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากคำว่า below เฉยๆที่ UNFCCC ประกาศเมื่อปี 2010) สามารถเทียบได้กับ very likely (โอกาสมากกว่า 90%) และการพยายามจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 C อาจเทียบเท่ากับคำว่า likely (โอกาสมากกว่า 66%)

Profile ของ อุณหภูมิในรูปแบบ Peak-and-decline

ดังนั้นการที่ Climate Scenario นี้จะเข้าข่าย Paris Climate Target นั้น ณ ปีที่อุณภูมิสูงสุด (Peak Warming) ต้องมีโอกาสเกือบแน่นอนที่จะทำให้อุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และมีโอกาสอย่างน้อย 33% ที่จะทำให้อุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากแปลเป็นรูปภาพการกระจายตัวของความน่าจะเป็นจะได้รูปด้านขวา พื้นที่สีดำ (อุณหภูมิของ climate scenario นั้นมากกว่า 2 องศา) ต้องน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ใต้กราฟ และพื้นที่เสีเหลือง (อุณหภูมิต่ำกว่า 1.5 องศา) ต้องมากกว่า 33% ของพื้นที่ใต้กราฟ

จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วเป้าหมายของ Paris Agreement อยู่ที่การพยายามจำกัดให้อุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่หากเกิน ต้องเกินไม่มากนัก (limited temperature overshoot) มากกว่าการที่จะโฟกัสให้อุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศา เพราะนั้นเป็นข้อตกลงขั้นต่ำ

--

--

Sitthichat Sukpholtham

Climate change researcher. Ocean engineering graduate. Passionate about ocean, nature, surfing, and urban mobility.