ทำไมเราจึงควรมี Entrepreneurship ?

Chakphet Jaroenvilaisuk
2 min readSep 24, 2017

--

สวัสดีครับทุกคน วันนี้ผมจะมาแชร์เรื่อง ‘Entrepreneurship’ ให้ได้อ่านกันนะครับ ซึ่งผมต้องขอบคุณแรงบันดาลใจดีๆจากคุณ Ivan A. Sandjaja — Director of Ciputra Incubator & Accelerator, Managing Director of GEN Indonesia ที่เป็น Speaker ในงานสัมมนาที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเมื่อไม่นานมานี้

Who is Entrepreneur ?

คำว่า ‘Entrepreneur’ นั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายๆโอกาส ถ้าหากให้แปลตรงตัวตามพจนานุกรม คำนี้แปลว่า “ผู้ประกอบการ” สิ่งที่ผมและหลายๆคนคิดถึงเป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงคำๆนี้คงไม่พ้นคำว่า “นักธุรกิจ” เป็นคนที่ต้องมีธุรกิจส่วนตัวและเป็นเจ้าของกิจการ เราถึงจะเรียกคนๆนั้นว่าผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่คุณ Ivan พูดถึงนั้นกลับไม่ได้ตรงกับที่ผมคิดเลย . . .

จากสิ่งที่คุณ Ivan พูดมาผมสามารถสรุปสั้นๆได้ว่า “ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจ แต่จำเป็นต้องมี Entrepreneurial mindset” (แสดงว่าเรื่องอย่างนี้มันอยู่ที่ใจสินะ !!) ในตอนที่ได้ฟัง ผมถึงกับงงเลยทีเดียวว่าทำไมผู้ประกอบการถึงไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจ . . .

Entrepreneurial mindset มันเป็นยังไง ?

‘Entrepreneurial mindset’ หรือ “แนวคิดของผู้ประกอบการ” เป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้ประกอบการ หรือ ‘Entrepreneurship’ เราอาจเคยได้ยินจากนักธุรกิจหลายๆท่านที่ให้นิยามไว้ในหลายๆแง่มุม แต่ในวันนี้ผมมีอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจมานำเสนอทุกคน จากความคิดของคุณ Ivan แนวความคิดของผู้ประกอบการ คือ “การเป็นผู้ที่มีความชอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และมีความกล้าในการคิดค้นและสร้างสรรค์ ‘innovation’ (นวัตกรรม) ซึ่งนวัตกรรมนั้นมีความสามารถในการสร้างรายได้และต่อยอดเป็นธุรกิจได้”

พอผมได้ยินสิ่งนี้จากคุณ Ivan ก็ถึงบางอ้อว่า ทำไมทุกคนไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ เพราะ นักธุรกิจและเจ้าของกิจการ ส่วนใหญ่ มักเลือกที่จะโฟกัสในโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ รักษาเสถียรภาพ และสร้างผลประกอบการให้ดีที่สุด โดยการคงรูปแบบการทำงานและวัดผลด้วยการใช้ Key Performance Index — KPI มองเรื่องการปรับเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจ . . .

Mind Trap — กับดับทางความคิด ?

ด้วยความที่เป็นธุรกิจ ตัวมันเองจำเป็นต้องสร้างรายได้และกำไรเพื่อเลี้ยงคนในบริษัท ทำให้พวกเขาเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และมุ่งเน้นไปที่การลด “ต้นทุน” และการเพิ่ม “กำไร” เป็นอันดับแรก แต่หารู้ไม่ว่าการมองแค่มุมนี้มุมเดียวจะกลายเป็น “กับดับทางความคิด” ซึ่งแม้แต่ตัวผมเองในฐานะเป็นเจ้าของกิจการก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้เช่นกัน . . .

สาเหตุที่การคิดแบบนี้กลายเป็น“กับดับทางความคิด”มาจาก เวลาเราพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเราจะพบว่า เราไม่สามารถลดต้นทุนต่อไปได้มากกว่านี้ เพราะต้นทุนต่ำสุดที่มีความเป็นไปได้คือ “0” หรือ “ของฟรี” ซึ่งในความเป็นจริง เราไม่สามารถได้รับของมาฟรีๆ เพื่อใช้ในการผลิตอยู่แล้ว ถ้าหากมองในมุมของการจ้างงาน ก็คงไม่มีพนักงานคนไหนยอมทำงานให้คุณฟรีๆ อย่างแน่นอน . . .

ในฝั่งของรายได้ก็เช่นกัน เมื่อเราพยายามเพิ่มรายได้และกำไรให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเราจะพบว่า เราไม่สามารถเพิ่มรายได้และกำไรให้ได้มากไปกว่านี้เช่นกัน เพราะลูกค้าที่ซื้อสินค้าเราซ้ำ มักเป็นคนกลุ่มเดิมๆ และคงไม่มีลูกค้าคนไหนยอมจ่ายเงินให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ลูกค้ายังได้สินค้าแบบเดิม อย่างแน่นอน โดยส่วนตัว ผมเองก็คงเลือกหาซื้อสินค้าอื่นมาทดแทนเหมือนกัน ดีกว่าที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ ผู้ประกอบการ เลือกที่จะมองหาปัญหา สร้างนวัตกรรมขึ้นมาแก้ไขปัญหา และยอมรับความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาได้ การลดต้นทุนหรือการเพิ่มรายได้ในมุมมองของผู้ประกอบการนั้นเป็นเพียงขั้นตอนๆหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข . . .

สิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะทำคือ ตรวจสอบปัญหาและคิดค้นวิธีการ เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขามีความกล้าในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เลือกที่จะยอมรับความเสี่ยง แล้วรับมือกับมันด้วยวิเคราะห์และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังมองถึงผลกำไรที่พวกเขาสามารถหาได้จากนวัตกรรมนั้นๆด้วย . . .

ด้วยการมีลักษณะนิสัยและแนวความคิดแบบนี้ ก็สามารถทำให้เรามี ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และกลายเป็น “ผู้ประกอบการ” ได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมีธุรกิจเลย ในขณะที่การเป็น “เจ้าของกิจการ/นักธุรกิจ” นั้นจำเป็นจะต้องมีธุรกิจเสียก่อน นอกจากนี้ เราสามารถนำความเป็นผู้ประกอบการไปปรับใช้ได้ในทุกๆโอกาส เพื่อที่จะแก้ไขและปรับปรุงสิ่งที่ต่างๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราทุกคนจึงควรมี Entrepreneurship นั่นเอง

--

--

Chakphet Jaroenvilaisuk

Business Owner | Project Manager ; Business development, Team building, Self development